“...ยุคนั้นเราเป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.เปรม แต่ก็มีบางส่วนที่ยกมือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เขาเคารพเอกสิทธิ์ ส.ส. ทุกคนก็อภิปรายสวนทางกับรัฐบาลได้หมด...แต่รัฐบาลนี้ (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) ไม่เหมือนกัน บริบททางการเมืองก็ไม่เหมือน ตอนนี้ใครโหวตสวนมติพรรค พ้นสภาพ ส.ส.ไม่ยาก โดนขับออกจากพรรคก็ไม่ยาก”
22 พ.ค.นี้ สภาผู้แทนราษฎร จะเปิดประชุมสมัยสามัญ ประจำปี 2563
มีวาระร้อนรอจ่อคิวให้สภาฯพิจารณาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการใช้งบเพื่อกอบกู้สถานการณ์จากโรคระบาดโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท , พ.ร.ก.ให้อำนาจการ ธปท.ปล่อยซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.เข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท
หากนับเสียงในสภาฯ เรียกได้ว่าฝ่ายรัฐบาลผ่านพ้นสถานการณ์เสียง ‘ปริ่มน้ำ’ แล้ว หลังฝ่ายค้านเจอมรสุมรุมเร้า 'ตัดแต้ม-ลดทอน' ทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจากปรากฏการณ์ ‘งูเห่า’ สลับขั้วย้ายข้าง และยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทำให้ 11 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
อย่างไรก็ดี แม้จะได้เปรียบจำนวนเสียง ส.ส. แต่ฝ่ายรัฐบาลยังคงต้องต่อสู้กับ ‘ข่าวลือรายวัน’ จากปรากฏรอยร้าว 'ครั้งใหม่' ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อันเนื่องจากแรงกดดันเพื่อ 'เปลี่ยนขั้วอำนาจ' การบริหารภายในพรรค และหวังผลต่อเนื่องไปถึงการยึดเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า การเปิดสมัยประชุมสภาฯเที่ยวนี้ ซึ่งจะมีการอภิปรายกฎหมายสำคัญๆหลายฉบับ จะกลายเป็นเวที 'ต่อรอง' ผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ต่างจากในอดีต
ส่วนฟากฝั่งฝ่ายค้าน แม้ว่านักวิเคราะห์การเมืองจะประเมินว่า การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านฯทำได้อย่างมากแค่ 'ตำหนิ' การทำงานของรัฐบาล เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่ไม่ถ้วนหน้าทั่วถึง และการ 'ตีเช็คเปล่า' 4 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
แต่ประธานวิปฝ่ายค้านอย่าง ‘สุทิน คลังแสง’ เชื่อว่า การอภิปรายที่เข้มข้น และการชี้ให้เห็นช่องโหว่ในการทำงาน ยังพอมีโอกาสสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงรัฐบาล และอาจจะทำให้ พ.ร.ก.ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาได้
หากย้อนกลับไปในอดีตการเมืองไทย มี พ.ร.ก.อย่างน้อย 3 ฉบับ ถูก 'ตีตก' กลางสภาฯ และ 1 ใน 3 ฉบับนี้ คือ พ.ร.ก.การขนส่งทางบกฯ ที่เสนอโดยรัฐบาล ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์’ เมื่อ พ.ร.ก.ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศ 'ยุบสภา' ในเวลาต่อมา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 1 พ.ค.2529 ขณะที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 ‘สมัคร สุนทรเวช’ รมว.คมนาคมในขณะนั้น เสนอ พ.ร.ก.การขนส่งทางบก เพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ให้สภาฯพิจารณา โดยให้เหตุผลว่า มีความเร่งด่วนในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
(บันทึกการประชุมสภา ส.ส. วันที่ 1 พ.ค.2529)
ตลอดการอภิปรายที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ฝ่ายค้านฯพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาของ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เช่น ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและควรเสนอเป็น พ.ร.บ., ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และไม่รอบคอบในการเขียนร่างกฎหมาย เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่กระบวนการลงมติโหวตว่าจะเห็นชอบกับพ.ร.ก.หรือไม่ ปรากฎว่าสภาฯต้องลงมติถึง 3 ครั้ง และไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ที่ประชุมมีมติ 140 ต่อ 137 เสียง ไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.
ครั้งที่ 2 ที่ประชุมมีมติ 143 ต่อ 142 เสียง ไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.
ครั้งที่ 3 ที่ประชุมมีมติ 147 ต่อ 143 เสียง ไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.
