องค์การแพลน ชู 42 โรงงานต้นแบบปฏิวัติอุตสาหกรรมประมงให้จ้างงานเป็นธรรม หลังพบข้อมูลแรงงานกว่า 302,000 คน มีมากถึง 36% เข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ พร้อมเปิด 4 งานวิจัยหยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์ หวังช่วยลูกหลานแรงงานข้ามชาติรับการศึกษา
รู้หรือไม่ว่าน้ำปลา 1 ขวด ปลากระป๋อง 1 กระป๋อง หรืออาหารทะเลตากแห้งที่เราเลือกซื้อกันนั้น มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร???? ใช้วัตถุดิบจากไหน??? ใช้แรงงานมากเท่าไหร่และเป็นแรงงานที่มาจากที่ใดก่อนที่จะถึงมือของพวกเรา หากเราติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เราจะเห็นข้อมูลผ่านสื่อ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยว่าอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ถูกโจมตีว่ามีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและมีการใช้แรงงานข้ามชาติที่มาจากการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะเพิ่มมาตรการในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการส่งเสริมการจ้างงานที่เป็นธรรมอย่างเข้มข้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรที่ติดตามมาหรือเกิดในประเทศไทยจำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในหลากหลายรูปแบบที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการประกันตน
นอกจากนี้ จากการประเมินของกระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติในปี 2561 พบว่า บุตรที่ติดตามแรงงานข้ามชาติอย่างน้อยกว่า 2 แสนคนยังคงเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาใดๆ ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ (อ่านประกอบ:องค์การแพลนเผย ปี 61 มีเด็กข้ามชาติกว่า 2 แสนคน เข้าไม่ถึงการศึกษาทั้งในและนอกระบบ)
ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการ Stopping Exploitation through Accessible Services (SEAS of Change project) โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อหยุดการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมประมง เพื่อแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติและบุตรที่ติดตามในอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ภายในแนวคิด ‘Net to Napkin’ (จากอวนสู่ปาก) เริ่มตั้งแต่แรงงาน ครอบครัว และผู้ติดตาม รวมถึงเจ้าของกิจการ ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ และเด็กต่างด้าวห้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ
โดยโครงการนี้มีสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมประมงกว่า 40 แห่งที่เข้าร่วมการฝึกอบรมระบบตรวจสอบแนวคิดมาตรฐานทางสังคมธุรกิจ หรือ Business Social Compliance Initiative (BSCI)
พร้อมกันนี้ยังได้จัดเวทีเสวนา “จากอวนสู่ปาก” From Net to Napkin ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2562
น.ส.ยุภาพร บุญติด ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการใช้แรงงานข้ามชาติที่ไม่เป็นธรรมในหลายส่วน และยังมีการพบการบังคับใช้แรงงานเด็กในภาคประมง ทั้งนี้จากสถิติแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานประจำปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีแรงข้ามชาติจำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านคน โดยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลที่ได้จดทะเบียนในระบบกว่า 302,000 คน ซึ่งจากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดนั้นมีกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการประกันตน
นอกจากนี้ยังพบว่าบุตรที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในไทยไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ยังไม่เข้าถึงระบบการศึกษาใดๆ ทั้งระบบโรงเรียน และ ระบบที่ไม่เป็นทางการ จึงเป็นที่มาของโครงการ "SEAS of Change” หรือ โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อหยุดการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง
"โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประมงปลอดจากแรงงานเด็ก และสนับสนุนการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ อย่างเป็นธรรม ภายใต้แนวคิด “Net to Napkin” หรือ "จากอวนสู่ปาก" ที่เริ่มตั้งแต่แรงงาน ครอบครัว และผู้ติดตาม รวมถึงเจ้าของกิจการ ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ "
น.ส.ยุภาพร ระบุว่า ในส่วนของประเทศไทย แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ การศึกษา สอนหนังสือให้เด็กข้ามชาติ ในศูนย์การเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โรงเรียน ด้านที่ 2 คือ การพัฒนาทักษะต่างๆให้เด็กกลุ่มอายุ 15-18 ปีให้มีทักษะอาชีพ ก่อนที่อายุจะเข้าถึงเกณฑ์ที่เป็นแรงงานโดยถูกกฎหมายได้ ด้านที่ 3 คือ การคุ้มครองทางสังคม ถ้าเจอกรณีที่เด็กถูกล่วงละเมิด บังคับเป็นแรงงานเถื่อน ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่มีสภาพการทำงานที่เหมาะสมกับเด็ก และด้านที่ 4 การมีส่วนร่วมของซัพพลายเชน ซึ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมด้วย โดยจัดอบรม Business Social Compliance Initiatives (BSCI) หรือ ระบบตรวจสอบแนวคิดมาตรฐานทางสังคมธุรกิจ
โดยการดำเนินโครงการขององค์กรทำให้ที่ผ่านมามีแรงงานชาวกัมพูชารวม 1,555 คน ได้รับความช่วยเหลือ แบ่งเป็น 761 คน ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และ 794 คน เป็นแรงงานที่กลับประเทศต้นทางและได้รับบริการทางสังคมในด้านต่าง ๆ
ส่วนลูกหลานแรงงาน ผู้ติดตามแรงงาน มี 2,306 คน ที่เข้าถึงบริการด้านการศึกษา ทั้งที่ศูนย์เรียนรู้ของโครงการ และเข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียนของไทย
ส่วนการฝึกอบรมเยาวชนให้มีทักษะด้านต่าง ๆ นั้น มีการอบรมไป 314 คน ให้มีทักษะด้านอาชีพ ขณะที่กลุ่มของผู้ประกอบการที่เข้าฝึกอบรม BSCI มีกว่า 40 บริษัท แรงงาน 34,911 คน ที่เข้ามาร่วมการอบรม และจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนด เช่น เคารพสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างในการรวมตัวและเจรจาต่อรองไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง และมอบโอกาสที่เท่าเทียมให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย และให้การคุ้มครองพิเศษสำหรับแรงงานที่ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่
ผอ.ฝ่ายโครงการฯ ยังเรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปแบบของโครงการ SEAS of Change มาบรรจุเป็นหนึ่งในมาตรฐานและแนวทางทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะต้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชนเพื่อดูแลเด็กข้ามชาติ พร้อมขอให้เรียกร้องไปยังผู้บริโภคให้สนับสนุนธุรกิจที่มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้องค์การแพลนฯ ได้จัดทำงานวิจัย ใน 4 หัวข้อ คือ 1.การวิเคราะห์ประโยชน์ที่รัฐบาลไทยได้รับจากการประกันการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กย้ายถิ่นชาวกัมพูชา 2. การวิเคราะห์สถานการณ์และผู้มีส่วนได้เสียในการบริการให้ความคุ้มครองเด็กแก่เด็กและเยาวชนย้ายถิ่นชาวกัมพูชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิงในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทย 3.การวิเคราะห์สถานการณ์และผู้มีส่วนได้เสียในการบริการให้ความคุ้มครองเด็กแก่เด็กและเยาวชนย้ายถิ่นชาวกัมพูชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิงในอุตสาหกรรมประมงของไทย และ 4.การวิเคราะห์เชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดการณ์จากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายการย้ายถิ่นและข้อบังคับเมื่อเร็วๆนี้ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงไทยและแรงงานย้ายถิ่น
ด้านนางวิชาดา จอร์จ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงเเรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมประมง ว่าปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติทำงานในไทยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า กัมพูชา และลาว แต่ไทยยังพบการขาดแคลนแรงงานภาคประมง โดยมีความต้องการแรงงานประมาณ 30,000 คน แต่กรมการจัดหางานจัดหาให้ได้ 6,000 คน ส่วนการนำเข้าแรงงานตามMOU เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น
ปัญหาที่พบเจอมากที่สุด คือตัวแรงงานไม่อยากทำประมง พบคนงานหนีงาน หนีจากกิจการประมงไปอยู่กิจการอื่น เพราะหากนำเข้าMOU ไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เว้นแต่ถูกนายจ้างทำร้าย ทั้งนี้เห็นด้วยกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น สิทธิการติดต่อญาติพี่น้อง การจำกัดระยะเวลาการทำงาน พร้อมกันนี้ขอฝากไปยังนายจ้าง และลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคม ทั้งนี้กรมการจัดหางานมีความเข้มข้นในการหยุดห่วงโซ่การค้ามนุษย์ โดยปัญหาการค้ามนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยตั้งแต่ห่วงโซ่แรก
"ถ้ามีการค้ามนุษย์ สินค้าก็ขายให้กับต่างชาติไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเรื่องค้ามนุษย์ไม่ได้เป็นปัญหาของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนในประเทศ เพราะไม่ว่าจะไปไหนคนก็จะชี้มาว่ามาจากประเทศที่มีการค้ามนุษย์"ผู้อำนวยการสำนักบริหารเเรงงานต่างด้าว กล่าว
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของแรงงานประมงไทย ว่า ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา และกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเอกสารครบถ้วน ประมาณ 6 หมื่นคน ภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังมีทีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การปฏิบัติของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติเพราะแรงงานเป็นคนข้ามชาติ ถูกยึดเอกสารโดยนายจ้าง เช่น พาสปอร์ต บัตรเอทีเอ็ม และ ประเด็นสิทธิแรงงาน และ ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าลูกจ้างได้นายจ้างที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ถือว่าโชคดีไปอย่างไรก็ตามภาคประมงจะต้องเร่งปรับทัศนคติของตัวเอง อย่าบ่นว่าขาดแคลนแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ควรทบทวนด้วยว่าที่แรงงานหนีไปเป็นเพราะพวกเขาถูกปฏิบัติย่างไม่เท่าเทียมหรือไม่
ขณะที่นางอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมทูน่า ว่า ไทยส่งออกทูน่าเป็นอันดับหนึ่ง การที่เราจะผลิตทูน่าต้องใช้แรงงานมาก จึงต้องนำแรงงานข้ามชาติเข้ามา โดยตามกฏหมายใหม่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมนำเข้าแรงงานดังกล่าวผ่าน MOU ซึ่งสมาคมที่มีสมาชิก 26โรงงานได้ปฏิบัติตามกฏหมาย ส่วนใหญ่แรงงานเป็นแรงงานนำเข้าจากเมียนมา และมีบางส่วนจากกัมพูชา ประมาณ 4-5 หมื่นคน ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานที่นำเข้าในรูปแบบMOU ประเด็นที่เป็นปัญหาของสมาคมและ ไม่สามารถควบคุมได้ คือ ค่าธรรมเนียมการจัดหางาน หรือ Recruitment fees ก่อนที่จะมาเป็นแรงงานของเรา
“โครงการ SEAS of Change เป็นโครงการที่ดี ถ้าเราไม่มีแรงงานเราก็อยู่ไม่ได้ อีกทั้งเมื่อเข้าร่วมโครงการต่างชาติยอมรับสินค้าเรามากขึ้น เพราะสมาคมเราค่อนข้างเข้มงวดกับสมาชิก ว่าจะต้องเซ็นต์สัญญา เช่น ต้องจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม และไม่มีแรงงานเด็ก” เธอกล่าว
(จากซ้าย)นางBora Ku- วิชาญ จันทราวิสุทธิ์
ด้านนายวิชาญ จันทราวิสุทธิ์ รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องจ้างแรงงานข้ามชาติเพราะไทยขาดแรงงาน บริษัทจึงใช้แรงงานข้ามชาติควบคู่กับการใช้เครื่องจักรในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการSEAS of Change นั้น เพราะอยากให้แรงงานของเรามีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา ตามที่องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำศูนย์เอาไว้ที่ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์เลยเผยแพร่ และแนะนำให้แรงงานไปใช้บริการ รวมถึงให้ไปบอกเพื่อนๆแรงงานข้ามชาติที่โรงงานอื่นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถเห็นได้ในทันทีทันใด แต่สิ่งสำคัญคือ แรงงานเหล่านี้มีทางออกในการให้การศึกษาบุตรหลาน ช่วยให้เขารู้สึกว่า ที่นี่เป็นสังคมที่มีความน่าอยู่ มีความหวังต่อตัวบุตรหลาน
“ส่วนใหญ่นายจ้างจะพบปัญหาจากตัวแทนในการจัดหาแรงงานข้ามชาติ เพราะแม้แรงงานได้รับการรับรอง แต่ไม่ได้มาตรฐานในการทำงาน ในอีกมุมหนึ่งปัญหามาจากตัวแรงงานเอง ที่ขาดความเข้าใจ ขาดทัศนคติที่ดี ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยพบว่ามีแรงงานที่จ้างมาถูกกฎหมายหลบหนี กลายเป็นแรงงานหลบหนีไม่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมกันนี้ขอฝากไปยังผู้ประกอบการด้วยว่า ปัญหาของแรงงานคือปัญหาของนายจ้าง ถ้าแรงงานอยู่ดีกินดี นายจ้างก็จะได้ผลผลิตที่ดี”
ส่วนนางBora Ku ตัวแทนแรงงานกัมพูชา กล่าวว่า มาทำงานที่ประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมานายจ้าง เป็นคนดี ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบ และให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ส่วนตนเองและครอบครัวก็คงจะไม่กลับไปที่กัมพูชาแล้ว และอยากปักหลักใช้ชีวิตที่ไทย และอยากเห็นนายจ้างอื่น ดูแลลูกจ้างในทุกด้าน .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/