"...ผมมั่นใจว่าไม่มีใครกลับใจ เพราะถ้าไม่เคาะราคาจะโดนยึดหลักประกัน และผมอยากเรียนว่าตกขบวนไม่ได้ อย่าตกขบวนรถไฟ 5G..."
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับการเปิดเคาะราคาประมูลคลื่นย่านความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ณ สำนักงานใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรุงเทพฯ
แม้ว่าการประมูลคลื่นรอบนี้ ค่ายดีแทค (บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด หรือ DTAC) จะเข้ามาร่วมประมูลคลื่นเพียงคลื่นเดียว คือ คลื่น 26 GHz แต่ ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เลขาธิการ กสทช. ยังคงมั่นใจว่า การประมูลรอบนี้จะแข่งขันราคากันดุเดือด
โดยเฉพาะในการประมูลคลื่น 700 MHz และคลื่น 2600 MHz ที่มีรัฐวิสาหกิจอย่าง CAT (บมจ.กสท โทรคมนาคม) เข้ามาร่วมแข่งขันกับโอเปอเรเตอร์เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของประเทศ คือ ค่ายเอไอเอส (บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS) และค่ายทรูมูฟ (บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ TRUE)
อ่านประกอบ :
ผิดคาด! DTAC ประมูล 5G คลื่นเดียว ‘ฐากร’ เชื่อ ‘CAT’ เทกระเป๋าแข่ง ‘AIS-TRUE’
ล่าสุดวันที่ 14 ก.พ. สำนักงาน กสทช. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องประมูล 5G พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับกระบวนการประมูลและกฎการประมูล (Bidder information session) รวมทั้งได้เชิญผู้ประกอบการ 5 รายที่เข้าร่วมการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) วันที่ 2 หลังจากมีการจัดประมูลรอบสาธิตวันที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา
การบรรยายสรุปกระบวนการประมูลและกฎการประมูล (Bidder information session) วันที่ 2 วันที่ 14 ก.พ.2562
@เปิดห้องประมูล 5G เข้าได้ห้องละไม่เกิน 10 คน
สำหรับสถานที่จัดการประมูล สำนักงานฯ จัดห้องประมูลไว้ในอาคารอำนวยการ จำนวน 5 ห้อง สำหรับผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย แบ่งเป็นชั้น 3 จำนวน 4 ห้อง และชั้น 11 จำนวน 1 ห้อง ภายในห้องจะแบ่งเป็น 3 โซน คือ โซนรับประทานอาหาร โซนเคาะราคาประมูล และโซนพักผ่อน รวมถึงห้องน้ำ อีกทั้งมีการจัดห้องประมูลสำรองไว้ที่ชั้น 10 จำนวน 1 ห้อง
ในห้องประมูลแต่ละห้อง ผู้ประกอบการฯจะส่งผู้เข้าร่วมประมูลเข้าไปในห้องได้ไม่เกิน 10 คน และผู้เข้าร่วมประมูลจะเข้าไปอยู่ในห้องประมูล ซึ่งตัดขาดการสื่อสารจากโลกภายนอกทั้งหมด โดยจะออกไปไหนมาไหนไม่ได้จนกว่าการประมูลคลื่นทั้งหมดจะเสร็จสิ้นลง
ส่วนอุปกรณ์ที่อยู่ในห้องประมูล จะมีการอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ คอมพิวเตอร์สำหรับประมูล 2 เครื่อง Notebook สำหรับคำนวณ 2 เครื่อง เครื่อง Printer 1 เครื่อง จอ Monitor 3 จอ เครื่องคิดเลข พร้อมจัดเตรียมคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกาศหลักเกณฑ์ฯ คู่มือปฏิบัติตน คู่มือการใช้ Software แบบคำร้อง รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องเขียนที่จำเป็นต่างๆ
ห้องประมูล 5G โซนประมูลราคา
นอกจากนั้น สำนักงานฯ ได้จัดเตรียมเครื่องใช้และสิ่งของอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ ขนมขบเคี้ยว ยาสามัญประจำบ้าน หน้ากากอนามัย เอาไว้ให้ผู้เข้าร่วมการประมูล รวมทั้งได้จัดเตรียมแพทย์ จำนวน 1 คน และพยาบาล จำนวน 4 คน ประจำที่ห้องพยาบาลสำนักงาน กสทช. ตลอดการประมูล
“พิธีเปิดประมูลจะเริ่มต้นในเวลา 9.00 น. หลังเสร็จพิธีจะมีการจับฉลากเลือกห้องว่า ใครจะได้ห้องไหนจากห้องประมูลที่มี 5 ห้อง เมื่อได้ห้องแล้วก็แยกย้ายกันไป จากนั้นในเวลา 9.30 น. จะเริ่มเคาะราคาคลื่นย่านความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นแรก เมื่อเคาะราคาคลื่น 700 MHz จบก็จะเป็นการเคาะราคาคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz ต่อไป” ฐากร บอก
@เปิดกฎประมูล 5G แบบ ‘Clock Auction’
สำหรับกฎการประมูลคลื่น 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz สำนักงานฯ เลือกใช้วิธีการประมูลแบบ Simultaneous Ascending Clock Auction หรือเรียกสั้นๆว่า ‘Clock Auction’ จากเดิมที่ใช้วิธีการประมูลแบบ SMRA (Simultaneous Muti-Round Auction) ซึ่งทำให้การระบุราคามีความยืดหยุ่นมากขึ้น และระยะเวลาในการประมูลลดลงจากประมูลแบบเดิม
ขณะที่การประมูลแต่ละคลื่นฯจะประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Allocation Stage) ด้วยรูปแบบการประมูลแบบ Clock Auction และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ซึ่งจะเปิดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายยื่นข้อเสนอสำหรับแต่ละทางเลือก (First-price Sealed-bid Auction)
ส่วนรายละเอียดกระบวนการประมูลรูปแบบ Clock Auction นั้น ในรอบที่ 1 ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจะต้องเสนอจำนวนชุดคลื่นที่ต้องการ ณ ราคาประมูลแต่ละรอบ และต้องทำการประมูล คือ ต้องเคาะราคา 1 ครั้ง หากไม่เคาะราคา ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประมูล และต้องพ้นจากสถานะผู้เข้าร่วมการประมูล รวมทั้งถูกยึดหลักประกัน
เมื่อผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายเคาะราคารอบที่ 1 เสร็จแล้ว ก็จะเริ่มการเคาะราคารอบที่ 2 โดยราคาแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามขั้นราคา (Bid incremental) อาทิ คลื่น 700 MHz ราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 440 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาในการเคาะราคาแต่ละรอบจะอยู่ที่ไม่เกิน 20 นาที และใช้เวลาประมวลผล 5 นาที ก่อนจะเริ่มเคาะราคาในรอบถัดไป
อย่างไรก็ตาม การเคาะราคาแต่ละรอบไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 20 นาทีก็ได้ หากผู้เข้าร่วมประมูลกดปุ่ม ‘Move on’ ครบทุกรายก่อนครบ 20 นาที ระบบจะประมวลผลทันที และเริ่มเคาะราคาในรอบต่อไป ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการประมูลลงได้มาก และไม่ต้องรอเวลาให้ครบ 20 นาที เหมือนการประมูลครั้งก่อนๆ
@แบ่งการเคาะราคาประมูลเป็น 2 ขั้นตอน
ทั้งนี้ การประมูลแต่ละคลื่นจะจบลง เมื่อ ‘จำนวนความต้องการคลื่น’ ของผู้เข้าร่วมประมูล ‘เท่ากับ’ หรือ ‘น้อยกว่า’ ชุดคลื่นที่เปิดประมูล
โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอจำนวน ‘ความต้องการคลื่น’ ในรอบที่ 1 ว่า ต้องการจำนวนคลื่นเท่าใด และไม่สามารถ ‘เพิ่ม’ จำนวนความต้องการคลื่นได้อีกในการประมูลรอบถัดไป โดยจะทำได้เพียง ‘ลด’ จำนวนความต้องการคลื่นได้เท่านั้น เช่น รอบแรกเสนอความต้องการ 10 ชุด รอบที่ 2 สามารถลดเหลือ 6 ชุดได้ แต่จะเพิ่มเป็น 11 ชุดไม่ได้
