นักวิชาการชี้แก้ร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับภูมิใจไทย ปลอดดอกเบี้ย วิเคราะห์ไม่กระทบกองทุน เผยให้สิทธิจบเกียรตินิยมอันดับ 1 ไม่ต้องใช้หนี้ หวั่นมหาวิทยาลัยปล่อยเกรด มาตรฐานการเรียนการสอนไม่เท่ากัน ขณะที่ผลโพล ‘อิศรา’ เกินครึ่งเห็นด้วย
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 28 มี.ค. 2538 และเริ่มดำเนินการเมื่อ 16 มกราคม 2539 โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ปี พ.ศ. 2560 มีฐานะเป็นนิติบุคคล
นับจวบจนปัจจุบัน กยศ. มีอายุกว่า 20 ปี ล่าสุด พรรคภูมิใจไทย (ภท.)ยื่นร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ...ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สาระสำคัญเพื่อเปิดโอกาสลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมให้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ล้างมลทินผู้ค้ำประกันให้กับผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ให้ทำงานชดเชยแก่ภาครัฐเพื่อปลดหนี้ ขยายระยะเวลาผ่อนผันเงินต้น ผู้กู้ที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 แปลงหนี้ กยศ.เป็นเงินทุนแทน โดยไม่ต้องชำระเงินคืน
ที่สำคัญ ร่างกฎหมายแก้หนี้ กยศ.ยังต้องการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ ‘ปลอดดอกเบี้ย’ นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา เปิดช่องสำรวจความคิดเห็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคภูมิใจไทย ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก สำนักข่าวอิศรา ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. เวลา 19.00 น. – 17 ก.ย. ปรากฎว่า มีผู้เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. 63% และไม่เห็นด้วย 37%
(อ่านประกอบ:เปิดร่างกม.แก้หนี้กยศ.ฉบับภท. - เรียนเก่งได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ยกให้เป็นทุนแทน)
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้มุมมองเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับแนวนโยบายให้ปลอดดอกเบี้ยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยชี้ว่า จะไม่มีผลกระทบในภาพใหญ่ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยของ กยศ. แทบไม่มีผลอยู่แล้ว เนื่องจากระบบของกองทุนฯ ถูกออกแบบมาให้มีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
พร้อมกับยกตัวอย่าง สมมติ นาย ก.ฝากเงินในธนาคาร 100 บาท ได้รับดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปีหน้าจะมีเงิน 101 บาท แต่เมื่อดูอัตราเงินเฟ้อ หากปีหน้าของปรับราคาสูงขึ้น 2 บาท จะทำให้ของที่เคยมีราคา 100 บาท ต้องขายได้ 102 บาท นั่นแสดงว่า หากหักด้วยค่าครองชีพ ดอกเบี้ยจะติดลบ
“กยศ.จึงถูกออกแบบมาให้ดอกเบี้ยต่ำ เพราะเมื่อเทียบกับค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้แทบไม่มีดอกเบี้ยและเมื่อเทียบกับค่าครองชีพสูง ๆ ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ โดยหลักเกณฑ์ของ กยศ. ให้ปลอดการชำระเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากจบการศึกษา และให้ทยอยผ่อนชำระ 15 ปี ซึ่งเวลาชำระนั้น จะจ่ายน้อยในปีแรก และจ่ายมากในปีหลัง ทำให้เงิน 100 บาท ในปีต่อ ๆ ไปมีค่าน้อยกว่าปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมูลหนี้ที่ดูเหมือนมากในอนาคตนั้น หากเทียบกับปัจจุบัน ถือว่า ไม่มากมายขนาดนั้น
“ด้วยระบบ 100 บาท ที่ปล่อยกู้ไป ปกติถ้าเก็บคืนจะได้กลับมา 30 บาท ในแง่เป็นเงินมูลค่าของวันนี้ ฉะนั้นการลดดอกเบี้ยจาก 1% เป็น 0% จะทำให้เงินที่กลับมาหายไปไม่มาก” นักวิชาการ มธ. กล่าว และระบุว่า ระบบถูกออกแบบมาให้ถ้าปล่อยกู้ 100 บาท ต้องจ่ายจริง 40 บาทอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าดอกเบี้ยเหลือ 0% จาก 100 บาท ที่เด็กจะจ่ายเดิม 40 บาท อาจเหลือ 35 บาท จึงไม่ต่างกันในเชิงนโยบาย
ดร.เกียรติอนันต์ ให้ความเห็นถึงการแก้ไขกฎหมายให้ปลอดดอกเบี้ย จึงไม่กระทบกองทุนฯ ในภาพใหญ่ กรณีมองในแง่วงเงินที่เป็นตัวเงิน อาจจะกระทบยอดชำระหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง แต่กรณีมองในแง่เศรษฐศาสตร์ หรือหลักการเงินจริง ๆ แล้ว วงเงินที่แท้จริงจะไม่ถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม อาจมีความกังวลว่า ถ้าคนคิดว่า ไม่เก็บดอกเบี้ย อาจส่งสัญญาณให้คนรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้น คนบางคนที่เคยกู้กยศ. แล้วมาใช้หนี้ และใช้หนี้ไม่ได้ เลยไม่เรียน จะแห่มาเรียนระดับปริญญาตรีมากขึ้น
“เรารู้ว่าถ้าเกิดคนเข้ามาเรียนเยอะ ๆ แล้วแห่เข้ามาเรียนในระยะเวลาอันสั้น จะไม่ไปเรียนในสายที่ตลาดแรงงานต้องการ เพราะจะใช้เวลานาน”
นักวิชาการ มธ. ยังยกตัวอย่าง มีคนบอกว่า กยศ.ไม่จ่ายดอกเบี้ยแล้ว ฉะนั้นจึงไปเรียนปริญญาตรี โดยไม่เลือกเรียนอาชีวะ สมมติเรียนสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กว่าจะได้อาจารย์ กว่าจะขยายที่เรียน ต้องใช้เวลา แต่เด็กอยากเรียน จะไม่เรียนในสายตลาดแรงงานต้องการ แต่จะเรียนสายสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ยอดคนเรียนจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นสาขาที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการอยู่ดี
“ที่ผ่านมา ปัญหาการชำระหนี้ กยศ. ถ้าถอยไปจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องคนเบี้ยวหนี้ แต่เกี่ยวกับระบบการผลิตกำลังคนของไทย มหาวิทยาลัยไม่ได้ผลิตกำลังคนตามตลาดแรงงาน แต่ส่วนไหนเปิดก่อนจะรับเด็กเข้ามาก่อน เพื่อให้ได้เงิน กยศ.ไปในบางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความต้องการไม่ตรงกัน”
เมื่อนำเรื่องปลอดดอกเบี้ยมารวมกับนโยบายเรียนจบปริญญาตรี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องใช้หนี้ ดร.เกียรติอนันต์ กังวลเช่นกันว่า หากมหาวิทยาลัยใดไม่มีธรรมาภิบาลจริง ๆ รับนักศึกษาเข้ามาเยอะ แล้วปล่อยเกรดขึ้นมา จะการันตีได้อย่างไรว่าข้อสอบเป็นมาตรฐานมากเพียงพอ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานไม่เท่ากัน จะยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยบิดเบี้ยวไปกันใหญ่
ส่วนการทำงานแทนชำระเงิน เป็นโมเดลสหรัฐฯ กำลังใช้อยู่ กรณีเรียนจบสายครู สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือทนายความอาสา จะมีหลักเกณฑ์ว่า “ถ้าได้ทำงานภาครัฐ จะนับเป็นเวลาชำระหนี้เป็นมูลค่าตัวเงิน” ถือว่าโดยหลักการดี แต่ยังไม่เห็นรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าต้องมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานด้วย ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ดังนั้น จึงกังวลว่า คนไม่มีความพร้อมจะใช้โอกาสนี้เข้ามาทำงานภาครัฐ เพียงเพื่อการชำระหนี้
“ถ้าเป็นหน่วยงานกลาง คิดว่า คงมีเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งคนจะเข้าไปทำงานให้รัฐได้ อาจจะผ่านเกณฑ์ยาก และอาจต้องปรับเกณฑ์ให้เข้มข้นอีก เพื่อป้องกันคนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของภาครัฐได้จริง แต่ประเด็นต่อมา ภาครัฐจะนิยามรวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ด้วยหรือไม่ จะมีเกณฑ์รับคนแบบไหน และจะทำให้คนแห่ไป แล้วเกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ปรับเกณฑ์รับคน ด้วยการใช้หนี้ กยศ. แล้วดึงคนของตนเองมาทำงาน จะได้ไม่ต้องใช้หนี้”
