ผู้วิจัยเผยผลศึกษาเเบบจำลองทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น พบติดควิด-19 มาก ในวัยทำงาน 25-44 ปี พบน้อยในวันเรียน 5-24 ปี ชี้เว้นระยะห่างทางสังคมได้ผลจริง หากเข้มงวด จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ระบุสถานการณ์อาจลากยาวถึงสิ้นปี 63 ให้เตรียมการสอนออนไลน์รับมือ
โครงการวิจัย "เเบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของความเป็นไปได้เเละการเตรียมความพร้อมต่อการเเพร่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย" ซึ่งจัดทำโดย ดร.วิริยะ มหิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาพื้นฐานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.) นั้น เป็นการสร้างเเบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้น เพื่อศึกษาธรรมชาติของการเกิดโรค เช่น Basic reproductive number (RO) หรือค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คน จะเเพร่เชื้อให้เเก่ผู้อื่นได้กี่คนในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เเละระยะฟักตัว เป็นต้น
รวมถึงทำนายอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ เเละการประเมินมาตรการการควบคุมป้องกันโรคในประชากรไทย โดยดำเนินการศึกษาที่มหาวิทยาลัยบูรพาร่วมกับการนำเสนอความก้าวหน้าต่อสำนักงานวิจัยเเห่งชาติ ในช่วงเวลา 4 เดือน ตั้งเเต่ มี.ค.-มิ.ย.2563
อ่านประกอบ:อาจารย์ ม.บูรพา วิจัยเเบบจำลองทางคณิตศาสตร์รับมือโควิด-19
ภาพประกอบ 1
ดร.วิริยะ เปิดเผยผลการศึกษาที่เกิดจากการสันนิษฐานข้อมูลทั้งหมดเบื้องต้น โดยเเสดงภาพ (ดูภาพประกอบ 1) ภาพบน : เป็นการสัมผัสของคนไทยทั้งทางตรงเเละทางอ้อมรายวันเเละรายอายุ ส่วนภาพล่าง : จำนวนผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 เเยกอายุ รายวัน
ผู้วิจัยตั้งคำถามว่า สองภาพที่เเสดงนั้นทำให้เห็นอะไรบ้าง?
พบว่า ภาพบนเเสดงให้เห็นว่า การสัมผัสหนาแน่นระหว่างคนกลุ่มอายุเท่ากัน เช่น วัยเรียนกับวัยเรียน ในช่วงอายุ 5-24 ปี (สีเหลือง) รองลงมา วัยทำงานกับวัยทำงาน 25-44 ปี (สีเขียว)และน้อยที่สุดคือ วัยที่ต่างกัน เช่น วันเรียน กับ วัยสูงอายุ (65+ ปี) (สีฟ้า)
ส่วนภาพล่าง แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนมาก พบในวัยทำงาน 25-44 ปี (สีเหลือง) แต่พบได้น้อยในวันเรียน 5-24 ปี (สีฟ้า)
ดร.วิริยะ สรุปจากการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดจากการสัมผัส ในวัยทำงาน ซึ่งอาจติดจากสนามมวย สถานบันเทิง ที่ทำงาน เป็นต้น แต่วัยเรียนหลังจากมีการหยุดการเรียนการสอน ทำให้การสัมผัสน้อยมาก
จึงมองว่า หากเปิดภาคเรียนและเรียนตามปกติในอีก 2 เดือนข้างหน้า (1 ก.ค.) ผู้ที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ อาจจะแพร่ให้กับนักเรียน นิสิต คนอื่น และทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ เพราะเรายังไม่มีวัคซีนและทุกคนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
ผู้วิจัย สรุป social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจจะได้ผลจริง ๆ ในการป้องกันการเเพร่ระบาด แต่อาจจะต้องทำในระยะยาว
ภาพประกอบ 2
ดร.วิริยะ ยังเเสดงภาพอีกกลุ่มหนึ่งจากการวิจัย (ดูภาพประกอบ 2) ภาพบน คือ ไทยยังไม่มีมาตรการใด ๆ ทำให้ตัวเลขขึ้นสู่สุดสูงมากในเดือน ก.ค. ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายแสนคน ในขณะที่ภาพล่าง คือ หลังจากมีมาตรการพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยไม่ให้ออกจากบ้านช่วง 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 รวมถึงหลาย ๆ คนมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้จุดสูงสุดถูกลากไปเดือน ธ.ค. และจะมีผู้ติดเชื้อลดลงจากเติมถึง 4 เท่า แต่อาจจะต่ำกว่านี้อีก ถ้าคนไทยช่วยกัน
อย่างไรก็ตาม หากดำเนินมาตรการเข้มงวดมากขึ้นและเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น จะยิ่งลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการเปิดภาคเรียนนั้นยังต้องติดตามจำนวนผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตามมาตรการ ทั้งนี้ การสอนออนไลน์เป็นอีกวิธีการเรียนการสอนรูปเเบบหนึ่งที่ต้องนำมาปรับใช้ เพราะคนไทยอาจต้องอยู่กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ถึงสิ้นปี 2563
ทั้งหมดนี้ คือ การศึกษาวิจัยจากเเบบจำลองทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มเติมบางปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดลงของผู้ป่วย และต้องทำการทดสอบความเที่ยงตรง (validity) ด้วยวิธี bayesian เพิ่มเติมอีกต่อไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/