หากการประมูลรอบที่ 1 ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอจำนวนความการคลื่น ‘น้อยกว่า’ จำนวนชุดคลื่นที่นำมาประมูล จะทำให้การประมูลคลื่นในรอบ Assignment Stage สิ้นสุดลง และเข้าสู่กระบวนการเลือกย่านความถี่ที่ประสงค์จะได้ (First-price Sealed-bid Auction) โดยจะต้องเป็นย่านความถี่ที่อยู่ติดกัน และเสนอราคาได้เพียง 1 ครั้ง
แต่หากการประมูลรอบที่ 1 จำนวนความต้องการชุดคลื่น ‘มากกว่า’ จำนวนชุดคลื่นที่เปิดประมูล ก็จะเข้าสู่การประมูลรอบที่ 2 และเคาะราคาประมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าจำนวนความต้องการชุดคลื่นจะ ‘เท่ากับ’ จำนวนชุดคลื่นที่เปิดประมูล
ยกตัวอย่างเช่น การประมูลคลื่น 2600 MHz ที่มีจำนวนชุดคลื่นที่เปิดประมูล 19 ชุด และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 10 ชุด/ราย หากการประมูลรอบที่ 1 กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 บาท/ชุด ราย A เสนอความต้องการ 10 ชุด ราย B เสนอความต้องการ 10 ชุด และราย C เสนอความต้องการ 10 ชุด
เมื่อรวมจำนวนความต้องการชุดคลื่นของทั้ง 3 ราย จะพบว่าอยู่ที่ 30 ชุด ซึ่งมากกว่าจำนวนชุดคลื่นที่เปิดประมูล 19 ชุด หากเป็นเช่นนี้ การประมูลจะเข้าสู่การเคาะราคาประมูลรอบที่ 2 โดยราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 บาท/ชุด
อย่างไรก็ตาม ในการประมูลรอบที่ 2 หากผู้เข้าร่วมประมูลเห็นว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นไปนั้น เป็นราคาที่ตนเองเห็นว่าสูงเกินไป หรือเป็นราคาที่ผู้เข้าร่วมประมูลรับไม่ไหว และผู้เข้าร่วมปรูลต้องการ ‘ลด’ จำนวนความต้องการชุดคลื่นลง ผู้เข้าร่วมประมูลต้องระบุ จำนวนคลื่นที่ต้องการลดว่าเหลือกี่ชุด พร้อมทั้งต้องระบุราคาที่ต้องการเอาไว้ด้วย
เช่น หากราย A ลดความต้องการชุดคลื่นลงจาก 10 ชุด เหลือ 6 ชุด จะต้องระบุราคาที่ต้องการไว้ด้วย และต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประมูลรอบที่ 1 คือ 100 บาท/ชุด เช่น อาจเสนอราคามาที่ 130 บาท/ชุด เช่นเดียวกัน หากราย B ลดความต้องการจาก 10 ชุด เหลือ 6 ชุด ก็ต้องระบุราคาที่รับไหวด้วย เช่น 135 บาท/ชุด เป็นต้น
และหากการประมูลราคารอบที่ 2 ราย A เสนอความต้องการ 6 ชุด ราย B เสนอความต้องการ 6 ชุด และราย C เสนอความต้องการ 7 ชุด ก็จะเท่ากับจำนวนชุดคลื่นที่เปิดประมูลพอดี คือ 19 ชุด จากนั้นจะเข้าสู่การประมูลย่อย หรือ Intra-round โดยจะมีการเสนอราคาแข่งกัน จนกว่าจำนวนความต้องการชุดคลื่นจะ ‘เท่ากับ’ จำนวนคลื่นที่นำมาประมูล
เมื่อจำนวนความต้องการชุดคลื่นจะ ‘เท่ากับ’ จำนวนคลื่นที่นำมาประมูล ก็ถือว่าการประมูลคลื่นในรอบ Assignment Stage จบลง และเข้าสู่กระบวนการเลือกย่านความถี่ โดยเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียวเช่นกัน
“หลังการประมูลรอบแรกแล้ว ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถยืนยันจำนวนคลื่นที่ต้องการในราคาที่เพิ่มขึ้น หรือลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยจะต้องระบุราคาที่เต็มใจจ่ายทุกครั้งที่ลดจำนวนคลื่นความถี่ลง และการประมูลแบบ Clock Auction จะสิ้นสุดลงเมื่อความต้องการจำนวนคลื่นความถี่เท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย” ฐากร อธิบาย
สำหรับราคาคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องจ่ายจะมาจาก 2 ส่วน คือ ราคาสุดท้ายต่อชุด x ปริมาณคลื่นความถี่ที่ชนะประมูล บวกด้วยราคาที่เสนอเพิ่มในขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ฯ
@กสทช.ยันประมูลโปร่งใส-วอนอย่าเคาะราคาจนต้องค้างคืน
ฐากร ยืนยันว่า “การเปิดประมูลคลื่น 5G รอบนี้ เรียกว่ามีโปร่งใสมากที่สุดแล้ว และจะไม่มีใครเห็นราคาของใครเลย และเมื่อจบการประมูลแต่ละคลื่นซอฟแวร์จะบอกเองว่าใครได้คลื่นไปบ้าง”
ฐากร ประเมินว่า การประมูลคลื่น 5G รอบนี้ คาดว่าเงินที่ภาครัฐจะได้จากการประมูลน่าจะเกิน 7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ที่ราคาเริ่มต้นรวมอยู่ที่ 26,376 ล้านบาท เมื่อมีการเคาะราคารอบแรก ราคาจะเพิ่มขึ้น 1,320 ล้านบาท และผู้ที่จะชนะประมูลต้องเคาะครั้งที่ 2 เงินค่าประมูลจะอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้าน
ส่วนคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 35,378 ล้านบาท เคาะราคารอบแรก 1 ครั้ง ก็เพิ่มขึ้นใบละ 1,862 ล้านบาท พอเคาะราคาครั้งที่ 2 ราคาก็เพิ่มขึ้นอีก ค่าประมูลที่ได้น่าจะอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับคลื่น 26 GHz หากเคาะไปรายละอย่างน้อย 1 ใบอนุญาต ก็เป็นเงินค่าประมูลกว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว
“ผมมั่นใจว่าไม่มีใครกลับใจ เพราะถ้าไม่เคาะราคาจะโดนยึดหลักประกัน และผมอยากเรียนว่าตกขบวนไม่ได้ อย่าตกขบวนรถไฟ 5G และก่อนการประมูล กสทช.จะติดตรา ‘5G ไทยก้าวหน้าล้ำอาเซียน’ ให้ผู้เข้าร่วมประมูลทุกคน เพราะเราเดินหน้าล้ำอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเขายังแค่ทดสอบ แต่เราให้บริการจริงแล้ว”
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ นำสื่อเยี่ยมชมห้องประมูล 5G
ฐากร ยังย้ำว่า “ผู้เข้าร่วมประมูล อย่าเคาะจนต้องค้างคืนเลย ผมไม่อยากให้เหมือนกับทีวีดิจิทัลที่เคาะราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือคลื่น 900 MHz ที่ราคาเพิ่มขึ้น 6 เท่า จนเกิดปัญหากัน เราอยากให้ผู้ประกอบการฯคิดถึงเงินที่จะนำไปลงทุนอุปกรณ์ต่างๆด้วย และตอนนี้ไม่มี ม.44 ช่วยแล้ว เดี๋ยวจะหาว่ากสทช.ใจร้ายอีก”
ฐากร กล่าวต่อว่า หลังจากการประมูลคลื่นเสร็จสิ้นลงในวันที่ 16 ก.พ. จะมีการประกาศผลการประมูล จากนั้นในวันที่ 19 ก.พ. สำนักงาน กสทช.จะเสนอผลการประมูลให้บอร์ด กสทช.เห็นชอบ และให้ผู้ประกอบการฯมารับใบอนุญาต และให้นำเข้าอุปกรณ์ 5G ภายในวันที่ 15 มี.ค. โดยคาดว่าผู้ประกอบการฯจะให้บริการ 5G ได้ก่อนเดือน ก.ค.2563
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการๆ ขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์โทรศัพท์ 5G กับ กสทช. เป็นจำนวนมาก เมื่อเปิดให้บริการ 5G มั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้บริการ 5G ได้ทันที ส่วนค่าบริการ 5G จะต้องไม่แพงกว่า 4G และกสทช.หวังว่ามูลค่าเพิ่มที่ได้จากเกิดขึ้น 5G จะมากกว่าเงินค่าประมูลที่ภาครัฐจะได้รับ
อีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็จะได้รู้ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะคว้าใบอนุญาตคลื่น 5G ไปกี่ใบ และภาครัฐจะได้เงินค่าประมูลเท่าใด ส่วนคนไทยจะได้ใช้บริการ 5G ตามไทม์ไลน์ที่ กสทช. กำหนดไว้ก่อนเดือน ก.ค.นี้ หรือไม่ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
มาครบ! 5 ราย ตบเท้ายื่นประมูล 5G ‘ฐากร’ คาดโกยเงินเข้ารัฐ 7 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/