"...การระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด-19 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น มีการประเมินว่าต้นเหตุน่าจะมาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็น กลุ่มที่ถูกละเลยมากที่สุดของแต่ละประเทศในอาเซียน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะต้องมีการจัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศตัวเองให้เหมาะสม เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงการลดการแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนด้วย ถ้าหากมีการจัดการกับชุมชนแรงงานข้ามชาติที่ไม่ดี หรือไม่ได้ให้ความสำคัญแล้ว นี่อาจจะเป็นเชื้อไฟทำให้การระบาดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียนร้ายแรงขึ้นมาได้..."
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ณ เวลานี้จะอยู่ในช่วงขาลงของเส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว
แต่ผลจากการที่ประเทศอาเซียนหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน
ล่าสุด สำนักข่าว Diplomat ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำข่าวเจาะลึกสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุถึงผลกระทบจากแรงงานต่างชาติ พร้อมทั้งวิธีการจัดการในประเทศไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่แสดงผลลัพธ์แตกต่างกันออกไป
สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญจึงได้แปลและเรียบเรียงรายงานข่าวมานำเสนอ ณ ที่นี้
รายงานข่าวชิ้นนี้ ระบุชัดเจนว่า การระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด-19 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น มีการประเมินว่าต้นเหตุน่าจะมาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็น กลุ่มที่ถูกละเลยมากที่สุดของแต่ละประเทศในอาเซียน
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะต้องมีการจัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศตัวเองให้เหมาะสม
เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงการลดการแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ถ้าหากมีการจัดการกับชุมชนแรงงานข้ามชาติที่ไม่ดี หรือไม่ได้ให้ความสำคัญแล้ว นี่อาจจะเป็นเชื้อไฟทำให้การระบาดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียนร้ายแรงขึ้นมาได้
@ประเทศไทย
แม้ว่าประเทศไทยนั้นจะเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้ออกนโยบายทั้งการปิดเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงแรกของการระบาดรวมไปถึงนโยบายด้านการจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชน ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รอบภูมิภาคอาเซียน
เพราะถึงแม้ว่าทั้งรัฐบาลไทย พม่า และกัมพูชาต่างได้พยายามเตือนให้แรงงานต่างชาติในไทยอยู่กับที่ แต่นโยบายปิดเมืองทั่วประเทศในช่วงปลายเดือน มี.ค. ก็ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของแรงงานต่างชาติออกจากประเทศไทย
ถึงแม้ว่าทางด้านของ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกคำเตือนว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมากนั้นจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสที่เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุข (อ้างอิงรูปภาพจากช่อง ททบ.5)
แต่แรงงานต่างชาติในประเทศไทยก็ต้องพบกับสภาวะที่ยากลำบากหลายประการ ทั้งการไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ไม่มีสิทธิเข้าถึงระบบสุขภาพ และทรัพยากรที่จำเป็น
นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้มีแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีทางเลือก นอกจากกลับไปยังประเทศต้นทางของตัวเอง
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งล้วนมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้ถือได้ว่ามีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างแย่
โดยเฉพาะประเทศพม่านั้นทางองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้จัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขรั้งท้ายประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน
และการที่ประเทศเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งใช้เวลาฟักตัวค่อนข้างนานก่อนจะแสดงอาการป่วยออกมา
ทำให้ไม่อาจทราบได้เลยว่าในหมู่แรงงานข้ามชาติที่ออกจากประเทศไทยไปนั้น จะมีใครบ้างที่ติดเชื้อ และจะมีจำนวนเท่าไรที่จะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด
แต่สิ่งหนึ่งที่ทราบได้อย่างแน่นอนก็คือเมื่อเมื่อแรงงานจำนวนมากเดินทางกลับไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชา ก็พบว่าในประเทศเหล่านี้เจอกับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิดทันที และด้วยทรัพยากรอันจำกัดในด้านระบบสาธารณสุขนั้นก็ได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในประเทศเหล่านี้ร้ายแรงยิ่งขึ้น
จากการรายงานของนางเอมี่ เซียร์ไรท์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษานานาชาติด้านยุทธศาสตร์ทวีปเอเชีย (CSIS) ได้ระบุว่าในช่วงที่ชาวพม่านับพันคนได้เดินทางจากประเทศไทยกลับไปถึงหมู่บ้านของตัวเอง ก็ปรากฏว่าพม่านั้นมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด เพิ่มขึ้นจำนวน 107 ราย ในช่วงวันที่ 20 เม.ย. หรือสรุปก็คือในช่วงเวลาที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้ออกจากประเทศไทยอย่างเร่งด่วน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ พวกเขาก็ได้ทำให้คนในประเทศตัวเองติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก
นางเอมี่ เซียร์ไรท์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษานานาชาติด้านยุทธศาสตร์ทวีปเอเชีย (CSIS) (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://www.defense.gov/)
อีกประการที่สำคัญ ก็คือในช่วงที่มีการติดเชื้อเป็นจำนวนมากในประเทศไทยนั้น ทำให้มีการเปลียนแปลงของภาคส่วนเศรษฐกิจกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีความอ่อนไหวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งถ้าหากแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคได้
การอพยพข้ามประเทศอาจจะน้อยลงกว่านี้ และจะมีเวลามากกว่านี้ ไม่ใช่แบบฉับพลันแบบที่ผ่านมา
หรือก็คือนโยบายของประเทศไทยทั้งในการปิดประเทศ การจำกัดการท่องเที่ยวและการเดินทาง แม้ว่าจะยุติสถานการณ์การติดเชื้อโควิด ในประเทศไทยได้ แต่กลับทำร้ายประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยก่อให้เกิดการย้ายอพยพของแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนนับล้านรายอย่างปัจจุบันทันด่วน
@ประเทศสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์ ก็เจอสถานการณ์คล้ายๆกับประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศสิงคโปร์นั้นมีนโยบายตอบโต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ค่อนข้างเร็ว
แต่กลับพบว่ามีจุดบอดในการจัดการอยู่ก็คือการที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้มองข้ามประชากรกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติไปในช่วงแรกของการแพร่ระบาด
ทั้งๆที่สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์นั้นค่อนข้างแย่ ทั้งการอยู่กันอย่างแออัดในหอพักซึ่งไม่ได้มาตรฐานด้านความสะอาด ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีประชาชนทั้งสิ้น 5.8 ล้านคนนั้น เป็นแรงงานต่างชาติไปแล้วถึง 1.4 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่มประชาชนจำนวนน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ กลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19ไปแล้วถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบัน ถือได้ว่าสิงคโปร์นั้นเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในระลอกที่ 2 อย่างเป็นทางการแล้ว
โดยเชื้อโควิด กำลังเริ่มแพร่ระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติในประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับข้อบ่งชี้ที่ว่าประเทศสิงคโปร์นั้นมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ระหว่างประชาชนชาวสิงคโปร์กับแรงงานข้ามชาติ
ดังจะเห็นได้จากสภาพความแออัดในหอพักของแรงงานสิงคโปร์ อันเป็นสถานที่ที่การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางด้านของนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ได้มีการสั่งการให้มีทีมงานสนับสนุนเข้าไปยังพื้นที่หอพักแรงงานต่างชาติเพื่อให้การสนับสนุนทั้งอาหาร น้ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ต สิ่งสันทนาการ ศูนย์บริการการแพทย์และคลินิกคัดแยกผู้ป่วยเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆแล้ว
ณ เวลานี้ แรงงานต่างชาติสิงคโปร์ได้รับคำแนะนำว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้พึ่งพาสิ่งของยังชีพจากทางรัฐบาลเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกจากหอพักที่อยู่อาศัย
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลพ่วงมาจากการที่รัฐบาลได้ละเลยกลุ่มแรงงานข้ามชาติในตอนแรกของการระบาดนั่นเอง
การเข้าไปดูแลแรงงานต่างชาติของทางการสิงคโปร์ (อ้างอิงวิดีโอจากช่องแชนแนล นิวส์ เอเชีย)
@ประเทศเวียดนาม
ประเทศเวียดนามนั้นเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่น้อยมาก โดยมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อ 327 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้นโยบายการตรวจอย่างเข้มข้น ความร่วมมือกันของภาคประชาชน และโครงการสาธารณสุขแบบองค์รวมเพื่อปกป้องประชาชนที่มีจำนวนมาก
ข้อแตกต่างหนึ่งของเวียดนามกับประเทศอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้ก็คือ 2 ประเทศนั้นใช้การตามรอยผู้ติดเชื้อและกักตัว แต่เวียดนามกลับสร้างระบบสอดส่องประชาชนจำนวนมากแทน ซึ่งผลก็คือว่าแม้ว่าประเทศจะไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ประสบความสำเร็จในการตามตัวผู้ติดเชื้อ
ถ้าหากย้อนอดีตในสมัยที่โรคซาร์สได้ระบาดในปี 2546 ประเทศเวียดนามนั้นเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด จึงทำให้ต้องมีการกระตุ้นให้มีระบบและโครงสร้างที่จำเป็นในการติดตามโรคระบาดที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ในอัตราที่สูง ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ก็ส่งผลบวกมาจนถึงปัจจุบัน
โดยหลังจากที่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เวียดนามสามารถจะประกาศสภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้เร็วกว่าประเทศใดในเอเชีย และเร็วกว่าที่องค์การอนามัยโลกจะได้ออกมาตรการใดๆออกมาเสียอีก
นอกจากนี้เวียดนามยังมีการออกแบบระบบขั้นตอนสำหรับการตามตัวและแยกผู้ป่วยออกเป็นหลายระดับ ควบคู่ไปกับการใช้แอปพลิชันเพื่อบันทึกอาการและสถานะของผู้ป่วย ส่งผลทำให้เวียดนามสามารถบันทึกและตรวจสอบความเคลื่อนไหวของทั้งแรงงานในประเทศรวมไปถึงแรงงานจากต่างประเทศที่กลับเข้าเวียดนามผ่อนทางช่องทางชายแดน โดยมีรายงานจากธนาคารโลกระบุว่ามีอย่างน้อย 134,000 คนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันตัวในเวียดนาม
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าขณะนี้ ประเทศเวียดนามได้มีการประสานภาคส่วนเอกชนเพื่อเปิดให้บริการทั้งธนาคารข้าว และอาหารที่เพียงพอสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งจะส่งผลทำให้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานนั้นไม่จำเป็นต้องออกไปไหน ลดการเคลื่อนย้านถิ่นฐานและสามารถรอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้
ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อโควิด ประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน
ชาวเวียดนามกำลังต่อแถวรับข้าวจากธนาคารข้าว (อ้างอิงวิดีโอจากเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2020/05/the-disproportionate-effect-of-covid-19-on-migrant-workers-in-asean/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/