นักวิชาการ มธ. แสดงความเห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมายให้หลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้ เหตุผล คือ เรากำลังให้โอกาสเด็ก เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง เพราะคนกลุ่มนี้ การศึกษาถือเป็นกุญแจไขสู่ชีวิตที่ดีขึ้น แต่เรากำลังทำโทษเด็กหรือว่าเด็กมีชีวิต เราเปิดประตูให้เด็กเข้าไป แต่ออกมาแล้วเด็กทำไม่ได้ โชคไม่ดี แล้วไปลงโทษ เพราะประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ซึ่งในต่างประเทศจะไม่ทำแบบนี้ จะไม่โยงกับเครดิต แต่จะทำให้มีวิธีการเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เช่น ผูกกับประกันสังคม ผูกกับการเสียภาษี ซึ่งนายจ้างต้องหักไว้แต่แรก ปัจจุบันกยศ.นำร่องไปแล้วในภาครัฐบางส่วน
“แทนที่จะผลักภาระให้แก่นักศึกษา เราน่าจะออกแบบระบบการติดตามให้ดีกว่านี้ อย่างในออสเตรเลีย เวลาจะกู้เงิน ต้องให้ทำบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี แล้วนำเข้าระบบ ดึงคนเข้าสู่ระบบการเสียภาษี ก่อนจะให้กู้เงินตั้งแต่แรก ซึ่งไทยยังไม่มีในจุดนี้” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว พร้อมยกตัวอย่าง เด็กทำงานพาร์ทไทม์ หรือเต็มเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน จะต้องบังคับให้สถานประกอบการแจ้งว่า นักศึกษาทำงานอยู่ด้วย และให้ส่งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีบันทึกไว้
อย่างไรก็ตาม ดร.เกียรติอนันต์ สะท้อนความเห็นด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นพัฒนาการที่ดีของระบบ และทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น เพียงแต่เมื่อนำไปใช้จริง ในทางปฏิบัติต้องคิดให้ลึก “หลักการเห็นด้วย แต่ยังกังวล” เพราะหลายกฎหมายมีหลักการดี แต่ปฏิบัติล้มเหลว จึงไม่อยากให้พ.ร.บ.ดี ๆ มีความล้มเหลวเกิดขึ้นอีก
ก่อนปฏิบัติจึงเสนอให้ถอดบทเรียนจากหลายประเทศ พร้อมศึกษาปัญหาให้ลึกซึ้งกว่าที่เป็นอยู่ และออกแบบกระบวนการทั้งหลายให้ดีก่อนนำมาใช้จริง เพื่อนักศึกษาจะได้รับประโยชน์และ กยศ. จะทำงานได้ง่ายขึ้น แล้วจะดียิ่งขึ้น หากได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกับการผ่อนคลายเงื่อนไข
“เรื่องนี้จึงไม่ใช่โจทย์ที่ พ.ร.บ.จะแก้ได้คนเดียว แต่เป็นกุญแจดอกแรกของระบบเงินเพื่อการศึกษาจะคลายตัว เปิดโอกาสให้คน แต่ตัวที่สร้างโอกาสให้ไม่ใช่เด็ก แต่ยังมีมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้มีคุณภาพด้วย”
สุดท้าย ดร.เกียรติอนันต์ ระบุว่า ภาพรวมของประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค 4.0 แต่พบว่า ยังขาดกำลังคนคุณภาพอีกมาก ส่วนตัวไม่ได้กังวลคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจากการปรับหลักเกณฑ์กยศ. แต่อยากให้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจริง ๆ ไม่ใช่จ่ายครบ จบแน่ และหากยิ่งมีคนเรียนมหาวิทยาลัยมาก คิดว่า กยศ.จะช่วยได้มาก และจะยิ่งเป็นกุศลแก่ประเทศด้วยซ้ำ
ประเทศไทยเวลานี้ ถ้ามองจากการประเมินของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม พบไทยมีแรงงานฝีมือแค่ 15% ซึ่งจะเป็นประเทศ 4.0 ได้ ต้องมีแรงงานฝีมือ 50% แสดงว่ายังมีพื้นที่ให้คนไทยฝึกฝนให้เก่งขึ้นอีกมาก และกยศ.จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยเด็กกลุ่มนั้นให้เก่งขึ้นได้
หากทำได้ทั้งหมดนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ... ที่ดีอยู่แล้วจะได้ประโยชน์เต็มที่ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:คลอด 5 มาตรการ ช่วยผู้กู้ยืม กยศ. ลดเบี้ยปรับ พักหนี้ 1 ปี ถือบัตรคนจน