"...ระบบติดตามตัวผู้ติดเชื้อนั้นเป็นการออกแบบเพื่อที่จะชะลอการติดเชื้อจากโรคติดต่อ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ระบบที่ว่านี้แล้วทั้งในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ และเยอรมนี ...โดยวิธีการใช้งานระบบนั้น ถ้าหากมีใครสักคนติดเชื้อ ก็จะต้องให้คนที่ติดเชื้อนั้นสามารถระบุได้ว่าเขาได้เคยไปพูดคุยหรือพบปะกับใครบ้างหรือไม่ เพื่อตามตัวคนเหล่านี้ และถูกขอให้กักตัวต่อไป..."
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโรคโควิด-19 ขณะนี้ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อนำมาปรับใช้ในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด และให้สอดคล้องกับการผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่างๆ
แม้แต่ประเทศไทยเองก็มีการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี การพัฒนาแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาล สามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นข้อมูลรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ พบว่าที่ประเทศอังกฤษนั้นก็กำลังมีการใช้แอปพลิเคชันตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 เช่นกัน และคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในต้นเดือน มิ.ย.
โดยสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้ทำรายงานเกี่ยวกับแอปพลิเคชันดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้กล่าวถึงโครงการระบบตรวจจับหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่จะเริ่มใช้งานในวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งระบบว่ามานั้นจะสามารถทำให้อังกฤษสามารถเอาชนะไวรัสได้ในแง่ของการติดตามตัวผู้ติดเชื้อ
โดยรัฐบาลได้มีการจ้างแรงงานจำนวนอย่างน้อย 25,000 ราย เพื่อใช้ในภารกิจการติดตามผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงการทำระบบแจ้งเตือนในแอปพลิเคชันว่าเจ้าของโทรศัพท์นั้นได้อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อและมีความจำเป็นต้องกักตัวเองหรือไม่
@อะไรคือระบบติดตามตัวผู้ติดเชื้อ
ระบบติดตามตัวผู้ติดเชื้อนั้นเป็นการออกแบบเพื่อที่จะชะลอการติดเชื้อจากโรคติดต่อ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ระบบที่ว่านี้แล้วทั้งในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ และเยอรมนี
โดยวิธีการใช้งานระบบนั้น ถ้าหากมีใครสักคนติดเชื้อ ก็จะต้องให้คนที่ติดเชื้อนั้นสามารถระบุได้ว่าเขาได้เคยไปพูดคุยหรือพบปะกับใครบ้างหรือไม่ เพื่อตามตัวคนเหล่านี้ และถูกขอให้กักตัวต่อไป
ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวในโทรศัพท์ เมื่อผู้ใช้งานเข้าไปพบปะสังสรรค์กับผู้อื่น ซึ่งข้อดีของการใช้แอปพลิเคชันนั้นก็คือสามารถเตือนผู้ใช้ที่อาจจะไปพบปะกับผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ เช่น การเดินทางโดยสารบนรถประจำทางเป็นต้น
@ระบบติดตามผู้ติดเชื้อจะมีหน้าตาอย่างไรในอังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษได้แถลงว่าระบบติดตามตัวนั้นจะสามารถใช้งานได้ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ และขณะนี้ ได้มีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่จะติดตามตัวผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 24,000 ราย
โดยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเข้าไปสอบถาม รวบรวมและติดตามคนไข้ว่าได้ไปติดต่ออย่างใกล้ชิดกับใครมาบ้างผ่านการใช้งานโทรศัพท์และอีเมล ซึ่งในขณะนี้บางพื้นที่ของอังกฤษได้เริ่มมีการทดลองใช้ระบบติดตามตัวนี้แล้ว
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันของหน่วยงานสาธารณสุขบนโทรศัพท์นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบติดตามตัว ซึ่งในขณะนี้ ทุกคนในประเทศอังกฤษที่มีสมาร์ทโฟนจะถูกขอให้โหลดแอปพลิเคชันนี้
