“มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…”
ประเด็นเรื่อง ส.ส. เสียบบัตรแทนกันในสภาผู้แทนราษฎร กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง !
หลังจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดประเด็นว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค. 2563 มี ส.ส. อย่างน้อย 2 ราย ที่อาจไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมีการลงมติ ได้แก่ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ถูกกล่าวหาว่า เดินทางกลับต่างจังหวัดและไปร่วมงานวันเด็ก และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ถูกกล่าวหาว่า เดินทางไปต่างประเทศ
เบื้องต้น นายฉลอง ออกมาชี้แจง 7 ประเด็น โดยสาระสำคัญคือ ยอมรับว่าไม่ได้ลงมติจริง ลืมบัตรไว้ในห้องประชุม และไม่ทราบว่ามีการกดบัตรลงคะแนน ร้อนถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที ส่วนนางนาทียังมิได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณะแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิกรสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ตามการตรวจสอบพบว่า นายฉลอง มีชื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 จริง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และบัตรลงคะแนนขอนายฉลองถูกเบิกไปใช้ลงมติในวันที่ 8-11 ม.ค. 2563 นั่นจึงอาจทำให้การลงมติดังกล่าวส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเตรียมเสนอเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีนี้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่
อย่างไรก็ดีนายสรศักดิ์ ระบุว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า กรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฎหายต้องตกไป เพราะเป็นเพียงแค่เสียงเดียว อย่างไรก็ดีเคารพการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ถูกต้องตามกระบวนการต่อไป (อ้างอิงข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์)
แต่หลายคนอาจลืมไปแล้ว หรือยังไม่ทราบว่า ประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน มิใช่เป็นประเด็นใหม่ แต่เคยเกิดกรณีฉาวเช่นนี้มาแล้ว ?
(ภาพนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในการเสียบบัตรแทนกันร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท, ภาพจาก Posttoday)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org บิดเข็มนาฬิกาย้อนไปเมื่อปี 2556 สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
เมื่อปี 2556 สภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยทางการเมืองในช่วงเวลานั้น กำลังร้อนแรง ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯดังกล่าวให้ได้ ส่วนฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ทำทุกวิถีทางเช่นกันเพื่อตัดขามิให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯดังกล่าวผ่านสภา จนถึงขั้นมีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เหตุการณ์ที่สร้างชื่อกระฉ่อนในช่วงเวลาดังกล่าวคือ กรณีนายนริศร ทองธิราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ทำการเสียบบัตรแทน ส.ส. คนอื่น ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ในวาระที่สอง จนมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานรัฐสภา เพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวน
พยานหลักฐานสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคือ คลิปวีดิทัศน์ และพยานในเหตุการณ์ (ส.ส.ฝ่ายค้าน) ตามภาพที่ปรากฏพบ บุคคลในคลิปวีดีทัศน์ซึ่งกำลังใช้บัตรหลายใบเสียบลงคะแนนคือ นายนริศร ทองธิราช
อย่างไรก็ดีนายนริศร ทองธิราช ชี้แจงว่า บัตรที่ใช้ออกเสียงของ ส.ส. มี 3 ประเภท คือบัตรประจำตัว ส.ส. บัตรลงคะแนน และบัตรลงคะแนนเสียงสำรอง เมื่อดูจากภาพในคลิป อาจเห็นว่า ถือบัตรหลายใบ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ลงคะแนนแทน ส.ส. รายอื่น
@ข้ออ้างพกบัตรหลายใบฟังไม่ขึ้น-ขัดต่อพฤติกรรมปกติของวิญญูชน
ทั้งนี้จากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นปัญหาว่า ส.ส. ที่ใช้บัตรแสดงตน และลงมติแทน ส.ส.รายอื่น ที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์คือใคร จากการไต่สวน ส.ส. ฝ่ายค้าน และคลิป ยืนยันว่า บุคคลในภาพคือนายนริศร ทองธิราช อีกทั้งนายนริศร ทองธิราช รับต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บุคคลในภาพเป็นตัวเองจริง
สำหรับข้อโต้แย้งของนายนริศร ที่อ้างว่า มีบัตรหลายใบ ประกอบกับตนเองมีพฤติกรรมเสียบบัตรหลายครั้งในการแสดงตนนั้น ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏว่า ส.ส. แต่ละคนจะมีบัตรฉบับจริงโดยมีรูปภาพเจ้าของบัตรได้เพียงคนละ 1 ใบ และจะขอบัตรสำรองได้อีก 1 ใบ ซึ่งบัตรสำรองจะไม่มีรูปภาพเจ้าของบัตร ส่วนภาพที่ปรากฏในคลิปดังกล่าว บัตรแสดงตนทุกใบของนายนริศร เสียบในเครื่องอ่านบัตร และกดปุ่มแสดงตนหรือลงมติมีรูปภาพปรากฏอยู่ทุกใบ
ประกอบกับข้อที่นายนริศร กล่าวอ้างนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล ผิดวิสัยของผู้ที่มีฐานเป็นปวงชนชาวไทย และขัดต่อพฤติกรรมโดยปกติของวิญญูชน ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้
ดังนั้นจึงฟังได้ว่า นายนริศร ได้ใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทน ส.ส. รายอื่นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
@ชี้เสียบบัตรแทนกันทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯขัดต่อ รธน.
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของนายนริศร มีผลให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ (ปี 2550) มาตรา 122 ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ (ปี 2550) มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ (ปี 2550) มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน
มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
หลังจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปลายปี 2559 มีมติชี้มูลความผิดนายนริศร ทองธิราช ในข้อกล่าวหาเสียบบัตรแสดงตนในเครื่องคนอื่น และดึงออกมาเสียบใหม่ จึงเข้าข่ายมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 และ 123/1 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นที่ว่า แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน หลังจากนั้นได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พร้อมด้วยฝ่ายอัยการ นำตัวนายนริศร ฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในกรณีดังกล่าวแล้ว (อ่านประกอบ : อัยการฟ้องศาลฎีกาฯ‘นริศร ทองธิราช’ คดีเสียบบัตรแทนกัน-ป.ป.ช.เหลือสอบอีกหลายสำนวน)
นี่คือบรรทัดฐานกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เมื่อ 7 ปีก่อน ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดว่า ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ทั้งฉบับต้องถูกตีตกไป เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีล่าสุดที่มีการกล่าวหานายฉลอง และนางนาที 2 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย มิได้ลงคะแนนในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 บทสรุปและข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามผลกันต่อไป !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/