"...ตำรวจ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และถูกกักตัวค่อนข้างมาก ขณะที่ปัญหาอาชญากรรมแม้ว่าอาชญากรรมทั่วไปจะลดลงเพราะมาตรการปิดเมืองและเคอร์ฟิว แต่ก็มีปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปแบบการก่ออาชญากรรมอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การปล้นตู้เอทีเอ็ม ปล้นร้านทอง ปล้นร้านสะดวกซื้อ หรือที่ จ.จันทบุรี เริ่มมีการปล้นทุเรียนด้วยซ้ำ และคนร้ายส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม..."
“ตำรวจเลือกไม่ได้ ว่าจะเข้าไปจับกุมเฉพาะคนที่ไม่มีความเสี่ยงติดโควิด และคนที่ทำความผิดเช่นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ เล่นการพนัน ก็มักมีการรวมกลุ่ม ก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด"
"แต่ทุกครั้งที่มีเหตุร้าย มีคนร้าย ตำรวจก็ต้องเข้าไป เพราะโดยหน้าที่ เราต้องเลือกให้น้ำหนักกับความปลอดภัยของประชาชนก่อนที่จะสนใจว่าเสี่ยงติดโควิดหรือไม่”
คือ แนวคิดที่ถูกนำเสนอโดย พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งเข้าร่วมนำเสนอข้อมูล ในหัวข้อ Living with COVID-19 ตอน “บทบาทตำรวจและอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เป็นรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ผ่านเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา หรือ RoLD (Rules of Law Development) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา
@ พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร
รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 อธิบายการทำงานของตำรวจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า การจัดมาตรการป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม สามารถทำได้ดีสำหรับงานบริการประชาชนที่สถานีตำรวจ ทั้งแจ้งความ ร้องทุกข์ต่างๆ แต่ภารกิจอีกด้านของตำรวจคือต้องออกไปเป็นสายตรวจดูแลความปลอดภัยประชาชน ทำงานสืบสวนสืบสวนหรือเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด เป็นส่วนงานที่ยากจะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระห่างทางสังคม
โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด ที่มีชายคนหนึ่งถืออาวุธปืนที่ขึ้นลำแล้วจะเข้าไปปล้นธนาคารย่านบางปะกง ตำรวจก็จำเป็นต้องเข้าไปจับกุมโดยไม่สามารถหลักเลี่ยงการสัมผัสตัวกับคนร้ายได้
“ลักษณะการทำงานของตำรวจ ต้องทำงานเป็นทีม เข้าจับกุมก็ต้องไปเป็นทีม ตามหลักการว่า เราต้องมีกำลังมากกว่าผู้ก่อเหตุ เมื่อทำงานเป็นทีมหากมีเพียงหนึ่งคน สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ คนอื่นๆก็จะถูกกักตัวไปด้วยทั้งหมด ในบางกรณีก็อาจต้องกักตัวไปทั้งโรงพัก หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยหลักๆ ก็คือ แฟลตตำรวจ เป็นห้องพักที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนตำรวจขนาดใหญ่ ถ้าต้องกักตัวก็ยากจะเว้นระยะห่างกับครอบครัวและเพื่อนตำรวจที่อยู่ใกล้กันได้”
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึงวันที่ 28 เมษายน 2563 มีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 60 นาย หายแล้ว 44 นาย อยู่ระหว่างการรักษาตัว 16 นาย
แต่ที่น่าสนใจคือ มีตำรวจที่ต้องเข้าไป “กักตัวเอง” ทั้งหมด 1141 นาย โดยปัจจุบันเหลือตำรวจที่ยังต้องกักตัวเอง 243 นาย
จากข้อมูลจะเห็นว่า ตำรวจ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และถูกกักตัวค่อนข้างมาก ขณะที่ปัญหาอาชญากรรมแม้ว่าอาชญากรรมทั่วไปจะลดลงเพราะมาตรการปิดเมืองและเคอร์ฟิว แต่ก็มีปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปแบบการก่ออาชญากรรมอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การปล้นตู้เอทีเอ็ม ปล้นร้านทอง ปล้นร้านสะดวกซื้อ หรือที่ จ.จันทบุรี เริ่มมีการปล้นทุเรียนด้วยซ้ำ และคนร้ายส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม
จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับตำรวจ ทำให้ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์โควิด-19 จึงนำเสนอ “คู่มือปฏิบัติการสำหรับตำรวจในช่วงสถานการณ์ โควิด-19” เพื่อให้เป็น “แนวทางในการปฏิบัติตัวของตำรวจ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “มาตรการในการสร้างเสริมสุขภาพ” และ “มาตรการรีบวินิจฉัยและกักกันตัว”
@ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์
“มาตรการในการสร้างเสริมสุขภาพ” คือ การป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เฟซชิลด์ ถุงมือยาง หรือแม้แต่บางกรณีที่อาจต้องใช้ชุด PPE ซึ่งหน่วยงานจะต้องจัดสรรรให้พร้อมสำหรับตำรวจทุกนาย รวมทั้งควรจัดอบรมการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง
สิ่งที่ ผศ.ดร.ปารีณา เน้นย้ำ คือ รูปแบบการทำงานใหม่ หรือ New Normal ของตำรวจ โดยเสนอแนวทาง “การจัดการกำลังพล” โดยระบุว่า กำลังพลที่ใช้ในงานสายตรวจ หรืองานสืบสวนซึ่งมีความเสี่ยงควรมีหลายชุดและวางกติกาไม่ให้กำลังพลแต่ละชุดไม่เข้ามาใช้ชีวิตใกล้กัน เพราะหากมีชุดหนึ่งต้องกักตัว ก็จะยังมีกำลังพลชุดอื่นๆปฏิบัติหน้าที่แทนได้ รวมถึงต้องคำนึงถึงการจัดกำลังพลสำรองด้วย
ส่วนในทางยุทธวิธีเข้าจับกุมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับคนร้าย ผศ.ดร.ปารีณา ได้มองถึงความเป็นไปได้ ที่จะมีการจัดอบรมให้ความรู้และทักษะแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลและการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงสารคัดหลั่งของคนร้าย หรือ แม้แต่การตั้งด่านคัดกรองต่างๆ ก็ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นคู่มือ เช่น ไม่ชะโงกศรีษะเข้าไปในรถยนต์ ไม่จับหรือแตะต้องรถ หรือแม้แต่การกำชับให้ใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลเท่านั้นตลอดการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงต้องมีการวางแผนสำหรับประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจ การส่งต่อรักษา และการกักกันตัว
ส่วน “มาตรการรีบวินิจฉัยและกักกันตัว” เป็นมาตรการที่ครอบคลุมทั้งแนวทางในการค้นหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดเชื้อและแนวทางการกักตัวของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ โดยเสนอว่า หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ต้องรีบจำแนกกลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านี้ออกมาและดูว่าเข้าเงื่อนไขใดบ้างตามอาการ เช่นต้องการกักกันตัว หรือต้องตรวจวินิจฉัยโรคทันทีเป็นต้น
และหากตำรวจต้องกักตัว จะต้องพิจารณาถึงมาตรการการกักตัวอย่างเป็นระบบ ต้องคำนึงถึงสถานที่ที่จะใช้ในการกักตัวของเจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ หากที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เหมาะสมสำหรับการกักตัว รวมถึงสร้างความยากลำบากต่อการกักตัวของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานจะต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดหาทรัพยากรให้เป็นศูนย์กักกันตัวชั่วคราว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือชุมชนรอบข้าง
@พล.อ.ต.นพ.ไกรเลิศ เธียรนุกุล
พล.อ.ต.นพ.ไกรเลิศ เธียรนุกุล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ และจักษุแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เห็นด้วยว่า รูปแบบการทำงานของตำรวจที่ต้องลงไปในพื้นที่ต่างๆยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น และไม่สามารถปฏิบัติในแนวทางเดียวกับแพทย์ได้ในบางกรณี เช่น อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ไม่สามารถใส่ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติหน้าที่ได้ การรักษาระยะห่างกับคนร้ายทำไม่ได้ ที่สำคัญคือตำรวจไม่ทราบประวัติด้านสุขภาพของคนเหล่านั้นก่อนเข้าไปดำเนินการ หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ได้มามีโอกาสถูกบิดเบือนสูงเพราะผู้กระทำความผิดมักไม่บอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆที่ไปกับตำรวจ
ดังนั้นการดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนได้รับเชื้อ คือ ต้องให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเท่าที่จำเป็น รับทราบข้อมูลบุคคลหรือพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด และควรมีประกันความเจ็บป่วยในกรณีติดเชื้อด้วย
แม้จะมีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจ หรือทหารแล้วก็ตาม และเห็นด้วยว่าควรมีสถานที่สำหรับกักแยกตัวโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตที่มีความแออัด
@นางสาวชลธิช ชื่นอุระ
ด้านนางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอให้เห็นสภาพปัญหาอาชญากรรมในยุคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยระบุว่า ทั่วโลกมีรูปแบบอาชญากรรมบนท้องถนนลดลง ทั้งลักโขมย ชิงทรัพย์ ปล้น ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่การค้ายาเสพติดบนท้องถนน เพราะเกือบทุกประเทศใช้มาตรการปิดเมือง แต่อาชญากรรมที่เริ่มมีมากขึ้น คือ การไปปล้นร้านค้าที่ปิดอยู่ในช่วงเคอร์ฟิว
จากข้อมูลพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ มีสถิติอาชญากรรมทั่วไปลดลง 55% ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ลดลง 10% แต่คดียาเสพติดลดลงถึง 40% ประเทศสเปน ที่มีผู้ติดเชื้อมาก อาชญากรรมลดลง 50% แต่ในประเทศที่ยากจนมากๆ เช่น เยเมน อินเดีย พบอาชญากรรมในบริบทใหม่ๆ เช่น การขโมยน้ำมาใช้ในการเกษตร ส่วนอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพิ่มสูงขึ้นเพราะคนใช้อินเทอร์เน็ตมาก การหลอกลวงให้โอนเงินรูปแบบต่างๆ และการหลอกเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
“ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นอาชญากรรมอีกประเภท ที่นางสาวชลธิช ระบุว่า “เพิ่มสูงขึ้นมาก” ในช่วงที่คนอยู่บ้าน และผู้หญิงที่ถูกทำร้ายก็อยู่ในบ้าน ออกไปขอความช่วยเหลือไม่ได้ การเข้าถึงความช่วยเหลือยากขึ้น โดยมีสถืติความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นที่มาเลเซีย 59% สิงคโปร์ 33% และฝรั่งเศส 30% ส่วนในประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีการค้าขายผิดกฎหมายข้ามพรมแดน หรือการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดน ในรูปแบบ “องค์กรอาชญากรรม” ก็ทำได้ยากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มการเปลี่ยนเส้นทางค้า หรือแม้แต่มีการใช้โดรนเพื่อส่งยาเสพติด
@ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สรุปผลของการหารือว่า การจะทำให้ “ตำรวจ” หรือ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จะต้องเร่งจัดการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การแนะแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม มีองค์ความรู้ หรือนำคู่มือที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปปรับใช้ และยังต้องมีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และครอบครัว เพราะตำรวจออกไปเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ แต่ต้องกลับมาใกล้ชิดกับคนในครอบครัว
ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ยังเสนอเพิ่มเติมว่า ตำรวจ อาจจะสร้างกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ชุมชนช่วยคัดกรองปัญหาที่ได้รับแจ้งก่อน ซึ่งจะทำให้ตำรวจไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานทุกครั้ง และยังมีแนวทางการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสืบสวนอย่าง CCTV ทำระบบการแจ้งความออนไลน์ ซึ่งกำลังจะเปิดตัว หรือ แอปพลิเคชันติดตามที่ช่วยให้รู้ประวัติการเดินทางของคนร้ายหนือผู้ต้องสงสัยได้
รวมทั้งอาจจะต้องลดแนวการปฏิบัติบางอย่างที่ไม่จำเป็นลงไป เช่น สามารถออกเป็นแนวทางได้ว่า คดีลักษณะไหน ที่ไม่จำเป็นต้องนำตัวมาที่โรงพักก็สามารถดำเนินการได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้อีก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังขอให้กำลังใจตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชน
แม้จะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงติดเชื้อ ในฐานะ “ฮีโร่” เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านเรื่องประกอบ
เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย : เมื่อคนไทยต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19