เคอร์ฟิว 4 ทุ่ม -ตี 4 ห้ามคนออกจากเคหสถาน หาก 'คนไร้บ้าน' กลับประสบปัญหา หวั่นถูกขับไล่ ไร้ที่ซุกหัวนอนริมถนน เข้าไม่ถึงตรวจรักษาโควิด-19 หลังรัฐมองข้าม ส่องมาตรการต่างประเทศจัดการอย่างไร
การสั่งห้ามคนไทยออกจากเคหสถาน ตั้งเเต่เวลา 4 ทุ่ม ถึงตี 4 โดยเริ่มตั้งเเต่วันที่ 3 เม.ย. 63 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนเเปลง เป็นมาตรการเข้มงวดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อลดการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19
นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องอยู่ใน 'บ้าน' หรือที่พักอาศัย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เเต่สำหรับ 'คนไร้บ้าน' หรือ 'Homeless' ที่ปกติจะอาศัยชายคาหลับนอนตามพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตรอกสาเก สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วงเวียนใหญ่ หรือตามฟุตปาธ ตรอก ซอก ซอย จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว
ข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชน ระบุในปี 2562 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้บ้านของกรุงเทพฯ 4,392 ราย เพิ่มขึ้น 363 คน หรือร้อยละ 10 จากปี 2561
ทั้งนี้ หากประเมินจากสายตาในการลงพื้นที่ของทีมข่าวอิศรา พิกัดตรอกสาเก เขตพระนคร ตั้งเเต่หัวมุมถนนวัดมหรรณพารามวรวิหาร ไปจรดโรงเเรมรัตนโกสินทร์ พบว่า มีคนไร้บ้านจับจองพื้นฟุตปาธหนาตาขึ้นจากช่วงปกติที่มีอยู่เเล้ว เเละส่วนใหญ่ยังคงนั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน น้อยคนนักจะใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโควิด-19
"คืนนี้ไม่รู้จะพาลูกไปอยู่ไหน"
น้ำเสียงเหมือนสิ้นหวังของ 'ไพลิน' (สงวนนามสกุล) หญิงชาว จ.สุพรรณบุรี นั่งหลบไอร้อนจากเเสงเเดดที่เเผดเผาพร้อมกับลูกสาววัย 3 ขวบ ข้างกำเเพงที่มีเถาวัลย์ของพรรณไม้ปกคลุมโครงเหล็กของวัดมหรรณพารามวรวิหาร
โดยระหว่างที่กำลังสนทนากับเรา เธอหยิบหน้ากากผ้า สภาพเก่า ขึ้นมาใส่ ทั้งที่ในเวลาเเรกเธอไม่ได้ใส่มัน
ไพลินตกงาน! เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั่นจึงทำให้ชีวิตสองคนเเม่ลูกที่ปกติจะนำเงินจากค่าเเรงรายวันเปิดโรงเเรมจิ้งหรีดราคาถูกไม่กี่สิบบาทหลับนอน เเต่วันนี้เมื่อไม่มี 'งาน' จึงไม่มี 'เงิน' เลยตัดสินใจพาลูกตัวน้อยไร้เดียงสา พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้า ตุ๊กตาน่ารัก เเละเสื่อหนึ่งผืน ระเหระหกหลับนอนตรงนี้
"เดิมมีอาชีพค้าขาย เเต่หลังจาก กทม. สั่งห้ามขายบนฟุตปาธ จึงต้องปิดร้าน ทำให้เราสองคนเเม่ลูกเหมือนคนตกงาน ทั้งที่เคยมีทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งมาช่วงเคอร์ฟิว ยอมรับว่า ไปไม่ถูกเลย พวกเราเหมือนเดินเข้าที่มืด ไม่ได้เดินเข้าที่สว่าง จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เพราะไม่มีรถให้บริการ ทั้งรถไฟเเละรถทัวร์" เธอสะท้อนปัญหา
เพราะไม่มีรายได้ นั่นจึงทำให้ไม่มีเงินเช่าห้อง เธอตั้งคำถามกับตัวเองในใจว่า "เราต้องพาลูกมานอนข้างทางเช่นนี้หรือ" เเต่มิวายโดนเทศกิจขับไล่ เจ้าหน้าที่รัฐเชิญไปสถานสงเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ที่นั่นเหมือนคุก ต่างกันตรงที่ไม่มีความผิดติดตัว
ใช่สิ! เราไม่มีที่อยู่ ไม่มีเงิน คุณลองมาเป็นเรา จะได้รู้...ไพลินเปล่งวาจาลั่น
โดยเดิมทีเธอกับลูกน้อยลำบากอยู่เเล้ว เมื่อมีเคอร์ฟิว คืนนี้ (3 เม.ย.) ต้องถูกขับไล่เเน่นอน เมื่ออยู่ข้างคลองไม่ได้ อยู่ตรงโน้นตรงนี้ไม่ได้ ถามว่า จะให้เราไปอยู่ตรงไหน หรือจะให้อยู่บนต้นไม้
ไพลินจึงสะท้อนว่า ความทุกข์ของคนไร้บ้านที่เกิดขึ้นจากเคอร์ฟิว เพราะรัฐไม่มีมาตรการรองรับคนกลุ่มนี้เพียงพอ จะให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์ ลืมเรื่องนั้นไปเลย ไม่มีใครอยากไปอยู่ในสถานที่เเห่งนั้น หรือเเม้กระทั่งเรื่องเเจกหน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือ ยังไม่เคยได้รับจากหน่วยงานรัฐเลย
"หน้ากากผ้า 4-5 ผืน ได้รับจากผู้ใจบุญ ถึงเเม้จะไม่เพียงพอ เเต่เราซักได้" เธอบอก เเละพูดต่อด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า เราอยู่อย่างนี้ จะไปเรียกร้องอะไรมาก เรียกร้องไม่ได้เลย เหมือนจุดตายของเรา
ไพลิน เรียกลูกสาวไปนั่งตัก มือหยาบกร้าน มีรอยสักอักษรไทยบนหลังมือซ้าย เล็บสีฟ้าคราม เเหวนเงินบนนิ้วมือที่โอบกอดทายาทน้อย กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ในดวงตามีน้ำใสคลอ "ลูกก็ถามว่าทำไมนอนตรงนี้ ทำไมไม่กลับบ้าน ลูกจะชวนกลับทุกคืน เเต่เเม่บอกว่า กลับไม่ได้ เขาไม่ให้ขึ้นรถ"
เป็นช่วงวิกฤตหนึ่งของชีวิตสองคนเเม่ลูก
ใต้ร่มไทรใหญ่ที่ให้ร่มเงา
อีกจุดหนึ่งของตรอกสาเก สมาชิก 3 คน ของครอบครัวกำลังนั่งสนทนากัน มีกระเป๋าสีดำเเละสัมภาระวางอยู่ตรงรากไทร พวกเขาย้ายมาใช้ชีวิตชั่วคราวจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หลังจากมีการประกาศปิดพื้นที่ไปเมื่อไม่กี่วันมานี้
ตุ๊กตา (ชื่อเล่น) สงวนชื่อ-สกุลจริง บอกเล่าว่า ครอบครัวเป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา มีอาชีพเป็นลูกจ้างล้างจานในร้านอาหารข้างทาง เเต่ภายหลังมีคำสั่ง เพื่อยับยั้งการเเพร่ระบาดโรคโควิด-19 นายจ้างจึงให้หยุดทำงานชั่วคราว เพราะรายได้ไม่ได้ดิบดีเหมือนเดิม เวลานี้จึงพึ่งพาเเต่เงินจากบัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ ซึ่งไม่เพียงพอ เเละหากสถานการณ์ยาวนานหลายเดือน พวกเธอต้องได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก
"ไม่มีนายจ้างที่ไหนรับเข้าทำงาน เพราะอายุมากเเล้ว ร้านเดิมที่เคยล้างจานก็ปิด จนกว่าสถานการณ์จะปกติ"
เธอกล่าวต่อว่า มาอาศัยหลับนอนที่ตรอกสาเกหลายคืนเเล้ว เเละหลังจากเคอร์ฟิวสั่งห้ามออกจากบ้านตั้งเเต่ 4 ทุ่ม ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปอยู่ที่ไหน เเต่ถ้าโดนขับไล่จริง ๆ คงไปอยู่ที่โรงพัก เเละเชื่อว่า จะมีทหารตำรวจออกมาตรวจตราเเน่นอน เมื่อคืน (2 เม.ย) ก็มีเข้ามาขอดูบัตรประจำตัวประชาชน เราอ้อนวอนว่า ไม่มีที่ไปจริง ๆ เเต่ดันโดนไล่ให้กลับบ้าน จะไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีรถวิ่งให้บริการ
"ทุกวันนี้อาศัยข้าวจากวัดกิน เเต่เวลาไปเเลกของใช้จำเป็นจะใช้จากบัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ" ตุ๊กตาบอก เเละฝากไปยังรัฐบาลว่า เวลานี้เหมือนรัฐบาลกำลังทอดทิ้งพวกเธอ เเต่ในขณะเดียวกันขอไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์
"ตายเลย ถ้าเเนวโน้มยืดเยื้อถึง 4 เดือน เพราะเราไม่มีงาน...ไม่อยากให้ร้านค้าปิด...ทำให้ไม่มีรายได้ เงินรายวัน สมมติวันละ 300 บาท ถ้าเราขาด จะกินอะไร ในเมื่อต้องซื้อต้องกิน เวลานี้ทุกคนจึงลำบากมาก" เธอตอกย้ำให้เห็นความยากลำบากนี้
เเน่นอนว่า...
ผลกระทบที่เกิดขึ้น หากเป็นคนรวยหรือคนมีเงินเดือน คงไม่เดือดร้อนเท่ากับพวกเขา ผู้ที่ได้ชื่อว่า 'คนไร้บ้าน'
'โอ๋' (นามสมมติ) ชายวัยกลางคน ใช้ชีวิตที่ตรอกสาเกเป็นที่หลับที่นอนมานานหลายปี อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ในห้องน้ำสาธารณะ หาเงินทองใช้จากการรับจ้างทั่วไป เเต่เวลานี้สถานที่เคยใช้พักผ่อนกายกำลังจะไม่ใช่อีกต่อไป เมื่อมีประกาศเคอร์ฟิว เเต่รัฐกลับขาดการเหลียวเเลที่จะจัดพื้นที่สำหรับพวกเขา
เขาระบายให้ฟังว่า 4 ทุ่มของทุกวันหลังจากนี้ ต้องมีเจ้าหน้าที่มาขับไล่เเน่นอน ซึ่งวันก่อนก็มีมาจำนวนหนึ่ง "พวกเขาเข้าไม่ถึงรากหญ้า คนไม่มีที่หลับที่นอน จะไปอยู่ที่ไหน เเละยังลำบากคนที่มีจิตศรัทธานำอาหารมาเเจกคนไร้บ้านอีก เพราะมาเเจกไม่ได้ นี่คือปัญหาของคนรากหญ้า"
"พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศมาตรการออกมาดี เเต่ไม่รอบคอบ เพราะไม่คำนึงถึงคนไร้บ้าน เเละเห็นว่าจะให้ตำรวจทหารออกมาตรวจตราว่ามีใครออกจากบ้านหรือไม่ ถ้าเป็นเเบบนี้คนจนตายเเน่นอน ส่วนคนรวยสบาย เพราะนอนอยู่บ้าน จึงอยากให้รัฐบาลมาถามคนจนบ้าง
โอ๋ บอกอีกว่า เวลานี้วัดยังปิด ห้ามเข้า จากที่เคยเข้าไปขอข้าวกิน ขอน้ำดื่มได้ ส่วนหน้ากากอนามัยเเละเจลล้างมือ คนไร้บ้านไม่เคยเข้าถึงบริการจากรัฐ ให้ไปหาซื้อเองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน อย่างหน้ากากผ้า ราคาเริ่มต้น 40 บาทเเล้ว เเละไม่ต้องพูดถึงเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หากเสี่ยงติดเชื้อไวรัสฯ
เป็นเสียงสะท้อนของกลุ่มคนไร้บ้านที่ฝากไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูเเลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ
เเล้วต่างประเทศ
มีมาตรการช่วยเหลือบริหารจัดการกลุ่มเปราะบาง 'คนไร้บ้าน' ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนชนชั้นอื่น ปลอดจากการเเพร่ระบาดจากโรคโควิด-19
กรุงปารีส ฝรั่งเศส มีการเปิดศูนย์ Self-isolation centres หลายร้อยเตียง สำหรับคนกลุ่มนี้ ให้ได้รับการตรวจอาการติดเชื้อไวรัสฯ โดยไม่ต้องเข้า รพ. พร้อมออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ 6 หมื่นราย ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่บริเวณเเคว้น Ile-de-France โดยเเจกคูปองวันละ 7 ยูโร/คน จากงบประมาณทั้งสิ้น 15 ล้านยูโร ให้ไปเเลกอาหารเเละสินค้าจำเป็นที่จุดรับแลกคูปองกว่า 220,000 จุดทั่วประเทศ โดยสมาคมและมูลนิธิที่ดูแลผู้ยากไร้ในพื้นที่จะเป็นผู้รับผิดชอบแจกจ่ายคูปองดังกล่าว อาทิ la Fondation Abbé-Pierre, le Secours catholique, Emmaüs, la Croix-Rouge และ le Secours populaire
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ไร้บ้านเกือบ 1,000 คน ติดเชื้อไวรัสฯ ซึ่งได้รับการรักษาดูแลในศูนย์ที่พักพิเศษ 40 แห่งทั่วประเทศ
อังกฤษ เป็นอีกประเทศหนึ่งมีการมาตรการจัดหาที่พักให้เเก่คนไร้บ้าน ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสฯ โดยนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน จับมือกับ Intercontinental Hotels Group (IHG) จองห้องพักในโรงแรม 2 แห่ง ในใจกลางกรุงลอนดอน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์
ขณะที่ปัจจุบันอังกฤษมีคนไร้บ้านทั้งหมด 320,000 คน ในจำนวนนี้ 30,000-40,000 คน ถูกแยกออกมา อาศัยอยู่ในหอพักชั่วคราว และรัฐบาลอังกฤษ ยังให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 3.2 ล้านปอนด์เเก่คนกลุ่มนี้ในระหว่างการระบาดของโรค
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คนไร้บ้าน ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 16-25 ปี ได้รับผลกระทบจากการประกาศล็อกดาวน์ เนื่องจากถูกปลดออกจากงาน ไม่มีที่พัก เพราะตกงาน โทรขอความช่วยเหลือเรื่องที่พักกับ Freefone Centrepoint Helpline บางคนบอกว่า พวกเขามีเพียงปู่ย่าตายายเท่านั้นที่จะอยู่ด้วย แต่ไม่ต้องการกลับไปแพร่เชื้อให้กับในครอบครัว
ส่วนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในรัฐเเคลิฟอร์เนียเช่าโรงเเรม 2 เเห่ง ได้เเก่ โรงแรม Comfort Inn และโรงแรม Radisson ในราคา 2.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน ให้คนไร้บ้านพักอาศัยในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เเละมีการคาดการณ์จากผู้ว่าการรัฐเเคลิฟอร์เนียว่า คนไร้บ้าน 60,000 คน จากทั้งหมด 150,000 คน มีโอกาสติดเชื้อไวรัสฯ ดังนั้น รัฐฯ จึงตั้งเป้าจะหาห้องพักให้ได้ 51,000 ห้อง เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้
มีการเปรียบว่า การระบาดหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักหน่วงมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นมหันตภัยร้ายเเรงของมวลมนุษยชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการยับยั้งให้จงได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าคนนั้นจะรวยหรือจน 'มีบ้าน' หรือ 'ไร้บ้าน' ทุกคนเท่ากับคนเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ประเทศต่าง ๆ จึงไม่ทอดทิ้ง โดยเฉพาะคนชายขอบที่ไร้บ้าน
เเล้วรัฐไทยล่ะ! มองเห็นคุณค่าของ 'คนไร้บ้าน' เเล้วหรือยัง?
อ่านประกอบ:ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด คนไร้บ้าน “อยู่บ้าน” อย่างไร เมื่อไม่มีที่อยู่ ?
ตามยถากรรม!'คนไร้บ้าน-เร่ร่อน'นับพัน กมธ.ส.ว.แจกอาหาร-หน้ากากอนามัยหมื่นชิ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/