โดยเฉพาะการลงมติครั้งที่ 3 ‘สมัคร สุนทรเวช’ เสนอให้นับคะแนนด้วยวิธีการ 'ขานชื่อ' เนื่องจากการลงมติครั้งที่ 2 มีคะแนนเสียงต่างกันเพียง 1 เสียงเท่านั้น จนทำให้ ส.ส.ในสภาโห่ร้องด้วยความไม่พอใจ ท้ายที่สุดท้าย พ.ร.ก.การขนส่งทางบกฯก็มีอันต้องตกไป
‘นรนิต เศรษฐบุตร’ กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้า เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ว่า หลังสภาฯตีตก พ.ร.ก.การขนส่งทางบกฯ พล.อ.เปรม ได้ประกาศยุบสภาในอีก 6 ชั่วโมงถัดมา โดย พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2529 ระบุข้อความไว้อย่างมีนัยยะสำคัญว่า
“จากการพิเคราะห์สาเหตุแห่งการไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตราพระราชกำหนด หากสืบเนื่องมาจากความ 'แตกแยก' ในพรรคการเมืองบางพรรค
หากให้สภาฯชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และจะกระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และจะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ขึ้นมาใหม่”
(พระราชกฤษฎีกายุบสภา 1 พ.ค.2529)
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศยุบสภาฯและมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 27 ก.ค.2529 พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองสำคัญให้กลับมาเป็น 'นายกฯสมัยที่ 3' ภายใต้รัฐบาลผสม กระทั่งพ้นจากตำแหน่งนายกฯไปในวันที่ 3 ส.ค. 2531
แต่ก็ไม่เสมอไปที่เมื่อกฎหมายสำคัญๆที่รัฐบาลเสนอ และถูกสภาฯตีตกแล้ว จะทำให้รัฐบาลมีอันต้อง 'ล้ม' ไป หรือ นายกฯต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะปรากฎหลายครั้งว่า รัฐบาลและนายกฯหลายคนยังคงทำหน้าที่ต่อไป แม้กฎหมายสำคัญจะถูกคว่ำ
ทว่าปรากฎการณ์ 'รอยร้าว' ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในเวลาต่อมา
‘วีระกร คำประกอบ’ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในปี 2529 เขาเป็น ส.ส.พรรคกิจสังคม หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ‘พล.อ.เปรม ’ เล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลที่มีปัญหา ประกอบกับอิสระในการแสดงความเห็นของ ส.ส. เป็นเหตุให้ พ.ร.ก.การขนส่งทางบกฯ ถูกตีตกได้อย่างไม่ยากเย็น
“ยุคนั้นเราเป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.เปรม แต่ก็มีบางส่วนที่ยกมือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่ยุคนั้นเขาเคารพเอกสิทธิ์ ส.ส. ทุกคนก็อภิปรายสวนทางกับรัฐบาลได้หมด อย่างผมก็เลยทำแบบนั้นหลายครั้ง จนอาจารย์หม่อม (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม) เรียกไปตำหนิว่า นายวีระกรไปประกอบวีรกรรมมาอีกแล้ว
แต่รัฐบาลนี้ (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) ไม่เหมือนกัน บริบททางการเมืองก็ไม่เหมือน ตอนนี้ใครโหวตสวนมติพรรค จะพ้นสภาพ ส.ส.ไม่ยาก โดนขับออกจากพรรคก็ไม่ยาก” นายวีระกร กล่าว
จากปี 2529 สู่ ปี 2563 ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง ‘รัฐบาลพล.อ.เปรม - รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์’ เริ่มปรากฏรอยร้าวภายในก่อนการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 แต่ ‘วีระกร’ เชื่อว่า ครั้งนี้รัฐบาล 'เอาอยู่'
(วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.พรรคกิจสังคม)
“พรรคเรา (พลังประชารัฐ) ยังมีเอกภาพ แต่ข่าวลือที่ออกมา ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อเท็จจริงอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นแค่การแบ่งกลุ่มกันอย่างหลวมๆ เพราะทุกคนมีจุดหมายเดียวกันอยู่ คือ ประคับประคองให้รัฐบาลนี้อยู่รอดต่อไปให้ได้ และส.ส.ทุกคนทราบดีว่าไม่อยากให้ประเทศย้อนกลับไปเหมือนช่วง 5 ปีของ คสช. ไม่มีสภา และปัญหาชาวบ้านก็จะไม่ได้รับการแก้ไข”วีระกรกล่าว
วีระกร ย้ำว่า “ผมเชื่อว่า ส.ส.หลายคนคิดเหมือนกัน คือ อะไรก็ได้ ถ้าแลกกับการยังมีสภาอยู่ แม้ว่าจะหวานอม ขมกลืน แม้บางกลุ่มจะไม่ได้กระทรวงที่น่าพอใจ แต่ถามว่าเขาจะทำถึงขนาดคว่ำ พ.ร.ก.หรือไม่ ไม่มีหรอก เพราะทุกกลุ่มยังต้องช่วยกันประคับประคองกันต่อไปอยู่”
การปิดฉากรัฐบาล พล.อ.เปรม สมัยที่ 2 ในปี 2529 เกิดเพราะความ 'แตกแยก' ในพรรคการเมืองบางพรรค จึงถูกเทียบกับข่าวลือรายวันเกี่ยวกับ ‘รอยร้าวภายใน’ ภายในพรรครัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้
แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะมีอุณหภูมิจุดเดือดแตกต่างกันมาก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำทัพฝ่าด่านอภิปรายรอบนี้ไปได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป
ข่าวประกอบ :
การเมืองจัดทัพถล่ม ‘บิ๊กตู่’ ซักฟอกเงินกู้-จับตาตั้ง 'กมธ.' เกาะติดงบโควิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/