"...หากเจรจาแล้วไม่เป็นที่พอใจ และเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ไทยก็ยังสามารถตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ได้ โดยคณะเจรจาจะต้องนำผลการเจรจา มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน..."
เป็นจุดยืนที่แตกต่าง เมื่อภาครัฐ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนเม.ย.นี้ ให้พิจารณา ‘เห็นชอบ’ ให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
แต่ในฝั่งของภาคประชาชนกลับไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ฝ่ายไทย ‘เสียมากกว่าได้’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไล่เรียงจุดยืนของแต่ละฝ่ายในแต่ประเด็น เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจ ผ่านข้อมูลจากการแถลงข่าว ‘สิ่งที่สมคิด ไม่ได้บอก : ไม่มีสิทธิบัตรยา แต่ยังมีอีกหลายหายนะใน CPTPP’ จัดโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch และการชี้แจง ‘ไขข้อกังวลการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ของไทย’ โดย 'อรมน ทรัพย์ทวีธรรม' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
@การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช-การเปิดตลาดสินค้า GMO ในไทย
เครือข่ายภาคประชาชน : หากรัฐบาลไทยลงนามเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องถูกบังคับให้เข้าร่วมสนธิสัญญา 2 ฉบับโดยอัตโนมัติ คือ อนุสัญญา UPOV1991 และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งทำให้เกิดผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชและส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งข้อตกลง CPTPP ยังกำหนดประเทศไทยต้องเปิดตลาดให้กับสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรวมถึงสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม หรือสินค้า GMO
ทั้งนี้ การผลักดันให้ไทยเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991 ผ่านข้อตกลง CPTPP เป็นการเพิ่มอำนาจการผูกขาดพันธุ์พืชให้กับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น และเป็นการลดทอนสิทธิของเกษตรกร ขณะที่ในปัจจุบันมีเพียง 55 ประเทศเท่านั้น ที่เป็นภาคีสมาชิก UPOV1991 ส่วนอีก 137 ประเทศทั่วโลกไม่เข้าร่วมภาคีนี้ เพราะอนุสัญญาดังกล่าวให้อำนาจผูกขาดกับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มากเกินไป
“เหตุผลที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ผลักดันให้ไทยเข้าร่วม UPOV1991 ผ่าน CPTPP เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัท จะเท่ากับว่าเกษตรกรยอมรับว่าจะไม่เก็บพันธุ์พืชส่วนใดๆ เพื่อนำไปปลูกต่อ ซึ่งรวมถึงการห้ามนำไปวิจัย ที่สำคัญ UPOV1991 ได้ขยายการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชเป็นทุกชนิดใน 10 ปี เทียบกับ UPOV1978 ที่คุ้มครองพืช 24 ชนิดใน 8 ปี และขยายเวลาผูกขาดเป็น 20-25 ปี เทียบกับ UPOV1978 ที่ให้เวลาผูกขาด 15 ปี”
UPOV1991 ยังขยายขอบเขตการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืช ให้ครอบคลุมตั้งแต่การขยายพันธุ์ไปจนถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ขณะที่กฎหมายไทยให้การคุ้มครองเฉพาะส่วนที่ขยายพันธุ์เท่านั้น เช่น การซื้อพันธุ์ข้าวมาปลูก กฎหมายไทยจะคุ้มครองเฉพาะเมล็ดพันธุ์ แต่ UPOV1991 จะให้มีการขยายการคุ้มครองไปถึงการนำข้าวไปแปรรูป อาทิ สาโท รวมไปถึงการคุ้มครองบริษัทต่างชาติที่นำสายพันธุ์กัญชาที่ปรับปรุงแล้วไปผลิตเป็นยา ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดเรื่องยา
“ผลการวิจัยพบว่าการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ภายใต้อนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ในไทยเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า และส่งผลให้ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารของผู้บริโภคแพงขึ้นตามไปด้วย”
เครือข่ายภาคประชาชน แถลงข่าว ‘สิ่งที่สมคิด ไม่ได้บอก : ไม่มีสิทธิบัตรยา แต่ยังมีอีกหลายหายนะใน CPTPP’ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563
ส่วนสนธิสัญญาบูดาเปสต์ กำหนดภาคีสมาชิกต้องยอมรับการฝากเก็บจุลชีพเพื่อจดสิทธิบัตร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัทหรือประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจุลชีพ เช่น ญี่ปุ่น ได้ประโยชน์อย่างมาก โดยญี่ปุ่นได้ผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ซึ่งรวมถึงจุลชีพที่มาจากธรรมชาติ มาตั้งแต่การทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แล้ว แต่การตกลงคราวนั้น ไทยได้เขียนสัญญาแยกอีกฉบับว่า ให้การจดสิทธิบัตรเป็นไปตามกฎหมายไทย
อีกทั้งภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในมาตรา 2.27 ที่กำหนดให้ความร่วมมือและการค้าสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้ส่งออกนั้น จะส่งผลให้ในกรณีที่มีการส่งสินค้า GMO เข้ามาขายในประเทศไทยจะต้องยึดตามกฎหมายของประเทศผู้ส่งออก และการปฏิเสธการนำเข้าจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ทราบดีว่าสินค้า GMO ยังเป็นข้อถกเถียงว่ามีผลกระทบชัดเจนอย่างไร
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ : ในส่วนข้อกังวลเรื่องที่เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกได้ หากเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 นั้น UPOV 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิกสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ แม้จะเป็นสมาชิก UPOV 1991 ก็ตาม
@การผูกขาดสิทธิบัตรยา-จำกัดมาตรการ CL
เครือข่ายภาคประชาชน : ที่มีข่าวว่าการเข้าเจรจา CPTPP ของไทยในครั้งนี้ ไม่มีเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะสหรัฐถอนตัวจาก TPP ไปแล้วนั้น เป็นความจริงบางส่วน และไม่ได้หมายความว่าการเจรจาสิทธิบัตรยาจะไม่มีแล้ว เพราะปัจจุบันทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้นำข้อบทเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยาไปอยู่บนเว็บไซด์ของกระทรวงต่างประเทศและการค้าของนิวซีแลนด์ สะท้อนว่าการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
“ภายใต้ข้อตกลง CPTPP มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาอยู่จริง และมีความกังวลว่าข้อกำหนดเรื่องสิทธิบัตรยา โดยเฉพาะการจำกัดการใช้มาตรการ CL (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) โดยยกเลิกมาตรการ CL ในกรณีการผลิตยาโดยรัฐและไม่แสวงหาผลกำไร ตรงนี้จะทำให้ราคายาแพงขึ้น และค่าใช้จ่าย 50% ของโครงการบัตรทองเป็นค่ายา ถ้าเราไม่สามารถใช้ยาชื่อสามัญในราคาที่ถูกได้ ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยไปไม่รอด”
ข้อตกลง CPTPP ยังได้ขยายการลงโทษกรณีที่มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ เช่น กรณียา เดิมทีหากมีการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ จะเอาผิดเฉพาะคนที่ผลิตหรือขายยานั้นๆ แต่ CPTPP ให้ขยายการเอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาไปถึงบุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าให้หมายถึงโรงพยาบาลที่สั่งจ่ายยาด้วยหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้โรงพยาบาลจะไม่กล้าสั่งจ่ายยาชื่อสามัญ และหันไปจ่ายยาต้นแบบที่มีราคาแพงกว่ามาก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ : ข้อกังวลว่า ไทยจะต้องขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา คุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา และไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (CL) ได้นั้น ความตกลง CPTPP ได้ถอดเรื่องนี้ออกไปแล้ว ตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจา ไทยจึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความตกลงฯยังยืนยันสิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการ CL ขององค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลง CPTPP จึงไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชน
@ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างยา
