"...วันนี้มีดีลหลายดีล ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัว ไม่ว่าจะเป็นการประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีคำถามเต็มไปหมด หน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องอย่าให้สังคมสงสัย ทุกดีลการประมูลต้องอธิบายได้..."
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ปมปัญหาสำคัญที่ ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ หยิบยกมาอภิปรายโจมตีรัฐบาล และ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นั่นก็คือ การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ และสร้างระบบผูกขาด จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับบรรดา ‘เจ้าสัวใหญ่’ อย่างมหาศาล
มีการอ้างข้อมูลนิตยสารชื่อดังต่างประเทศว่า 6 ปี ภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์นั้น 'เจ้าสัว 5 ตระกูลใหญ่' มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นชนิดที่เรียกว่า ‘รวยแบบก้าวกระโดด’
บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 3.74 แสนล้านบาท เป็น 9.41 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 251% บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 4.13 แสนล้านบาท เป็น 6.7 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 234% เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2557-62) ที่เพิ่มขึ้น 26.1%
แต่ทว่าความมั่งคั่งร่ำรวยของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย กลับ ‘สวนทาง’ กับหนี้สินครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จนระดับหนี้สินพุ่งแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา
และเมื่อพิจารณาจากเงินฝากในบัญชีของคนไทยที่มีทั้งหมด 80.2 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝาก 12 ล้านล้านบาท แต่พบว่ามีคนไทยที่มีเงินติดบัญชีน้อยกว่า 3,142 บาทคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 56% ของบัญชีทั้งหมด และน้อยกว่า 500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 32.8% สะท้อนได้ว่าคนไทยเกือบ 90% มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 3,100 บาท
สะท้อนถึงช่องว่างรายได้และการถือครองทรัพย์สินระหว่าง ‘คนรวย-คนจน’ ที่อยู่ในระดับสูง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ในลำดับต้นๆของโลกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
“เรื่องชิมช้อปใช้ กระทรวงการคลัง เอางบ 2 หมื่นล้าน แล้วทำบัตรชิมช้อปใช้ เอาเงินแจกให้คนละ 1,000 บาท แต่ไม่ใช่เดินทะเล่อทะล่าไปซื้อส้มตำข้างถนน ต้องเอาเงินที่ออกมาเป็นบาร์โค้ดไปอ่านอีกที ที่ร้านห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เงินจึงไหลไปอยู่ที่เจ้าของกิจการหลายคนที่ร่ำรวย” มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปราย
อ่านประกอบ :
รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
เช็กชื่อกลุ่มทุน บ.ประชารัฐฯ‘ฐาปน’ เบอร์หนึ่งหุ้นใหญ่‘บิ๊กเอกชน-สื่อ’พรึบ ปี61ขาดทุน25ล.
ข้อมูลทรัพย์สินของ 5 ตระกูลเจ้าสัว ที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นำมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน หยิบยกประเด็นกลุ่มทุนเจ้าสัวรายหนึ่ง บริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 24 ล้านบาท ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน หรือ ดิวตี้ฟรี
การได้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของเจ้าสัวตระกูลหนึ่ง ทั้งๆที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ การกีดกันสุราชุมชน และการต่ออายุสัมปทานการบริหารศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งหนึ่งเป็นเวลา 50 ปี โดยไม่ต้องเปิดประมูล ให้กับเครือบริษัทของเจ้าสัว ซึ่งได้ซื้อที่ดินจาก ‘บิดา’ ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงิน 600 ล้านบาท เป็นต้น
“เมื่อเราเอาความมั่งคั่งของเจ้าสัว 5 ตระกูลในไทยมารวมกัน จะมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท เทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อนที่อยู่ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท แต่คนจำนวนมากไม่มั่นคง เพราะสู้กับพิษเศรษฐกิจ จริงหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยปละละเลย เอื้อเจ้าสัว เอื้อนายทุน” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ระบุ
“จริงหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อซีพี พอหน่วยงาน EEC เคาะตัวเลขออกมาแล้วพบว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเจ๊ง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเอกชน ประโยชน์เศรษฐกิจไม่ผ่านเกณฑ์สภาพัฒน์ ท่านก็พ่วงที่ดินมักกะสันของรัฐ 400 ไร่เข้าไปในโครงการ และให้เงินภาษีอุดหนุนอีก 1.2 แสนล้านบาท
จริงหรือไม่ที่หลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้มีการประมูลร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ให้ผู้ชนะเจ้าเดียวผูกขาดทั้งสนามบิน ขณะที่ในต่างประเทศที่มีร้านค้าดิวตี้ฟรีมีการแข่งขัน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในร้านสูงกว่าไทย 5 เท่า
จริงหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยให้มีการผูกขาดธุรกิจเหล้าขาว โดยปรับภาษีสุราชุมชนให้แพงขึ้น เพื่อให้แข่งขันกับเหล้าขาวของเจ้าสัวไม่ได้” พิธาตั้งคำถาม
อ่านประกอบ :
คำต่อคำ!‘วิษณุ’เล่าที่มาแก้สัญญาเช่าศูนย์สิริกิติ์ฯ-ถ้าเอื้อ ปย.เริ่มตั้งแต่ รบ.ไหน?
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
แต่การตอบคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็น ‘เอื้อเจ้าสัว’ กลับไม่ได้สร้างความกระจ่างให้สังคม และไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเลย ไม่ว่าจะเป็น “รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายสำคัญ คือ การลงทุนในเศรษฐกิจมหภาค แต่ที่ฝ่ายค้านว่ารัฐบาลเอื้อเจ้าสัวนั้น เจ้าสัวที่ว่าก็อยู่มาทุกรัฐบาล”
หรือ “ที่ถามว่า ทำไมคนรวยถึงรวยขึ้นๆ ประกอบกิจการถูกกฎหมายหรือไม่ ยืนยันว่า ถ้าทำผิดกฎหมายแม้แต่นิดเดียว รัฐบาลก็ไม่สนับสนุน ไม่ยอม ไม่ให้”
หรือ “เรื่องการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง มีหลายท่านเอารูปผมที่ถ่ายคนนั้นคนนี้ 24 ตระกูล แต่ผมว่าหายไปตระกูลหนึ่งมั้ง ตระกูลนี้ไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ ตระกูลที่รวยผิดปกติหายไปไหนหรือเปล่า…การที่มีรูปผมไปอยู่ตรงนั้น ผมถือว่าเป็นการประชุมโดยเปิดเผย มีการพบปะอย่างเปิดเผย แต่ถ้าใครไม่มีรูปแบบนี้แสดงว่ามีการพบปะแบบไม่เปิดเผย”
หรือ “ผมลงพื้นที่พบปะประชาชนที่เยาวราช ได้พบเศรษฐีคนรวย เป็นเจ้าของกิจการ เมื่อก่อนก็ไม่ได้รวยแบบนี้ มาจากเมืองจีน เสื่อผืนหมอนใบ เขาขอบคุณคนไทยที่ให้ที่อาศัย ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน มีรายได้มากขึ้นๆ ต่างจากคนไทยที่จนลงๆ คนไทยต้องตื่นรู้ กระตุ้นตัวเขา ซึ่งการแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ต้องแก้ด้วยกลไกและกฎหมาย”
แม้แต่การตอบคำถามของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ที่ตอบว่า “เจ้าสัวเหรอไม่ต้องเอื้อเขาหรอก แค่หุ้นขึ้นเขาก็สบายแล้ว” ตรงนี้ก็ไม่อาจทำให้สังคมได้รับความกระจ่างชัดต่อกรณีปมเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ 'เจ้าสัว'
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามพรรคฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563
“จริงๆเราเหลื่อมล้ำมานานแล้ว แต่เมื่อ 10-20 ปีก่อน คนพูดกันไม่มาก เพราะเศรษฐกิจยังโตดีอยู่ คนจนก็ลดลง คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น แต่ในช่วง 3-4 ปีหลัง การขยายตัวทางเศรษฐกิจเรียกว่า ‘แข็งบน อ่อนล่าง’ ในที่สุดปัญหาก็โผล่ เสียงสะท้อนว่ารัฐบาลเอื้อเจ้าสัวจึงดังขึ้น” สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
สมชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นก็จริง แต่ความมั่นคั่งด้านทรัพย์สินนั้น แม้เราไม่มีตัวเลขทางการชัดๆ แต่สถาบันต่างชาติ เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เครดิตสวิส (The Credit Suisse Global Wealth Report) ต่างก็ระบุตรงกันว่าความเหลื่อมทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มสูงขึ้น และก็โยงไปที่เจ้าสัวทันที
“เวลาพูดถึงเรื่องความมั่งคั่ง ก็จะดูว่าคนรวย รวยเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งการที่เจ้าสัวบางตระกูลรวยขึ้นที 4-5 แสนล้าน สังคมก็ตั้งคำถามและโยงไปที่ภาพการผูกขาดมากขึ้น ซึ่งในทางการเมืองมีคำที่เรียกว่า ‘State Charger’ หรือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจเงิน เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และก่อให้เกิดนโยบายต่างๆที่เอื้อพวกพ้อง
อย่างเรื่องประมูลต่างๆ ที่เราได้ยินว่าตระกูลนั้นได้ ตระกูลนี้ได้ รวมทั้งมีภาพของความไม่โปร่งใสต่างๆ เช่น กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไปลดเงินนำส่งให้กับร้านค้าดิวตี้ฟรี แต่ลดเว่อร์มาก คือ ลดเงินนำส่งให้ 2 ปี เอาอะไรมาคิด ทั้งๆที่ไวรัสไม่น่าจะเกิน 6 เดือนก็หายแล้ว”
สมชัย ระบุว่า มีบทวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งบทวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า วันนี้เราอยู่ในระบบการเมืองที่คนมีอำนาจ มีสิทธิ มีเสียงมากกว่าคนทั่วไป มีการผูกขาดมากขึ้น และมีการกระจุกตัวของทุนมากขึ้น
“มีเอกสารวิจัยยืนยัน ความรู้สึกคนก็ใช่ ซึ่งความรวยของเจ้าสัวคงจะไปโทษเขาไม่ได้ แต่ต้องพูดถึงที่มาที่ไปของความรวยมากกว่า ว่า ที่คนตั้งข้อสงสัยจริงหรือไม่ มีการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ มีการเล่นพรรคเล่นพวก จนทำให้เกิดนโยบายที่จะเอื้อพวกพ้องในเชิงนโยบายหรือไม่ ตรงนี้จะโทษก็โทษได้ และต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น”
สมชัย จิตสุชน
สมชัย ยังย้ำว่า “วันนี้มีดีลหลายดีล ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัว ไม่ว่าจะเป็นการประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีคำถามเต็มไปหมด หน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องอย่าให้สังคมสงสัย ทุกดีลการประมูลต้องอธิบายได้”
สมชัย มองว่า ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ควรพูดกันทุกเวที ไม่ใช่แค่เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หวังว่าเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลง ปัญหาจะได้รับการแก้ไขได้ทั้งหมด เนื่องจากปัญหามีมาก จึงต้องกระทุ้งซ้ำไปเรื่อยๆในทุกเวที และหวังว่าสุดท้ายจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้บ้าง
ขณะที่ ‘ดวงมณี เลาวกุล’ แห่งศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่มั่งคั่งสูงสุด 1% ของประเทศไทย มีการถือครองทรัพย์สินสูงมาก มีการกระจุกตัวมาก ในขณะที่คนในระดับล่างเดือดร้อนมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ไม่ดี จึงกลายเป็นประเด็นในตอนนี้
“จากข้อมูลเศรษฐีไทยท็อป 40 ท็อป 50 ของประเทศ พบว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐีกลุ่มนี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง และคนกลุ่มล่างๆได้รับเดือดร้อน ทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนขึ้น” ดวงมณี กล่าว
ดวงมณี ยังให้มุมมองในกรณีที่มีการตั้งคำถามว่านโยบายรัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวหรือไม่ ว่า “ถ้าในตลาดมีการแข่งขันที่เสรี ก็จะทำให้กลุ่มคนเล็กคนน้อย สามารถแข่งขันในตลาดได้ แต่ของเรา ในเรื่องการป้องกันการผูกขาดยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงมีผลในการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่มากกว่าเอสเอ็มอี และคนตัวเล็ก
ทำให้คนกลุ่มบนสามารถสะสมความมั่งคั่งได้มากขึ้น เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้มีการกระจายตัวลงมา จึงต้องเข้าไปจัดการไม่ให้ผลประโยชน์กระจุกตัว หรือผูกขาดกับคนไม่กี่กลุ่ม เพื่อทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น”
อ่านประกอบ :
ยืดซักฟอกถึง 27 ก.พ.-'สุทิน'สับ'บิ๊กตู่'เอื้อทุนใหญ่-เจ้าตัวรับพบปะอย่างเปิดเผย
ดวงมณี เลาวกุล
ดวงมณี มองว่า การที่พรรคฝ่ายค้านหยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาอภิปรายรัฐบาลนั้น อาจไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ หากตัวรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ทั้งๆที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำตอนนี้ค่อนข้างสูงมากจริงๆ และมีความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเท่านั้น
เช่น ความเหลื่อมล้ำในการทางการเมือง และอำนาจการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงสู่ระดับท้องถิ่น โดย 5-6 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นยังไม่มีการเลือกตั้งเลย รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่เด็กบางส่วนยังต้องออกจากระบบการศึกษาไป
“เมื่อไม่มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจออกไป อำนาจก็ถูกผูกขาดอยู่กับคนบางกลุ่ม ดังนั้น จะทำอย่างไรที่ทำให้อำนาจลงไปสู่ประชาชนให้ได้” ดวงมณี กล่าว พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า “นโยบายการแจกเงินของรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้จริงหรือไม่ และตราบใดที่มีการผูกขาด กลุ่มทุนใหญ่จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์เศรษฐกิจได้มากกว่า”
ดวงมณี ทิ้งท้ายว่า “จะเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจเลย และเมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วม ความหวังที่จะให้มีการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม คงหวังได้น้อย และจริงๆแล้วตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอง ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการผูกขาดของอำนาจ เช่น การเลือกผู้นำก็ถูกล็อคไว้"
อาจสรุปได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในระดับสูง และการที่บรรดา ‘เจ้าสัว’ ไม่กี่ตระกูล ต่างก็มีความมั่งคั่งร่ำรวยเพิ่มขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของ ‘คนกลุ่มเดียว’ เท่านั้น
อ่านประกอบ :
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/