ซึ่งหลังจากการดาวน์โหลดแล้ว แอปพลิเคชันก็จะทำหน้าที่เปิดสัญญาณบลูทูธ และถ้าหากผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนนั้นมีอาการป่วยจากโรคโควิด- 19 ผู้ใช้งานก็จำเป็นที่จะต้องระบุว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยลงบนแอปพลิเคชันแล้วข้อมูลก็จะถูกส่งไปยังหน่วยงานสาธารสุขอีกต่อหนึ่ง
หลังจากนั้นแอปพลิเคชันก็จะส่งข้อความนิรนามเตือนผู้ที่เคยติดต่อกับผู้ใช้โทรศัพท์ที่ป่วยเป็นโรคโควิด- 19 ให้รีบไปตรวจอาการหรือกักตัวเอง
วิธีการทำงานของระบบติดตามตัว
@ผลการทดลองใช้แอปพลิเคชันเป็นอย่างไรบ้าง
ณ เวลานี้มีการทดลองใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดตามผู้ป่วยในพื้นที่ไอล์ออฟไวต์ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ ซึ่งสาเหตุที่มีการเลือกใช้พื้นที่เกาะนี้ ในการทดลองระบบ ก็เป็นเพราะว่า มีจำนวนผู้สูงอายุค่อนข้างมาก จำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมีน้อย และมีการจำกัดการเดินทางมายังเกาะ จึงทำให้เป็นสถานที่เหมาะสมในการศึกษาระบบป้องกันการแพร่เชื้อและการระบาดของไวรัส
โดยนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้วอย่างน้อย 140,000 ราย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้เตือนว่าแอปพลิเคชันนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องของความปลอดภัย ในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน การลงทะเบียนแอปพลิเคชันที่มีความสับสนและอาจจะถูกนำไปใช้เพื่อไม่ให้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนการเจ็บป่วยได้
@ประเทศอื่นมีระบบติดตามผู้ติดเชื้อหรือไม่
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในการติดตามหาผู้ติดเชื้อโควิด เนื่องจากในประเทศต่างๆ ก็มีความพายามที่จะติดตามตัวผู้ติดโควิด เช่นกัน
โดยที่เกาหลีใต้ มีการตรวจสอบข้อมูลไปถึงการใช้จ่ายบัตรเครดิต กล้องวงจรปิด และตรวจไปถึงตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือ
ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็มีการให้ตำรวจและนักสืบตามไปสืบว่าผู้คนนั้นไปไหนมาไหนมาบ้าง
ขณะที่ในนอร์เวย์มีรายงานว่ามีผู้ที่โหลดแอปพลิเคชันที่ใช้ติดตามผู้ติดเชื้อเป็นจำนวน 5 รายเท่านั้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานที่จะต้องถูกนำไปเก็บไว้ที่ส่วนกลาง
ส่วนออสเตรียซึ่งมีการแจกแอปพลิเคชันติดตามผู้ติดเชื้อ ที่ถูกใช้งานโดยองค์การกาชาดสากลเป็นประเทศแรก ได้มีการให้ทางเลือกแก่ผู้ที่ใช้งานในการควบคุมแอปพลิเคชันด้วยว่าจะส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางหรือไม่ ถ้าหากเกิดการจับคู่กับคนติดเชื้อโควิด 19 เกิดขึ้น
ส่วนที่ไอซ์แลนด์ มีรายงานว่ามีประชาชนร้อยละ 40 ได้มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ใช้แจ้งเตือนการติดเชื้อโควิดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนประชากรที่มากที่สุดในโลกที่ได้มีการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ระบบติดตามตัวแบบปกติที่ใช้พนักงานเป็นผู้สอบถามข้อมูลและตรวจสอบการพบปะของผู้ติดเชื้อโควิด ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ดี
@การใช้ระบบติดตามตัวจะช่วยยุติการปิดเมืองได้หรือไม่
ที่ผ่านมานั้นมีการคาดหวังว่าการใช้ระบบติดตามตัวควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ จะนำมาซึ่งการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองได้
แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือความเข้มข้นของระบบการสืบหาและย้อนรอยผู้ติดเชื้อของอังกฤษนั้นยังคงไม่เข้มข้นเท่ากับประเทศอย่างเกาหลีใต้
ซึ่งการใช้แอปพลิเคชันอย่างกว้างขวางนั้นอาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ณ เวลานี้ หมายความว่าจะต้องมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมหาศาลมาก แต่หน่วยงานด้านวิชาการก็ได้ส่งคำเตือนไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษ โดยมีการประมาณการว่าจะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวนแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสมาร์ทโฟนทั้งหมดในประเทศอังกฤษ หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอังกฤษเท่านั้นที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาใช้งาน
หน่วยงานวิชาการ ยังได้นำเอาข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชัน WhatsApp ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก กลับพบว่ามีการใช้งานเพียงแค่ 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วประเทศอังกฤษเท่านั้น
และอีกปัญหาหนึ่งก็คือผู้ใช้งานโทรศัพท์นั้นจะต้องมีความซื่อตรงเป็นอย่างมาก ที่จะรายงานว่าตัวเองนั้นมีอาการป่วย และแจ้งข้อมูลต่อหน่วยงานสาธารณสุข
@จะทำอย่างไรดีถ้าหากไม่มีสมาร์ทโฟน
แน่นอนว่าแอปพลิเคชันของหน่วยงานสาธารณสุขนั้น ผู้ที่ใช้งานได้จะต้องมีสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าหากไม่มี ผู้ที่มีอาการป่วยจำเป็นต้องรายงานอาการและกรอกข้อมูลการป่วยผ่านทางช่องทางโทรศัพท์และทางช่องทางออนไลน์
โดยทุกคนที่รายงานอาการป่วยให้กับทางภาครัฐจะถูกขอให้รายงานข้อมูลด้วยว่า ล่าสุดได้ไปติดต่อกับใครมาบ้าง ได้พูดคุยกับใครเป็นระยะเวลานานเกิน 15 นาที ในช่วงเวลา 2 วันก่อนจะทราบว่าตัวเองมีอาการป่วย เพื่อที่เจ้าหน้าที่ติดตามจะได้ดูแลผู้ป่วย และหาทางเข้าถึงและเตือนข้อมูลแก่บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อไป
ตัวอย่างการใช้งานแอปพลิเคชัน (อ้างอิงวิดีโอจาก KSDK News)
@ รัฐบาลจะทำอย่างไรกับข้อมูลของเรา
ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีใครที่มีความสุขเมื่อรู้ว่ารัฐบาลหรือกลุ่มบุคคลที่ 3 สามารถเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้ ซึ่งในเวลานี้ในประเทศอังกฤษก็มีกลุ่มที่ต่อสู้ด้านสิทธิหลายกลุ่มออกมาวิจารณ์ว่าไม่ควรนำการใช้แอปพลิเคชันนี้มาตั้งเป็นเงื่อนไขในการยุติมาตรการปิดเมืองหรือการกลับไปทำงาน
ขณะที่ หน่วยงานสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ถูกรวบรวมนั้นจะไม่ถูกนำไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากในด้านของสุขภาพและการวิจัย
โดยระบบแอปพลิเคชันของรัฐบาลอังกฤษนั้นถือได้ว่าเป็นรูปแบบของการรวมศูนย์ข้อมูลเข้าสู่ภาครัฐ หมายความว่าข้อมูลต่างๆ กระบวนการจับคู่เมื่อเจอคนติดเชื้อ ทุกอย่างนั้นจะอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์แห่งเดียวเท่านั้น
ซึ่งรูปแบบนี้จะแตกต่างจากระบบแจ้งเตือนแบบกระจายข้อมูลที่กำลังถูกพัฒนาโดยบริษัทแอปเปิลและกูเกิลเป็นอย่างยิ่ง ที่ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นจะเกิดขึ้นแค่ระหว่างผู้คนเท่านั้นและจะไม่มีการรวบรวมข้อมูลมายังส่วนกลางแต่อย่างใด
ซึ่งบริษัทแอปเปิลและกูเกิลยังได้ออกมาบอกอีกว่าแอปพลิเคชันของพวกเขาที่กำลังดำเนินการนั้นเนื่องจากไม่ได้เก็บข้อมูลเอาไว้ในเซิร์ฟเวอร์จึงทำให้เป็นการยากที่แฮกเกอร์หรือหน่วยงานภาครัฐจะติดตามข้อมูลและหาตัวบุคคลนั้นๆได้
อย่างไรก็ดี หน่วยงานพัฒนาแอปพลิเคชัน ภายใต้หน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นว่า สาเหตุที่จะต้องมีการรวมศูนย์ข้อมูลเอาไว้ในเซิร์ฟเวอร์นั้นก็เนื่องมาจากว่าจะเพิ่มโอกาสในการศึกษาได้มากขึ้นว่าโรคระบาดนั้นมีลักษณะการแพร่ระบาดอย่างไร
เรียบเรียงเนื้อเรื่องและรูปภาพจาก:https://www.bbc.com/news/explainers-52442754
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage