"...ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงทำให้ ดีเอสไอ มีความเห็นข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว ชี้ให้เห็นถึงแนวทางและหลักการของดีเอสไอ ที่นำมาใช้ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงินว่ายึดถือข้อมูลเรื่องเส้นทางเงินเป็นหลักว่าไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ขณะที่หลักฐานสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคดีนี้ น่าจะอยู่ที่บทบาทสำคัญของ นายอนันต์ ลงลายมือชื่อ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแทนพระเทพญาณมหามุนี รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน และการชำระหนี้และบริจาคเงินด้วย..."
"ล่าสุดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนคดีพิเศษที่ 10/2560 และความเห็นของพนักงานอัยการแล้ว มีความเห็นแตกต่างจากพนักงานอัยการโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการให้ฟ้องนายอนันต์ฯ ตามข้อกล่าวหาส่งพนักงานอัยการแล้ว ทั้งนี้ อยู่ที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง อันเป็นความเห็นชี้ขาดตามกฎหมาย"
คือ สาระสำคัญในคำแถลงข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุด ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อกรณีกล่าวหานายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง กระทำความผิดอาญาฐานร่วมกันสมคบฟอกเงินและฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นคดีพิเศษที่ 10/2560 โดยคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการที่นายอนันต์ฯ รับซื้อที่ดินจากบริษัทเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ซึ่งทางการสอบสวนพบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ได้นำเงินที่ได้จากการทุจริตจากสหกรณ์ ฯ เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทและครอบงำการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าว ภายหลังนายอนันต์ฯ มีการขายที่ดินและนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินส่วนหนึ่งบริจาคให้กับมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และเก็บไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยได้ดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง และต่อมาได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวกลับไปยังบริษัทเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ซึ่งในทางคดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการได้มีหนังสือ ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 ส่งสำนวนการสอบสวนกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 34 ว่าจะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : เป็นทางการ! DSI ทำความเห็นแย้ง อสส. ให้สั่งฟ้อง 'อนันต์' คดีฟอกเงินซื้อที่ดิน 'ศุภชัย')
หากพิจารณารายละเอียดข้อมูลคดีนี้ ตามคำแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะพบว่าดีเอสไอ ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่ตรวจสอบพบก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก
กล่าวคือ ภายหลังจากที่ได้ นายศุภชัย ได้ยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้นำเงินไปลงทุนซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง โฉนดที่ดินเลขที่ 31343 ,31344 และ 31345 ตั้งอยู่ตำบลคลองสอง (คลอง 2 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่รวม 312 ไร่ 1 งาน 17.6 ตารางวา และหุ้นของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด โดยวิธีการสั่งจ่ายเช็คจำนวน 11 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 321,400,000 บาท
ต่อมา เมื่อบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ได้รับเงินลงทุนของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวกแล้ว บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 31344 ให้กับนายอนันต์ อัศวโภคิน ที่ดินเนื้อที่ 46-3-56.2 ไร่ ราคาไร่ละ 2,000,000 บาท เป็นเงิน 93,781,000 บาท
จากนั้น ได้ปรากฎว่ามีการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาถวายที่ดินของนายศุภชัย ให้กับพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เป็นการส่วนตัว
โดยมีนายอนันต์ อัศวโภคิน ลงลายมือชื่อ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนพระเทพญาณมหามุนี และมีพยานลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าว เว้นแต่นายศุภชัย ไม่ได้ลงลายมือชื่อ
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 นายอนันต์ ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ในราคา 492,350,250 บาท และได้รับเงินที่เหลือจากการขายที่ดิน จำนวน 468,731,250 บาท นำไปชำระหนี้ให้บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด และหนี้อื่นบางส่วน โดยนำเงินส่วนใหญ่จำนวน 303,000,000 บาท ไปบริจาคให้มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เพื่อนำไปก่อสร้างอาคาร บุญรักษา
ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงทำให้ ดีเอสไอ มีความเห็นข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว
ชี้ให้เห็นถึงแนวทางและหลักการของดีเอสไอ ที่นำมาใช้ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงินว่ายึดถือข้อมูลเรื่องเส้นทางเงินเป็นหลักว่าไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ขณะที่หลักฐานสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคดีนี้ น่าจะอยู่ที่บทบาทสำคัญของ นายอนันต์ ลงลายมือชื่อ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแทนพระเทพญาณมหามุนี รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน และการชำระหนี้และบริจาคเงินด้วย
ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาของ อสส. ถ้าเห็นด้วยกับดีเอสไอ ก็จะมีการสั่งฟ้องคดีต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นด้วยคดีนี้ ก็จะถือเป็นการยุติ
อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดเกี่ยวกับคดีฟอกเงินกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมานั้น หากสาธารณชนยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำข้อมูลเกี่ยวกับคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่เกี่ยวกับ นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของเส้นทางเงินก้อนที่ 2 วงเงิน 26 ล้านบาท มานำเสนอไปแล้ว
โดยให้ข้อมูลไปว่า คดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่เกี่ยวกับนายพานทองแท้ และคนใกล้ชิด มี 2 ส่วน คือ ก้อนแรกวงเงิน 10 ล้านบาท ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ส่วนก้อนที่ 2 วงเงิน 26 ล้านบาท อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน
แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน สามี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท และสั่งให้ติดตามนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลเส้นทางเงินก้อน 26 ล้านบาท ดังกล่าว มีดังนี้
หนึ่ง 'เส้นทางเงิน'
เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2546 ธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 500 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัท อาร์ เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด
จากนั้น วันที่ 12 ก.ย.2546 บริษัทฯ ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 2 ฉบับจำนวน 200 ล้านหนึ่งใบ และ 100 ล้านบาทอีก หนึ่งใบ รวม 300 ล้านบาท นำเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยธนาคารของ นายวิชัย กฤษดาธานนท์
ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.2546 ได้มีการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีกระแสรายวันของนายวิชัย ซึ่งมีการตกลงกับธนาคารว่ากรณีสั่งจ่ายเช็คให้โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ เขียนสั่งจ่าย "คุณพานทองแท้ ชินวัตร" ลงวันที่ 30 ธ.ค.2546 ซึ่งเขียนเช็คแบบไม่ขีดคร่อม และไม่ขีดฆ่า "หรือผู้ถือ" เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002274 จำนวน 26 ล้านบาท สั่งจ่ายนายพานทองแท้ แบบไม่ขีดคร่อม แต่ขีดฆ่า "หรือตามคำสั่ง"
แต่ต่อมาได้ยกเลิกมีการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว ในวันที่ 31 ธ.ค.2546 (เป็นวันที่ ครม.สมัยรัฐบาลนายทักษิณ สั่งให้เป็นวันทำงาน และให้ไปหยุดวันที่ 2 ม.ค.2547 แทนโดยอ้างไม่อยากให้ข้าราชการเสียวันลาและอยากให้หยุดต่อเนื่อง และมีความเกี่ยวข้องกับคดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ก่อนที่จะมีการซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002275 จำนวน 26 ล้านบาท เพื่อเข้าบัญชี บล.ธนชาต ซึ่งมีการสั่งจ่าย "บริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน)" หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ"
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยธนาคารสาขาบางพลัด ของนายวิชัย พบว่า ก่อนที่จะมีเงินจำนวน 300 ล้านบาท ดังกล่าวเข้าบัญชี ในบัญชีนี้มียอดเงินคงเหลือจำนวน 16,657,162.41 บาท
ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่าเงินจำนวน 26 ล้านบาทที่นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อสั่งจ่ายเข้าบัญชี บล.ธนชาต เป็นยอดเงินที่มาจากสินเชื่อเงินกู้ธนาคารกรุงไทยฯ
สอง 'ข้อมูลการซื้อขายหุ้น'
จากการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหุ้นในบัญชีของนางเกศินี ในช่วงระยะเวลาที่มีการนำเงินจำนวน 26 ล้านบาท สั่งจ่าย บล.ธนชาต ซึ่งจากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องได้รับการยืนยันว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2546 มีการสั่งซื้อหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,400,000 หุ้น รวมเป็นราคา 36,392,089.18 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวได้มีการสั่งขายหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในบัญชีนางเกศินี เมื่อหักกลบยอดเงินที่นางเกศินี ต้องชำระเงินให้กับบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต เป็นเงินจำนวน 28,695,732.16 บาท ซึ่งนางเกศินี ได้ชำระราคาหุ้นโดยนำฝากเช็คธนาคารไทยธนาคาร จำนวนเงิน 26,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับจำนวนเงินที่ขาดอยู่มีการชำระเป็นเงินสด จำนวน 1,695,732.11 บาท และจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งมีข้อสังเกตว่าจากการหักกลบแล้วมีการจ่ายเงินเพิ่มเพียง 2,695,732.11 บาท
ดังนั้น น่าเชื่อได้ว่าคนสั่งซื้อและเจ้าของบัญชีซื้อขายหุ้น คือ บุคคลคนเดียวกัน
โดยในวันที่ 29 ธ.ค.2546 มีการสั่งซื้อและขายหุ้น ช.การช่าง ในวันเดียวกันจำนวนเดียวจำนวน 700,000 หุ้น โดยซื้อในราคาหุ้นละ 29.21 บาท ขายในราคาหุ้นละ 28.57 บาท ทำให้ในวันดังกล่าวขาดทุนต้องชำระค่าหุ้นเพิ่มจำนวน 558,203.76 บาท
สาม 'คำให้การนายพานทองแท้'
ทั้งนี้ มีข้อมูลปรากฎว่า ก่อนที่ในวันที่ 30 ธ.ค.2546 จะมีการซื้อและขายหุ้น บริษัท ช.การช่างอีกครั้ง โดยซื้อเพิ่มจำนวน 600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 27.40 บาท และขายออกไปจำนวน 1,250,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 27.63 บาท เมื่อหักกลบรายการซื้อขายเป็นยอดที่ บล.ธนชาต ต้องจ่ายเงินให้ลูกค้าเป็นเงิน 17,966,135.13 บาท ในการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว มีการสั่งจ่ายเป็นเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 15,099,500.49 บาท และ 2,866,634.64 บาท ขณะที่ นางกาญจนาภา ให้การต่อดีเอสไอว่า ยอดเงินจำนวน 17,966,135.13 บาท ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อบัญชีนางเกศินี จิปิภพ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2547 และเมื่อตรวจสอบไปยังบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต พบว่ามีการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2543
ขณะที่นายพานทองแท้ ให้การต่อดีเอสไอ ว่า รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัท ช.การช่าง ดังกล่าวด้วย
โดยนายพานทองแท้ ให้การว่า นายรัชฎา ได้ฝากให้นายวันชัย ซื้อหุ้นของบริษัท ช.การช่างฯ เป็นจำนวน 1,000,000 หุ้น เป็นเงิน 26,000,000 บาท และนายวันชัย ตกลงดำเนินการให้กับนายรัชฎา ส่วนนายพานทองแท้ ได้ฝากซื้อจำนวน 400,000 หุ้น
ต่อมาในวันที่ 26 ธ.ค.2546 นายวันชัย ได้ซื้อหุ้น บมจ.ช.การช่าง ให้นายรัชฎา จำนวน 1,000,000 หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 25.93 บาท รวมเป็นเงิน 26 ล้านบาท และให้นายพานทองแท้ จำนวน 400,000 หุ้น รวมเป็นเงินประมาณ 10,400,000 บาท จากนั้นนายพานทองแท้ ทราบจากนางกาญจนาภาว่า ได้ทำการขายหุ้น บมจ.ช.การช่าง ของนายรัชฎา จำนวน 1,000,000 หุ้น ในวันที่ 30 ธ.ค.2546 ในราคาหุ้นละ 27.63 บาท เป็นเงินจำนวน 27,560,925 บาท มีกำไรประมาณ 1,500,000 บาท ซึ่งนายรัชฎา ได้รับเงินค่าขายหุ้น จำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว นางกาญจนาภา จะทราบรายละเอียดในเรื่องนี้
ขณะที่การซื้อขายหุ้น บมจ. ช.การช่าง ของนายรัชฎา นั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการเล่นหุ้นแบบบัญชีมาร์จิ้น (เป็นการได้เครดิตจากบริษัทหลักทรัพย์ฯโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดในวันนั้นที่ทำการซื้อทันที) และทำให้ซื้อ ช.การช่าง 1,000,000 หุ้น ด้วยจำนวนเงิน 26 ล้านบาท ในวันที่ 26 ธ.ค. 2546 และขายหุ้น ช.การช่าง จำนวนเดียวกัน คือ 1,000,000 หุ้น ในมูลค่า 27,560,925 บาท ทำให้เกิดผลกำไร 1,560,925 บาท เป็นมาร์จิ้นที่ได้รับหลังจากหัก 26,000,000 บาทแรกให้กับบริษัทหลักทรัพย์ฯไปแล้ว นายรัชฎา จึงอาจไม่ได้เป็นผู้รับเงินจากแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาทแต่อย่างใด และแคชเชียร์เช็คดังกล่าว ได้ถูกนำฝากเข้าพอร์ตของนางเกศินีฯ ในวันถัดมาคือ 31 ธ.ค. 2546 ซึ่งไม่มีภาระหนี้จากการซื้อหุ้น ช.การช่าง 1,000,000 หุ้นนี้แล้ว แต่อย่างใด (ดูตารางประกอบ)
ส่วน นายพานทองแท้ เคยให้การว่า “ซื้อและขายหลักทรัพย์ ผ่านพอร์ตของนางเกศินีฯ มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายครั้งแรก เมื่อปี 2546 เนื่องจากได้ให้นายวันชัย และนางกาญจนาภา บุตรของนางเกศินี เป็นผู้ดำเนินการและดูแลในเรื่องการซื้อขายหุ้น”
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ นายพานทองแท้ และผู้เกี่ยวข้องในเส้นทางเงินส่วนของคดี เงินจำนวน 26 ล้านบาท ในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ ก่อนที่ อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน คงเหลือแค่การสั่งฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีไปต่างประเทศอยู่ในต่างประเทศ (อ่านประกอบ : EXCLUSIVE:เส้นทางเช็ค26ล.คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย ก่อน อัยการ-DSI สั่งไม่ฟ้อง ‘โอ๊ค-แม่เลขาฯพจมาน’)
ส่วนจะไปเทียบเคียงแนวทางและหลักการในการพิจารณาคดีฟอกเงินซื้อที่ดิน ของ นายอนันต์ อัศวโภคิน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการในขณะนี้ได้หรือไม่
คงมีแต่ 'ดีเอสไอ' ที่จะเป็นผู้คำตอบยืนยันข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนได้เท่านั้น ว่าไฉนถึงไม่ทำความเห็นแย้ง อสส. เหมือนกัน?
อ่านประกอบ :
ดีเอสไอ ส่งสำนวนฟ้อง 'พานทองแท้' กับพวกฟอกเงินกรุงไทย
คณะทำงานดีเอสไอสอบเพิ่ม‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงินหลังถูกร้อง-ทั้งที่สรุปสั่งฟ้องแล้ว
ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/