“…หากเศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดการณ์ การจัดเก็บรายได้ก็จะลดลง ส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่สามารถกู้เงินได้อีกต่อไป ส่งผลให้รายรับน้อยกว่างบประมาณรายจ่าย จึงจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง อาจจะส่งผลต่องบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับงบประมาณเพียงพอที่จะบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้เท่าที่ควร…”
........................................
เมื่อเร็วๆนี้ กองประเมินผล 1 สำนักงบประมาณ ได้จัดทำ รายงานการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ จากการใช้จ่ายงบประมาณโครงการสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เรื่อง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข
โดยรายงานฯฉบับดังกล่าว เป็นการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และศึกษาผลกระทบในระยะยาวของกองทุนฯ ที่มีผลต่อภาระการคลังในอนาคต รวมถึงความยั่งยืนทางการคลังสุขภาพ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@งบ‘กองทุนบัตรทอง’เพิ่มต่อเนื่อง สวนทางประชากรลดลง
การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทย เป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เดินหน้ายกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมจาก "โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" เป็น “30 บาทรักษาทุกที่” โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวแทนใบส่งตัวใช้สิทธิ์รักษา 30 บาท
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีที่สุด กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยงบประมาณเพื่อขับเคลื่อน จากข้อมูลงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ไม่รวมเงินเดือนผู้ให้บริการ) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545- 2567 พบว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปี
เมื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยกราฟ (Plot Graph) พบว่า ในอีก 5- 10 ปีข้างหน้า หรืออาจยาวนานถึง 20 ปี งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ และด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับจัดสรรเงินงบประมาณจากรายได้หลักโดยตรงจากรัฐ นี่จึงอาจทำให้เกิดภาระงบประมาณขึ้นได้ในอนาคต และเกิดเป็นคำถามสำคัญว่า “รัฐจะแบกรับภาระงบประมาณนี้ได้อีกนานเพียงใดหรือมีแนวทางอย่างไร”
จากข้อมูลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มลดลง
โดย ณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 167,753.17 ล้านบาท (เฉพาะงบบริการทางการแพทย์ ไม่รวมงบเงินเดือนผู้ให้บริการของหน่วยบริการภาครัฐในระบบ UC เนื่องจากเงินเดือนเป็นเพียงต้นทุนเสมือน ซึ่งหน่วยบริการได้รับการจัดสรรไปแล้ว)
เมื่อพิจารณาตามประเภทงบประมาณรายจ่ายกองทุนฯ (ปีงบประมาณ พ.ศ.2568) พบว่า งบประมาณประเภทเพื่อการรักษาพยาบาล เป็นกลุ่มงบประมาณที่มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 84.84 และมีแนวโน้มที่สัดส่วนดังกล่าวจะสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประชากรไทยมีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กลุ่มงบประมาณเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีสัดส่วนงบประมาณ คิดเป็นร้อยละ 13.96 และมีแนวโน้มที่สัดส่วนดังกล่าวจะลดลง แม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพฯ ให้แก่คนไทย
ทั้งนี้ ตามเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เล่มที่ 20 (ขาวคาดแดง) พบว่า แผนรายจ่ายระยะปานกลางของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ได้จัดทำและนำเสนอต่อคณะรัฐบาลและรัฐสภา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รายละเอียดปรากฏดังตาราง)
โดยพบว่าอัตราการเพิ่มของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2567- 2571 มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 คิดเป็นร้อยละ 9.8 ในขณะที่ปีงบประมาณ พ.ศ.2569 มีอัตราเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.6 ปีงบประมาณ พ.ศ.2570 มีอัตราเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.8 และในปีงบประมาณ พ.ศ.2571 มีอัตราเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.9
โดยคาดการณ์ว่าอัตราของงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งยากต่อการควบคุม อาทิ ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อของต้นทุน ปัจจัยด้านสิทธิประโยชน์ใหม่ ปัจจัยด้านนโยบายของรัฐบาล และปัจจัยด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
@หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด กระทบจัดสรรงบ‘กองทุน สปสช.’
