"...ในขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในการดำเนินการ 'กู้เงิน' จะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมกับ ‘สภาพคล่อง’ ทางการเงินในแต่ละช่วงเวลาด้วยความ 'รอบคอบ' และบริหารจัตการเงินกู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ..."
ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง
แม้ว่าการเพิ่ม ‘วงเงินกู้’ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับใหม่เป็น 2.92 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.12 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.99 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการ ‘ปิดเมือง’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
แต่นั่นก็ทำให้กระทรวงการคลังประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นเดือนก.ย.63 จะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 51.84% จาก ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 ที่อยู่ในระดับ 41.28% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10%
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายละเอียดแผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับดังกล่าว พบว่าวงเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินตาม ‘แผนการก่อหนี้ใหม่’ และ ‘แผนการบริหารหนี้เดิม’ ของรัฐบาล รวมแล้ว 7.87 แสนล้านบาท
เช่น การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ล็อตแรก 6 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
และการปรับเพิ่ม 'วงเงินกู้' เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ 'ตั๋วเงินคลัง' ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบ 2563 เป็น 4.53 แสนล้านบาท จากเดิม 2.53 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท เป็นต้น
แต่ทว่าหน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับปรับปรุงใหม่
เริ่มจากสำนักงบประมาณที่ให้ความเห็นว่า กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร ‘เร่ง’ ดำเนินการให้มีการใช้จ่าย ‘เงินกู้’ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ‘โดยเร็ว’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
รวมทั้งควร 'วางระบบ’ การกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานเจ้าของโครงการให้มีการใช้จ่ายและเบิกจ่ายเงินกู้ได้อย่างสอดคล้องและบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผน
ขณะที่ธปท.ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควร ‘เร่ง’ พิจารณากำหนดรายละเอียดโครงการและแผนการใช้จ่าย ‘เงินกู้’ ให้มีความชัดเจนโดยรวดเร็ว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่าง ‘ทันท่วงที’
นอกจากนี้ ธปท.จะประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดเช่นที่เคยเป็นมา เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงิน 'เป็นไปอย่างราบรื่น' และมีประสิทธิภาพ
ส่วนสภาพัฒน์ให้ความเห็นว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปี 2563 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ประกอบกับจะมีการสูญเสียรายได้ของรัฐจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกส่วนหนึ่ง ในขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในการดำเนินการ 'กู้เงิน' จะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมกับ ‘สภาพคล่อง’ ทางการเงินในแต่ละช่วงเวลาด้วยความ 'รอบคอบ' และบริหารจัตการเงินกู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงอาจสรุปได้ว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้อง ‘เร่ง’ จ่ายเงินกู้เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจให้ ‘ทันท่วงที’ เท่านั้น แต่การกู้เงินแผนภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะมีการ 'กู้เงินใหม่' และ 'บริหารหนี้เดิม' เป็นเงินสูงถึง 2.53 ล้านล้านบาทนั้น
จะต้องคำนึงถึง ‘สภาพคล่อง’ ของตลาดการเงินด้วย เพื่อไม่เกิดการแย่ง 'เงินกู้' และสภาพคล่องในตลาดจาก 'เอกชน' มาอยู่ในมือภาครัฐ ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ทุกอย่างย่ำแย่ลงอีก
อ่านประกอบ :
สภาพคล่องกระจายไม่ทั่วถึง!‘วิรไท’ ย้ำจำเป็นตั้งกองทุนหุ้นกู้-ออกซอฟท์โลนอุ้มเอสเอ็มอี
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage