“...ข้อเสนอเบื้องต้นจากมหาเศรษฐี หวังให้ประเทศฟื้นฟูกลับมาได้โดยเร็ว แต่แผนงานรัฐบาลจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป...”
เป็นเวลากว่า 10 วัน นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่งจดหมาย เทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐี เพื่อขอคำแนะนำในการกอบกู้เศรษฐกิจ ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
‘ไม่ขอเงิน แต่ขอความคิดเห็น’ เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำอยู่หลายครั้งถึงเหตุผลการส่งจดหมายครั้งนี้
ไม่กี่วันจากนั้น พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ แต่จนถึงวันนี้ภาพโครงการหรือแผนงานต่างๆยังไม่ชัดเจน และมีเพียงแผนกู้เงินก้อนแรก เพื่อนำมาใช้ในมาตรการเยียวยา 5,000 บาท
ขณะที่ 'มหาเศรษฐี' ต่างบริจาคเงินช่วยเหลือประเทศไปแล้วจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ๋เน้นไปที่เรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค
และมาจนถึงวันนี้มีมหาเศรษฐีอย่างน้อย 5 จาก 20 คน แจ้งเจตจำนงค์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อว่าพร้อมช่วยเหลือประเทศ ในทัศนะ-ความถนัดที่แตกต่างกัน
นายศุภชัย เจียรวนนท์
สร้าง Big Data แชร์ข้อมูลปราบโควิด
นอกจากการทุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาทของ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ เพื่อเนรมิตโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยภายใน 5 สัปดาห์ ‘ตระกูลเจียรวนนท์’ มหาเศรษฐีอันดับ 1 แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็น 1 ใน 20 รายชื่อที่ได้รับเทียบเชิญจากนายกรัฐมนตรี
‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถือเป็นความหลักแหลมที่นายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 20 คน เสมือนได้คณะทำงานเพิ่มอีก 20 กระทรวงที่จะทำงานคู่ขนานกับรัฐบาล
เขาเปรียบเทียบ ‘รัฐบาล-เอกชน’ เป็นเสมือน ‘หยิน-หยาง’ เพราะรัฐบาล คือ องค์กรขนาดใหญ่ ที่ดูแลกฎระเบียบ กำกับดูแล และออกนโยบายมาช่วยแก้ปัญหา ส่วนภาคเอกชนมีความเข้าใจกลไกตลาดเป็นอย่างดี ครอบคลุมทุกเครือข่ายทางการค้า ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสะท้อนปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีเตรียมพร้อมหารือร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้แทนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาร่วมกันตัดสินใจนำพาประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ก้าวไปในทางดีที่สุด นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก” นายศุภชัย กล่าว
ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เขาบอกว่า ผู้ประกอบการจะเสนอรัฐบาลเพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BigData) เพื่อเป็นทางเลือกให้โรงพยาบาลนำข้อมูลไปใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด และร่วมกันจัดทำระบบทดสอบไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดย้อนกลับมาอีก
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ นางดาวนภา เพชรอำไพ
ปรับเงื่อนไขกองทุนแก้หนี้ภาคเอกชน
มหาเศรษฐี อันดับ 10 ‘ชูชาติ เพ็ชรอำไพ’ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการรู้ทันข่าว FM 92.5 เตรียมทำข้อเสนอถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของทุน ที่กำหนดเครดิตเรทติ้งของเอกชนต้องอยู่ในกลุ่ม เอกชนที่มีอันดับเครดิตในเรทติ้ง ‘กลุ่มระดับลงทุน’ (investment grade) ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต
เขามองว่า เอกชนที่อยู่ในเรทติ้ง ‘กลุ่มระดับลงทุน’ จะไม่มาใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว เพราะเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เช่นเดียวกับ MTC ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนก็ได้ออกหุ้นกู้มาขายพอสมควร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
นอกจากนั้นกองทุนดังกล่าวถือว่ามีดอกเบี้ยแพงกว่าทางเลือกอื่น ดังนั้นจึงควรปรับเงื่อนไขใหม่ให้ ‘กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน’ เข้าถึงกองทุนนี้ด้วย
“ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ในกลุ่ม investment grade จะไม่มีใครมาใช้กองทุน เพราะมีดอกเบี้ยแพงกว่าออกหุ้นกู้ 1-2% ดังนั้นถ้าใครมาใช้ ย่อมแสดงว่าเขาเครดิตไม่ดี กู้ไม่ได้ ผมเชื่อว่านักธุรกิจกลุ่มนี้เขาจะไม่ยอมเสียหน้าแน่นอน” นายชูชาติ กล่าว
ขณะที่ผ่านมา ‘ชูชาติ’ ทุ่มเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 110 ล้านบาท ผ่านการจัดทำถุงยังชีพ 200,000 ถุง ช่วยเหลือคนตกงานที่มีปัญหาในการดำรงชีพ รวมถึงบริจาคเงินให้โรงพยาบาล
นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
ทุ่ม 100 ล้านขุดบ่อน้ำใต้ดิน
‘นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ มหาเศรษฐีอันดับ 11 ของไทย อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่มีโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 43 แห่ง และยังเป็นผู้ก่อตั้งสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ระบุ พร้อมทุ่มเงิน 100 ล้านบาท ในการสนับสนุนโครงการขุดบ่อ ดึงน้ำใต้ดินมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง และเห็นว่าจังหวัดสุโขทัยคือเป้าหมายสำคัญในภารกิจนี้
“เดิมทีสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียงใช้น้ำจากแก่งเสือต้น ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่อรัฐบาลไม่ให้ใช้แก่งเสือเต้น น้ำที่หลากมาในยามฤดูฝนก็จะไหลผ่านลงทะเลไม่สามารถเก็บกักมาใช้ทำประโยชน์ได้เลยในหน้าแล้ง” นพ.ปราเสริฐ กล่าว
เขากล่าวอีกว่า “ผมอยากจะช่วยออกเงินให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อน ช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็กๆ ให้ชาวบ้าน มีน้ำไว้ใช้ เราอาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น”
นพ.ปราเสริฐ ยืนยัน ขณะนี้มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและเครื่องจักรในการก่อสร้าง และได้ตั้งงบประมาณไว้ 100 ล้านบาท เพื่อโครงการขุดน้ำใต้ดิน และคิดว่าเป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาลหรือโรงพยาบาล เพราะผู้มีความสามารถหลายคนก็บริจาคกันไปมากแล้ว
นายฮาราลด์ ลิงค์
ปัดฝุ่นแผนบริหารจัดการน้ำ-ปลูกพืชเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งมหาเศรษฐีที่มีความเห็นในทิศทางเดียวกันคือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ‘ฮาราลด์ ลิงค์’ ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์
เขาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่ง ผ่านรายการโลกเปลี่ยนสี ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่า ไทยกำลังจะถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้เรื่องน้ำเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และเห็นควรว่ารัฐบาลนำแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบขึ้นมาพิจารณา
“ส่วนมากเวลาเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลต้องพยายามหาสิ่งที่ทำแล้วได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่นตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาขาดน้ำ ผมเห็นว่าเราควรกลับมาคิดถึงแผนที่เราทำไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้วตอนเจอน้ำท่วมใหญ่ และการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่ทำได้เร็ว เพราะทั้งมีทั้งแรงงานและเครื่องจักร” นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
เขายกตัวอย่างมหาอำนาจอย่างจีน เมื่อเผชิญภาวะเศรษฐกิจไม่ดี มักจะใช้งบประมาณเพื่อจ้างแรงงานให้มาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศ ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวแต่ได้กำไรหลายต่อ และเชื่อว่าไทยยังเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่คนอยากมาลงทุนในอนาคต
นอกจากลงทุนในระบบริหารจัดการน้ำ ‘ฮาราลด์ ลิงค์’ เห็นว่า การปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันที และมีมูลค่าในระยะยาว แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนค่อนข้างมาก ทั้งเมล็ดพันธุ์ การให้องค์ความรู้ รวมถึงการปลดล็อกมาตรการทางภาษีต้องทำให้กระทรวงการคลังมองการปลูกต้นไม้เป็นธุรกิจ
นายฉัตรชัย แก้วบุตตา
เปิดคลินิกแก้หนี้นอกระบบ
ส่วนมหาเศรษฐีอันดับที่ 22 อย่าง ‘ฉัตรชัย แก้วบุตตา’ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ได้รับจดหมายในครั้งนี้ ประกาศตัวพร้อมช่วยเหลือประชาชน ผ่านการเปิดคลินิกแก้หนี้นอกระบบ
ซึ่ง ‘ธิดา แก้วบุตตา’ ในฐานะตัวแทนกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มศรีสวัสดิ์จะใช้สาขาของบริษัทกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเปิดคลินิกแก้หนี้นอกระบบ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบการบริหารจัดการ และเชื่อว่าในช่วงสถานการณ์นี้ จะมีประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบจำนวนมาก
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอเบื้องต้นจากมหาเศรษฐี ที่หวังให้ประเทศฟื้นฟูกลับมาได้โดยเร็วหลังวิกฤติโรคระบาด แต่สุดท้ายแผนงานรัฐบาลจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง