“…หากข้อเท็จจริงตามกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ เห็นพ้องต้องกันให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ส่งชื่อคนลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยพรรคอนาคตใหม่สนับสนุน เมื่อนับคะแนนเสียง 2 พรรครวมกันเท่ากับ 1,383,873 คะแนน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะยินยอมร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คงแยกทางกันเดิน ดังนั้นฐานคะแนนของ 2 พรรคคงสู้กับ พรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ ?...”
เพิ่งผ่านพ้นศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ราว 3 เดือนเศษ บรรดาพรรคใหญ่ต่างมองข้ามช็อตไปถึงการจัดทัพปรับศึกสู้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกันแล้ว
โดยเฉพาะศึกชิงดำผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 หลังจากนั้นจึงถึงคิวการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และหน่วยงานบริหารท้องถิ่นต่าง ๆ
โฟกัสเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีกระแสข่าวปล่อยว่า พรรคพลังประชารัฐอยู่ระหว่างทาบทาม นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้สร้างชื่อจากปฏิบัติการ ‘ถ้ำหลวง’ สมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก่อนถูกโยกมานั่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และจะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค. 2562 มาเป็นตัวแทนของพรรค เพื่อลงสนามผู้ว่าฯ กทม.
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 นายณรงค์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้น ๆ ถึงกระแสข่าวนี้ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่ขอแสดงความคิดเห็นใด ๆ (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
ฟากพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่า เตรียมผลักดันนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรียุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตแคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีของพรรค มาลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ค่อนข้างชัวร์ ไม่น่าพลิกโผ และว่ากันว่าพรรคอนาคตใหม่คงไม่ส่งใครเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เช่นกัน แต่จะมีแนวทางสนับสนุนคนของพรรคเพื่อไทยแทน
แต่ต้องไม่ลืม ‘แชมป์เก่า’ หลายสมัยอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ครองแชมป์ผู้ว่าฯ กทม. มาหลายสมัยในรอบ 10 กว่าปีหลังสุดมาโดยตลอด นับตั้งแต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2547 ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะเลือกตั้งในปี 2552 และอยู่ยาวเกือบ 2 สมัย จนโดนคำสั่ง ม.44 สั่งพักราชการ และให้พ้นจากตำแหน่ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาดำรงตำแหน่งแทนจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับยืนยันว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หนนี้จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างแน่นอน (อ้างอิงข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์)
แต่พรรคประชาธิปัตย์คราวนี้อยู่ในช่วงขาลงอย่างหนัก ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์ ‘สูญพันธุ์’ ไร้ที่นั่ง ส.ส.กทม. เป็นครั้งแรก ? นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ถูกพรรคพลังประชารัฐล็อบบี้ขอความร่วมมือไม่ให้ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง อย่างไรก็ดีบรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ต่างแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะถ้าไม่ส่งใครลงชิงผู้ว่าฯ กทม. อาจทำให้ ‘สูญพันธุ์’ อย่างแท้จริงใน กทม. อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นได้ ทำให้คาดกันว่า อาจมีความพยายามทาบทามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มาลงสมัคร แต่คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ มีดีกรีเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองระดับชาติ หากมาลงท้องถิ่น คงไม่สมศักดิ์ศรี แต่ยังมีตัวเลือกอื่น ๆ เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา โฟกัสเฉพาะ กทม. มีจำนวน 30 เขต รวม ส.ส. 30 ราย พรรคพลังประชารัฐชนะถึง 12 เขต ที่เหลือเป็นพรรคอนาคตใหม่ 9 เขต และพรรคเพื่อไทย 9 เขต ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไร้เก้าอี้อย่างที่ทราบกันไปแล้ว
หากคำนวณเฉพาะคะแนน นับเฉพาะ 3 กลุ่มใหญ่ที่คาดว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เฉพาะพื้นที่ 30 เขต ใน กทม. ตามฐานข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มานำเสนอ ดังนี้
@พรรคพลังประชารัฐ
ชนะเลือกตั้ง 12 เขต มีคะแนนเสียงรวม 594,290 คะแนน ส่วนอีก 18 เขตที่สอบตก มีคะแนนเสียงรวม 453,455 คะแนน เบ็ดเสร็จมีคะแนนทั้งสิ้น 1,047,745 คะแนน
@พรรคเพื่อไทย
ชนะเลือกตั้ง 9 เขต มีคะแนนเสียงรวม 281,220 คะแนน ส่วนเขตที่สอบตก 13 เขต (ไม่ส่ง ส.ส. 8 เขต) มีคะแนนเสียงรวม 323,479 คะแนน รวมทั้งสิ้น 604,699 คะแนน
@พรรคอนาคตใหม่
ชนะเลือกตั้ง 9 เขต มีคะแนนเสียงรวม 302,532 คะแนน ส่วนเขตที่สอบตก 21 เขต มีคะแนนเสียงรวม 476,642 คะแนน รวมทั้งสิ้น 779,174 คะแนน
@พรรคประชาธิปัตย์
ส่ง ส.ส. รวม 30 เขต แต่ไม่ชนะการเลือกตั้งแม้แต่เขตเดียว มีคะแนนเสียงทั้งสิ้น 474,820 คะแนน
(ที่มา : ฐานคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.กทม. 24 มี.ค. 62 จาก กกต., สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
หากข้อเท็จจริงตามกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ เห็นพ้องต้องกันให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ส่งชื่อคนลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยพรรคอนาคตใหม่สนับสนุน เมื่อนับคะแนนเสียง 2 พรรครวมกันเท่ากับ 1,383,873 คะแนน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะยินยอมร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คงแยกทางกันเดิน ดังนั้นฐานคะแนนของ 2 พรรคคงสู้กับ พรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ ?
อย่างไรก็ดีนี่เป็นข้อมูลคะแนนในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมาเท่านั้น ปัจจัยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน แตกต่างจากก่อนการเลือกตั้ง
จึงไม่สามารถนำไปวัดได้ว่า พรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่ จะเป็นผู้ชนะ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ปราชัย ?
ท้ายที่สุดชาวกรุงจะถูกใจนโยบายหรือรักชอบพรรคใด คงต้องรอดูกันอีกครั้ง !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/