"...การติดตามพฤติกรรมการกลายพันธ์ุอย่างเข้มข้นและพฤติกรรมการดื้อต่อการรักษาและวัคซีนที่กำลังทดลองนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั่วโลกควรพึงกระทำด้วยเช่นกัน เพราะต่อให้มีวัคซีนพร้อมที่จะใช้งานแล้ว แค่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นกลายพันธ์ุในเชื้อโควิด 19 แบบเดียวกับที่เราได้เคยเห็นเชื้อแบคทีเรียโรคต่างๆ ที่มีพฤติกรรมการดื้อยาปฏิชีวนะมาแล้ว..."
สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด -19 หรือโคโรน่าไวรัส ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
มีประเด็นสำคัญประการหนึ่ง ที่ถูกระบุถึงอย่างมากคือ เการกลายพันธ์ของเชื้อไวรัส ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระลอก 2 ซึ่งจะทำให้ยากต่อการตรวจจับเชื้อเพิ่มมาขึ้นกว่าเดิม และจะส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีเพิ่มมากขึ้นทวีคูณไปอีก จากตัวเลขล่าสุดในปัจจุบันที่จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 4,617,112 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 307,982 ศพ (ณ เวลา 09.45 น. วันที่ 16 พ.ค.2563)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจข้อมูลรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำเสนอ ณ ที่นี้
@ธรรมชาติการกลายพันธ์ุของไวรัส
เป็นธรรมชาติที่ทุกไวรัสบนโลกนั้นจะต้องเกิดกลายพันธ์ุขึ้นมา แม้แต่ไวรัส Severe acute respiratory syndrome (SARS) coronavirus (SARS-CoV) 2 หรือเชื้อโควิด-19 นั้น ก็ต้องมีการกลายพันธ์ุเช่นกัน ซึ่งการกลายพันธ์ุโดยธรรมชาตินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสได้แบ่งตัวเข้าไปสู่เซลล์ และเกิดข้อผิดพลาดในการทำสำเนารหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ
ไวรัสที่เผยแพร่ออกไปจะกลายเป็นไวรัสที่มีลักษณะกลายพันธ์ุต่างจากเดิม
@ไวรัสกลายพันธ์ได้เร็วแค่ไหน
ที่ผ่านมานั้นลักษณะของไวรัสโควิด -19 ค่อนข้างที่จะคงเส้นคงวา
นักวิทยาศาสตร์ได้มีการวิเคราะห์ตัวอย่างจำนวน 13,000 ตัวอย่างในสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่เดือน มี.ค. จนถึงเดือน พ.ค.เป็นต้นมา พบว่ามีการกลายพันธ์ุเป็นจำนวน 2 ครั้ง ใน 1 เดือน ซึ่งถ้าหากไวรัสยิ่งมีการพัฒนา หรือเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วขึ้นเท่าไร
สิ่งที่ตามมาก็คือความยากลำบากที่มากขึ้นในการคิดค้นวัคซีนเพื่อที่จะทำการรักษาโรค ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีการกลายพันธ์ุตลอด จนทำให้ต้องมีการคิดค้นวัคซีนใหม่ๆ ขึ้นมาในทุกปี
@ขณะนี้ มีสายพันธ์ุไวรัสกี่ประเภททั่วโลก
จากการสืบค้นข้อมูลรหัสพันธุกรรมโคโรน่าไวรัสทั่วโลก พบว่า ขณะนี้ ไวรัสมีการแบ่งสายพันธ์ุออกไปตามพื้นที่ที่ได้มีการแพร่ระบาดตามธรรมชาติของไวรัส
ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นักวิจัยเยอรมนีได้จำแนกกลุ่มพันธุกรรมของไวรัสออกเป็น 3 สายพันธ์ุไว้ดังนี้ สายพันธ์ุ A และสายพันธ์ุ C จะเป็นสายพันธ์ุที่พบมากในชาวยุโรปและอเมริกัน และสายพันธ์ุ B จะพบในการติดเชื้อที่เอเชียตะวันออก
แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีกลุ่มย่อยๆในสายพันธ์ุเหล่านี้ ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เพื่อติดตามต้นกำเนิดสายพันธ์ุการระบาด เช่นที่อิตาลีตอนเหนือ หรือที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
อ้างอิงวิดิโอจากช่อง The Physiological Society
@ทำไมการกลายพันธ์ุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
การกลายพันธ์ุนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด
การกลายพันธ์ุในบางครั้งก็มีผลกระทบที่เล็กน้อยหรือบางครั้งก็หยุดการทำงานของไวรัสได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่การกลายพันธ์ุไม่ว่าจะแค่ครั้งเดียว หรือหลายครั้ง ได้เสริมสร้างสมรรถนะของไวรัสให้สูงขึ้นไปอีก ทั้งการแพร่ระบาดที่ง่ายขึ้น ความอันตรายของไวรัสที่มากขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อในเซลล์ของร่างกายที่รุนแรงขึ้นตามมาด้วย
@ไวรัสโควิด 19 กลายพันธ์อย่างไร
ที่ผ่านมานั้นมีการกลายพันธ์ุในไวรัสโควิด -19 ที่ทางนักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างให้ความสนใจในหลายลักษณะ
นักวิจัยจากวิทยาลัยด้านสุขอนามัยและเวทศาสตร์เขตร้อนลอนดอน ได้ศึกษาข้อมูลจากไวรัสโคโรน่าเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 กลุ่มยีน จากไวรัสโคโรน่าทั่วโลก และพบการกลายพันธ์ุหลายครั้ง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญว่าไวรัสนั้นได้ปรับตัวเพื่อที่จะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ผ่านทางการติดเชื้อในเซลล์
ถึงแม้การกลายพันธ์ุแบบฉับพลันนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ณ เวลานี้ อย่างไรก็ตามทางด้านนายมาร์ติน ฮิบเบิร์ด ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ออกมาเตือนว่า หน่วยงานทั่วโลกควรที่จะให้ความสำคัญและคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของไวรัส โดยเฉพาะการสอดส่องดูว่าการกลายพันธ์ุใดจะทำให้การแพร่เชื้อนั้นมีโอกาสมากขึ้น และการกลายพันธ์ุใดที่อาจจะส่งผลทำให้ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาวัคซีน
ขณะที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ในห้องแล็บที่ลอส อลามอส นิวเม็กซิโก ได้พบการกลายพันธ์ุในโปรตีนรูปหนามของไวรัส ซึ่งมีส่วนช่วยในการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการศึกษาการกลายพันธ์ุในโปรตีนรูปหนามนั้นก็คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
Spike หรือโปรตีนหนามของไวรัสโคโรน่าที่มีส่วนทำให้ติดเชื้อในเซลล์ได้ง่ายขึ้น (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://healthcare-in-europe.com)
นายนิค โลแมน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ได้กล่าวว่า ไวรัสโคโรน่าทุกสายพันธ์ุนั้นจะมีความคล้ายคลึงกัน
ไวรัสนั้นจะมีรูปแบบการกลายพันธ์ุเกิดใหม่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลหลายประการ
ปัจจัยหลักก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าปัจจัยเบื้องต้นว่าด้วยการกลายพันธ์ุของไวรัส ที่จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสได้วางแผนที่จะเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก็จะทำให้ไวรัสปรับตัวตามไปด้วย
นายนิค โลแมน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (อ้างอิงรูปภาพจากทวิตเตอร์)
@สิ่งการกลายพันธ์ุพยายามจะบอกกับเรา
ในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังจะศึกษารูปแบบทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า จากกลุ่มแพร่กระจายในแต่ละกลุ่มเพื่อที่จะติดตามข้อมูลที่จะย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของไวรัสว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไรกันแน่
เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังการนำเข้าการระบาดใหม่ในครั้งถัดๆไป
แต่การติดตามพฤติกรรมการกลายพันธ์ุอย่างเข้มข้นและพฤติกรรมการดื้อต่อการรักษาและวัคซีนที่กำลังทดลองนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั่วโลกควรพึงกระทำด้วยเช่นกัน
เพราะต่อให้มีวัคซีนพร้อมที่จะใช้งานแล้ว แค่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นกลายพันธ์ุในเชื้อโควิด 19 แบบเดียวกับที่เราได้เคยเห็นเชื้อแบคทีเรียโรคต่างๆ ที่มีพฤติกรรมการดื้อยาปฏิชีวนะมาแล้ว
นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2020/may/10/will-covid-19-mutate-into-a-more-dangerous-virus
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage