"...จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวมเป็นจำคุก 18 ปี และปรับ 540,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนความผิดแต่ละกระทงศาลลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีจำเลยได้ชดใช้เงินคืนทางราชการครบถ้วนและถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการแล้ว โทษจำคุกจังให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี..."
คดีทุจริตใช้รถหลวง ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมไทยไม่รู้จักจบสิ้น
ล่าสุดเป็นกรณีผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข คือ นางสุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์
นอกจากถูกศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 18 ปี แต่ได้รอลงอาญา ถูกปรับเงิน 540,000 บาท ยังถูกลงโทษไล่ออกจากราชการด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางสุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ทุจริตใช้รถยนต์ส่วนกลางของสถาบันโรคทรวงอกเพื่อประโยชนส่วนตน และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 151 , 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบบั ที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และ ป.อ. มาตรา 90 และมาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และส่งสำนวนพยานหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและ ประพฤติมชิอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นางสุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 (เดิม) พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ความผิดแต่ละกรรมเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 30,000 บาท รวม 27 กระทง เป็นจำคุก 27 ปี และปรับ 810,000 บาท
จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวมเป็นจำคุก 18 ปี และปรับ 540,000 บาท
ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนความผิดแต่ละกระทงศาลลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีจำเลยได้ชดใช้เงินคืนทางราชการครบถ้วนและถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการแล้ว
โทษจำคุกจังให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 , 30 (ที่แก้ไขใหม่) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่ อัยการสูงสุด (อสส.) หารือไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เห็นควรไม่ฎีกาคำพิพากษา
ปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ
พร้อมกับบทเรียนคดีทุจริตใช้รถหลวงอีกหนึ่งคดี ที่ต้องถูกบันทึกไว้ เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
- มหากาพย์รถหลวง! 10 ปี ป.ป.ช. ชี้มูลเพียบ 70 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 200 ราย
- 2 ปี 8 คน! บทเรียนคดีรถหลวง ล่าสุด'อดีตนายกฯบ้านโตนด-ธนารักษ์พะเยา'โดนโทษจำคุกรอลงอาญา
- สะท้อนแววทุจริต! ป.ป.ช.เตือน จนท.รัฐ ตระหนัก 'รถหลวง มิใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล' ผิดร้ายแรง
- บวชเป็นพระสร้างปย.สังคม! คุก 50 ปี รอลงอาญาอดีตผอ.ซิป้า คดีรถหลวง-ป.ป.ช.ขออุทธรณ์สู้
- 2 รายล่าสุด! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา อดีตปลัด อบต.ท่ากระดาน-อดีตผอ.รพ.ชัยภูมิ คดีรถหลวง