"...พฤติกรรมการโค้งคำนับ แทนที่การจับมือหรือการกอด การถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนด้านสุขอนามัยของญี่ปุ่นและอธิบายได้ว่าทำไมการติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่นถึงค่อนข้างต่ำ ...ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยังได้วิเคราะห์ว่าระบบรักษาสุขภาพแบบองค์รวม การมีไขมันในอัตราที่ต่ำจากพฤติกรรมด้านโภชนาการและประสิทธิภาพในการรักษาโรคประเภทปอดบวม ซึ่งเป็นกันมากในหมู่คนญี่ปุ่นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้ ..."
เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานข่าวปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นที่อาจจะต้องล่มสลายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) ในญี่ปุ่นมีอัตราส่วนเพียงแค่ 5 ห้องต่อประชากร 1 แสนคน เทียบกับเยอรมันซึ่งมี 30 ห้อง สหรัฐอเมริกา 35 และอิตาลี 12
โดยกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น มีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นอาจจะมีผู้เสียชีวิตสูงเกิน 4 แสนคน
(อ่านประกอบ:เตือนญี่ปุ่นขาดแคลนห้องไอซียู ‘การแพทย์ฉุกเฉินล่มสลาย’ ยอดตายอาจถึงหลักแสน)
ล่าสุด มื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 16,473 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 21 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 850 ศพ เป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11 ศพ
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ 13,555 ราย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่มีจำนวน 2,068 ราย
แต่จากสถิติพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่นกำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยนของประเทศอังกฤษ ได้ทำรายงานพิเศษในชื่อว่าจาก ปากเหวของหายนะ สู่ความสำเร็จกับวิธีการรับมือโควิด 19 ในแบบฉบับของญี่ปุ่น
สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าเรื่องนี้ มีความสำคัญ จึงได้เรียบเรียงมานำเสนอ ดังนี้
@ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของรัฐบาล
นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายอาเบะได้ประกาศสภาะฉุกเฉินใน 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาตรการปิดเมืองของประเทศญี่ปุ่นที่ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม งดการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น และการทำงานที่บ้าน
ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการร้องขอและไม่มีการบังคับแต่อย่างใด ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างยิ่งว่ามีการจัดการต่อเหตุการณ์ระบาดที่ไม่เหมาะสมและช้าเกินไป จนอาจทำให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้
นอกจากนี้นโยบายของนายอาเบะที่ผ่านมามีการแจกหน้ากากผ้าที่สามารถใช้ซ้ำได้จำนวน 2 ชิ้น ไปยังบ้านแต่ละแห่งก็ยังถูกวิจารณ์ในแง่ลบด้วยเนื่องจากหน้ากากที่แต่ละบ้านได้รับมานั้นสกปรก และเล็กเกินไป
ขณะที่นายโทบิอัส แฮร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ของบริษัท Teneo ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติสหรัฐฯได้ออกมาวิจารณ์ว่า นายอาเบะนั้นขาดความสามารถในการแก้ไขสถานการณ์ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ทั้งปัญหาในเรื่องการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพนับตั้งแต่เริ่มการระบาด จนถึงการมีทีมงานที่ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างแย่
ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นนั้นจัดการกับไวรัสโคโรน่าโดยยังคงเปิดให้มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจอยู่ อีกทั้งปัญหาหนึ่งก็คือในทางกฎหมายนั้นนายอาเบะไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้มีการปิดเมืองในรูปแบบเดียวกับประเทศในแถบยุโรปที่มีการกักตัวผู้คน การจำกัดพื้นที่แออัด และการปิดสถานที่
และถ้าหากดูในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สหรัฐฯเขียนไว้ในช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะพบว่าไม่มีการอนุญาตให้ประกาศกฏอัยการศึกด้วยซ้ำ ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสิ่งสูงสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถจะทำได้แล้ว
@วิถีชีวิตทั่วไปรับมือสถานการณ์โควิด
ฝ่ายการเมืองของญี่ปุ่นได้รับคำชมต่อการจัดการสถานการณ์ที่น้อยมาก แต่ภาคส่วนสาธารณะของญี่ปุ่นกลับมีความตื่นตัวค่อนข้างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อรับมือกับการแพร่เชื้อของไวรัสต่างๆ โดยตลอด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโรคโควิดเสียอีก
ที่ญี่ปุ่นนั้นหน้ากากเป็นสิ่งที่หาได้ค่อนข้างง่ายเพราะว่ามีสิ่งที่เรียกว่าไข้หวัดฤดูหนาวอยู่ และในช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นก็เป็นเวลาที่ผู้คนป่วยด้วยไข้หวัดตามฤดูกาลค่อนข้างมาก
อีกทั้งพฤติกรรมการโค้งคำนับ แทนที่การจับมือหรือการกอด การถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนด้านสุขอนามัยของญี่ปุ่นและอธิบายได้ว่าทำไมการติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่นถึงค่อนข้างต่ำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยังได้วิเคราะห์ว่าระบบรักษาสุขภาพแบบองค์รวม การมีไขมันในอัตราที่ต่ำจากพฤติกรรมด้านโภชนาการและประสิทธิภาพในการรักษาโรคประเภทปอดบวม ซึ่งเป็นกันมากในหมู่คนญี่ปุ่นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้
“ผมไม่คิดว่าตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงนั้นมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลแต่อย่างไร ผมว่าการที่ญี่ปุ่นสามารถทำได้ดีนั้น คงต้องขอบคุณในสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ อย่างเช่นนิสัยและพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นเสียมากกว่า” นายริวจิ โคอิเกะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์การทันตกรรมกรุงโตเกียวกล่าว
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมและวัฒนธรรมนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดเกี่ยวกับการติดเชื้อในจำนวนที่น้อยในประเทศญี่ปุ่น เพราะมีรายงานว่าการออกมาตรการด้านการปิดและห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศของญี่ปุ่นนั้น ถือว่าค่อนข้างทำได้รวดเร็วมากถ้าหากเทียบกับประเทศอื่นๆ
โดยในช่วงเวลาประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะต่างๆนั้นได้ตัดสินใจที่จะปิดทำการลงไม่นานหลังจากที่เห็นอันตรายของการรวมกลุ่มกันของผู้คนเป็นจำนวนมาก
โดยมีรายงานว่าฟุตบอลลีกประเทศของญี่ปุ่นนั้นตัดสินใจที่จะปิดฤดูกาลเตะเป็นระยะเวลาถึง 3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการแข่งม้าในรายการเชลตันแฮมที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งการแข่งม้าดังกล่าวนั้นกินระยะเวลา 4 วัน และมีผู้เข้าชมทั้งสิ้น 150,000 คน
ขณะที่กีฬารักบี้และเบสบอลก็ได้ตัดสินใจที่จะหยุดการแข่งขันด้วยเช่นกัน ในขณะที่กีฬาซูโม่นั้นก็ได้ทำการแข่งขันแบบไม่มีคนดูเป็นครั้งแรกในประวิติศาสตร์
ประกาศปิดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติญี่ปุ่นนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.จนถึงวันที่ 16 มี.ค. ก่อนที่จะมาขยายเวลาเพิ่มเติมในภายหลัง (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://www.westhawaiitoday.com/2020/02/27/nation-world-news/abe-calls-for-all-japan-schools-to-close-to-combat-coronavirus/)
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะถูกวิจารณ์ว่ามีปัญหาในการแก้ไขเรื่องโควิด 19 ที่ไม่มีความชัดเจนก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่าการเรียกร้องให้ปิดโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นของนายอาเบะนั้นถือว่ากระทำได้ค่อนข้างจะรวดเร็วและพร้อมเพียงกับกับในประเทศอื่นๆ
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งการให้มีการปิดโรงเรียนไปเมื่อตอนช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และโรงเรียนต่างๆก็พร้อมที่จะทำตามคำเรียกร้องนั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากได้วิจารณ์นายอาเบะว่าการปิดโรงเรียนนั้นเกินความจำเป็น
นายร๊อบ ฟาเฮย์ นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียวเชื่อว่า จุดแข็งอย่างหนึ่งของการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศญี่ปุ่นก็คือความกล้าที่สถานที่แต่ละแห่งนั้นจะออกมาประกาศปิดตัวเอง หรือประกาศมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ โดยไม่ต้องไปสนใจกับความรู้สึกของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“ต้องยอมรับว่าถ้ามองข้ามบุคลากรผู้ทำหน้าที่ออกนโยบายไป ก็จะเห็นได้เลยว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการมีระบบองค์รวมที่สามารถจะจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบนี้ทำได้ดีแม้ว่ารัฐบาลกลางจะขาดศักยภาพก็ตาม” นายฟาเฮย์กล่าวบนเว็บไซต์ https://www.tokyoreview.net/
@ความท้าทายที่แท้จริงเริ่มต้นหลังจากนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญ คือญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาการตรวจหาเชื้อโควิดที่ต่ำเกินไป ซึ่งจะส่งผลทำให้การกำหนดขอบเขตของผู้ติดเชื้อนั้นต่ำเกินไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งทางด้านของนายชิเกรุ โอมิ ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ออกมายอมรับว่าตัวเลขการรายงานผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่น ณ เวลานี้นั้น อาจจะไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงก็ได้ และขณะนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายว่า อาจจะมีชาวญี่ปุ่นที่ติดเชื้อจริงๆแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 10 เท่า 12 เท่า หรือจำนวน 20 เท่าจากที่รายงานอย่างเป็นทางการ
“เราคงไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบที่เคยเป็นในช่วงก่อนการระบาดได้ในอีกหลายสัปดาห์หลังจากนี้ แต่ความท้าทายที่แท้จริงนั้นมันเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ณ วันนี้ที่เราจะต้องสร้างวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่(นิวนอมอล)ขึ้นมา” นายโอมิกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดของญี่ปุ่น ซึ่งมีหลายประเด็นสำคัญ ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/