เครือข่ายภาคประชาชน : ปัจจุบันไทยมีมาตรการบางอย่างที่เป็นแต้มต่อให้กับอุตสาหกรรมยาในประเทศ เพราะการพึ่งพายาในประเทศจะสร้างความมั่นคงด้านยาและสุขภาพให้ประชาชน โดยพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับปัจจุบัน ให้โอกาสกับองค์การเภสัชกรรมขายยาให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลต้องพิจารณาซื้อก่อน หากราคาไม่สูงเกินกว่า 5-10% เพื่อให้อุตสาหกรรมยาในประเทศอยู่รอด แต่ข้อตกลง CPTPP ในบทข้อจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ได้ตัดแต้มต่อนี้ไป
นอกจากนี้ ในภาคผนวกของข้อตกลง CPTPP มีข้อกำหนดว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทยาต้องเปิดเผยผลประกอบการ กำไร และโครงสร้างราคาได้ ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ให้อำนาจภาครัฐในการขอให้บริษัทยาเปิดเผยโครงสร้างราคายา แต่ภายใต้ข้อตกลง CPTPP ไทยจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว และไม่ว่าบริษัทยาจะแจ้งราคายามาเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายตามนั้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ : ความตกลง CPTPP ยังเปิดช่องให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาการปรับตัว
@ความเสียหายหากไทย ‘เข้าร่วม-ไม่เข้าร่วม’ CPTPP
เครือข่ายภาคประชาชน : หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น 1.ผลกระทบจากราคาเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นจาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 ล้านบาท/ปี 2.ผลกระทบจากการที่ไทยไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสนธิสัญญาบูดาเปสต์ 10,740-48,928 ล้านบาท/ปี และ 3.ผลกระทบการถูกกีดกันในการพัฒนายาจากสมุนไพร 59,798 ล้านบาท
นอกจากนี้ การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบสินค้าอ่อนไหวของไทย 23 รายการ เช่น นม ผลิตภัณฑ์นม ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงใบยาสูบ เป็นต้น เนื่องจากการเข้าร่วม CPTPP จะมีการยกเลิก 2 มาตรการที่สำคัญ คือ 1.การยกเลิกมาตรการโควตาทางภาษี และ2.การยกเลิกมาตรการปกป้องการนําเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือมาตรการ Safeguard
“หากไทยเข้าร่วม CPTPP สินค้าอ่อนไหว 23 รายการ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยได้ขึ้นทะเบียนไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) จะไม่ได้รับการปกป้องอีกต่อไป หรือเท่ากับว่าไทยกำลังเอาความมั่นคงทางอาหารเพื่อแลกกับการส่งออกกุ้ง ไก่”
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ :ผลการศึกษาพบว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ GDP ขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท
รวมทั้งไทยจะสามารถส่งออกสินค้าหลายรายการได้เพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิก CPTPP จะต้องเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่า FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด/แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า หากไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP จะเกิดค่าเสียโอกาสจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลก โดย GDP จะลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนลดลง 0.49% คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท การส่งออกลดลง 0.19% คิดเป็นมูลค่า 14,560 ล้านบาท และจ้างงานผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท
ที่สำคัญท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่าสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอาเซียนของไทย เช่น เวียดนามและสิงคโปร์ ได้ประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ที่สมาชิก CPTPP สรุปผลการเจรจาได้ในปี 2558 จนถึงปี 2562 พบว่า เวียดนามสามารถขยายการส่งออกไปประเทศ CPTPP เพิ่มขึ้นถึง 7.85% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 9.92%
ในขณะที่การส่งออกของไทยไปประเทศ CPTPP ขยายตัวเพียง 3.23% แสดงให้เห็นว่าหากไทยนิ่งเฉย มีความเสี่ยงสูงว่า ไทยจะตกขบวนและเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับในฐานะห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและโลก
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร SMEs และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลงฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนฯ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนและตอบ สนองความต้องการต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
@ผลกระทบการควบคุมสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครือข่ายภาคประชาชน : ข้อตกลง CPTPP ได้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสินค้าสุรา เบียร์ และไวน์ เอาไว้ด้วย และจะมีผลกระทบต่อไทยใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การลดภาษีนำเข้าสุราและเบียร์ให้เหลือ 0% จากปัจจุบันที่รัฐบาลตั้งกำแพงภาษีไว้สูง เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการลดภาษีเหลือ 0% จะทำให้เหล้าเบียร์ต่างประเทศทะลักเข้าในประเทศมากขึ้น
“ปัจจุบันมูลค่าตลาดสุราไทยอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และมีผู้บริโภคสุราที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 29% ทำให้เวลาเจรจาอะไร ต่างชาติก็หยิบยกเรื่องนี้มาเจรจาเปิดตลาด เพราะตลาดยังมีช่องว่างที่จะเติบโตได้มาก ข้อตกลง CPTPP จะนำสู่สิ่งที่เรียกว่า เหล้าถูก ยาแพง พืชพันธุ์ถูกผูกขาด”
2.การจำกัดมาตรการควบคุมสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจาก CPTPP ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับตราสินค้าและฉลาก รวมถึงการโฆษณาเอาไว้ ส่งผลให้มาตรการควบคุมการโฆษณาสินค้าสุราของไทยด้อยประสิทธิภาพลง และ3.การขยายการคุ้มครองการลงทุนของบริษัทสุรา เพราะเพียงแค่มาจดทะเบียนตั้งบริษัทหรือตั้งสำนักงาน แม้ว่าจะไม่มีโรงงาน บริษัทดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองการลงทุนตามข้อตกลง CPTPP แล้ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ : -ไม่มีการชี้แจง
@การตรวจสอบการเจรจา CPTPP โดยรัฐสภา
เครือข่ายภาคประชาชน : กลุ่ม FTA Watch ได้หารือร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อขอให้ใช้กลไกทางนิติบัญญัติตรวจสอบการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ทั้งผ่านการตั้งกระทู้ถาม และการเรียกทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อลงนามหนังสือสัญญาต่างประเทศออกไปแล้ว ส่งผลให้กระบวนการตรวจสอบการเจรจาต่างๆทำไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ :การเข้าร่วม CPTPP ของไทย จะทำให้ไทยต้องรับเงื่อนไข หรือข้อผูกพันที่จะกระทบต่อประชาชนนั้น กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอครม.ตั้งทีมเจรจา ที่จะประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรอง กำหนดเงื่อนไข ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และระยะเวลาปรับตัวในการเป็นสมาชิกความตกลงฯ เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
เพราะความตกลงเปิดให้สมาชิกสามารถเจรจาในเรื่องเหล่านี้ได้ เช่น ในส่วนของการเปิดตลาด มีสมาชิกได้เวลาปรับตัวสูงถึง 21 ปี และในส่วนการปฏิบัติตามกฎระเบียบความตกลงฯ ก็สามารถขอข้อยกเว้นและระยะเวลาการปรับตัวได้ เป็นต้น นอกจากนี้ หากเจรจาแล้วไม่เป็นที่พอใจ และเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ไทยก็ยังสามารถตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ได้ โดยคณะเจรจาจะต้องนำผลการเจรจา มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน
เหล่านี้เป็นจุดยืนของภาคประชาชนและคำชี้แจงของภาครัฐ ซึ่งสาธารชนน่าจะได้รับทราบและเป็นผู้ตัดสินว่าไทยควรจะเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง CPTPP หรือไม่
อ่านประกอบ :
กนศ.ไฟเขียวชงครม.ชี้ขาดเจรจา ‘CPTPP’ เม.ย.นี้ ยันไม่มีเรื่อง ‘สิทธิบัตรยา’
เผือกร้อน ‘สมคิด’ เข็นไทยเซ็น ‘CPTPP’ จับตา ‘ยาแพง-ต่างชาติฮุบภูมิปัญญาไทย’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/