"...ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้กระทําความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป..."
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ และอดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ยังคงรอดพ้นข้อกล่าวหาคดีทุจริตในการสอบสวนคดีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างต่อเนื่อง
@ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์
ล่าสุด คดีที่ 6 เป็นกรณีดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ (หลังใหม่) ปี 2545 โดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง และตรวจรับงานจ้างไม่เป็นไปตามสัญญาและแบบรูปรายการโดยมิชอบ
ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหา นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมพวกรวม 26 ราย หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปแล้ว
โดยคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา ดังนี้
- นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
- ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
- นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
- นายสุนทร ยามศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4
- นายประเสริฐพงษ์ เพชรบุรีกุล ผู้อำนวยการส่วนออกแบบและก่อสร้าง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
- นายณภัทร ประเสริฐดี หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโยธา รักษาการผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6
- นายอเนก เชี่ยวชาญ วิศวกรโยธา 8 วช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7
- นายสถาพร วงศ์ลือเกียรติ สถาปนิก 8 วช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8
- นายวิสาขะ ปัญญาช่วย หัวหน้างานควบคุมก่อสร้างวิศวกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9
- นายธนาคม จันทร์ปิง หัวหน้าฝ่ายควบคุมอาคาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10
- นายอนุ กิจบัญชา หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11
- นายทรงวุฒิ เชิญขวัญศรี หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโครงการลักษณะพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12
- นายรักษ์ สารสุวรรณ นายช่างโยธา 7 ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13
- นายทัศไนย ศรีรัตน์ หัวหน้าฝ่ายจัดการสภาพแวดล้อม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14
- นายทรงธรรม เนียมวัฒนะ หัวหน้างานควบคุมก่อสร้างวิศวกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15
- นายวัชรินทร์ บัวทอง นายช่างโยธา 6 ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16
- นายจักขุบาล ธนัญชัย นายช่างสำรวจ 5 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17
- นายตะวัน โด่งดัง วิศวกรโยธา 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18
- นายวีระพล กุมาลา (ผู้แทนประชาคม) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19
- นายอำนวย สุขฟั่น (ผู้แทนประชาคม) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20
- บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21
- นางสุมาลี คุณารัชตสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22
- นางสาวสุวิมล คุณารัชตสกุล กรรมการ บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23
- นางสาวอุทัยรัตน์ พงษ์เรืองพรหรือพัตรพิมล อัศววุฒิพงศ์ กรรมการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24 บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด
- นางสาวธัญศญา คุณารัชตสกุล กรรมการบริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25
- นายธนสิทธิ์ บุญญสิทธิ์ ผู้รับมอบอํานาจจากบริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 26
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ดังนี้
หนึ่ง.
ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ (หลังใหม่) นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้ทำสัญญาจ้างกับบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2545 ซึ่งนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้แจ้งให้บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2546 เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับแบบรูปรายการของอาคาร ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2549 เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ได้ตกลงทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 1 ซึ่งมีการแก้ไขแบบรูปรายการจากอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 12 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กความสูงประมาณ 12 เมตร ไม่รวมหลังคาและมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เป็นที่จอดรถ และเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างจากสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบริเวณสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปรับลดจำนวนเงินค่าจ้างจาก 209,800,000 บาท เหลือจำนวนเงินค่าจ้าง 128,913,000 บาท มีการเปลี่ยนหลักประกันสัญญาจากหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารแห่งประเทศจีน สาขากรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลบีจี 02060 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2545 เป็นเงินจำนวน 10,490,000 บาท เป็นหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด สาขากรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลบีจี 06022 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2549 เป็นจำนวนเงิน 6,445,650 บาท มีการลดค่าปรับหากผู้รับจ้างปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง และผู้รับจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญาจ้างผู้รับจ้างต้องเสียค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างจากเดิมวันละ 209,800 บาท แก้ไขเป็นเหลือวันละ 128,913 บาท มีการแก้ไขจำนวนเงินค่าจ้างซึ่งจ่ายล่วงหน้าแก่ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างจากจำนวนเงิน 31,470,000 บาท เหลือ 19,336,950 บาท การลงนามบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 1 ของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งได้ ลงนามหลังจากแจ้งให้ผู้รับจ้างระงับการก่อสร้างนานกว่า 3 ปี และสัญญาจ้างที่ทำการแก้ไขล้วนเป็นสาระสำคัญ
การทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 1 ของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ จึงส่อว่าไม่เป็นไป ตามระเบียบกฎหมายและเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ ผู้รับจ้าง
สอง.
ในระหว่างปฏิบัติตามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ (หลังใหม่) ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2545 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างระงับการก่อสร้าง เนื่องจากมีการจัดงานประเพณีลอยกระทงตั้งแต่วันที่ 17 - 30 พฤศจิกายน 2550 และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 นายสุนทร ยามศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างให้ระงับการก่อสร้างเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 5 - 17 เมษายน 2551 ซึ่งวันที่ 8 เมษายน 2551 บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ได้มีหนังสือขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งสองครั้ง ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2551 ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ และบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ได้ตกลงทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 โดยตกลงขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างในเทศกาลลอยกระทงออกไปอีก 14 วัน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ออกไปอีก 13 วัน รวมจำนวนวันที่ขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างทั้งสิ้น 27 วัน การสั่งให้ผู้รับจ้างระงับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างของร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ และนายสุนทร ยามศิริ จึงไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย และไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้าง และการทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างดังกล่าว จึงเป็นผลทำให้บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ไม่ต้องเสียค่าปรับวันละ 128,913 บาท จำนวน 27 วัน รวมเป็นเงิน 3,480,651 บาท
การสั่งให้ผู้รับจ้างระงับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างของร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ และนายสุนทร ยามศิริ และการทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างของร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ดังกล่าว จึงส่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง
สาม.
ภายหลังการทำบันทึกต่อสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 7 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 ซึ่งสัญญาจ้างกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 แต่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนครบกำหนดจ้าง 3 วัน ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้แจ้งให้บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ระงับการก่อสร้างเพื่อดำเนินการปรับปรุงรูปแบบอาคารสำนักงานเทศบาลเป็นรูปแบบอาคารประหยัดพลังงาน และแจ้งให้ผู้รับจ้างเริ่มปฏิบัติงานอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2551 ต่อมา วันที่ 22 ตุลาคม 2552 เมื่อนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง เนื่องจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้แจ้งผู้รับจ้างให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อนเพื่อออกแบบอาคารสำนักงานเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 รวม 110 วัน และการก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนประหยัดพลังงานที่ออกแบบใหม่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง เทศบาลนครเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่าการก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนใหม่ต้องใช้ระยะเวลา 360 วัน ดังนั้น จึงขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างแก่ผู้รับจ้างจากเหตุดังกล่าวรวมระยะเวลา 470 วัน กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2553 โดยนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 13 เนื่องจากมีการแก้ไขแบบแปลนและทำการปรับลด - เพิ่มปริมาณงาน โดยตกลงขยายระยะเวลาให้ผู้รับจ้างต่อจากบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างครั้งที่ 12 อีกจำนวน 90 วัน
ดังนั้น การสั่งให้ผู้รับจ้างระงับการก่อสร้างเพื่อดำเนินการปรับปรุงรูปแบบอาคารสำนักงานเทศบาลเป็นรูปแบบอาคารประหยัดพลังงานของ ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ และบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างเลขที่ จ.19/2546 ครั้งที่ 12 และครั้งที่ 13 จึงส่อว่าเป็นการช่วยเหลือบริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด ผู้รับจ้าง ไม่ให้ต้องเสียค่าปรับหรือต้องเสียค่าปรับน้อยลง อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้างในการปฏิบัติโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ (หลังใหม่)
สี่.
ในการก่อสร้างมีการนำกระเบื้องแกรนิตมาปูพื้นอาคารซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณ 6,000 ตารางเมตร โดยกระเบื้องแกรนิตที่นำมาใช้ปูพื้นดังกล่าวมีตำหนิเป็นรอยแตกร้าวที่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างที่ต้องพิจารณาว่า กระเบื้องปูพื้นแกรนิตดังกล่าวเป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างหรือไม่ การที่ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ยอมให้มีการนำกระเบื้องแกรนิตดังกล่าวมาใช้ในการก่อสร้าง จึงส่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท วังสิงห์คำวิศวกรรม จำกัด และเป็นผลให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างทำการตรวจรับกระเบื้องวัสดุปูพื้นแกรนิต ตั้งแต่งวดที่ 11 ถึงงวดที่ 13 ผู้ควบคุมงานจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. นายทรงธรรม เนียมวัฒนะ หัวหน้างานควบคุมก่อสร้างวิศวกรรม 2. นายทัศไนย ศรีรัตน์ หัวหน้างานสัญญาณไฟและเครื่องหมายจราจร 3. นายวัชรินทร์ บัวทอง นายช่างโยธา 6ว 4. นายจักขุบาล ธนัญชัย นายช่างสำรวจ 5 และ 5. นายตะวัน โด่งดัง วิศวกรโยธา 3 และคณะกรรมการตรวจการจ้างจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1. นายประเสริฐพงษ์ เพชรบุรีกุล ผู้อำนวยการ ส่วนออกแบบและก่อสร้าง 2. นายเอนก ชาญเชี่ยว วิศวกรโยธา 8วช 3. นายสถาพร วงศ์ลือเกียรติ สถาปนิก 8 วช 4. นายธนาคม จันทร์ปิง หัวหน้าฝ่ายควบคุมอาคาร 5. นายวิสาขะ ปัญญาช่วยหัวหน้าฝ่ายจัดการสภาพแวดล้อมและมีกรรมการตรวจการจ้างซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนสนับสนุนอีก 2 ราย ประกอบด้วย นายวีระพล กุมาลา และนายอำนวย สุขฝั้น
@ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสุนทร ยามศิริ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายประเสริฐพงษ์ เพชรบุรีกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายอเนก เชี่ยวชาญ ผู้ถูกกล่าวหา 7 นายสถาพร วงศ์ลือเกียรติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 นายวิสาขะ ปัญญาช่วย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นายธนาคม จันทร์ปิง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายอนุ กิจบัญชา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 นายทรงวุฒิ เชิญขวัญศรี ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 12 นายรักษ์ สารสุวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 นายทัศไนย ศรีรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 นายทรงธรรม เนียมวัฒนะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 นายวัชรินทร์ บัวทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 นายจักขุบาล ธนัญชัย ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 17 นายตะวัน โด่งดัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 นายวีระพล กุมาลา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 นายอํานวย สุขพื้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20 บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21 นางสุมาลี คุณารัชตสกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22 นางสาวสุวิมล คุณารัชตสกุล กรรมการ บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23 นางสาวอุทัยรัตน์ พงษ์เรืองพร หรือพัตรพิมล อัศววุฒิพงศ์ กรรมการ บริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24 นางสาวธัญศญา คุณารัชตสกุล กรรมการบริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25 และนายธนสิทธิ์ บุญญสิทธิ์ ผู้รับมอบอํานาจจากบริษัท วังสิงห์คําวิศวกรรม จํากัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 26 ได้กระทําความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@บุญเลิศ บูรณุปกรณ์
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีกล่าวหาทุจริต นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และพวก จำนวน 4 คดี
คดีแรก
ทุจริตจัดจ้างโครการจ้างเหมากิจกรรมโครงการ 50 วัน ปฏิบัติการรวมพลังไทยขจัดภัยยาเสพติดร่วมเทิดไท้องค์ราชัน โดยวิธีพิเศษ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีสอง
ทุจริตในโครงการจ้างเหมาจัดกิจกรรมโครงการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรรษา พ่อของแผ่นดิน ของ อบจ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2552 ซึ่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยมิชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีสาม
ดำเนินการจ่ายขาดเงินทุนสำรองเงินสะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมายในโครงการไหว้สาป่ารมีพระบรมธาตุถวายน้ำสรงพระราชทานสืบสาน ประเพณีเตียวขึ้นดอย "ตำมฮึดโตยฮอย ครูบาศรีวิชัย" เมื่อวันที่ 2-8 พ.ค.2562 และมีพฤติการณ์ในการสมยอมราคาหรือกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพื่อให้เอกชนได้มีสิทธิเข้าเป็นคู่สัญญากับ อบจ.เชียงใหม่ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ขณะที่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น เห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64
คดีสี่
ทุจริตโครงการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหามหาราชินี เทิดไท้สมเด็จแม่ของปวงชนชาวไทย เมื่อปี 2552 ของ อบจ.เชียงใหม่ โดยดำเนินโครงการโดยมิชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ไม่มีความผิด กรรมการ 2 เสียงข้างน้อย คือ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
คดีห้า
นับรวม คดีทุจริตโครงการมหกรรมรวมพล To be number one เมื่อปี 2551 ของอบจ.เชียงใหม่ ที่ถูกระบุว่าดำเนินโครงการโดยมิชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตีตกข้อกล่าวหา นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และพวก 13 ราย ไปก่อนหน้านี้แล้ว
เท่ากับว่า นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และอดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ รอดพ้นข้อกล่าวหาคดีทุจริตในการสอบสวนของ ป.ป.ช. ไปแล้ว จำนวน 6 เรื่องรวด
- ไม่ผิด 4 เรื่องรวด! ป.ป.ช.ตีตกคดีทุจริต 'บุญเลิศ' อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่-พวก
- เอกฉันท์! ป.ป.ช.ตีตกคดี 'บุญเลิศ' อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่-พวก ทุจริตโครงการTo be number one
อ่านประกอบ :