TIJ ร่วมกับ ECPAT จัดเสวนาประเด็น “การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กผู้ชาย” ชี้มักถูกละเลยจากสังคม เมื่อกล่าวถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แนะทุกฝ่ายให้ความสำคัญหาแนวทางแก้ไขปัญหามากขึ้น
เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
จากการศึกษาวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับหน่วยงานที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย พบว่า ปัจจุบัน มีเด็กชายจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่สอดคล้องกับงานวิจัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน พ.ศ. 2555 ที่พบว่าเด็กหญิงเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศร้อยละ 11-22
ขณะที่เด็กชายเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศร้อยละ 3-16.5 และแม้จากการสำรวจจะพบว่าเด็กหญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมากกว่าเด็กชาย แต่ปัญหานี้ก็ไม่ควรถูกละเลย
ความรุนแรงทางเพศในเด็กนั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทั่วโลก
ความรุนแรงนั้นเกิดได้หลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงทางอารมณ์ การทอดทิ้ง การทารุณกรรมเด็ก รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กแล้ว ยังเป็นการสร้างความเจ็บปวด ความอับอาย และทำให้เด็กตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบทางลบต่ออารมณ์และจิตใจ ทั้งยังขัดขวางพัฒนาการในด้านต่าง ๆ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมเสี่ยงในอนาคต
TIJ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT International) จัดกิจกรรมสาธารณะ “ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กผู้ชาย” ขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องอบรม ชั้น 15 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กชาย อันจะช่วยนำไปสู่การพัฒนากรอบการป้องกันและการตอบสนองต่อการแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กที่ไม่ละเลยต่อความอ่อนไหวและความต้องการเฉพาะของเด็กผู้ชาย
เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว บรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมมักจะยึดถือว่าผู้ชายและเด็กชายมีความเข้มแข็งกว่าผู้หญิงและเด็กหญิง ประเด็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กชายจึงมักถูกมองข้าม
“การละเลยประเด็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กชาย ทำให้เด็กชายอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือ หรืออาจได้รับความช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสมกับความอ่อนไหวเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้ชาย” เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าว
ด้าน โรเบิร์ต แวนเด็น เบิร์ก ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตโดยไม่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมทั้งเด็กผู้ชายด้วย การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในเด็กชายเกิดขึ้นทั่วโลก และมูลนิธิเอ็คแพทก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ TIJ ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ เนื่องจากในขณะที่ข้อมูลและผลสำรวจเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กหญิงเป็นที่ยอมรับและพูดถึงในวงกว้าง แต่ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศต่อเด็กผู้ชายกลับมีจำกัด ทั้งที่เด็กชายก็ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กัน และในบางบริบทก็อาจได้รับผลกระทบหนักกว่าเด็กหญิงเสียอีก
ที่ผ่านมา TIJ มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนรัฐสมาชิกในการใช้งานวิจัยและการศึกษาเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันความรุนแรงและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สามารถปกป้องคุ้มครองเด็กและตอบสนองกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการเผยแพร่แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผ่าน “ยุทธศาสตร์ต้นแบบของสหประชาชาติและมาตรการเชิงปฏิบัติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” กรอบแนวทางในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอาญาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่ง TIJ มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และยกร่างในประเทศไทยใน พ.ศ. 2557
อีกทั้งยังได้ร่วมผลักดันจนกระทั่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐออสเตรีย และทรงเป็นประธานที่ประชุมยกร่างและเจรจาการนำยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ไปปรับใช้ นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยุติความรุนแรงต่อเด็กของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับใน พ.ศ. 2562 TIJ ร่วมกับ International Centre for Criminal Law Reform & Criminal Justice Policy (ICCLR) ศึกษาวิจัยเรื่อง “มุ่งสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เหมาะสมกับลักษณะเปราะบางของเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการดำเนินการตามส่วนที่ 2 ของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ เพื่อปกป้องเด็กที่เป็นผู้เสียหายและพยานของอาชญากรรมความรุนแรง และคาดว่าจะเผยแพร่ใน พ.ศ. 2563 และยังร่วมกับมูลนิธิเซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) และมูลนิธิเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล ในการนำแนวคิดทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) มาออกแบบเป็นงานวิจัยชื่อ “การพัฒนาทักษะการรู้คิดสำหรับเด็กที่มีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทย: กระบวนการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ” บนพื้นฐานเป้าหมายในการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมตามแนวทางของ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยมุ่งหวังที่จะบำบัดฟื้นฟูทางความคิดและส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกสำหรับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/