"...ไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขัง 305,312 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 254,302 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังสูงถึง 374,052 คน หรือเกินความจุของเรือนจำ 115,698 คน และเกินกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้..."
สถานการณ์ผู้ต้องขัง ‘ล้นคุก’ นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกที
จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมล่าสุด (1 ต.ค.2562) มีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ 374,052 คน เป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ 364,488 คน แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด 310,914 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์/ฎีกา/ไต่สวนพิจารณา 59,699 คน
และอื่นๆ เช่น เป็นเยาวชนที่ถูกฝากขังหรือต้องขัง 2,875 คน เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรอตรวจพิสูจน์ตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 9,564 คน และเป็นผู้ต้องขังต่างชาติ 14,275 คนจาก 103 สัญชาติ
สำหรับฐานความผิดของผู้ต้องขังที่มีมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เป็นฐานความผิดตามพ.ร.บ.ยาเสพติด/สารระเหย 288,648 คน เป็นฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 28,516 คน และเป็นฐานความผิดต่อชีวิต 19,647 คน
“ประเทศไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขัง 305,312 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 254,302 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังสูงถึง 374,052 คน หรือเกินความจุของเรือนจำ 115,698 คน และเกินกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้ คือ 1.2 ตรม./ผู้ต้องขังชาย 1 คน และ 1.1 ตรม./ผู้ต้องขังหญิง 1 คน จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ ตามที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เสนอ ประกอบด้วย แผนระยะเร่งด่วนและทำได้ทันที 2 แนวทาง และแผนระยะยาว 5 กรอบแนวทาง
โดยแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่
1.การปรับปรุงเพิ่มพื้นที่นอนในห้องขังทั่วประเทศให้เป็น 2 ชั้น 94 แห่ง รวม 1,906 ห้อง คิดเป็นพื้นที่ที่จะปรับปรุง 103,731 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับการใช้พื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังได้เพิ่มขึ้น 86,442 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณ 207 ล้านบาท
2.การจัดหาเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) จำนวน 30,000 เครื่อง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 877 ล้านบาท เพื่อรองรับการคุมประพฤติและการพักการลงโทษ
ส่วนแนวทางที่จะดำเนินการในระยะยาว 5 กรอบแนวทาง ได้แก่
กรอบที่ 1 ด้านกฎหมาย จะมีการจัดทำกฎหมายในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กฎหมายโอนตัวนักโทษต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการปรับชั้นโทษ และการติดเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) ตลอดจนการปรับปรุงประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันยังครอบคลุมพืชกระท่อม
“จะมีการปรับปรุงกฎหมายในเชิงระบบ ตั้งแต่กระบวนการป้องกันมิให้คนเข้าสู่เรือนจำ การกำหนดมาตรการทางเลือกอื่นแทนการจำคุก การหาสถานที่อื่นแทนการจำคุก การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานเรือนจำเพื่อให้เกิดกระบวนการจำแนกและคัดกรองผู้ต้องขังชั้นดีให้ได้รับการลดโทษ พักโทษ รวมไปถึงมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เมื่อผู้กระทำความผิดได้พ้นโทษ เพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้กลับตัวและไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ”
กรอบที่ 2 ด้านการพักโทษ ลดโทษ และการใช้เครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่ม และผู้ที่รอการลงโทษหรือรอกำหนดโทษ เป็นการชั่วคราวได้ รวมถึงการพักการลงโทษทั้งแบบปกติและแบบเหตุพิเศษ
กรอบที่ 3 ด้านการสร้างอาชีพ และการสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่ โดยกำหนดแนวทางฝึกอาชีพให้เหมาะสมกับความถนัดของผู้ต้องขัง และความต้องการของผู้ประกอบการหรือตลาดแรงงาน รวมไปถึงการสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่ ตลอดจนปรับปรุงสภาพเรือนนอนเพื่อลดความแออัดในเรือนจำในเบื้องต้น
กรอบที่ 4 ด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยปรับปรุงและบูรณาการการดำเนินการเพื่อบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ รวมทั้งปรับปรุงระยะเวลาการตรวจพิสูจน์ กำหนดสถานที่หรือมาตรการควบคุมตัวเพื่อรอตรวจพิสูจน์ เป็นต้น
กรอบที่ 5 ด้านการป้องกันยาเสพติด ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันยาเสพติด ผ่านโครงการแม่ของแผ่นดิน โรงเรียนสีขาว และหมู่บ้านป้องกันยาเสพติด โดยจะนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งการสนับสนุนการป้องกันยาเสพติดระดับชุมชน/หมู่บ้าน และการจัดทำโครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน
“นี่เป็นมาตรการที่ครม.เห็นชอบ และจะช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก” รัชดากล่าว
อ่านประกอบ : สนง.ศาลยุติธรรม เผยยังใช้ Em คุมตัวผู้ต้องหา ยันไม่พบขัดข้อง-แจ้งเตือนผิดพลาด
เช็คบิลกำไล EM! 'สมศักดิ์' แถลงยกเลิกสัญญาเช่าบ.สุพรีมฯ แล้ว-เรียกค่าปรับด้วย 83 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/