‘สำนักงาน ป.ป.ช.’ ชำแหละปัญหา-อุปสรรค การบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป.ป.ช.’ ปี 61 พร้อมเผย 6 ปี ‘ป.ป.ช.’ มีมติชี้มูลความผิดฯ 6,285 เรื่อง ขณะที่มีเรื่องร้องเรียนฯเข้ามาสูงกว่า 5.2 หมื่นเรื่อง
.............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นฯ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ใน 3 ด้าน ดังนี้
ด้านการปราบปรามการทุจริต
โดยที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ได้ใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับแต่กระบวนการการกล่าวหาร้องเรียน ระยะเวลาการดำเนินการ การมอบหมายหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การพิจารณาหรือวินิจฉัยมูลความผิดทางอาญาและหรือมูลความผิดทางวินัย
จนถึงการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายกรณีที่กระบวนการภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยมูลความผิดแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่มีประเด็นปัญหาให้หน่วยงานของรัฐ จะต้องหารือไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้คำปรึกษา หรือการยื่นฟ้องคดีต่อศาล
ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน
เมื่อได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาได้ระยะเวลาหนึ่ง พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนี้
1.การกำหนดข้อยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและเข้ารับตำแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือน ทำให้ขาดการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
2.การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ยื่นบัญชีที่ปรากฏข้อมูลของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
3.การกำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานจะต้องแจ้งข้อมูลรายชื่อผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่มิได้กำหนดมาตรการบังคับหรือบทกำหนดโทษ จึงส่งผลให้หัวหน้าหน่วยงานไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการติดตามการยื่นบัญชี
4.การกำหนดรูปแบบ วิธีการ และระยะเวลาในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ยังไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากพบอุปสรรคและปัญหาในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
5.การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบทรัพย์สินได้กำหนดวิธีการตรวจสอบทรัพย์สินไว้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบปกติ ตรวจสอบยืนยัน และการตรวจสอบเชิงลึก ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาการตรวจสอบนาน และเป็นการเพิ่มภาระงานมากเกินความจำเป็น จนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบลดน้อยลง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา อาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ที่มุ่งหมายให้กระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นกลไกในการป้องปรามการทุจริต ยิ่งกว่าการดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษในภายหลัง อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ด้านการป้องกันการทุจริต
การเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต และในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงานของรัฐ และมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
ยังมีประเด็นปัญหาในการดำเนินการนำไปปรับใช้ของหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับแจ้งมาตรการและการตรวจสอบรวมถึงสภาพบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมาย และการกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2561 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 มีการส่งเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งสิ้น 52,151 เรื่อง โดย ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยกรณีต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6,285 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ รวม 41 เรื่อง 2.ชี้มูลความผิดทางวินัย รวม 2,781 เรื่อง
3.ชี้มูลความผิดทางอาญา รวม 2,942 เรื่อง ซึ่งกรณีชี้มูลความผิดทางอาญานั้น เป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษ รวม 1,088 เรื่อง และยกฟ้อง รวม 54 เรื่อง และ 4.ชี้มูลความผิดกรณีจงไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาของทรัพย์สิน รวม 521 เรื่อง