“...ประเด็นจะเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นความเห็น ผมไม่คัดค้าน แต่ต้องดูว่าเอื้อตั้งแต่รัฐบาลไหน จริง ๆ ที่ผ่านมาเอื้อไม่สำเร็จหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงล่าสุดมันพัฒนามาอย่างไร จนกว่าจะมากลายเป็นการลงนามในสัญญาในปัจจุบัน…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอนหนึ่งถึงกรณีการดำเนินการแก้ไขสัญญาของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเมนท์ แอนด์ เดเวลลอปเมนท์ จำกัด คู่สัญญากับที่ราชพัสดุในการเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจง ดังนี้
----
นายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่า กรณีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ผู้อภิปราย (นายยุทธพงศ์) กล่าวถึงประโยคสำคัญว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ แล้ว ครม.ปฏิบัติตามมติหรือไม่ ประหนึ่งว่า ครม. ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย แน่นอนครับว่า ถ้าผิด ก็ผิดร่วมกันทั้งหมด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม
เข้าใจว่าผู้อภิปรายทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศูนย์สิริกิติ์ฯ แต่เผอิญอาศัยข้อมูลเก่า ถ้าย้อนหลังในอดีต เหมือนดูบุพเพสันนิวาสภาค 1 ที่จริงเรื่องนี้ไปถึงภาค 2 ทุกอย่างที่ผู้อภิปรายกล่าวเคยมี เคยเป็นอยู่จริง และเปลี่ยนแปลงไปหมด ท่านอาจไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ได้ยกมากล่าว
ท้าวความนิดเดียว ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ฯ เป็นศูนย์ประชุมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 53 ไร่เศษ ติด ถ.รัชดาภิเษก เป็นของกระทรวงการคลัง เป็นที่ดินราชพัสดุ และมีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชน (บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ) มาบริหาร เป็นเรื่องเก่า โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่หลายครั้ง จนปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนละคนกับครั้งแรก และเป็นคู่สัญญากับกระทรวงการคลังมาโดยตลอด
ข้อสำคัญคือสัญญากับกรมธนารักษ์ ที่ทำกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ในอดีตกาลคือบริษัทแห่งนี้ต้องบริหารศูนย์ประชุมนี้ และต้องมีการก่อสร้างโรงแรมขนาด 4-5 ดาว ประมาณ 400 ห้องขึ้นไป ต้องสร้างที่จอดรถจุรถได้ 3,000 คัน และต้องมีศูนย์การค้า และร้านค้า หากทำไม่ครบข้อกำหนดข้างต้นถือว่าผิดสัญญา แล้วทุกคนก็นั่งรอว่าเมื่อไหร่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จะทำสิ่งเหล่านี้
@เงื่อนปมปัญหาช่วงสัญญาสุดท้าย
การทำสัญญาดังกล่าวมีหลายช่วง ช่วงสุดท้ายที่เป็นปัญหาคือ ช่วงอายุ 25 ปี แปลว่าถ้าใน 25 ปี บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ทำสิ่งที่ว่าทั้งหมด บริษัทดังกล่าวจะมีความผิด และรัฐบอกเลิกสัญญาได้ แต่ประเด็นสำคัญคือสัญญาที่ทำในอดีตกาล เขียนข้อความในสัญญาว่า ในช่วงท้ายอายุ 25 ปี หากยังไม่เริ่มนับหนึ่ง คือจนกว่าบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จะสร้างสิ่งที่ว่าเสร็จ ระหว่างนี้จะเสียค่าเช่าปีละ 100 ล้านบาทก็เสียไป แต่อายุ 25 ปีนับหนึ่งต่อเมื่อมีการสร้างสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น ดังนั้นจึงได้เวลาฟรี ๆ แต่เสียค่าเช่าเท่านั้น
เมื่อนานเข้า บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ โอดครวญว่า ไม่มีวันทำตามสัญญาได้ จึงเข้าทางกระทรวงการคลังที่จะเลิกสัญญา เพราะเหตุใดบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จึงไม่สามารถเนรมิตสิ่งต่าง ๆ ได้ คำตอบคือ กทม. ก็ดี กระทรวงมหาดไทยก็ดี ไปออกกฎระเบียบผังเมืองอะไรต่อมิอะไร กำหนดให้ที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ เป็นผังเมืองสีน้ำเงิน แปลว่าเป็นส่วนราชการ ไปสร้างอย่างที่ว่าไม่ได้ ขณะเดียวกันออกอีกฉบับว่า อาคารมีกำหนดสูงไม่เกิน 23 เมตร แค่ปัจจุบันความสูงของศูนย์สิริกิติ์ฯเกือบถึงอยู่แล้ว จะเนรมิตโรงแรม 5 ดาวได้อย่างไร
@ย้อนเกล็ดจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นปี 2544 สมัย รบ.หนึ่ง-อนุมัติ รบ.ไหนไปดูเอง
กระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลหนึ่งเมื่อปี 2544 เจตนาดีว่า ถ้าอย่างนั้นเลิกสัญญาดีกว่า จึงหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะขอเลิกสัญญาได้หรือไม่ เพราะอยู่ไปบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ทำอะไรไม่ได้แล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ประชุมผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการมาพิจารณาเรื่องนี้ ตอบกลับมาว่า ถ้าบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ผิดสัญญาสามารถเลิกได้ แต่เหตุทั้งหมดที่ว่ามานั้น บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถทำตามสัญญาด้วยเหตุสุดวิสัย มิใช่ความผิด แต่ราชการต้องรับผิดชอบ ฉะนั้นไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้
กระทรวงการคลังสมัยนั้นถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกว่า ถ้าเลิกไม่ได้ ก็แก้สัญญาเสียได้หรือไม่ เพื่อให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ผิดสัญญา ได้เริ่มนับหนึ่งใหม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า ทำอย่างนั้นได้ แปลว่าเลิกสัญญาไม่ได้ แต่แก้ได้ กระทรวงการคลังจึงพิจารณาแก้สัญญาหลายปี เรื่องนี้เกี่ยวพันกับหน่วยงานจำนวนมากเกินกว่า 7 หน่วยงานที่ท่านอ้าง ท่านยังไม่ได้เอ่ยถึงกรรมการสำคัญชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ เป็นกรรมการตามกฎหมายที่ราชพัสดุ
กฎหมายมีนั้นบอกว่า บรรดาที่ราชพัสดุถ้าทำมาหากินประโยชน์เกิน 500 ล้านบาท ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มี รมว.คลัง เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น เป็นกรรมการ ถือเป็นกรรมการระดับชาติ และเสียงของคณะกรรมการที่ราชพัสดุเป็นเสียงสุดท้าย เรื่องนี้ได้เอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุตามกฎหมาย โดยมีมติเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2557 หรือ 2 เดือนก่อนที่ คสช. จะมา ต้องไปดูว่าขณะนั้นเป็นรัฐบาลไหน
@กก.ที่ราชพัสดุมีมติ 3 บรรทัดอนุมัติ ‘เอ็น.ซี.ซี.ฯ’ แก้ไขสัญญาเป็นเช่าที่
คณะกรรมการราชพัสดุมีมติว่า บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ขอแก้ไขสัญญา และขอเปลี่ยนมาเป็นขอเช่า 5 ปี เรื่องอายุ 25 ปีตามเดิมเลิก ไม่ต้องพูด นับหนึ่งใหม่ เพราะว่าเขาจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2557 ในรายงานการประชุมทางการ หน้าที่ 25 มี 3 บรรทัดก่อนปิดการประชุม โดยคณะกรรมการที่ราชพัสดุอนุมัติให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุของศูนย์ประชุมสิริกิติ์ฯ 50 ปี ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
เรื่องก็จบลง ประเด็น 50 ปี เกือบไม่มีใครพูดแล้ว มันจบลงแล้ว กว่าจะจบผ่านขั้นตอนมายาวนาน บัดนั้นรัฐบาลได้คำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า เลิกสัญญาไม่ได้ แต่เปลี่ยนมาแก้ได้ บัดนั้นได้คำตอบแล้วว่าแก้สัญญาคือเปลี่ยนเป็นให้เช่า ปัญหาต่อไป การเช่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าทำต้องเปิดประมูล คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ตอบเมื่อปี 2544 ว่า ถ้าแก้สัญญาเพื่อให้เอกชนผู้เช่ารายเดิมเช่าต่อไป ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนที่มีอยู่ เพียงแต่แก้สัญญาเสีย ส่วนเงื่อนไขทำอย่างไรให้รัฐได้ประโยชน์ ไปเจรจากันเอง ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มดำเนินการให้ถูกกฎหมาย และอย่าให้ขัดแย้งกับอะไรต่อมิอะไร ถึงขั้นเจรจาเสร็จสิ้น
มาถึงประเด็นอัยการสูงสุด (อสส.) หลังจากนั้นจึงส่งเรื่องให้อัยการดูว่า เขาจะแก้สัญญากันแล้ว เขาจะให้เช่า 50 ปี จะให้ผู้เช่ารายเดิมเป็นผู้เช่าโดยไม่เปิดประมูล มีค่าตอบแทนอะไรบ้างดังต่อไปนี้ มีอะไรผิดพลาดบกพร่องบ้างจึงส่งร่างสัญญาไปให้อัยการตรวจ
@ ‘ยุทธพงศ์’ท้วงไม่พูดเรื่องปัจจุบัน-ซัดกฤษฎีกาลูกน้องนายกฯ
อย่างไรก็ดีระหว่างนายวิษณุอธิบาย นายยุทธพงศ์ ได้ประท้วงโดยระบุว่า อภิปรายถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า ทำไมไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 และมีการอนุมัติในปี 2560 แต่ผู้อภิปรายแทน (นายวิษณุ) มาตอบบอกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2554 ปีนั้นเขาใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 อย่ามาโกหกต่อสภา ตรงไหนข้อมูล ผมอภิปราย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 ดันไปตอบความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2544 เกี่ยวอะไร นายวิษณุสอนกฎหมาย แล้วรัฐบาลไปฟังคณะกรรมการกฤษฎีกาเหรอ คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นลูกน้องนายกรัฐมนตรี ประเด็นคือทำไมอัยการบอก (ตั้งข้อสังเกต 10 ข้อ) ถึงไม่ฟัง
@ ‘วิษณุ’ร่ายต่อใช้เวลา 21 เดือนกว่า อสส.ไม่ติดใจ-ถามกลับถ้าเอื้อ ปย.ต้องดูว่าตั้งแต่ รบ.ไหน
หลังจากนั้นนายวิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้ไปเป็นประเด็นนับตั้งแต่ปี 2559 โดยสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ว่า ที่จะไปแก้สัญญา ให้ระวังไว้ต่อไปนี้ 10 ข้อ จริงอย่างที่ผู้อภิปรายว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับหนังสือจากอัยการมีข้อสังเกต 10 ข้อ จึงประชุมพิจารณากัน ทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงาน อสส. อีก 3 เดือนต่อมา ชี้กลับไปแล้วในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ว่าข้อสังเกตเป็นอย่างไร ต้องดำเนินการอย่างไร หมายความว่าอย่างไร
เมื่อ อสส. ได้รับหนังสือ จึงทำหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่ติดใจใน 10 ข้อนั้น เป็นอันว่าจบบุพเพสันนิวาสภาค 1 แล้ว เรื่องนี้กระทรวงการคลังจึงนำเข้า ครม. จนเป็นที่มาของมติ ครม. ในวันที่ 17 ม.ค. 2560 จริง อย่างที่ผู้อภิปรายพูดถูกต้องเป๊ะ มตินั้นก็พูดอย่างนั้นจริง ๆ โดยเอาข้อสังเกต 2 ข้อมาดำเนินการ ซึ่งเป็นข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง และดำเนินการแล้ว ครม. เห็นชอบกับกระทรวงการคลัง เรื่องข้อสังเกต 2 ข้อนั้น แต่ให้ไปหารือกับสำนักงาน อสส. อีกทีหนึ่งว่า เขาไม่ติดใจ เรื่องนี้ไม่ใช่จุดเป็นจุดตาย หลังจากมีการหารือกับสำนักงาน อสส. จึงมีการตรวจร่าง หลังจากนั้นอีก 21 เดือนต่อมา ได้ดำเนินการตามที่ อสส. แนะนำ หลังจากนั้น อสส. ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2561 แปลว่า หลังจากอัยการท้วง 10 ข้อมา 21 เดือนว่า บัดนี้ได้ตรวจร่างสัญญาฉบับล่าสุดแล้ว ขอให้ดำเนินการจากนั้นจึงนำมาสู่การลงนามในอีก 3 เดือนต่อมา ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
รัฐบาลฟังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะเป็นที่ปรึกษารัฐบาล ฟังสำนักงาน อสส. เพราะเป็นผู้ช่วยปกป้องถ้ารัฐบาลถูกฟ้อง และดำเนินการมาทั้งหมด ผ่านขั้นตอนมาหลายรัฐบาล จนนำมาสู่บทสรุปดังกล่าว
ส่วนประเด็นจะเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นความเห็น ผมไม่คัดค้าน แต่ต้องดูว่าเอื้อตั้งแต่รัฐบาลไหน จริง ๆ ที่ผ่านมาเอื้อไม่สำเร็จหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงล่าสุดมันพัฒนามาอย่างไร จนกว่าจะมากลายเป็นการลงนามในสัญญาในปัจจุบัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/