กนศ.ไฟเขียว ‘พาณิชย์’ ชงครม.ชี้ขาดร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP ในเดือนเม.ย.นี้ ‘สมคิด-กรมเจรจาการค้าฯ’ ยันไม่มีเรื่องสิทธิบัตรยา หลังสหรัฐฯถอนตัวไปแล้ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) วันนี้ (13 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมกนศ.รับทราบรายงานศึกษาข้อดีข้อเสียกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อสรุปว่าไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนเม.ย.นี้
“ไทยสนใจที่จะเข้าร่วม CPTPP เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และกระทรวงพาณิชย์ได้ทำการศึกษา มีการรับฟังประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งข้อดีและผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และขอยืนยันว่าหากการลงนามข้อตกลง CPTPP มีผลกระทบต่อประชาชน เราจะต้องต่อรองอย่างแน่นอน เพราะทุกประเทศที่เข้าร่วมมีการต่อรองทุกประเทศอยู่แล้ว ไม่มีใครพร้อม 100% เรื่องไหนเป็นเรื่องอ่อนไหวของเรา ก็จะตั้งทีมเพื่อมาเพื่อเจรจาทุกเรื่อง” นายสมคิดระบุ
นายสมคิด ยืนยันว่า การเข้าร่วม CPTPP ของไทยจะมีผลกระทบในกรณีสิทธิบัตรยาแน่นอน
“ประเทศสมาชิก CPTPP จะประชุมในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งผู้นำกลุ่มอยากให้ไทยตอบกลับให้ชัดเจนว่า ไทยจะเข้าร่วมหรือไม่ และหากที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาต่อรองในเรื่องการค้า การลงทุนและอัตราภาษีต่างๆต่อไป”นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด ยังกล่าวถึงกรณีที่เวียดนามและสหภาพยุโรป (อียู) ลงนามรับรองข้อตกลง FTA ระหว่างกันไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลง FTA ไทย-อียู ซึ่งที่ผ่านมาตนได้กำชับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะตอนนี้ไทยมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลแล้ว ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ไทยยังไม่มียังมีการเลือกตั้ง และยังไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเจรจากับระหว่างไทย-อียูต้องหยุดลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุม กนศ. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณาว่า จะเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือไม่ หากครม.เห็นชอบ ไทยจะทำหนังสือแสดงเจตจำนงค์ไปยังภาคีสมาชิก CPTPP เพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรี CPTPP ที่จะมีการประชุมในเดือนส.ค.2563 พิจารณาต่อไป
“ที่ผ่านมาเราได้ระดมความเห็นทั่วประเทศมาพอสมควรแล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเห็นทั้งหมดนี้เราจะรวบรวมเสนอให้ ครม. ใช้ประกอบการพิจารณา และหากครม.มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เราก็พร้อมจะดำเนินการ ทั้งนี้ เราตั้งไทม์ไลน์ไว้ว่าจะเสนอครม.ในเดือนเม.ย.นี้ หากครม.เห็นชอบ การเคาะระฆังเริ่มเจรจาก็จะเริ่มขึ้น และเราก็จะยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ให้ทันการประชุมรัฐมนตรี CPTPP เดือนส.ค.นี้” นางอรมนกล่าว
นางอรมน ย้ำว่า การเจรจา CPTPP จะไม่มีการพูดคุยหรือหารือกับเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ซึ่งรวมถึงเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ CL เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวเป็นของสหรัฐ แต่เมื่อสหรัฐถอนตัวไปแล้ว ประเทศที่เหลือก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรยามาหารือกันแต่อย่างใด ส่วนไทยจะลงนามเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้เมื่อใดนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับเจรจา ซึ่งไทยจะมีการตั้งคณะทำงานเจรจากับสมาชิก CPTPP ต่อไป
“เราเจรจาในสิ่งที่ประเทศไทยเห็นว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด และอุดช่องโหว่ที่จะกระทบต่อคนในประเทศให้มากที่สุด เพราะเรายังมีโอกาสเจรจาต่อรอง และบางประเด็นเราอาจอยากท่าทีสงวนได้ ทุกอย่างมีช่องทางทำได้ทั้งหมด อีกทั้งเราจะเห็นว่าได้ CPTPP ต้องการรับสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มเพื่อให้กลุ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ยังมีเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร (UK) อินโดนีเซีย และโคลัมเบียที่แสดงความสนใจเข้าร่วมข้อตกลงนี้”นางอรมนกล่าว
นางอรมน ยังระบุว่า ผลการศึกษาพบว่าหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้จีดีพีของไทยหายไป 26,600 ล้านบาท หรือหดตัว 0.25% จากมูลค่าจีดีพีในปี 2562 แต่หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้จีดีพีขยายตัว 0.12% หรือคิดเป็นมูลค่า 13,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของจีพีดีในปี 2562 นอกจากนี้ จะเห็นได้จากการที่สิงคโปร์และเวียดนามเข้าร่วม CPTPP ทำให้มูลค่าการส่งออกและการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ไทยจึงไม่อยากเสียโอกาสนี้ไป
“การที่ไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ส่งผลให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงของไทยในปี 2562 อยู่ที่เพียง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสิงคโปร์ที่มีเงินลงทุนโดยตรง 63,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 16,940 ดอลลาร์ นอกจากนี้ เมื่อเทียบการเติบโตของมูลค่าการค้าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี พบว่า การส่งออกไทยมีการเติบโตที่ 3.23% ต่ำกว่าสิงคโปร์ และเวียดนามที่ขยายตัว 9.92% และ 7.85% ตามลำดับ”นางอรมนกล่าว
ส่วนกรณีที่สินค้าไทยบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP นางอรมน กล่าวว่า การที่มีข้อกังวลว่าสินค้าบางกลุ่มจะไม่สามารถแข่งขันได้ ตรงนี้ภาครัฐให้ใช้เงินกองทุน FTA เข้าไปดูแลให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมและแข่งขันได้ ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุน FTA นั้น จะต้องมีการจัดทำเป็นพ.ร.บ.รองรับ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมไปแล้ว ส่วนเงินกองทุนจะเป็นเท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม
ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคี CPTPP แล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และแคนนาดา จากสมาชิกริเริ่มก่อตั้งที่มี 11 ประเทศ โดยสหรัฐฯได้ถอนตัวจากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้ และทำให้ TPP เปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP
อ่านประกอบ :
เผือกร้อน ‘สมคิด’ เข็นไทยเซ็น ‘CPTPP’ จับตา ‘ยาแพง-ต่างชาติฮุบภูมิปัญญาไทย’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/