สรุปผลการติดตามและประเมินผล
-สรุปผลการวิเคราะห์ผลกระทบ
เนื่องจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เดียว ความเพียงพอของงบประมาณจึงมีผลโดยตรง แม้ว่าปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินจะยังมีเพียงพอสำหรับจัดสรรให้แก่กองทุนฯ แต่ในอนาคตอาจมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ทำให้งบประมาณอาจไม่เพียงพอต่อการจัดสรร เนื่องจากมีการใช้งบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลมาเป็นระยะเวลายาวนาน
และแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ยังคงต้องใช้งบประมาณรายจ่ายแบบ ขาดดุลต่อไป (ประมาณการสถานการณ์คลังระยะปานกลาง)
จากตารางประมาณการสถานการณ์คลังระยะปานกลาง พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2571 คิดเป็นร้อยละ 68.6 ซึ่งใกล้ชนเพดานหนี้สาธารณะ (ร้อยละ 70) และหากเศรษฐกิจเติบโตไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ก็จะทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิลดลง
ดังนั้น รัฐอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอกับงบประมาณรายจ่าย ซึ่งหากกู้เงินเช่นนี้้ต่อไปเรื่อยๆ จนชนเพดานเงินกู้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะตาม 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 รัฐบาลไม่ขยายเพดานหนี้สาธารณะ
รัฐบาลก็จะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ รายรับก็จะน้อยกว่างบประมาณรายจ่าย ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงมา เช่นนี้ก็จะทำให้มีงบประมาณไปจัดสรรในด้านต่างๆลดลง
มาตรการที่ 2 รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะ
โดยหากขยายเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้มีรายรับเพียงพอกับงบประมาณรายจ่ายในระยะสั้น แต่ในระยะยาวรัฐบาลจะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยและเงินต้นที่ต้องชำระ ทำให้งบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ถูกปรับลด ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ นักลงทุนอาจเริ่มสงสัยถึงความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้ความเชื่อมั่นของประเทศลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดเก็บรายได้ก็จะลดต่ำลง ทำให้รายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจนต้องปรับลดงบประมาณลงในที่สุด
จากการวิเคราะห์ข้างต้น ทำให้สามารถสรุปผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ดังนี้
หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นไปตามคาดการณ์ ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น การกู้เงินก็จะลดลง ทำให้มีงบประมาณแผ่นดินเพียงพอที่จะจัดสรรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงพอต่อการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนตามความจำเป็น
ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งยังช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่เข้าสู่ภาวะยากจน เนื่องจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
แต่หากเศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดการณ์ การจัดเก็บรายได้ก็จะลดลงส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่สามารถกู้เงินได้อีกต่อไป ส่งผลให้รายรับน้อยกว่างบประมาณรายจ่าย จึงจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง อาจจะส่งผลต่องบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้รับงบประมาณเพียงพอที่จะบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้เท่าที่ควร
อาจส่งผลให้ประชาชนสุขภาพแย่ลง และเพิ่มภาระรายจ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชน เนื่องจากต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเอง ทั้งยังอาจทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเสี่ยงต่อการกลายเป็นครัวเรือนยากจนด้วย
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบภายนอก (Externality) โดยหากประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และมีเงินเหลือจากการประหยัดค่ารักษาพยาบาล ก็จะทำให้เกิดแรงงานคุณภาพที่จะขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป และมีเงินเหลือไปใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ในทางกลับกันหากประชาชนสุขภาพแย่ลง และมีภาระค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น อาจเป็นเหตุให้คุณภาพแรงงานลดลง ส่งผลให้ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานมีผลิตภาพแรงงานต่ำลง และทำให้เงินที่จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง
@แนะรัฐขยายฐานรายได้‘กองทุนฯ’-ให้ปชช.จ่าย‘เงินสมทบ’
ข้อเสนอแนะ
-ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1.ควรมีการขยายแหล่งรายได้ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้หลากหลายมากขึ้น เช่น
1.1 เพิ่มรายได้จากภาษีจากการเก็บภาษีเฉพาะกิจเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต
โดยหลักการในการได้รับรายได้จากภาษีเพื่อจัดสรรให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเป็นรายได้ที่มีการจัดเก็บในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข ทั้งในลักษณะของการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีที่มีความเกี่ยวข้องด้านสุขภาพที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน เช่น ภาษีสุรา และภาษีเบียร์ รวมถึงภาษีใหม่ที่มีการจัดเก็บจากสินค้าและบริการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ภาษีความหวาน และจัดสรรรายได้ดังกล่าวไปให้ด้านสาธารณสุขโดยตรง
1.2 การเพิ่มรายได้ของรัฐบาลในระดับมหภาคจากภาษีต่างๆ เพื่อทำให้ฐานของรายรับของรัฐบาลในระดับประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มี Fiscal Space ในการจัดสรรทรัพยากรไปยังค่าใช้จ่ายหมวดที่สำคัญรวมถึงด้านสุขภาพได้มากขึ้น ได้แก่
1.2.1 ภาษีจากกำไรของส่วนต่างราคา (Capital Gain Tax)
1.2.2 การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือการยกเลิกสิทธิการหักลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็น
1.2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระของผู้มีรายได้น้อย
2.ควรมีการลดภาระงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น
2.1 พัฒนารูปแบบการจ่ายเงินสมทบ โดยการจ่ายเงินสมทบก่อนการใช้บริการ (Pre-payment) เช่น กองทุนออมทรัพย์เพื่อสุขภาพให้ประชาชนสามารถฝากเงินเข้ามา เพื่อการดูแลสุขภาพตนเองในอนาคตและเป็นทุนสำรองในกรณีที่เกิดค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ไม่คาดฝัน
