เผยยอดส่งออก ‘หน้ากากอนามัย’ เดือน ก.พ. แตะ 12.7 ล้านชิ้น ‘อธิบดีกรมการค้าภายใน’ แจงเป็นหน้ากากที่ไม่ได้ใช้ทางการแพทย์ และเป็นหน้ากากมีลิขสิทธิ์ที่ใช้ในไทยไม่ได้ เพราะจะถูกฟ้องร้องได้
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า หลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ต่อมามีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย เพิ่มเติม ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งหน้ากากอนามัย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการแต่งตั้ง
ผลปรากฎว่าในเดือน ก.พ.2563 กรมการค้าภายในอนุมัติให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,742,051 ชิ้น ประกอบด้วย
1.อนุมัติให้ บริษัทไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย 5 รายการ จำนวน 2,181,300 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 21 ก.พ.2563 ปลายทาง คือ สหรัฐ และญี่ปุ่น
2.อนุมัติให้ บริษัท เอ็มเมอร์รัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย 4 รายการ จำนวน 1,025,000 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 4 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ จีนฮ่องกง และสหรัฐ
3.อนุมัติให้ บริษัท สยามโคเค็น จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย (N95) 8 รายการ จำนวน 655,430 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 25 ก.พ.2563 ปลายทาง คือ ญี่ปุ่น
4.อนุมัติให้ บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด และ บริษัท บริษัท เอ็มเมอร์รัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัยรวม 8 รายการ จำนวน 4,905,800 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 1-8 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ จีน ฮ่องกง และสหรัฐ
5.อนุมัติให้ บริษัท โฟมเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย 1 รายการ จำนวน 1,000 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 3 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ จีน
6.อนุมัติให้ นายเพชร ทองคำ (สนง.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ส่งออกหน้ากากอนามัย 1 รายการ จำนวน 21 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 3 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ สหรัฐ
7.อนุมัติให้ บริษัท คลีนสแตท (ประเทศไทย) จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย 2 รายการ จำนวน 350,000 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 8 มี.ค.2563 และ29 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ ฟิลิปปินส์
8.อนุมัติให้ บริษัท ไอรีมา (ประเทศไทย) จำกัด ส่งออกหน้ากากอนามัย 5 รายการ จำนวน 3,623,500 ชิ้น อนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 และมีการส่งออกในวันที่ 9-31 มี.ค.2563 ปลายทาง คือ เยอรมนี
สำนักข่าวอิศราสอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน โดยนายวิชัย ระบุว่า หน้ากากอนามัยมีประมาณ 70 แบบ โดยหน้ากากอนามัยที่เราเน้นว่าต้องมีใช้ในประเทศไทย คือ หน้ากาก Surgical mask ซึ่งไม่อนุมัติให้ส่งออก ยกเว้นในกรณีเป็นหน้ากากอนามัยที่มีลิขสิทธิ์
ส่วนหน้ากากกันฝุ่น หน้ากากที่ใช้ในโรงงานที่ไม่เกี่ยวกับ Surgical mask และไม่ใช่หน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์ นั้น จะอนุญาตให้ส่งออกได้
“มีผู้ผลิตหลายราย ที่ผลิตหน้ากากอนามัยแล้วห้ามขายในประเทศ เพราะเป็นการผลิตภายใต้บีโอไอ เป็นการผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว และเป็นการผลิตที่มีลิขสิทธิ์ มีโลโก้ของเขาอยู่ เก็บไว้ก็ขายไม่ได้ เราจะเอามาใช้ในประเทศไทยก็ไม่ได้ พูดง่าย คือ ให้มีการส่งออกจริง แต่เป็นสเปคที่ไม่ได้ใช้ในประเทศ และเป็นหน้ากากที่มีลิขสิทธิ์” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัย ยังกล่าวว่า ก่อนที่เรื่องการขออนุญาตส่งออกหน้ากากจะส่งมาให้ตนอนุมัติ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตั้งขึ้นก่อน ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม
“ก่อนที่จะขึ้นมาถึงผม ถึงกรมการค้าภายใน เรามีคณะกรรมการฯที่จะพิจารณา ซึ่งได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ อย. และองค์การเภสัชกรรม โดยร่วมกันพิจารณาทุกล็อต ซึ่งหน้ากากที่ส่งออกไป 12 ล้านชิ้นนั้น เมื่อเทียบกับที่ขออนุญาตส่งออกมา 40 ล้านชิ้น เราปฏิเสธไม่ให้ส่งออกไปถึง 30 ล้านชิ้น” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัย ย้ำว่า ก่อนที่จะอนุมัติให้ส่งออกตนได้ขอให้เจ้าหน้าที่ อย. และองค์การเภสัชกรรม เข้ามาช่วยตรวจสอบให้ด้วยว่าเป็นสเปคที่ใช้ในทางการแพทย์หรือไม่
“ตอนแรกไม่รู้จักหน้ากาก ผมก็ไม่กล้าเซ็น แต่พอได้ข้อมูลจากอย.และเภสัชว่า อันนี้เขาไม่ให้ใช้ในประเทศไทย และบ้านเราไม่มีการใช้สเปคนี้เลย โดยเฉพาะหน้ากากที่มีโลโก้ ถ้าเราเอามาใช้จะโดนฟ้องข้อหาผิดลิขสิทธิ์” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัย ยืนยันว่า จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่ออกมาให้ข้อมูลว่า กรมฯอนุมัติให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน เพราะเป็นการให้ข้อมูลเท็จที่ทำให้กรมฯได้รับความเสียหาย
“เขาควรมาถามตั้งแต่แรกก่อนที่จะออกข่าว และก็รู้อยู่ว่าเรื่องหน้ากากอนามัน ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ (อ่อนไหว) มาก ก่อนที่จะสื่ออะไรต้องระวัง อย่างผมหากไม่จำเป็น ผมจะไม่พูดก้าวล่วงคนอื่น เพียงแต่จะบอกว่าผมทำอะไร แต่นี่เขาก้าวล่วงมาก และก้าวล่วงผิดพลาดด้วย” นายวิชัยกล่าว
หนังสือคำอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย
อ่านประกอบ :
พาณิชย์ สั่งดำเนินคดีลาซาด้าเอี่ยวร้านขายหน้ากากแพง 3 คดีรวด-ขยายผลบ.ไทยเฮลท์ เพิ่ม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/