ฉบับเต็ม!คำพิพากษาศาลฎีกาฟัน‘ชาติชาย วรพิพัฒน์’ ผู้สมัคร ส.ส. ปชป. ปราศรัยที่ อ.แก่งหางแมว อ้างคำพูด ‘ชวน’ ขอโทษชาวจันทบุรี – สาธิต “อย่างน้อยสามคนต้องมีเจ็ดสิบล้าน” ใส่ร้าย ‘ยุคล’ ผู้สมัคร พลังประชารัฐ ถูกซื้อตัว ย้ายพรรค ด้วยความเท็จ ถือทุจริต สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีพิพากษาว่านายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 159 กรณีปราศรัยหาเสียงด้วยถ้อยความใส่ร้ายด้วยความเท็จ จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม และจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 (อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:ปราศรัยด้วยความเท็จ! ศาลฎีกาฯเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิ ส.ส.จันทบุรี ปชป. 10 ปี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษามารายงานดังนี้
คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้ถูกร้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2563)
ศาลฏีกาตั้งประเด็นวินิจฉัยดังนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า คําวินิจฉัยของผู้ร้องที่ 91/2562 ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
@ กกต.ไต่สวนชอบ
โดยผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่า การแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านไม่ถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ข้อ 54 วรรคสอง ทําให้การสืบสวนและไต่สวนและคําวินิจฉัยของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ข้อ 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหา โดยให้จัดทําบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุปจํานวนสองฉบับเพื่อส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ และเก็บไว้ในสํานวนการไต่สวนหนึ่งฉบับ” ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวกําหนดให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหา โดยจัดทําบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุปเท่านั้น หาใช่ต้องระบุข้อเท็จจริงทั้งหมดการที่บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในรายงานการไต่สวนเอกสารหมาย รค. 1 หน้า 91 มีการระบุข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านได้ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งบริเวณตลาดวังพง ตําบลขุนช่อง อําเภอแก่งหางแมวจังหวัดจันทบุรี ด้วยการใส่ร้ายผู้ร้อง (หมายถึงนายยุคล) ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มีถ้อยคําว่า “ท่านนายกชวน หลีกภัย เสียใจและขอโทษพี่น้องชาวแก่งหางแมวและพี่น้องชาวจันทบุรี และพี่น้องประชาธิปัตย์ ที่ ส.ส. คนเดิมทั้งสามคน ถูกซื้อตัวและย้ายพรรคไปแล้ว ... ตามที่ท่านรองสาธิตได้บอกผมมา อย่างน้อยสามคนต้องมีเจ็ดสิบล้าน” ซึ่งคําว่า ส.ส. ประชาธิปัตย์คนเดิมทั้งสามคนย่อมหมายถึงนายยุคล
เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวทั้งสองตอนแล้วย่อมเห็นได้ว่าเป็นการใส่ร้ายนายยุคลว่าถูกซื้อตัว ละทิ้งอุดมการณ์ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จึงเป็นการหาเสียงด้วยการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยสรุปข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญเพียงพอที่จะให้ผู้คัดค้านเข้าใจและชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้
ซึ่งก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยลําดับเหตุการณ์ของการปราศรัย ถ้อยคําปราศรัยทั้งหมด ตลอดจนเหตุผลที่อ้างว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทําการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้อย่างละเอียด การแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านจึงเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดพ.ศ. 2561 ข้อ 54 วรรคสอง การดําเนินการสืบสวนและไต่สวนและคําวินิจฉัยของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านกระทําการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) และเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือไม่
@ ชาติชาย วรพิพัฒน์
@เหตุเกิดที่ อ.แก่งหางแมว
ทางไต่สวนผู้ร้องมีนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งโดยการใส่ร้ายพยานด้วยความเท็จ กล่าวคือ ผู้คัดค้านกล่าวถ้อยคําปราศรัยตอนหนึ่งว่า “ท่านนายกชวนหลีกภัย เสียใจและขอโทษพี่น้องชาวแก่งหางแมวและพี่น้องชาวจันทบุรี และพี่น้องประชาธิปัตย์ที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์คนเดิมทั้ง 3 คน ถูกซื้อตัวและย้ายพรรคไปแล้ว” และปราศรัยอีกว่า “ตามที่ท่านรองสาธิตได้บอกผมมา อย่างน้อยสามคนต้องมีเจ็ดสิบล้าน” ซึ่งคําว่า ส.ส. ประชาธิปัตย์คนเดิมทั้ง 3 คน หมายถึงตัวพยานคนหนึ่ง เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งก่อนพยานได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขตเลือกตั้งที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้พยานย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ การปราศรัยของผู้คัดค้านเป็นการใส่ร้ายพยานทํานองว่าสาเหตุที่พยานกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นซึ่งย้ายพรรคพร้อมกับพยาน เพราะถูกใช้เงินซื้อตัว เสมือนหนึ่งว่าพยานละทิ้งอุดมการณ์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง โดยใส่ร้ายว่าพยานและผู้แทนราษฎรท่านอื่นถูกซื้อตัวรวมกันไม่ต่ํากว่าเจ็ดสิบล้านบาท อันเป็นความเท็จโดยประการที่น่าจะทําให้พยานถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําให้พยานได้รับความเสียหาย พยานย้ายจาก พรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากชื่นชอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนโยบายในการพัฒนาประเทศ และมีร้อยตํารวจเอกธีรชัย บํารุงรักษ์ เบิกความว่า พยานได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน ประจําจังหวัดจันทบุรี คณะที่ 1 พยานและคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนทําการสืบสวนและไต่สวนแล้ว เห็นว่าทางไต่สวนมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านกระทําการหาเสียงเลือกตั้งด้วยการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) ตามรายงานการไต่สวนเอกสารหมายรค. 1
ส่วนผู้คัดค้านมีผู้คัดค้านเบิกความได้ความว่า วันที่ 10 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งบริเวณตลาดวังพง และจัดให้มีการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านทางเฟซบุ๊กของผู้คัดค้านซึ่งในการปราศรัยได้กล่าวถึงการย้ายพรรคของนายยุคลเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ประชาชนที่มาฟังการปราศรัยทราบถึงสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องส่งผู้สมัครคนใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง การปราศรัยส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ร่วมรับฟังการปราศรัย ได้สอบถาม เสนอแนะ บอกเล่าถึงปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการ ผู้คัดค้าน ไม่มีเจตนาเพื่อจูงใจให้ผู้มาฟังการปราศรัยลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน อีกทั้งผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขตเลือกตั้งที่ 2 ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากกระแสความนิยมในตัวหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คําปราศรัยของผู้คัดค้านไม่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไป
ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ ... (5) หลอกลวงบังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง” และมาตรา 138 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “... ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น” การพิจารณาว่าผู้กล่าวมีความมุ่งหมายกล่าวถ้อยคําใส่ร้ายทําให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกใส่ร้ายหรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาถ้อยคําตามคําร้องทั้งหมดรวมกัน ตลอดจนต้องพิจารณาถึงสถานที่ เวลาและโอกาส ตามคําปราศรัยของผู้คัดค้านที่ว่า “ท่าน (หมายถึงนายชวน หลีกภัย) บอกว่าท่านขอโทษพี่น้องพรรคประชาธิปัตย์ทุกท่าน ท่านเสียใจมากที่ ส.ส. ประชาธิปัตย์คนเดิมทั้ง 3 คน ได้ถูกซื้อตัว แล้วย้ายพรรคไปแล้วนะครับ พวกผม 3 คน เขต 1 รองปวีณา เขต 2 ผมกํานันชาติ เขต 3 น้องเบนซ์ ชรัตน์ เนรัญชร นะครับ เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทําหน้าที่ให้กับพี่น้องชาวจันทบุรีในนามของพรรคประชาธิปัตย์” และข้อความ “ส่วนที่ท่านรองสาธิต (หมายถึงนายสาธิต ปิตุเตชะ) ได้พูดว่า ให้พวกเราทั้ง 3 คน ได้ยืนยันกับพ่อแม่พี่น้องชาวแก่งหางแมว พ่อแม่พี่น้องชาวจันทบุรีไว้แต่แรกแล้วนะครับ ที่นายกชวนได้พูดถึงนะครับว่าท่านเสียใจแล้วก็ขอโทษพี่น้องชาวแก่งหางแมว และพี่น้องชาวจันทบุรี ที่ ส.ส. ทั้ง 3 คนได้ถูกซื้อตัว แล้วก็ย้ายพรรคไปอยู่พรรคอื่นแล้ว พวกผมทั้ง 3 คน นะครับ ยืนยันแล้วก็ปฏิญาณนะครับ พร้อมที่จะปฏิญาณกับพี่น้องชาวแก่งหางแมว และก็พี่น้องประชาธิปัตย์ชาวจันทบุรีว่า พวกเรา 3 คน จะทํางานด้วยอุดมการณ์ เงินเพียงมากน้อยแค่ไหนอย่างที่ท่านรองสาธิตท่านบอกของท่านยังมีตกแล้วอย่างน้อยต้องมี 70 ล้านขึ้น พวกผมทั้ง 3 คน ก็ยังถืออุดมการณ์อย่างที่ท่านรองสาธิตว่าเงินไม่สามารถซื้อพวกเราได้” เมื่อพิจารณาถ้อยคําปราศรัยของผู้คัดค้านดังกล่าว ทําให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่านายยุคลย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีการให้ค่าตอบแทนเป็นเงินจํานวนมาก อันแสดงให้เห็นว่านายยุคลเป็นผู้เห็นแก่เงินหรือผลประโยชน์ส่วนตนอยู่เหนืออุดมการณ์ไม่มีความคิดแน่วแน่ มั่นคงในอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ตนเลือกเข้าเป็นสมาชิก จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งก่อน จึงเป็นบุคคลซึ่งไม่สมควรที่ประชาชนจะมอบความไว้วางใจโดยเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก เมื่อผู้คัดค้านไม่สามารถนําพยานหลักฐานมาแสดงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้อยคําที่ผู้คัดค้านกล่าวเป็นความจริง จึงเท่ากับผู้คัดค้านยืนยันข้อเท็จจริงว่านายยุคลถูกซื้อตัว ถ้อยคําปราศรัยของผู้คัดค้านจึงเป็นการใส่ร้ายนายยุคลด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
และเมื่อผู้คัดค้านกล่าวถ้อยคําดังกล่าวที่บริเวณตลาดวังพงอันเป็นสถานที่ที่ผู้คัดค้านจัดให้มีการปราศรัยเพื่อหาเสียงเลือกตั้งโดยมีประชาชนมาฟังการปราศรัย อีกทั้งมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านทางเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านมีเจตนาเพื่อจูงใจให้ผู้มาฟังการปราศรัยลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน แม้ผู้คัดค้านจะกล่าวถ้อยคําดังกล่าวเพียงช่วงระยะเวลาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเวลาของการปราศรัยทั้งหมด หรือผู้คัดค้านไม่ได้กล่าวถ้อยคําเกี่ยวกับจํานวนคนที่ได้รับเงินตามคํากล่าวของนายสาธิตดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ไม่ใช่สาระสําคัญ
การกระทําของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5)
@ฝ่าฝืน กม.-ใส่ร้ายเท็จ-จูงใจคนลงคะแนน -ทุจริตเลือกตั้ง
ส่วนการกระทําดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นการกระทําอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 วรรคหนึ่งหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทําการทุจริตในการเลือกตั้งหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น”
เห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเจตนารมณ์เพื่อให้ได้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถมีความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมผู้ที่กระทําการใด ๆ ก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) โดยการใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นการกระทําของผู้คัดค้านดังกล่าวย่อมเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ส่วนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 141 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งรับโทษตามมาตรา 158 หรือมาตรา 166 ให้ถือว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น กรณีดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 บทกําหนดโทษ เพียงแต่มีผลให้ผู้ซึ่งรับโทษในคดีอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เท่านั้น หาเป็นการตัดอํานาจศาลที่จะพิจารณาว่าการกระทําอันมิชอบนอกเหนือจากมาตรา 158 หรือมาตรา 166 เป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง อันเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามความในหมวด 7 การดําเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม มาตรา 138 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกําหนดสิบปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 226 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 วรรคหนึ่ง
พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้คัดค้านมีกําหนดสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/