หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เป็นรายละเอียดข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ในหนังสือที่ นายยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งถึง ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขออุทธรณ์ผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใน 6 ประเด็นหลัก คือ
1. โครงการหลักสูตรเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ Coach ITA ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้น ไม่สามารถเสริมสร้างทักษะการเป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของตนเอง และไม่สะท้อนการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)
2. พบปัญหาในการเข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment System : ITAS) อยู่เสมอ , ผู้รับจ้างประเมินฯ มีระยะเวลาที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการรับจ้างงานดังกล่าว , ผู้รับจ้างประเมินฯ มีองค์ความรู้ต่อเนื้อหาสาระ ข้อกฎหมายของข้อคำถามที่ปรากฏตามคู่มือการประเมิน ITA 2562 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างถ่องแท้หรือไม่ , คู่มือการประเมิน ITA 2562 ไม่กำหนดแนวทางการตอบและการมีเอกสารหลักฐานประกอบข้อคำถามอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม และ ผู้รับจ้างประเมินฯ ยังขาดความเป็นวิชาการในการให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน
3. สำนักงาน ป.ป.ช. ควรจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินคุณธรรมฯ ที่มิใช่การประกวดราคาจ้างประเมินฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
4. กระบวนการประเมิน OIT สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องกำหนดให้เป็นการประเมินเชิงระบบมีหลักฐานเอกสารเชิงประจักษ์ประกอบแต่ละข้อคำถามอย่างเป็นระบบ
5. สำนักงาน ป.ป.ช. ควรนำเสนอผลคะแนนในภาพรวมของประเทศที่มีการจัดกลุ่มหน่วยงานเนื่องจากการจัดกลุ่มดังกล่าวตามที่ปรากฏในระบบ ITAS ไม่เป็นไปตามระเบียบวิจัย
6. การที่จะให้องค์กรมีสุขภาวะในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสที่ดียิ่งขึ้น นั้น จะไม่เป็นจริงได้ หากกระบวนการประเมินคุณธรรมฯ ยังคงมีรูปแบบเช่นการดำเนินงานในปัจจุบัน
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ผลการประเมินคุณธรรมฯ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคะแนนร้อยละ 94.83 ซึ่งผ่านการประเมินระดับ A ตามประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง ผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 17 ต.ค. 2562 เมื่อตรวจสอบผลคะแนนการประเมินรายหน่วยงานภายในประเภทกรมหรือเทียบเท่าจากคะแนนสูงสุดถึงต่ำสุดในระบบ พบว่า กองทัพบก มีผลการประเมินในระดับ AA คะแนนร้อยละ 97.96 เป็นอันดับหนึ่งของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า อันดับสองคือ กรมที่ดิน ระดับ AA คะแนนร้อยละ 95.99 อันดับสามคือ สำนักงานกิจการยุติธรรม ระดับ AA คะแนนร้อยละ 95.76 และอันดับที่สี่คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับ A คะแนนร้อยละ 94.83
ผลคะแนนประเมินฯ ของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าในลำดับที่ 1-3 มีผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ที่สะท้อนการขับเคลื่อนในการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต การส่งเสริมความโปร่งใส และการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตหรือไม่
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 ที่รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ กองทัพบก ยังพบประเด็นการรับเงินสวัสดิการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 61 แห่ง ในเดือน มี.ค. 2562 กลับพบว่า มีการรับเงินเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล จำนวนถึง 7 แห่ง (ร้อยละ 11.48) ไม่รับเงินเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล จำนวน 54 แห่ง (ร้อยละ 88.52)
สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอบทความเวทีทัศน์ ไขคำตอบ! การประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐทำกันอย่างไร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 สรุปความว่า "...กระบวนการการประเมินคุณธรรมความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด จะดำเนินการผ่านทางระบบสารสนเทศ (web application) ที่มีชื่อว่าระบบ ITAS (https://itas.nacc.go.th) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถรองรับการประเมินหน่วยงานภาครัฐได้ทั่วประเทศ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนทั่วประเทศ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสฯ กว่า 1,006,275 ราย ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการสำรวจความเห็นของมหาชนที่สะท้อนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการให้บริการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของประเทศไทย..."
จากบทความนี้ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติในฐานะเป็นหน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน ฯ คือ ระบบ ITAS (https://itas.nacc.go.th) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถรองรับการประเมินหน่วยงานภาครัฐได้ทั่วประเทศ เป็นเครื่องมือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขาดความเสถียรการเข้าระบบจะพบปัญหาเสียส่วนใหญ่ และสำนักงาน ป.ป.ช. จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าการประเมิน Internal และ External จะได้มาจากการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น ระบบ ITAS จำเป็นต้องพัฒนาให้รองรับการประเมินของหน่วยงานภาครัฐได้ทั่วประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และมีความรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการประเมินการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน และการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก สำนักงาน ป.ป.ช. จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่เพื่อให้เท่าทันพลวัตของการทุจริต ตลอดจนจะต้องให้ผู้เข้าตอบแบบสำรวจฯ ไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการเข้าตอบแบบสำรวจฯ ดังกล่าว
อีกทั้งกรณีที่ประชาชน ผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่สามารถดำเนินการภายใต้ระบบ ITAS สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีวิธีการอย่างไร
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขออุทธรณ์ผลคะแนนและกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของศูนย์ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ช. และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังนี้
1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยศูนย์ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ Coach ITA มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการโครงการ กำหนดการจัดอบรมโครงการฯ ดังกล่าว จำนวน 2 รุ่น กลุ่มเป้าหมายคือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินฯ ตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด จำนวนทั้งสิ้น 200 คน โดยผลของโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ Coach ITA ที่จัดขึ้น ตามตารางรายวิชาของกำหนดการ ไม่สามารถเสริมสร้างทักษะการเป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของตนเองตามแนวทางหลักสูตรเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ Coach ITA อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกันสอดรับกับเกณฑ์การประเมินในปัจจุบัน ตลอดจนทักษะการเป็นที่ปรึกษาทางการบริหาร ดังนั้น โครงการนี้ จึงไม่สะท้อนการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตามแนวทางหลักสูตรเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ Coach ITA ที่กำหนด ไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้
2. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ออกประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง ปฏิทินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2562 พบข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินฯ ในปีหน้า ดังนี้
2.1 ตามปฏิทินจะอยู่ในช่วงดำเนินการประเมินฯ หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินฯ ต้องดำเนินการลงทะเบียนในระบบ ITAS และนำเข้าข้อมูลในระบบ ITAS ประกอบด้วย จำนวน IIT และข้อมูลของ EIT พบปัญหาคือ ระบบไม่ตอบสนองการเข้าร่วมการประเมินฯ ที่มีขนาดของกลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมาก (8,299 หน่วยงาน) และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วประเทศที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนกว่า 1,006,275 ราย (ที่มา : เวทีทัศน์ สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562) จึงเกิดปัญหาในการเข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment System : ITAS) อยู่เสมอๆ
2.2 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศเป็นผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2562 จากวันที่ประกาศประกวดราคาฯ ข้อเท็จจริงนี้ ผู้รับจ้างประเมินฯ สามารถดำเนินการเก็บรวมรวมข้อมูลตามแบบวัดการรับรู้ EIT ที่เหลือจากหน่วยงานสำรวจด้วยตนเองได้ ในช่วงหลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศผู้ชนะการประกวดราคาจ้างฯ และต้องตรวจสอบและให้คะแนนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินฯ ตามแบบตรวจ OIT ในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งมีระยะเวลาที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการรับจ้างงานดังกล่าว
2.3 เดือนมิถุนายน 2562 หน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบตรวจการประเมิน OIT ข้อค้นพบคือ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้รับจ้างประเมินฯ จะต้องเก็บรวมรวมข้อมูลตามแบบวัดการรับรู้ EIT ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 1,005 หน่วยงาน (กลุ่มที่ 9 และกลุ่มที่ 10)
2.4 เดือนกรกฎาคม 2562 ผู้รับจ้างประเมินฯ ดำเนินการตรวจสอบและให้คะแนนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินฯ ตามแบบตรวจ OIT ข้อค้นพบคือ ผู้รับจ้างประเมินฯ ประเมินกลุ่มที่ 9 จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มที่ 10 องค์กรอิสระ อัยการ ศาล และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ จำนวน 1,005 หน่วยงาน ดังนี้
2.4.1 ผู้รับจ้างประเมินฯ มีองค์ความรู้ต่อเนื้อหาสาระ ข้อกฎหมายของข้อคำถามที่ปรากฏตามคู่มือการประเมิน ITA 2562 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างถ่องแท้หรือไม่ ประกอบกับระยะเวลาในการเข้าใจเนื้อหาสาระ ข้อกฎหมายของข้อคำถามที่ปรากฏตามคู่มือการประเมิน ITA 2562 ฯ ของผู้รับจ้างประเมินฯ ควรมีระยะเวลามากกว่าที่ปรากฏตามที่ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ดังนั้น ผู้รับจ้างประเมินฯ อาจตรวจสอบและให้คะแนนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินฯ ตามแบบตรวจ OIT ที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบแต่ละข้อคำถามอย่างเป็นระบบ (Input-Process-Output) หรือลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้
2.4.2 คู่มือการประเมิน ITA 2562 ไม่กำหนดแนวทางการตอบและการมีเอกสารหลักฐานประกอบข้อคำถามอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบแต่ละข้อคำถามอย่างเป็นระบบ (Input-Process-Output) ซึ่งการไม่กำหนดแนวทางการตอบอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมนี้ เป็นความเสี่ยงและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้รับจ้างประเมินฯ อาจใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบและให้คะแนนได้
2.4.3 ผู้รับจ้างประเมินฯ ยังขาดความเป็นวิชาการในการให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน ซึ่งพบว่า การให้ข้อเสนอแนะของผู้รับจ้างประเมินฯ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ให้ข้อเสนอแนะที่ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดอย่างเป็นระบบ ไม่มีการออกรายงานในลักษณะบทสรุปของผู้บริหาร
3. สำนักงาน ป.ป.ช. ควรจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินคุณธรรมฯ ที่มิใช่การประกวดราคาจ้างประเมินฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เนื่องจากเป็นการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในเรื่องสินค้าและบริการ แต่ประเด็นการจ้างที่ปรึกษานั้น เป็นการจ้างที่ต้องมีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ ดังนั้น การได้มาซึ่งที่ปรึกษาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นั้น จึงไม่สามารถสนองตอบต่อกระบวนการประเมินฯ ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวัง
4. กระบวนการประเมิน OIT สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องกำหนดให้เป็นการประเมินเชิงระบบมีหลักฐานเอกสารเชิงประจักษ์ประกอบแต่ละข้อคำถามอย่างเป็นระบบ (Input-Process-Output) ผู้รับจ้างประเมินฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ในข้อกฎหมาย หลักปฏิบัติมติคณะรัฐมนตรี และนัยยะของข้อคำถาม ตลอดจนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ได้ส่ำสมในประเด็นการประเมินฯ อย่างมีนัยสำคัญ มิใช่ได้มาจากประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่สำคัญอย่างยิ่งผู้รับจ้างประเมินฯ ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านถึงกระบวนการที่ได้มาของหลักฐานเชิงประจักษ์ในแต่ละคำถามที่หน่วยงานได้ทำการเปิดเผยข้อมูลนั้น
5. สำนักงาน ป.ป.ช. ควรนำเสนอผลคะแนนในภาพรวมของประเทศที่มีการจัดกลุ่มหน่วยงานเนื่องจากการจัดกลุ่มดังกล่าวตามที่ปรากฏในระบบ ITAS ไม่เป็นไปตามระเบียบวิจัย เช่น รัฐวิสาหกิจ เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ไม่สามารถนำมาจัดกลุ่มเปรียบเทียบกับส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าได้
6. สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอบทความเวทีทัศน์ “ไขคำตอบ! การประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐทำกันอย่างไร” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ระบุว่า “...หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินจะได้รับผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปี พร้อมกับข้อเสนอแนะทางนโยบายและทางวิชาการจากสถาบันวิจัยที่เป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะจัดส่งให้แก่หน่วยงานทุกหน่วยงานผ่านระบบ ITAS สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรในปีงบประมาณถัดไป เพื่อที่จะให้องค์กรมีสุขภาวะในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผลการประเมิน ITA ก็จะมีการประกาศสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของแต่ละหน่วยงาน แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และในภาพรวมระดับประเทศว่ามีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเฝ้าระวังร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต https://www.isranews.org/isranewsarticle/82289-nacc-82289.html
จากข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อสาธารณะนั้น จะไม่เป็นจริงได้ หากกระบวนการประเมินคุณธรรมฯ ยังคงมีรูปแบบเช่นการดำเนินงานในปัจจุบัน และหากสำนักงาน ป.ป.ช. จะหวังผลเพียงหน่วยงานมีผลการประเมินมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 100 คะแนน แต่ยังพบการให้และเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่ดำเนินการอย่างไม่ตรงไปตรงมา ปิดบัง บิดเบือนข้อมูล พบพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่ เช่น การเรียกรับสินบน การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่น การเรี่ยไร การใช้อำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับองค์กรธุรกิจเอกชน การวางระบบในการป้องกันการรับสินบนไม่เพียงพอเกิดความเสี่ยงการทุจริต (Fraud Risk) ในกระบวนงานได้ พฤติกรรมการปฏิบัติของข้าราชการที่ไม่สอดคล้องกับแนวความคิดของการเป็น “บุคคลสาธารณะ” หรือ “ข้าราชการสมัยใหม่” ส่งผลบุคลากรในหน่วยงานไม่เห็นความสำคัญ ไม่ตื้นรู้ถึงผลของการทุจริต ดังนั้น วัฒนธรรมในการต่อต้านการทุจริตจะไม่สามารถเกิดได้เช่นกัน
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงขออุทธรณ์ผลคะแนน OIT ที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการประเมินฯ ของที่ปรึกษา กรณีที่หน่วยงานที่มีผลคะแนนการประเมินฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สูงสุดของส่วนราชการระดับกรมและเทียบเท่า โดยที่คะแนน OIT เท่ากับคะแนน OIT ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ ร้อยละ 100
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เกิดผลสำเร็จเห็นเป็นที่ประจักษ์ทั้งกระบวนงานและระบบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต การยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข บริบทของกระทรวงสาธารณสุข และพลวัตการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและระบบงาน
ดังนั้น ทั้งคนทั้งงานในองค์กรทุกระดับช่วยกันสร้างทีมในการพัฒนาคนทำงานให้กล้าคิด กล้าหาญ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความศรัทธาในเครื่องมือ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้สามารถสะท้อนภาพปัญหาที่เป็นจริงได้ ยังช่วยให้คนในองค์กรมีองค์ความรู้ ความแม่นตรงในระเบียบ ฯ ตลอดจนการใช้ดุลยพินิจอย่างถูกต้องทั้งของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างนวัตกรรมกระบวนการประเมินฯ ให้เกิดเป็น Best Practice ให้กับหน่วยงานอื่นได้ ระบบงานด้านธรรมาภิบาลถูกสร้างงานผ่านกระบวนการรับรู้เกิดความเข้าใจ พัฒนาต่อยอด เพื่อแก้ปัญหาอันเป็นจุดอ่อนขององค์กร ผู้ปฏิบัติเองสามารถวางแผนการทำงานจากการหาคำตอบในข้อคำถาม ผลการดำเนินงานผ่านการประเมินตนเองจากเอกสารหลักฐานเชิงประจักษ์ ตามแบบสำรวจหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Base) หรือแบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT) ในปัจจุบัน
ดังนั้น คะแนน OIT จึงต้องเกิดจากกิจกรรม มีกิจกรรมจึงเกิดงาน มิใช่มีงานที่ดำเนินการอย่างไม่จริงจัง ไม่ตรงไปตรงมา ไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพียงเพื่อเชื่อว่า กิจกรรมและนำไปเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์หน่วยงาน เมื่อตรวจประเมินฯ จึงได้รับคะแนนเต็มเท่ากับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเห็นเป็นที่ประจักษ์ และยืนยันจากการที่หลายหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าและสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มาศึกษาดูงาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/