“...ปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการให้ความร่วมมือกับมาตรการทางสาธารณสุขอย่างมาก โดยพบว่า คนที่มีรายได้น้อย จะพร้อมยอมรับความเสี่ยงจากการต้องติดเชื้อได้มากกว่า และพร้อมจะเดินทางย้ายจังหวัดทันที หากมีบางจังหวัดที่เปิดเมืองก่อน ซึ่งในทางกลับกัน ก็หมายความว่า หากรัฐบาลบริหารมาตรการช่วยเหลือทางการคลังได้ดี ก็จะช่วยลดการอพยพคนข้ามจังหวัด และช่วยระงับการแพร่ระบาดได้..."
“เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย” เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังถูกถกเถียงกันอย่างเข้มข้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า จะหาจุดที่ลงตัวระหว่างการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพ กับ การจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร?
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้จัดการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ในหัวข้อหลัก Living with COVID-19 ตอน เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย ผ่านเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา หรือ RoLD (Rules of Law Development) ซึ่งมีผู้บริหารองค์กรทั้งภารครัฐและเอกชนกว่า 100 คน ร่วมการหารือ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมโดยระบุถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทย อาจจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ หรือที่เรียกกันว่า 'New Normal'
โดยมีประเด็น 3 ส่วนหลักที่ให้ความสำคัญคือ การศึกษาและออกแบบพฤติกรรมของปัจเจกชนที่จะต้องปรับตัวในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกซักระยะ การสร้างระบบคัดกรองตรวจสอบกันเองที่เข้มแข็งในระดับชุมชนซึ่งจะช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และการมีระบบติดตามที่ทันสมัยให้แต่ละคนรู้ความเสี่ยงของตัวเองเช่นเดียวกับที่แพทย์รู้ว่าคนที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ไหน
โดยมองว่า ถ้าสามารถดำเนินการใน 3 ส่วนนี้ได้ ก็จะสามารถเปิดเมืองอย่างปลอดภัยได้
@ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ โควิด-19” ซึ่งจัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัด แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ วันที่ 5-9 เมษายน 2563 วันที่ 18-19 เมษายน 2563 และช่วงวันที่ 22-24 เมษายน 2563 แต่ถามความคิดเห็นของประชนกลุ่มเดิม
พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆอย่างเต็มที่ในช่วงแรกหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกพื้นที่ให้ความร่วมมือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่าเป็น “ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม” และมีถึงประมาณ 80% จากทั้ง 18 จังหวัด ที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองต่างๆลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้
ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอาจจำเป็นต้องผ่อนคลายลงหรือหรือเปิดเมืองบางพื้นที่ตามความคาดหวังของประชาชน และจำเป็นต้องอธิบายหลักเกณฑ์ต่างให้ชัดเจนด้วยว่า เหตุผลที่เปิดหรือยังปิดบางจังหวัดเป็นเพราะอะไร
ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ ยังบอกด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารในภาพรวมของประเทศ และรู้ข้อมูลในภาพรวมพอๆกันทุกพื้นที่ แต่ไม่รู้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นของตัวเอง เช่น สามารถตอบได้ว่า มีผู้ติดเชื้อในภาพรวมกี่คน เสียชีวิตกี่คน แต่ตอบไม่ได้ว่าในจังหวัดของเขาเองมีผู้ติดเชื้อกี่คน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประชาชนมีความคาดหวังว่าจะ “เปิดเมือง” ได้เหมือนๆกันทุกพื้นที่ เพราะไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกในแต่ละพื้นที่ว่ามีความอ่อนไหวแตกต่างกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังพบข้อมูลที่สำคัญว่า “ปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการให้ความร่วมมือกับมาตรการทางสาธารณสุขอย่างมาก โดยพบว่า คนที่มีรายได้น้อย จะพร้อมยอมรับความเสี่ยงจากการต้องติดเชื้อได้มากกว่า และพร้อมจะเดินทางย้ายจังหวัดทันที หากมีบางจังหวัดที่เปิดเมืองก่อน ซึ่งในทางกลับกัน ก็หมายความว่า หากรัฐบาลบริหารมาตรการช่วยเหลือทางการคลังได้ดี ก็จะช่วยลดการอพยพคนข้ามจังหวัด และช่วยระงับการแพร่ระบาดได้
“จากงานวิจัย เราจะเห็นว่า คนที่ยิ่งมีรายได้น้อย จะยิ่งยอมรับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มาก เมื่อเราถามต่อว่า หากมีการเปิดเมืองบางจังหวัดจะทำอย่างไร ได้คำตอบว่า ผู้มีรายได้น้อยเกือบทั้งหมดพร้อมจะย้ายไปทำงานยังจังหวัดที่ประกาศเปิดเมือง เพราะถ้าเขาไม่ออกนอกบ้านก็จะไม่มีกิน จึงยอมเสี่ยงกับโควิดมากกว่าที่จะยอมอด และเมื่อถามว่า เงิน 5 พันบาทที่ได้รับเพียงพอมั้ย พบว่า คนมีรายได้น้อยบอกว่า 5000-10000 บาท เพียงพอ ดังนั้นจึงหมายความว่า เงิน 5000 บาทที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้คนไม่อพยพย้ายเมืองได้ ดังนั้นเงินที่นำมาแจก เมื่อนำมาผนวกกับมิติของสาธารณสุข ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่คำถามคือ ถ้ามีคำสั่งให้เปิดบางจังหวัด จะยังจ่าย 5000 บาทอยู่รึป่าว ถ้านำประเด็นทางสาธารณสุขไปผนวกกับมาตรการการคลังดีๆ ก็จะป้องกันการระบาดได้”
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังศึกษาแยกกลุ่มประชากร เป็น 4 กลุ่ม คือ คนเมือง คนจนเมือง คนชนบท และคนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพบว่า ทั้ง 4 กลุ่ม มีองค์ความรู้ต่อสถานการณ์ในภาพรวมไม่ต่างกัน ทัศนคติต่อการปฏิบัติต่างๆตามาตรการไม่ต่างกัน
แต่ “มีข้อจำกัดในการปฏิบัติต่างกัน”
โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมือง มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับครอบครัวซึ่งไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ เพราะมีจำนวนสมาชิกในบ้าน สูงกว่าจำนวนห้องนอน และยังมีค่าเฉลี่ยจำนวนห้องน้ำต่อบ้านน้อยที่สุด ส่วนกลุ่มคนในชายแดนใต้ แม้จะมีจำนวนสมาชิกในบ้านมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีจำนวนห้องนอนในบ้านมากกว่าเมื่อเทียบกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มคนชนบท
งานวิจัยนี้ จึงเสนอทางออกว่า ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องสำรวจความพร้อมของประชาชน โดยหากเปิดเมืองต้องปฏิบัติให้ได้ใน 3 แนวทาง คือ หากพบผู้ติดเชื้อ ต้องมีมาตรการส่งตัวถึงแพทย์และกักตัวผู้ใกล้ชิดโดยเร็ว ต้องมีสถานที่กักตัวทั้งในระดับ State Quarantine และ Local Quarantine ซึ่งถือว่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากชุมชน และต้องมีกระบวนการสื่อสารให้สังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อไม่ให้ถูกรังเกียจ
@ รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกานต์
รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกานต์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล นำเสนอให้เห็นว่า ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขชุมชนที่แข็งแรงไปถึงในระดับครัวเรือน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. และมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นเหมือนแผนใหญ่ ให้องค์กรชุมชนและท้องถิ่นสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อจัดทำแผนหรือวางกรอบกติกาในระดับชุมชนเองได้
หากจะต้องเปิดเมือง ข้อเสนอของ รศ.ดร.ชะนวนทอง คือ การใช้ “ต้นทุน” จากกลไกสาธารณสุขชุมชนที่ดีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ โดยแยกเป็น “ทุนมนุษย์ ทุนสังคม” ซึ่งหมายถึงการใช้เครือข่ายภาคประชาชน มาประกอบกับ “ทุนปัญญา” จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ และองค์ความรู้ต่างๆ แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังได้รับเฉพาะข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต เป็นข้อมูลเพียงมิติเดียว ซึ่งจะทำให้ชุมชนไม่สามารถวิเคราะห์เพื่อกำหนดกติกาที่เหมาะสมร่วมกันได้ จึงต้องทำให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลของโควิด-19 ในทุกมิติมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจสร้างธรรมนูญสุขภาพในชุมชน สามารถกำหนดกติกาต่างๆในชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
“คณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับประเทศจำเป็นต้องดู เช่น ให้ชุมชนเขาส่งเสียงออกมาร่วมตัดสินใจ เช่นบอกว่า ถ้าให้เปิดร้านตัดผมจะทำยังไง จัดการร้านอย่างไร ถ้าเรารู้ว่า ชุมชนเขามีข้อมูลอะไร เขาก็จะมีส่วนร่วมตัดสินใจได้ เราอยากเห็นว่า โรงเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างไร โรงเรียนพูดแต่เรื่องจะเปิดสอนออนไลน์ แต่เราอยากเห็นว่าโรงเรียนจัดการห้องน้ำอย่างไร จัดการการเข้าแถวอย่างไร ปรับตัวอย่างไร”
อีกสิ่งหนี่งที่จะมีส่วนสำคัญหากต้องเปิดเมืองก็คือ ข้อเสนอการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอให้ใช้แอปพลิเคชันนี้ เพราะมีผลโดยตรงกับคน 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ป่วย เมื่อเข้าไปรับการรักษาจะสามารถตรวจสอบได้ว่าไปที่ไหนทำอะไรมาบ้าง
กลุ่มที่ 2 คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยจากแอปพลิเคชั่นจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยและลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากสาเหตุที่ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลหรือจำข้อมูลไม่ได้ และยังออกแบบให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดต่อกับคนที่ต้องสงสัยหรือเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) โดยไม่ต้องสัมผัสตัว เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
กลุ่มที่ 3 คือ สังคม จะมีระบบข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เพราะแอปพลิเคชันช่วยชี้ให้เห็นว่า ใครสัมผัสกับใครบ้าง ใครเสี่ยงแค่ไหน และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยง โดยยังช่วยให้ร้านค้าหรือบริษัทเอกชน สามารถคัดกรองเฉพาะคนที่ไม่มีความเสี่ยงให้เข้าไปในที่ทำงานหรือร้านค้าได้ จึงไม่จำเป็นต้องปิดร้าน
กลุ่มที่ 4 คือ ภาครัฐ จะมีข้อมูลสำหรับควบคุมการระบาด หรือจัดการการระบาดได้รวดเร็ว
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกัลบการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ผู้ร่วมพัฒนาระบบ ย้ำว่า แอปพลิเคชันหมอชนะ จะเก็บข้อมูลของแต่ละบุคคลในลักษณะ “ไม่บ่งบอกตัวตนของผู้ใช้” แต่จะส่งเฉพาะข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆออกไปโดยระบบส่วนกลางจะไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลของใคร และจะทำการประมวลผลเมื่อพบคนใดคนหนึ่งติดเชื้อแล้ว
“กลุ่มแรกที่จะรู้ว่าผู้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นใคร คือ โรงพยาบาลและกรมควบคุมโรค เพราะข้อมูลแรกจะถูกเปิดเผยกับโรงพยาบาลเท่านั้น ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อกรมควบคุมโรคประเมินแล้วว่า บุคคลนี้มีความเสี่ยงหรืออาจเป็นผู้ติดเชื้อ จึงจะส่งข้อมูลย้อนกลับเข้ามาในระบบ ทางระบบจึงจะระบุว่า ผู้ที่ใช้โทรศัพท็เครื่องนี้เป็นผู้ป่วย จากนั้นระบบจะประมวลผลย้อนกลับไป 15 วัน เพื่อระบุข้อมูลการเดินทางและบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยใช้เทคโลโลยี GPS กับ Bluetooth เพื่อช่วยแยกแยะ เตือนให้เข้าสู่ขั้นตอนการกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน โดยแบ่ง QR Code ออกเป็น 4 ระดับ คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ซึ่งแต่ละระดับก็จะมีคำแนะนำ การปฏิบัติตัวตามกลุ่มสี เนื่องจากมันเป็นระบบที่ Realtime ข้อมูลของผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อ ก็จะไปมีผลต่อบุคคลใกล้ชิดด้วย ตัวสีของ QR Code คนใกล้ชิดก็จะเปลี่ยนสี พอผู้ใช้รู้ตัวจากสีที่เปลี่ยน เขาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเอง”
@ นายสมโภชน์ อาหุนัย
นายสมโภชน์ ยืนยันว่า แอปพลิเคชันให้ความสำคัญกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล จึงจะขอเก็บข้อมูลผู้ใช้เฉพาะข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆและรูปภาพของผู้ใช้เพียง 1 รูป ซึ่งรูปที่ส่งมา จะถูกเปิดเผยเมื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้วเท่านั้น ส่วนข้อมูลกลางจะถูกส่งไปเก็บที่ AWS ของทาง Amazon ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยระดับโลก โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นผู้เก็บรักษาข้อมูล ผ่านการเข้ารหัสไว้กับคน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายพัฒนา และกำลังจะเชิญกลุ่มบุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมกันตรวจสอบการเก็บข้อมูล ดังนั้นการเปิดข้อมูล ต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง 3 กลุ่ม พร้อมกันเท่านั้น และข้อมูลจะมีอายุเพียง 30 วัน หลังจากนั้นจะถูกลบทิ้งทันที
ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ยอมรับว่า ระบบที่ใช้อยู่ขณะนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาหากต้องการให้ใช้งานได้สมบูรณ์ เพราะแอปพลิเคชันจะมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นต้องมีผู้ใช้จำนวนมาก ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นนอกจากการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคแล้ว ยังต้องเร่งทำให้คนในสังคมเชื่อใจในระบบให้ได้ด้วย
@นายสุนิตย์ เชรษฐา
ขณะที่ นายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดตามการแพร่ระบาด เพราะเคยมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรค MERS จนมีกฎหมายการจัดการข้อมูลในกรณีเกิดสถานการณ์ระบาด ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ แต่มีเงื่อนไขและมีคณะกรรมการมาตรวจสอบเช่นกัน
นายสุนิตย์ ระบุว่า สำนักติดตามการระบาดของเกาหลีใต้ จะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเป็น Open Data โดยระบุข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อเดินทางไปสถานที่ไหนอย่างไรบ้าง
"ทุกครั้งที่มีข้อมูลเช่นนี้ รัฐบาลจะส่งข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง และสามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งจะทำให้ประชาชนรู้ตัวว่าหากได้ไปในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อมา ก็จะต้องไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อผ่านไปสักระยะก็จะค่อยๆลดระดับความเสี่ยงลง จึงถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้หลักความโปร่งใส คือ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล"นายสุนิตย์กล่าว
ส่วนเทคโนโลยีที่กำลังถูกนำมาใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ในชุมชนเปราะบางรวมทั้งผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย
นายสุนิตย์ ได้พัฒนา “สบายดีบอท” ซึ่งเป็น Line Bot ให้คนในชุมชนสามารถบันทึกสุขภาพของตัวเองได้ เพื่อคอยตรวจสอบว่ามีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และบันทึกเสร็จแล้วก็จะมีคำแนะในการปฏิบัติตัวตอบกลับมาโดยโนมัติ
โดยเขาย้ำว่า "การพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา มีเป้าหมายเน้นไปที่การทำให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย ช่วยให้รู้เท่าทันสถานการณ์สุขภาพของตัวเองและสมาชิกในชุมชน ช่วยให้เข้าถึงความรู้ในการจัดการปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ช่วยลดปัญหาการรับข้อมูลที่ผิดพลาดหรือข่าวลวงในพื้นที่ และช่วยให้เข้าถึงการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น ทำให้เข้าถึงจะระดมทุน หรือระดมอุปกรณ์จำเป็นให้เขาอยู่ได้"
สำหรับในกรณีที่ชุมชนหรือโรงพยาบาลใดขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆและต้องการความช่วยเหลือ ก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ที่ชื่อ infoaid.org เข้าไปทำข้อมูลของชุมชนที่มีองค์กรสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ ว่ามีความต้องการอะไรเพิ่มเติม จำนวนเท่าไหร่ ในพื้นที่ไหนบ้าง สามารถประสานงานไปที่ใคร ซึ่งจะทำให้ การบริจาคสิ่งของต่างๆไปถึงพื้นที่ที่กำลังขาดแคลนได้อย่างตรงจุด และถ้าหน่วยงานใดทำเป็นโครงการที่ต้องการการระดมทุน ก็สามารถเข้าไประดมทุนได้ที่ taejai.com ต่อได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือชุมชนอีกทางหนึ่ง
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ -นักสาธารณสุข ที่ร่วมกันระดมความคิดข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผน “เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย”
ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าคนไทยจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อโรคโควิด-19 กันต่อไปอีกนาน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage