"...ขอให้ผู้บังคับบัญชาได้กำชับการเปิดเผยข้อมูลเอกสารราชการของบุคลากรในสังกัดสำนักงานประกันกันสังคมให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและระเบียบแบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด และกำชับมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการต่อบุคคลภายนอกโดยประการที่จะทำให้สำนักงานได้รับความเสียหาย หากพบว่ามีบุคลากรในสังกัดสำนักงานประกันสังคมกระทำการในลักษณะดังกล่าว ขอให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการในทันที..."
ต้องยอมรับกันว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลายเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ถูกจับตามองจากสังคมเป็นอย่างมาก ในเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านการดำเนินงานโครงการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
เหตุผลสำคัญคงหนีไม่พ้นการออกมาเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ของ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลายกรณี ขณะที่ตัวแทนของ สปส. ก็ออกมาชี้แจงตอบโต้อยู่เป็นระยะๆ
อย่างไรก็ดี หากขมวดปม รวบรวมข้อสังเกตเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ จนถึงปัจจุบันจะพบว่ามีจำนวน 7 ประเด็นแล้ว ได้แก่
1.กรณีงบรายจ่ายของประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2563 มีงบรายจ่าย 4,000 ล้าน ปี 2564 มีงบรายจ่าย 5,281 ล้าน ปี 2565 มีงบรายจ่าย 5,332 ล้าน ปี 2566 มีงบรายจ่าย 6,614 ล้าน และงบยุทธศาสตร์ในปี 2563-2564 ที่เพิ่มขึ้นจาก 965 ล้าน เป็น 2,000 ล้านบาท
2.กรณีค่าใช้จ่ายคอลเซ็นต์เตอร์ เบอร์ 1506 ที่มีค่าใช้จ่ายหลักร้อยล้านในทุกปี มีค่าเช่าสถานที่ 50 ล้านบาท และเมื่อโทรหาคอลเซ็นเตอร์แต่สายไม่เคยว่าง จึงขอข้อมูลจากคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้
3.กรณีค่าตอบแทนประจำปีในปี 2565-2566 ปีละ 100 ล้านบาท เป็นโบนัสใช่หรือไม่ และประกันสังคมทำงานเหมาะสมกับจำนวนค่าตอบแทนหรือไม่
4.กรณีการจัดโครงการสัมมนาที่อบรมในหัวข้อเดิมและคนกลุ่มเดิมในทุกปี เช่น ปี 2563 โครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท ปี 2564 ก็จัดโครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ งบประมาณ 2.5 ล้านบาท เป็นต้น และบางโครงการถูกตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ เช่น โครงการอบรมเทคนิคการเป็นวิทยากรมืออาชีพ โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านการบริหารพัสดุ เป็นต้น โดยทุกโครงการขาดการวัดผล
5.กรณีโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น SSO+ งบประมาณ 276 ล้านบาท เมื่อตรวจข้อมูลจาก ACTAI พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติในการเสนอราคา โดยประชาชนให้คะแนน 1.5 แสดงถึงความล้มเหลวของแอปพลิเคชัน ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไป
6.กรณีทำปฏิทินประกันสังคม 8 ปี ใช้งบฯ 450 ล.-ไปดูงานต่างประเทศนั่งเครื่องบินเฟิร์สต์คลาส
7.กรณีทำ ‘เว็บแอป’ งบประมาณ 850 ล้าน
ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นข้อสังเกตกรณีทำปฏิทินประกันสังคม 8 ปี ใช้งบฯ 450 ล.-ไปดูงานต่างประเทศนั่งเครื่องบินเฟิร์สต์คลาส นั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจงไปแล้ว
โดยประเด็นการทำปฏิทิน นายพิพัฒน์ ระบุว่า ปฏิทินที่จัดทำขึ้นมีการบอกถึงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ประกันสังคม และข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคม ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการจัดทำปฏิทิน เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรู้จักประกันสังคม โดยต้องแจกเกษตรกร เพื่อเป็นช่องทางให้เข้ามาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 กลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนอีกกว่า 10 ล้านคน และถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่ตนเองเชื่อว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มยังใช้การสื่อสารแบบโบราณ จึงจำเป็นต้องใช้การสื่อสารผ่านช่องทางนี้
ส่วนการไปดูงาน นายพิพัฒน์ ระบุว่า ในแต่ละครั้งจะมีการแจ้งวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมการประกันสังคมรับทราบ และแจ้งประเทศที่จะไปดูงาน เมื่อกลับมาก็มีการจัดทำรายงาน ส่วนการนั่งเครื่องบินไปดูงาน ระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ตนเองนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตนเองเคยนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส เพียง 1 ครั้ง ครั้งอื่นเป็นชั้น business และการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามระเบียบ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลการทำปฏิทินของประกันสังคม พบว่า การจัดทำปฏิทินประกันสังคม ตั้งแต่ปี 2559-2568 พบว่ามีจำนวน 10 ครั้ง รวมวงเงิน 579.59 ล้านบาท โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เป็นผู้ผลิตปฏิทินประกันสังคม จำนวน 6 ครั้ง จากทั้งหมด 10 ครั้ง และมี 2 ครั้ง คือ ในปี 2566 และ 2567 ที่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าใครเป็นผู้จัดทำปฏิทิน นอกจากนี้ในปี 2559-2561 ใช้วิธีการจัดจ้างแบบกรณีพิเศษ ส่วนในปี 2561 (ครั้งที่ 2) 2564 และ 2568 ใช้วิธีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง วิธี E-Bidding มีครั้งเดียวในปี 2562 อันนั้มาซึ่งคำถามสำคัญต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
- การจัดทําปีละ 4 ล้านกว่าฉบับ มากเกินไปหรือไม่ ? แถมยังมีการนำไปขายในออนไลน์ด้วย?
- ทําไมถึงเน้นการจัดจ้างแบบกรณีพิเศษและเฉพาะเจาะจง ทําราคากลางแพงเกินไปหรือไม่ ?
- ทําไมผู้ชนะถึงมีแต่เจ้าเดิมๆ รายอื่นไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานนี้แล้วหรือ?
ส่วนกรณีการไปดูงาน คำถามสำคัญเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นว่า อะไรคือ ตัวชี้วัดที่ชัดเจนถึงความคุ้มค่าเหมาะสม ของงบประมาณใช้จ่ายเงินงบประมาณในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศแต่ละครั้ง นำข้อมูลอะไรมาพัฒนางานเพิ่มเติมบ้าง ผลการพัฒนางานแต่ละด้านที่ไปศึกษาดูงานมาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องแสดงรายละเอียดที่เป็นรูปแบบชัดเจนมากกว่าแค่คำชี้แจงปากเท่านั้น
ส่วนกรณีการจ้างจัดทำ ‘เว็บแอป’ งบประมาณ 850 ล้าน นั้น ปรากฏข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568 สำนักงานประกันสังคมชี้แจงต่อกมธ.ติดตามงบประมาณฯ ว่า โครงการนี้ดำเนินการจัดหาในปี 2564 สัญญามี 6 งวดงาน งวดงานที่ 1 และงวดที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ จัดเก็บข้อมูล และออกแบบ งวดงานที่ 3-6 เป็นการพัฒนาระบบแอพพลิเคชัน 14 ระบบ ในส่วนของการส่งมอบงาน ผู้รับจ้างจะสิ้นสุดการจ้างใน เดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาส่งมอบงาน ทางผู้รับจ้างก็ส่งหนังสือขอใช้สิทธิ์ในเรื่องเป็นผู้ที่อยู่ในมาตรการผู้ได้รับความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้เซ็นสัญญากับภาครัฐในช่วงเกิดโควิด-19 จะได้รับอานิสงค์ในการคิดค่าปรับเป็นร้อยละ 0 และระยะเวลาที่จะได้รับ จะนับจากวันที่ลงนามในสัญญาถึงวันที่มีการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ระยะเวลารวม 193 วัน เมื่อถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ผู้รับจ้างจึงได้รับบวกเวลาอีก 193 วัน โดยสิทธิ์ของผู้รับจ้างครบกำหนด 30 มิ.ย. 2567 และวันที่ 1 ก.ค. 2567 ต้องส่งมอบงาน แต่ผู้รับจ้างส่งงาน ในวันที่ 8 ก.ค. 2567 ซึ่งเกิดค่าปรับ 7 วัน
ขณะที่ น.ส.รักชนก โพสต์ภาพเอกสารบันทึกข้อความ เรื่อง กำชับการเปิดเผยข้อมูลเอกสารของทางราชการ แจ้งผู้อำนวยการของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพฯ ประกันสังคมจังหวัดและหัวหน้าสาขา ลงวันที่ 26 ก.พ. 2568 มีใจความว่า ขอให้ผู้บังคับบัญชาได้กำชับการเปิดเผยข้อมูลเอกสารราชการของบุคลากรในสังกัดสำนักงานประกันกันสังคมให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและระเบียบแบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด และกำชับมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการต่อบุคคลภายนอกโดยประการที่จะทำให้สำนักงานได้รับความเสียหาย หากพบว่ามีบุคลากรในสังกัดสำนักงานประกันสังคมกระทำการในลักษณะดังกล่าว ขอให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการในทันที
ก่อนที่เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2568 นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม จะออกมาชี้แจงกรณีข้างต้นว่า การออกหนังสือดังกล่าว เป็นการออกหนังสือกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะเข้าไปประชุม กมธ.ติดตามงบประมาณฯ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับกรณีที่ น.ส.รักชนก ขอเอกสาร
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลเกี่ยวกับเอกชนที่เป็นผู้รับจ้างทำเว็บแอปไปแล้ว คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ด้วยจำนวนเงินทั้งสิ้น 848,000,000.00 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง
ล่าสุด มีแหล่งข่าวจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แจ้งเบาะแสสำนักข่าวอิศรา ว่า ขอให้ไปตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับว่าจ้างงานไอที จาก สปน.ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปี 2558 ว่า ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง?
สำหรับข้อสังเกตกรณีที่ 1-5 ปัจจุบันยังไม่มีการชี้แจงโดยละเอียด จาก สำนักงานประกันสังคม
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เคยออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดกรณีดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่จะให้ทางสำนักงานประกันสังคมออกมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่กระทบต่อผู้ประกันตน เนื่องจากผู้ประกันตนต้องได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และที่สำคัญการใช้งบประมาณทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นผลตอบแทนตามที่ สปส.ได้มาเพื่อใช้จ่ายให้ตามระเบียบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสข่าวพยายามเข้ามาทักท้วง ท้วงติงอยู่บ้าง จึงขอให้ทาง สปส.ได้ออกมาชี้แจงเรื่องงบกองทุน เบื้องต้นขอยืนยันว่า ไม่กระทบกับผู้ประกันตนแน่นอน เพราะอยู่คนละส่วนกัน
ขณะที่ นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการ และขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณประจำปีของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้
1.การจัดทำคำของบประมาณประจำปีจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม (ฉบับที่ใช้ปัจจุบันคือ แผนปฏิบัติราชการปี 2566-2570) และต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการงบประมาณ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน ที่ได้รับการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อบริหารงานของสำนักงานประกัน พ.ศ.2549 และหลักเกณฑ์การจัดทำคำของบประมาณประจำปี
2.วงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี เป็นไปตาม ม.24 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 คือ ไม่เกิน 10% ของเงินสมทบประจำปี ซึ่งที่ผ่านมา สปส.ได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปีละไม่เกิน 3%
3.ในการจัดสรรเงินงบประมาณผ่านการกลั่นกรองหลายขั้นตอน โดยคณะทำงานกลั่นกรองรายละเอียดการเสนอขอจัดสรรงบประมาณเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองงบประมาณในชั้นต้น ก่อน โดยหากเป็นงบประมาณด้านไอที ต้องเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการบริหารและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ กระทรวงแรงงาน แล้วจึงเสนอเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณ พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอคณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติ เพื่อออกประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องการจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมประจำปี พ.ศ….
4.อัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดทำคำของบประมาณ อ้างอิงจากอัตราของกระทรวงการคลัง และระเบียบของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของการจัดทำคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้อง ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ IT และคณะกรรมการ CIO ของกระทรวงแรงงานด้วย
5.การจัดซื้อจัดจ้าง ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
“ขอขอบคุณทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะ สปส. จะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงการจัดทำงบประมาณและการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมต่อไป” นางมารศรี ระบุ
****************
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับข้อสังเกตการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนของสำนักงานประกันสังคมที่ถูกเปิดเผยออกมาให้สังคมได้รับทราบ และดูเหมือนยังมีข้อมูลสำคัญอีกหลายส่วนที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองกันว่า ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ใกล้จะมาถึงในเร็ววันนี้ ฝ่ายค้านจะนำข้อมูลเรื่องสำนักงานประกันสังคม ไปใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยหรือไม่
หลังจากปฏิบัติการเปิด 7 แผล ตามที่กล่าวไปข้างต้น สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสำนักงานประกันสังคม และผู้เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว