“...ญัตตินี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอสมควร เพราะตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจทั้งหมดถูกรวบไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์เพียงผู้เดียว เราจึงคิดว่ารัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในญัตติของเรา เพื่อช่วยกันตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด..."
ในขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง และไทยกำลังเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. มีคำบัญชาออกไป
แต่ทว่าสถานการณ์โควิดใน 'สนามการเมือง' กำลังเข้าสู่ระยะ 'อันตราย' หลังพ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2563 กำหนดเปิดสภาฯในวันที่วันที่ 22 พ.ค.2563
เพราะทันทีที่สภาเปิดประชุมสมัยสามัญ วาระด่วนที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ คือ พ.ร.ก.เยียวยาและฟื้นฟูประเทศในสถานการณ์โควิด 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งมีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
ตามมาด้วยร่างพ.ร.บ.งบประมาณอีก 2 ฉบับ ได้แก่ การพิจารณาร่างพ.ร.บโอนงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาท และการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564 กรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการตัดงบสัมมนา-ดูงานต่างประเทศ แล้วนำไปตั้งงบกลางสู้กับโรคระบาดโดยเฉพาะ
ทั้งหมดนี้เป็น 'เรื่องร้อน-เร่งด่วน' ที่นักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล ต่างเฝ้ารอ
ทั้งยังเป็นโอกาสที่บรรดานักการเมืองจะได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ศบค.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเจาะจงเลือกใช้ 'ข้าราชการประจำ' เข้ามาทำหน้าที่ในศูนย์แก้ปัญหาโควิดอีกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะเดียวกัน 6 พรรคฝ่ายค้าน ยังล่ารายชื่อ 209 ส.ส. ยื่นต่อประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาด พร้อมทั้งพุ่งเป้าโจมตีมาตรการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกวิจารณ์ว่า 'ล่าช้า-ไม่ทั่วถึง'
แต่ไม่ทันข้ามวัน หนังสือขอเปิดประชุมกลับส่งไป 'ไม่ถึง' ประธานสภาฯ
"สภาฯไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะ ส.ส. 209 เสียง ไม่เพียงพอต่อการเข้าชื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ และต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 245 เสียง เท่ากับว่ายังขาดเสียงสนับสนุนอีก 37 เสียง" สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาฯสภาระบุ
ฝ่ายค้านยื่นหนังสือขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา
มีคำถามว่าเหตุใดฝ่ายค้านที่มีเพียง 209 เสียง จึงหวังว่าจะมีผู้เข้าชื่อสนับสนุนให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ?
สุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เล่าเบื้องหลังว่า ก่อนการตัดสินใจของ 6 พรรคฝ่ายค้านจะเกิดขึ้น เสียงสนับสนุนผ่านการประสานงานมั่นใจว่าจะมี ส.ส.รัฐบาล และส.ว.บางกลุ่มร่วมลงชื่อ
แต่เมื่อถึงเวลา เสียงสนับสนุนไม่มาตามนัด 245 รายชื่อขอเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ จึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน
“เราประสานกันในเชิงลึก รับปากกันด้วยวาจา คิดว่า ส.ส.รัฐบาล กับ ส.ว.บางส่วนจะมาร่วมลงชื่อกับเรา และเพื่อความสะดวกจึงยื่นหนังสือไว้ที่เลขาฯสภา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของทุกฝ่าย แต่ตอนนี้คงไม่มีใครไปเพิ่มชื่อแล้ว ทุกอย่างถือว่ายุติแล้ว” นายสุทิน กล่าว
แม้ว่ารัฐบาล-คณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการกู้และใช้เงินได้ทันที แต่ ‘สุทิน’ เชื่อว่า ยังมีโอกาสที่ พ.ร.ก.จะถูก ‘ตีตก’ หากฝ่ายค้านอภิปรายให้เห็นถึง 'ช่องโหว่' และอันตรายที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการเงินดังกล่าว
“แม้เขาจะใช้เงินได้ก่อน และเสียงก็มีมากกว่า แต่ถ้าฝ่ายค้านชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆได้ ผมเชื่อว่าประชาชนและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนอาจมาเข้าร่วมกับเรา รัฐบาลอาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ใช้เงินต่อไปก็ได้” นายสุทิน กล่าว
ไม่เพียงแต่เวทีสภาเปิด ‘ซักฟอก’ เงินกู้เท่านั้น พรรคฝ่ายค้านโดย 'พรรคก้าวไกล' ได้เข้าชื่อกัน 25 เสียง ยื่นญัตติด่วนขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค แสดงความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะวงเงิน 4 แสนล้านบาทที่ถูกเขียนไว้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เธอบอกอีกว่า ข้อกำหนดในการใช้เงินส่วนนี้ ทำให้คิดถึง 2 โครงการใหญ่ในอดีต ‘ไทยเข้มแข็ง-ไทยนิยมยั่งยืน’ ที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในอดีตมักมีปัญหาเรื่องการติดตามประเมินผล ทำให้เกิดความกังวลว่า วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทนี้ จะไม่ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“สิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุด คือ เงินกู้ทั้งหมดถูกกลั่นกรองด้วยคณะกรรมการแค่ 7 คนเท่านั้น เราจึงเสนอว่า ถ้ามีกรรมาธิการอีก 40 คน เข้าไปช่วยตรวจสอบจะดีกว่าหรือไม่ และเวทีนี้ไม่ใช่ของฝ่ายค้านอย่างเดียว เพราะจะมีสัดส่วนโควตาทั้งของครม.และส.ส.รัฐบาล ช่วยกันพิจารณาด้วย” ศิริกัญญากล่าว
ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.พิจารณางบเกี่ยวกับโควิด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคำขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ยังต้องรอลุ้นเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.รัฐบาล แต่ ศิริกัญญา เชื่อว่า ญัตตินี้ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าคำขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
“ญัตตินี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอสมควร เพราะตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจทั้งหมดถูกรวบไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์เพียงผู้เดียว เราจึงคิดว่า รัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในญัตติของเรา เพื่อช่วยกันตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด” ศิริกัญญาย้ำ
เหล่านี้เป็นสถานการณ์การเมืองที่กำลังเริ่ม 'รุกไล่' ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆในเวลานี้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage