"...ลองคิดดูหน้ากาก 200 ล้านชิ้น ต้องใช้เวลาผลิตเป็นปี แล้วจะเอาจากไหนมา ผมว่างานนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังเยอะ ตอนนี้เราถูกใช้เป็นเหยื่อหรือเปล่า ผมไม่รู้ ผมไม่เคยสนใจเลยว่าการเมืองเขาจะขัดแย้งอะไรกันอย่างไร ขอร้องว่าอย่ามาแตะต้องข้าราชการเลย ตอนนี้หน้ากากมีกี่ชิ้นๆ ผมเอาลงไปสู่มือคนที่ต้องการใช้ให้มากที่สุดเลยตอนนี้..."
นับเป็นศึกร้อนๆบนเวทีย่อย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงโดยง่าย เมื่อ ‘วิชัย โภชนกิจ’ อธิบดีกรมการค้าภายใน เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ ‘ชัยยุทธ คำคูณ’ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ในข้อหาการหมิ่นประมาทโดยการประชาสัมพันธ์ เพราะเอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาออกสื่อ ทำให้กรมการค้าภายในได้รับความเสียหาย ในกรณีการส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน
วิชัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เหตุการณ์นี้ เขาควรจะมาถามตั้งแต่แรกก่อนที่จะเป็นข่าว และก็รู้อยู่ว่าเรื่องหน้ากากอนามัยตอนนี้เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ (อ่อนไหว) มาก ก่อนที่จะสื่ออะไรต้องระวัง
“หากไม่จำเป็น ผมจะไม่พูดก้าวล่วงคนอื่น แต่จะบอกว่าผมทำอะไร แต่นี่เขาก้าวล่วงมาก และก้าวล่วงผิดพลาดด้วย ลองคิดดูหน้ากากอนามัย 1 กิโลกรัม มี 270 ชิ้น ถ้า 330 ตัน ก็ตก 89.1 ล้านชิ้น เมื่อฟังตัวเลขนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่เกี่ยวกับผม ไปเอาตัวเลขเดือน ม.ค.2563 มาพ่วงกันได้อย่างไรไม่รู้ เพราะตอนเดือนม.ค. เราให้ส่งออกเสรี” นายวิชัยกล่าว
วิชัย กล่าวว่า โฆษกกรมศุลกากรออกข่าวโดยไม่ตรวจสอบอะไรเลย และการเข้าไปแจ้งความเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะกรมการค้าภายในได้รับความเสียหาย และที่ผ่านมาทีมงานของกรมการค้าภายในต่างก็ทุ่มเททำงานเรื่องหน้ากากอนามัยมาก ดังนั้น เรารับไม่ได้ที่อยู่ๆมากล่าวหากันแบบนี้
ส่วนหน้ากากอนามัย 12 ล้านชิ้น ที่กรมการค้าภายในอนุญาตให้ส่งออกในเดือนก.พ.2563 นั้น ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่เราใช้กันอยู่ โดยปัจจุบันหน้ากากมีทั้งหมด 70-71 สเปค บางชนิดเก็บไว้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะติดปัญหาลิขสิทธิ์ จึงอนุมัติให้ส่งออก ซึ่งการพิจารณาก็ทำในรูปกรรมการฯที่ตั้งโดยคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าฯ
“การพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกหน้ากาก ทำด้วยความรอบคอบ หน้ากากบางสเปคเก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์ บางชนิดเราเอามาใช้ไม่ได้ เพราะมีเครื่องหมายลิขสิทธิ์ อีกทั้งเขาได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเป็นการลงทุนเพื่อส่งออกอย่างเดียว ถ้าเราไม่ให้ส่งออกและขายในเมืองไทยไม่ได้ ธุรกิจเขาก็จบไปเลย” วิชัยกล่าว
วิชัย ย้ำว่า แม้ว่าประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ลงวันที่ 4 ก.พ.2563 และเพิ่มเติมวันที่ 20 ก.พ.2563 จะให้อำนาจในการสั่งให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้บีโอไอระงับส่งออกหน้ากากอนามัยได้ แต่ในฐานะอธิบดีจะต้องรับผิดชอบส่วนตัว
“ประกาศให้อำนาจสั่งไม่ให้ส่งออกได้ แต่ผมต้องรับผิดชอบส่วนตัวว่า เหตุผลอะไรที่ผมระงับ สมมุติว่าเขาส่งออกไม่ได้เลย แล้วของล้นในโกดัง เขาเสียหาย เขาหมดสภาพคล่อง และโรงงานเขาปิดขึ้นมา ผมถามว่าวันนั้น อะไรจะเกิดขึ้น และความเชื่อมั่นต่อประเทศจะเป็นอย่างไร
เมื่อเราส่งเสริมการลงทุน แต่เอาเข้าจริง เรากลับบล็อคเขาไว้ โดยที่ไม่มีอะไรรองรับ ในประเทศก็ไม่ให้ใช้ เพราะติดกฎหมายลิขสิทธิ์ และอยู่ในเมืองไทยก็ไม่มีประโยชน์สำหรับคนไทย
ผมในฐานะคนอนุมัติ ผมคิดหนักนะ เรื่องกลัวส่วนตัวไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ เพราะเอาประโยชน์เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว แต่เมื่อเอาไว้แล้วไม่ได้ประโยชน์ แล้วจะตอบคำถามเวลาเขากล่าวหาผมอย่างไร และทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ตัดสินใจเอง เพราะไม่ได้เก่งเรื่องหน้ากาก เราจึงอาศัยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นตัวช่วย”
วิชัย โภชนกิจ ยื่นฟ้องหมื่นประมาทโฆษกกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2563 ขอบคุณภาพ : siamrath.co.th
วิชัย ระบุว่า “ผมก็เป็นห่วงชาวบ้านไม่น้อยกว่าคนอื่นหรอก กลางวัน กลางคืน ผมแทบไม่ได้นอนเลย วันเสาร์วันอาทิตย์ ลูกน้องผมต้องมาทำงาน และเราพยายามจำกัดและไม่ให้เกิดปัญหาด้านราคา แทนที่จะส่งไปกล่อง 50 ชิ้น คนของผมต้องมาแยกมาเป็นแพ็คละ 4 ชิ้น ซีลแล้วก็ส่งไปให้ร้านค้าปลีก
เพราะเราต้องจำกัดไม่ให้เขาขายเกิน 4 ชิ้น ไม่อย่างนั้นคนไปทีหลังจะไม่ได้ของ และวันหนึ่งคนของผมต้องมานั่งแพ็คของวันละ 3-4 แสนชิ้น ต้องขอกำลังทหารมาช่วยวันละเกือบ 100 คน แต่เรื่องพวกนี้ไม่มีใครเห็น เพราะผมไม่ต้องการพูดให้สังคมรับรู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะยิ่งรู้จะยิ่งแตกตื่น
ตอนนี้คิดอย่างเดียว ใครจะว่าอย่างไร ใครจะวิจารณ์อย่างไร ใครจะตำหนิอย่างไร ก็ว่าไปเถอะ ผมจะทำหน้ากากอนามัยออกมาให้เยอะที่สุด โดยจะค่อยๆเพิ่มไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่คนหมดความกังวล ผมโดนเสนอนายกฯให้ปลดจากตำแหน่ง ผมไม่เคยออกมาตอบโต้ ผมนิ่ง
แต่เคสนี้รับไม่ได้ เพราะคนที่โดนเป็นกรมฯ ไม่ใช่ผม และคนที่มากล่าวหาเป็นราชการด้วยกัน อย่างนี้ผมเงียบไม่ได้ เพราะถ้าผมเงียบแสดงว่าผมยอมรับ และลูกน้องผมก็จะปั่นป่วนหมดเลย งานนี้ไม่ได้เจตนาจะเล่นงานเขา แต่ผมต้องสร้างหลักยึดให้กับหน่วยงานผมด้วย มีคนถามว่าทำไม่ผมเคลียร์ ผมไม่ต้องการเคลียร์ เพราะคนเริ่มต้นไม่ใช่ผม”
วิชัย ระบุว่า วันนี้เรื่องหน้ากากอนามัยหยิบอะไรขึ้นมา ก็จะถูกใช้เป็นเหยื่อความขัดแย้งไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่าไวรัสโควิด-19 อีก และวันนี้ไวรัสโควิด-19 ไม่น่ากลัวเท่ากับความแตกแยกในประเทศ
วิชัย ยังกล่าวถึงกรณีพ่อค้าโพสต์ขายหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ว่า หน้าที่ของกรมฯมี 2 เรื่อง คือ 1.มีการแจ้งสต็อกหรือไม่ 2.มีการส่งออกหรือไม่ ซึ่งเรื่องแจ้งสต็อก กรมฯได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว ส่วนเรื่องส่งออก ทีมงานของกรมฯกำลังตรวจสอบหลักฐานอยู่ว่ามีการส่งออกจริงหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังหาหลักฐานว่ามีการส่งออกหรือไม่ยังไม่ได้
