มีความกังวลว่าโครงการนี้อาจกลายเป็นโครงการบังหน้าระดับแนวหน้าสําหรับการฟอกเงิน เนื่องจากประวัติของคดีทุจริตที่เชื่อมโยงกับกระทรวงพลังงานของยูเครนและรัฐวิสาหกิจเอนเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนิวเคลียร์ของรัฐที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานระดับสูงหลายคนถูกจับกุมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและถูกตั้งข้อหารับสินบน
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีความไม่โปร่งในในด้านการจัดซื้อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของประเทศยูเครน โดยนิวยอร์กไทม์สรายงานข่าวกรณีเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐสภายูเครนได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลซื้อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ผลิตโดยรัสเซีย ซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วสองเครื่องจากบัลแกเรียในราคาอย่างน้อย 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (20,220,000,360 บาท) อย่างไรก็ตามโครงการนี้เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับต้นทุนที่สูงและใช้ระยะเวลาหลายปี
รัฐบาลยูเครนวางแผนที่จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสองที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คเมลนิตสกี้ (Khmelnytskyi) ทางตะวันตกของยูเครน โดยให้เหตุผลว่าเครื่องปฏิกรณ์เหล่านี้จะช่วยเสริมกําลังโครงข่ายไฟฟ้าที่ตอนนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่จากการโจมตีของรัสเซียอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสองเครื่องนี้ ทางบัลแกเรียซื้อจากรัฐวิสาหกิจโรสตอนของรัสเซียเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่เคยได้นำมาใช้งานแต่อย่างใด
ข่าวเอกชนสหรัฐฯลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คเมลนิตสกี้ช่วงปี 2564
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตกล่าวแสดงความเป็นห่วงว่าเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสองเครื่องนี้จะใช้เวลาหลายปีในการติดตั้ง และหนทางที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนในการแก้ไขปัญหาพลังงานดีที่สุดก็คือการนำเงินไปซื้ออาวุธเพื่อป้องกันการรุกราน และการใช้เงินเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานของยูเครนมากกว่า อาทิ การติดตั้งไฟฟ้ากังหันก๊าซทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าโครงการนี้อาจกลายเป็นโครงการบังหน้าระดับแนวหน้าสําหรับการฟอกเงิน เนื่องจากประวัติของคดีทุจริตที่เชื่อมโยงกับกระทรวงพลังงานของยูเครนและรัฐวิสาหกิจเอนเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนิวเคลียร์ของรัฐที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานระดับสูงหลายคนถูกจับกุมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและถูกตั้งข้อหารับสินบน
การซื้อเครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงการทูตและการเมืองของกรุงเคียฟในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ ในภาวะที่ประเทศที่ถูกทําลายจากสงครามกําลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นจึงต้องมีทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่ดีสุดควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาการทุจริตที่ฝังแน่นในประเทศ
นางอินนา โซฟซัน สส.พรรคฝ่ายค้านของยูเครนซึ่งนั่งในคณะกรรมการพลังงานของรัฐสภากล่าวว่านี่ถือว่าเป็นบททดสอบที่สำคัญมาก ซึ่งตัวเธอเป็นหนึ่งใน 39 สส.ที่ลงมติคัดค้านการจัดซื้อ ขณะที่ 261 เสียงที่เหลือโหวตเห็นชอบสำหรับการจัดซื้อ
นางโซฟซันตั้งข้อสังเกตว่ารัฐสภายูเครนยังคงต้องผ่านกฎหมายอนุมัติการติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ก่อนที่จะเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับเอกังวลว่าผู้สนับสนุนในต่างประเทศของกรุงเคียฟจะเข้าใจในประเด็นเรื่องนี้หรือไม่ ในช่วงเวลาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกายังคงมีความไม่ชัดเจนเรื่องการให้การสนับสนุนยูเครนในอนาคต
“ด้วยประวัติการทุจริตหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเอนเนอร์โกอะตอม ฉันคิดว่าการติดสินใจนี้อาจทำลายชื่อเสียงของยูเครนในฐานะประเทศที่ต้องการจะต่อสู้กับการทุจริต” นางโซฟซันกล่าว
คาดกันว่าประธานาธิบดีโวโลโดมีร์ เซเลนสกี จะเซ็นลงนามในกฎหมายในเร็วๆนี้ โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา นายเซเลนสกีได้แสดงจุดยืนสนับสนุนโครงการนี้ โดยกลาวว่าโครงการนี้จะป้องกันไม่ให้ประเทศต้องไฟดับในช่วงฤดูหนาว และจะลดราคาค่าไฟในประเทศ นอกจากนี้เขายังปฏิเสธคำวิจารณ์ที่ว่ามีคนพยายามหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ หรือพยายามจะหาผลประโยชน์จากการใช้แหล่งพลังงานอื่นๆที่มีราคาสูงกว่า
ข่าวประธานาธิบดีเซเลนสกีแสดงจุดยืนหนุนการจัดซื้อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
อนึ่งสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียส่งผลทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและพลังงานน้ำในประเทศถูกทำลายไม่ก็เสียหายอย่างรุนแรงจากการโจมตี ยูเครนตอนนี้จึงต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดําเนินการอยู่สามแห่งเพื่อจัดหาไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ
สำหรับทางฝ่ายรัสเซีย พวกเขาสงวนการโจมตีเป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยตรง เพราะความกลัวว่าอาจจะเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่รุนแรงได้ แม้ว่ารัสเซียจะพยายามทําลายความสามารถในการส่งพลังงานโดยการทําลายสถานีย่อยที่เชื่อมต่อกับแผงพลังงานก็ตาม
ที่ผ่านมารัสเซียได้เข้ายึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของยูเครน ได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลีย์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ที่มีเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสิ้นหกเครื่อง โดยยึดได้ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม และโรงไฟฟ้านี้ไม่ได้จ่ายพลังงานให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของยูเครนอีกต่อไป
นายเจอร์แมน กาลุชเชนโก (German Galushchenko) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของยูเครนได้ออกมาโต้แย้งว่าการขยายพลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นทางออกเดียวที่เป็นไปได้ของประเทศในการรับความมั่นคงทางด้านพลังงานในระยะยาว เขาเน้นย้ำว่าการซื้อเครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องจากบัลแกเรียแทนที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่เป็นตัวเลือกที่เร็วที่สุดและคุ้มค่าที่สุด
ทางเอนเนอร์โกอะตอมเองก็โต้แย้งว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนซึ่งมีอายุย้อนไปถึงยุคโซเวียตอาศัยเครื่องปฏิกรณ์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีของโซเวียตที่มาจากประเทศในอดีตกลุ่มโซเวียตเช่นบัลแกเรียเท่านั้น ทว่ารัฐวิสาหกิจด้านนิวเคลียร์ยังมีแผนที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์อีกสองเครื่องที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คเมลนิตสกี้ โดยเครื่องปฏิกรณ์ตัวใหม่ที่ว่านี้จะใช้เทคโนโลยีจากตะวันตก
นักวิจารณ์ยังได้วิพากษ์โครงการนี้ว่ามีปัญหาอีกประการคือต้องใช้เวลานานมากในการตัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ ในขณะที่เคียฟมีเวลาน้อยมากที่จะเสียไปกับการเสริมสร้างเครือข่ายพลังงาน ดังนั้นเงินที่จะต้องเสียไปควรจะเสียไปกับการซ่อมแซมสถานีย่อยด้านพลังงานและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตี หรือควรพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมจะดีกว่า
นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลยูเครนจะให้ทุนสนับสนุนในโครงการนี้อย่างไรหลังจากที่สหภาพยุโรปหรืออียูปฏิเสธที่จะช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุนในการจัดซื้อ หรือก็คือรัฐบาลขาดแคลนเงินและได้มีการขึ้นภาษีกับประชาชนแล้ว นอกจากนี้ข้อตกลงที่ยูเครนมีกับบัลแกเรียนั้นเป็นแค่การจัดหาวัสดุสำหรับโรงงานเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงการจัดหายูเรเนียมเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการจ่ายไฟ
อีกทั้งการวางเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากขึ้นในเขตสงครามจะเพิ่มความเสี่ยงอย่างแน่นอน โดยสงครามครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกเกี่ยวกับภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งอยู่ใกล้แนวหน้าและถูกยิงด้วยปืนใหญ่และอาวุธอื่นๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เรียบเรียงจาก:https://kyivindependent.com/ukraines-parliament-approves-controversial-purchase-of-russian-nuclear-reactors-from-bulgaria/,https://www.nytimes.com/2025/02/11/world/europe/ukraine-nuclear-reactor-purchase.html?fbclid=IwY2xjawIdcm1leHRuA2FlbQIxMAABHSCIEsmQUyf3ej5BolfGBL4t0tKCt6xuvKxBowV7nl8AQq0-82oeT3t78g_aem_LAMDEAfN0O8B00hZ3qceow
- ส่องคดีทุจริตโลก:NGO ฉ้อโกงเงิน USAIDนับร้อยล้าน-ยักยอกอาหารผู้ลี้ภัยขายผู้ก่อการร้าย
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.สิงคโปร์ค้าน้ำมันให้กองทัพเมียนมา ก่ออาชญากรรมสงคราม ทำรายได้ พันล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:ซาอุฯเดินหน้าสัญญาซื้ออาวุธรัสเซีย 7.7 หมื่นล.แม้ถูกคว่ำบาตรปมบุกยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ก.คลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรธนาคารคีร์กีซ เหตุช่วยแบงก์รัสเซียเลี่ยงคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก: CEO กรมน้ำฯแอลเอ บริหารงานล้มเหลว? ต้นเหตุหัวดับเพลิงไม่ทำงานช่วงไฟป่า
- ส่องคดีทุจริตโลก:แฉแผนทรมาน ปธ.กกต.เกาหลีฯช่วงอัยการศึก บังคับประกาศเหตุโกงเลือกตั้ง สส.