วิเคราะห์ความก้าวหน้าโควิด-19 เน้นภูมิภาคอาเซียน พบฟิลิปปินส์มีผู้ติดเชื้อ อันดับ 1 -ไทยอันดับ 5 ส่วน 'สิงคโปร์' ประชากรน้อยกว่าไทย กลับมีผู้ป่วยสูงกว่า จุดเปลี่ยน 'เวียดนาม' คุมสถานการณ์ได้ ประกาศเป็นโรคร้ายเเรง ตั้งเเต่พบติดเชื้อ 20 ราย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำต้องรักษาระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก ผู้สูงอายุ -ป่วยระบบทางเดินหายใจ เลี่ยงออกจากบ้าน
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนภา ในฐานะคณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เเถลงรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ประเมินโดยสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยเเละนวัตกรรม (อว.) กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก เเละWorldometers
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ชวนย้อนกลับไปเมื่อ 19 มี.ค. 2563 ในขณะนั้นคณะเเพทยศาสตร์จากสถาบัน 4 เเห่ง ได้เเก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เเละศิริราชพยาบาล ได้เห็นข้อมูลเเละรู้สึกว่ามีตัวชี้วัดหรือพารามิเตอร์บางอย่างที่บ่งบอกจุดผกผันของการควบคุมได้เเละไม่ได้ของเชื้อไวรัส ซึ่งในวันนั้นได้วิเคราะห์ข้อมูลเเละสุดท้ายได้นำเสนอขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเกิดกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น
โดยพบว่า ประเทศควบคุมเชื้อไวรัสไม่ได้ คือ อิตาลี เกาหลี ไทย เเละเยอรมัน เเละประเทศควบคุมเชื้อไวรัสได้ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยมีจุดบ่งบอกที่สำคัญ คือ จำนวนวันจากผู้ป่วย 100 ราย เพิ่มเป็น 200 ราย (ดูภาพประกอบ 1)
"ประเทศที่มีการควบคุมเชื้อไวรัสได้ดี จำนวนเพิ่มผู้ป่วย 100 ราย เป็น 200 ราย จะใช้ระยะเวลา 5 วันขึ้นไป ส่วนประเทศที่มีการควบคุมเชื้อไวรัสไม่ได้ จะใช้ระยะเวลา 3 วัน หรือน้อยกว่า 3 วัน"
สำหรับประเทศไทยในเวลานั้น คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 100 ราย เป็น 200 ราย ทุก 3.5 วัน
ภาพประกอบ 1
ทั้งนี้ ประเทศที่ควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เเละฮ่องกง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเเปลงอะไรบ้าง
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ นำเสนอต่อว่า หากวันนั้นประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย จะเกิดการเปลี่ยนเเปลงเหมือนเยอรมัน ซึ่งจากเส้นสมมติฐาน กรณีที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง ร้อยละ 33 ต่อวัน จะทำให้วันที่ 15 เม.ย. 2563 จะมีผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว กว่า 3.5 เเสนราย โดยหากเป็นจำนวนดังกล่าวจริง เมื่อคำนวณย้อนกลับมาจะมีผู้ป่วยหนักจำนวนทีเอาไม่อยู่ เเละไม่มีศักยภาพดูเเลอย่างเพียงพอ
ทำให้ตั้งเป้าหมายว่า ต้องทำให้เส้นกราฟลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้เหมือนประเทศญี่ปุ่น (ดูภาพประกอบ 2) ซึ่งเชื่อว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยจะเอาอยู่ โดยหวังว่า จะต้องมีผู้ป่วยใหม่ 32.7 รายต่อวัน หรือไม่เกิน 40 รายต่อวัน
(ภาพประกอบ 2)
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขจริงที่ติดตามมาตลอด 1 เดือน (สถานการณ์ ณ 14 เม.ย.) คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุประเทศไทยมีผู้ป่วยเชื้อไวรัส 2,613 ราย (เพิ่มขึ้น ณ 14 เม.ย. จำนวน 34 ราย ) จากเป้าหมายต้องเพิ่ม 32.7 รายต่อวัน
ทั้งนี้ หากคำนวณ ณ วันที่ 31 มี.ค. จะเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เเละฮ่องกง มีจำนวนผู้ป่วยเกาะกลุ่มกัน (ดูภาพประกอบ 3) เเต่ประเทศไทยเเยกออกจากมาเลเซียเเล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย โดยจะเห็นว่า ประเทศฟิลิปปินส์ เเซงหน้าไปเเล้ว ทั้งจำนวนผู้ป่วยเเละผู้เสียชีวิต ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เเละมาเลเซีย
ภาพประกอบ 3
ข้อมูล ณ 14 เม.ย. ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ส่วนอันดับ 1 ได้เเก่ ฟิลิปปินส์ ตามมาด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เเละสิงคโปร์ เเละหากวิเคราะห์เชื่อว่า ภายใน 1-2 วัน อินโดนีเซียจะขึ้นเป็นอันดับ 2 เเทนมาเลเซีย
ที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์ เคยเป็นกลุ่มประเทศที่ควบคุมเชื้อไวรัสได้ เเละมีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยมาก เเต่ปัจจุบันกลับมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสูงกว่าประเทศไทยเเล้ว
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงประเทศเวียดนามว่า มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ในการทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสจาก 100 ราย เพิ่มเป็น 200 ราย โดยใช้ระยะเวลานาน ทำให้ปัจจุบันประเทศดังกล่าวมีผู้ป่วยสะสมกว่า 200 รายเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนทะลุหลักพันเเล้ว (ดูภาพประกอบ 4)
ภาพประกอบ 4
"ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย. ฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสรายใหม่ 291 ราย อินโดนีเซีย 282 ราย มาเลเซีย 170 ราย สิงคโปร์ 386 ราย ขณะที่ไทย 34 ราย" คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มอาเซียน นับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 ราย
ดูเฉพาะประเทศสิงคโปร์พบเส้นกราฟไต่ทะยานขึ้นสูงหลังจาก 38 วันที่มีผู้ป่วยครบ 100 ราย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วิเคราะห์ต่อว่า หากวัดจำนวนผู้ติดเชื้อนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 1,000 ราย (ของไทยเริ่ม 26 มี.ค. ) พบประเทศไทยมีตัวเลขเเตะ 19 วัน ขยับขึ้นเป็น 2,613 ราย เท่ากับว่า ในระยะเวลา 19 วัน เพิ่มขึ้น 1,613 ราย ขณะที่มาเลเซีย 4,987 ราย อินโดนีเซีย 4,839 ราย เเละฟิลิปปินส์ 5,223 ราย (ดูภาพประกอบ 5)
จะเห็นว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสค่อนข้างช้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ภาพประกอบ 5
วิเคราะห์ต่อไปถึงอัตราการเสียชีวิต ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เผยว่า ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (สัดส่วนผู้เสียชีวิตเทียบกับผู้ป่วย) ร้อยละ 9.49 ซึ่งใกล้เคียงกับโรคซาร์สที่มีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 9-9.5 นอกจากนี้ยังมีฟิลิปปินส์ มีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 6.41 มาเลเซีย ร้อยละ 1.64 สิงคโปร์ ร้อยล 0.34 เเละไทย ร้อยละ 1.57
เวียดนามสั่งซื้อ Rapid Test จากเกาหลี 2 เเสนชุด
ทั้งนี้ หากดูวิธีการดำเนินการของเวียดนาม ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวนน้อย พบว่า มีการประกาศให้เชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวเป็นโรคระบาดร้ายเเรงของประเทศ ตั้งเเต่มีผู้ติดเชื้อเพียงเเค่ 20 ราย การรีบประกาศเร็ว ทำให้สามารถสกัดโรคได้เร็ว ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการประกาศ มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง เเละเวียดนามยังทดสอบโควิด-19 ไปเเล้ว 1.2 เเสนราย เทียบกับประชากรล้านคน อาจน้อยกว่าไทย เเต่หากเทียบจำนวนเคสมากกว่าไทย
อย่างไรก็ตาม เวียดนามไม่ได้ใช้ชุดตรวจ RT-PCR เเบบประเทศไทย เเต่สั่งซื้อชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) เเบบประเทศเกาหลี 2 เเสนชุด เเละตรวจถี่ ทำให้รู้สถานการณ์ติดเชื้อได้ดีขึ้น อีกทั้งออกมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่เเละการเว้นระยะห่างทางสังคม
คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงประเทศไทยจัดการกับการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เเยก 2 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ เพื่อต้องการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงให้ได้ ส่วนยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตต่ำ อัตรากลับบ้านสูง หากเอาต้นน้ำไม่อยู่ จะทำให้ผู้ป่วยทะลักเข้าไปปลายน้ำ ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ เกินศักยภาพในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็น คน หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ หากไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จะทำให้ปลายทางทำงานได้คล่องขึ้นเเละส่งผลดีขึ้น
โดยย้ำว่า ผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ คนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือผู้บริหาร ต้องอยู่บ้าน รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ใส่หน้ากากล้างมือ เเละจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจิตสำนึกที่ดี ตระหนักถึงบทบาทของตนเอง สังคม เเละประเทศ ต้องมีความรับผิดชอบ วินัย ส่วนมาตรการเป็นเพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น
ส่วนผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล บุคลากรในระบบดูเเลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น เเพทย์ พยาบาล รวมถึงทรัพยากรเตียง คน ของ งบประมาณ ยืนยันทุกคนทำงานหนัก เเละภูมิใจในสิ่งที่เรามี รักเเละศรัทธาในวิชาชีพ ถูกปลูกฝังมาตั้งเเต่สมัยเป็นนักศึกษา เเละนำมาใช้ช่วยประเทศ พัฒนาความสามารถ ทักษะต่าง ๆ เพื่อตั้งเป้าหมายให้ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ ลดอัตราการเสียชีวิตเเละเพิ่มอัตราการกลับบ้าน
ทั้งนี้ เสนอว่า ยังต้องเฝ้าติดตามอัตราพบผู้ป่วยใหม่ อัตราการเสียชีวิต อัตราการกลับบ้าน จนครบ 14 วัน (วันที่ 22 เม.ย.) ก่อนพิจารณาปรับเปลี่ยนมาตรการ
พิจารณาจุดสมดุลของการดูเเลสุขภาพ (การควบคุมเชื้อ) การดูเเลระบบเศรษฐกิจ การดูเเลสภาพสังคม ในการปรับเปลี่ยนมาตรการ หากจะปรับเปลี่ยนมาตรการควรค่อยเป็นค่อยไป ให้เริ่มทำกิจกรรมที่สำคัญบ้าง เเต่ต้องต้องกลับมาเข้มงวดอีก หากสถานการณ์การควบคุมเชื้อเเย่ลง เเละยังต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองเเละสังคม โดยการใส่หน้ากากเเละล้างมือ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้เเก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงออกนอกบ้านอีกระยะหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/