“ลองคิดดูหน้ากาก 200 ล้านชิ้น ต้องใช้เวลาผลิตเป็นปี แล้วจะเอาจากไหนมา ผมว่างานนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังเยอะ ตอนนี้เราถูกใช้เป็นเหยื่อหรือเปล่า ผมไม่รู้ ผมไม่เคยสนใจเลยว่าการเมืองเขาจะขัดแย้งอะไรกันอย่างไร ขอร้องว่าอย่ามาแตะต้องข้าราชการเลย ตอนนี้หน้ากากมีกี่ชิ้นๆ ผมเอาลงไปสู่มือคนที่ต้องการใช้ให้มากที่สุดเลยตอนนี้”
วิชัย ระบุว่า จากนี้ไปจะมีข่าวดีเกิดขึ้น โดยตนได้ขอให้โรงงานหลายโรงเปลี่ยนไลน์การผลิต จากหน้ากากบางประเภทที่ส่งออกไม่สะดวก ส่งออกไม่ได้ หรือขายไม่ได้ เพราะมีการควบคุมราคา 2.5 บาท ให้มาผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ Surgical mask ให้มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่นหน้ากากคาร์บอน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหน้ากากอนามัยที่ปัจจุบันใช้อยู่ ทางโรงงานผู้ผลิตจะเปลี่ยนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักร และเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิมที่ใช้วิธีผสมสารเป็นการใส่ตัวกรองเข้าไปแทน จากนั้นก็เปลี่ยนจากสายผูกมาเป็นที่คล้องหู เป็นต้น ซึ่งทางโรงงานขอเวลาปรับเปลี่ยนไลน์ไม่กี่วัน
“ผมพยายามเร่งอยู่ ตอนนี้โรงงานส่งหน้ากากเพิ่มเข้ามาวันละ 1 แสนชิ้น และน่าจะผลิตเพิ่มเป็นวันละ 2 แสนชิ้นได้ในอีก 2-3 วันนี้ ถ้าเราได้ตรงนี้มาเติมวันละ 2 แสนชิ้น ยอดผลิตจะอยู่ที่วันละ 1.5 ล้านชิ้น การกระจายจะก็ดีขึ้น โดยจะจัดสรรไปให้โรงพยาบาลกับหมอให้มากที่สุด ผมคิดว่าเรื่องนี้จะช่วยคลายความเครียดของสังคมได้” วิชัยกล่าว
วิชัย ระบุว่า ขณะนี้กรมฯจัดสรรหน้ากากอนามัยไปให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มจากวันละ 7 แสนชิ้น มาเป็นวันละ 8 แสนชิ้นแล้ว และในอีกไม่นานนี้น่าจะจัดสรรได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะหลายโรงงานปรับเปลี่ยนไลน์ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อการส่งออกมาเป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และทำให้ยอดผลิตเพื่อใช้ในประเทศสูงกว่าวันละ 1.5 ล้านชิ้นแน่นอน
“อีกไม่นานนี้ ผมมั่นใจว่ายอดผลิตหน้ากากอนามัยจะสูงกว่าวันละ 1.5 ล้านชิ้นแน่นอน” วิชัยกล่าว
ด้าน ชัยยุทธ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ก่อนอื่นต้องขอเท้าความไปในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ก่อน โดยกรมฯมอบหมายให้ตนเองแถลงข่าวประจำเดือน โดยระหว่างการแถลงข่าว สื่อมวลชนได้สอบถามเกี่ยวกับการส่งออกหน้ากากอนามัย ซึ่งตนไห้ข้อมูลสถิติการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ แต่มีบางสื่อที่เข้าใจผิด
“บางสื่อเข้าใจผิด และเอาไปผสมรวมกันว่า หน้ากากอนามัยที่ส่งออก 330 ตันนั้น เป็นการส่งออกที่ได้รับการอนุมัติจากกรมการค้าภายใน ทั้งๆที่กรมการค้าภายในมีมาตรการควบคุมอยู่ บางสื่อโปรยข่าวในลักษณะที่ว่ากรมศุลกากรโยนถามกรมการค้าภายในว่า ทำไมถึงให้มีการส่งออก 330 ตัน ทั้งๆที่ผมไม่ได้พูด และไม่ได้สื่อในประเด็นนี้”
ชัยยุทธ คำคูณ
ชัยยุทธ อธิบายต่อว่า สำหรับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกหน้ากากนั้น เป็นการให้ข้อมูลทางสถิติตามปกติ และไม่ได้เป็นการไปกล่าวหา หรือไปพูดข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อมูลของกรมการค้าภายในเลย
“ผมได้แจ้งไปในหลายสื่อแล้ว ถ้าไปดูที่ผมพูด ไม่ว่าจะเป็นในเทป เราไม่ได้พูดขนาดนี้เลย ส่วนตัวเลขที่บอกว่ามีการส่งออก 330 ล้านตันนั้น เป็นการส่งออกก่อนที่จะมีประกาศห้ามเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563 และเราไม่ได้พูดเลยว่าอันนี้เป็นสถิติของการส่งออกที่มีการออกใบอนุญาตจากกรมการค้าภายใน” ชัยยุทธกล่าว
ชัยยุทธ์ ระบุว่า หลังจากได้แถลงตัวเลขสถิติส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตันไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลว่าตัวเลขที่ออกไปอาจไม่ถูกต้อง และมีความคลาดเคลื่อนอยู่ กรมฯจึงมีหนังสือออกมาอีก 1 ฉบับส่งถึงสื่อในช่วงเย็นของวันที่ 11 มี.ค. ว่าตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัยที่ 330 ตัน เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน
“ตัวเลขที่แถลงไปมีความคลาดเคลื่อน และไม่ใช่ตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัย ณ สิ้นเดือนก.พ.2563 โดยตัวเลขสรุปวันที่ 4-5 ก.พ.2563 แต่ไม่ว่าเราจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ตาม สิ่งที่เราพูดหรือในเอกสารแถลงข่าว ไม่ได้มีการระบุเลยว่า เรามีการไปกล่าวหา พาดพิง ตั้งประเด็นหรือสงสัยว่า ตัวเลขนี้เป็นจำนวนของการออกใบอนุญาตเลย” ชัยยุทธ์แจง
ชัยยุทธ์ ย้ำว่า การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. มีบางสื่อถามว่าตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัย หลังจากกรมการค้าภายในประกาศควบคุมแล้วเป็นอย่างไร ตนได้บอกไปว่า ไม่ทราบว่า เพราะไม่มีข้อมูลในมือ แต่ก็เชื่อว่าการส่งออกในช่วงกรมการค้าภายในมีมาตรการควบคุมการส่งออก การส่งออกน่าจะน้อย
“เราแถลงไปลักษณะนี้ แต่ข่าวที่ออกมา เฉพาะบางสื่อในทำนองว่าเราไป blame (ตำหนิ) อะไรอย่างนั้น เราไม่เคยกล่าวหา และไม่ได้ไปตั้งประเด็น ไม่มีการโยนคำถามไปยังกรมการค้าภายใน ส่วนที่ท่านอธิบดีกรมการค้าภายในไปฟ้องคดีนั้น ก็ไม่เป็นไร ก็ชี้แจงตามข้อเท็จจริง
ผมเองอยากคุยกับท่านเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ 2 หน่วยงานทะเลาะกัน คงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด หากมีโอกาสก็อยากทำความเข้าใจกับท่านว่า เราได้ตรวจสอบข้อมูล ผมทบทวนคำพูดผมแล้ว ดูจากเทปการแถลงทุกคำพูดแล้ว ไม่มีคำพูดไหนที่ผมไปกล่าวหาท่าน ส่วนจะถอนฟ้อง หรือไม่ถอนก็ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายใน ซึ่งจะเรียนข้อเท็จจริงในท่านทราบ แล้วก็ขึ้นอยู่กับท่าน”
ทั้งหมดนี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ปมส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน จากอธิบดีกรมการค้าภายใน และโฆษกกรมศุลกากร ในสถานการณ์ที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนหน้ากากอนามัยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
อ่านประกอบ :
‘วิชัย’ แจงส่งออกหน้ากาก 12.7 ล้านชิ้นจริง แต่เป็นของที่มีลิขสิทธิ์-ไม่ใช้ทางการแพทย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/