2.2 ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการพัฒนารูปแบบประกันภัยสุขภาพและประกันภัยอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยลดภาระของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เนื่องจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปยังภาคเอกชน
2.3 อาจนำแนวคิดหลักประกันสุขภาพของประเทศอื่นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสม เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดว่าผู้ป่วยจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลร่วม โดยกำหนดอัตราส่วนขึ้นอยู่กับรายได้ของครอบครัวและอายุของผู้ป่วย ตามความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง
3.ควรมีการปรับสัดส่วนงบประมาณ โดยเพิ่มปริมาณงานและสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการสร้างเสริมและป้องกันโรคให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งขยายเป้าหมายการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และเพิ่มตัวชี้วัดการดำเนินงานที่จะสะท้อนความสำเร็จของการทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นหรือเจ็บป่วยลดลง
จากการเสริมสร้างและป้องกันโรค หรือเพิ่มมาตรการจูงใจให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น เพราะเมื่อประชาชนมีสุขภาพดีความต้องการในการใช้บริการทางการแพทย์และการรักษาก็จะลดลงตาม ซึ่งก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของรัฐได้ ทั้งยังเป็นแนวทางไปสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังควรมีการบูรณาการร่วมกับกระทรวง/หน่วยงานอื่นๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
4.เนื่องจากการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมีต้นทุนที่สูงมาก รัฐจึงควรสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของตนเอง หรือหาแนวทางดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ร่วมลงทุนของไทยหรือรัฐบาลไทย กระทั่งสามารถนำมาวิจัยต่อยอดและผลิตได้เองภายในประเทศ
5.จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย รัฐจึงควรเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดอัตราการเจ็บไข้ได้ป่วย อาทิ
5.1 ควรเน้นการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพให้แก่ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การส่งเสริมการออกกำลังกาย และการให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการที่เหมาะสม
5.2 ส่งเสริมให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้ หรือการส่งเสริมให้มีโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ รวมถึงการฝึกอบรมผู้ดูแลเพื่อเพิ่มทักษะการดูแล
5.3 สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยรัฐอาจจัดสรรทุนวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลและรักษาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ รวมถึงการศึกษาความต้องการของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เป็นต้น
5.4 รณรงค์ให้ทุกวัยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ด้วยการวางแผนการออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอเมื่อเกษียณ เช่น ทำประกันชีวิต เข้าร่วมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
5.5 ปลูกฝังให้ลูกหลานดูแลบุพการี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ยึดมั่นในค่านิยมการกตัญญูกตเวที และการตอบแทนพระคุณบิดามารดาอยู่เดิมแล้ว
6.เพิ่มบทบาทของแพทย์ปฐมภูมิและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากการแพทย์ปฐมภูมิทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วยป้องกันและรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อีกทั้งยังมีต้นทุนต่อหน่วยบริการที่ถูกกว่าหน่วยบริการระดับอื่นๆ ทำให้สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รักษาโรคซับซ้อน
-ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
1.ควรมีการพัฒนาระบบการคาดการณ์ที่แม่นยำขึ้น โดยอาจใช้เทคโนโลยีและข้อมูลทางสถิติที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์ Big Data เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยพิจารณาจากข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลการใช้บริการ อัตราการเกิดโรค แนวโน้มประชากรสูงวัยพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน และต้นทุนการรักษาพยาบาล เพื่อให้การคาดการณ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการ Big data ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
2.ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแบ่งเบาภาระงบประมาณออกจากการดำเนินการโดยรัฐบาลกลางแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว แต่ก็ยังมีบทบาทในด้านการเสริมสร้างและป้องกันโรคเป็นส่วนใหญ่ แต่ในด้านการรักษาพยาบาลยังมีบทบาทไม่มาก ดังนั้น อปท.ควรเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลในสังกัดให้มีคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน
3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ ตรวจสอบการเบิกจ่ายแบบ Real Time ใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจสอบการจ่ายชดเชย (AI Audit) รวมถึงพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ
4.ควรมีการทบทวนตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ปรับปรุงค่าเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่ เพิ่มตัวชี้วัดเพื่อการประเมินที่รอบด้าน เป็นต้น
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของรายงานการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ จากการใช้จ่ายงบประมาณโครงการสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เรื่อง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ‘กองทุนบัตรทอง’ ซึ่งรายจ่ายของกองทุนฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ท่ามกลางข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยเฉพาะ ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ใกล้ชนเพดานแล้ว!
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะงบ'หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ'ปี 69 กว่า 2.74 แสนล.-'เหมาจ่ายรายหัว'แตะ 4,298 บาท