“…การประชุม COP29 นี้ ไทยนำเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระดับโลก โดยการประชุมในครั้งนี้จะเน้นการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความเท่าเทียมในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน…”
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาทั่วโลกให้ความสำคัญ และพยายามหาทางรับมือแก้ไข จากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นในการประชุมการรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) เมื่อปี 2558 นานาประเทศต่างร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) โดยมีเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่รัฐบาลที่ผ่านมมา ไม่าว่าจะมาจากขั้วไหน ต่างก็ประกาศสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) โดยดำเนินการผ่านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูล สส. ทส. รายงานว่า ภายหลังที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีภายใต้ความตกลงปารีส ได้จัดทำและส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution – NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า (LT-LEDS) ต่อ UNFCCC มี 2 ระยะ ได้แก่
-
การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกปี ค.ศ. 2030 ที่ 30-40 % จากกรณีปกติ ดำเนินการใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) สาขาของเสีย และสาขาเกษตร
-
ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า (LT-LEDS) มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดย LT-LEDS จะเป็นกรอบในการจัดทำเป้าหมาย NDC ฉบับที่ 2 (The 3rd Generation NDC) ซึ่งจะต้องจัดส่งต่อ UNFCCC ในปี ค.ศ.2025 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี ค.ศ. 2031 - 2035
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก คิดเป็น 0.76% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ส่วนอับดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหภาพยุโรป และรัสเซีย
ความคืบหน้าล่าสุด หลังจากการประชุม COP 29 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน หนึ่งในประเด็นเจรจาที่สำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) ภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงิน แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบท่าทีเจรจา ที่จะมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้ว ใส่เงินเข้ามาในกองทุนตามเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศไทยรายงานความคืบหน้าที่คาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) และ +3% จากกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ
โดยกระบวนการดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง NDC เป็นส่วนสำคัญของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี เพื่อเพิ่มความมุ่งมั่นในระยะยาว โดยแต่ละประเทศต้องแสดงการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครอบคลุมทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
เมื่อปี 2565 สิ้นสุดแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) จากข้อมูลปี 2563 (ค.ศ. 2020) ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 56.54 MtCO2eq คิดเป็น 15.4% ซึ่งบรรลุเป้าหมาย NAMA ที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลกที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% จากกรณีปกติ (BAU)
การประชุมสภาพภูมิอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP29
สำหรับแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย หลังปี 2563 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งได้นำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567
ทั้งนี้ มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศรายสาขา ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 222 MtCO2eq หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี 2573 แบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศ 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7% ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง 17 แผนงาน 130 มาตรการ
สาขาพลังงาน ได้แก่ การอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาพลังงานทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ในโครงการนำร่องแหล่งอาทิตย์
สาขาคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์ การพัฒนาระบบขนส่งในเมืองและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง การส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับภาคขนส่ง (Hydrogen, Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF ในอากาศยาน) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง สาขา IPPU ได้แก่ การทดแทนปูนเม็ด และการทดแทน/ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น
สาขาของเสีย ได้แก่ การจัดการขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีต่างๆ และการจัดการนํ้าเสียชุมชน การจัดการนํ้าเสียอุตสาหกรรม และสาขาเกษตร ได้แก่ การจัดการของเสียภาคปศุสัตว์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี และการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
นอกจากนี้ การเร่งบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) หรือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) มาตรการจูงใจ เป็นต้น
อีกทั้ง การส่งเสริมการปลูกป่า ให้บรรลุเป้าหมายการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ 55% ภายในปี พ.ศ. 2580 และการพิจารณาปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้สามารถใช้กับ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) และมาตรฐานสากลอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2568 ประเทศไทยมีแผนจะส่งเป้าหมาย NDC ฉบับใหม่ (NDC3.0) ครอบคลุมช่วงปี 2574-2578 เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไทยต้องการการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากนานาชาติ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ประเทศไทยมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งพัฒนามาตรการสนับสนุนและสิ่งจูงใจ เช่น มาตรการภาษีและการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่าง ๆ และยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการจะบรรลุ Net Zero ได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการพัฒนากลไกสนับสนุนอย่างเหมาะสม ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ
แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดของประเทศ การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยในปี 2562 ไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 373 MtCO2eq ซึ่งภาคพลังงานและขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 1 ประมาณ 260 MtCO2eq คิดเป็น 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รองลงมาเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) และภาคของเสีย ขณะที่ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 92 MtCO2eq
ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนในพลังงานทดแทน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การประชุม COP29 นี้ ไทยนำเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระดับโลก แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้จะเน้นการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความเท่าเทียมในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน จะเห็นได้ว่า NDC ของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทั่วโลกสามารถติดตามความก้าวหน้าของการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ NDC ยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของแต่ละประเทศในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ภายในปี 2573 โลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษ โดยเป้าหมายใหม่ที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องส่งในปี 2568 เป็นเป้าหมายปี 2578 (NDC 3.0) ที่จะต้องเข้มข้นขึ้นจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ทันหรือไม่
ด้าน นายกมล สุกิน บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายสำคัญหลังเข้าร่วม COP26 คือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเหลือเวลาอีก 26 ปี และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งเหลือเวลาอีก 31 ปี
ส่วนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่นั้น นายกมล ฉายภาพว่า เมื่อเทียบกับการพัฒนาที่ผ่านมา ตั้งแต่แผนที่ 1 ย้อนกลับไปเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว ก็จะเห็นภาพอนาคตชัดขึ้น ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะการพัฒนาของไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศเปลี่ยนเยอะมาก ฉะนั้น ปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง คือ นโยบายของประเทศไทยจะต้องชัดเจน
“การมีนโยบายที่ชัดเจน จะต้องพุ่งเป้าเลยว่า เรากำลังจะมีเศรษฐกิจแบบ Net Zero เป็นเศรษฐกิจสีเขียวแบบเต็มตัว ถึงจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ ภายใน 30 ปีนี้” นายกมล กล่าว
นายกมล กล่าวว่า การวางนโยบายที่ชัดเจนว่า เราจะก้าวสู่ Net Zero นั้น จะกระทบทุกโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ เกษตรกรรรม การส่งออก ซึ่งทั้งหมดจะต้องถูกจัดการและวางแผนใหม่ทั้งหมดภายใต้หลักการการลดคาร์บอน ซึ่งหนทางที่จะไปสู่เป้านี้ได้ แปลว่า นโยบายของประเทศไทยต้องแข็งแรงมาก
นายกมล ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านชวนให้คิด คือ ทุกคนนึกภาพออกไหมว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังทำอะไรเพื่อไปสู่การเป็นสู่เป้าหมายหรือ Net Zero บ้าง ถ้าแบบคิดเร็วๆ แทบไม่มี แต่ก็พอจะได้นึกออกได้บ้าง คือ รัฐบาลพยายามพูดให้ เราเปลี่ยนเป็นรถ EV ให้ใช้พลังงานสีเขียวเยอะขึ้น แต่ก็เพียงแค่บางส่วนเล็กๆ แต่ในส่วนใหญ่ อาทิ การยกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ยังไม่มีประกาศที่ชัดเจนว่าตกลงจะเลิกใช้ตอนไหน หรือเมื่อไหร่
ซึ่งถ้าเป็นในระดับโลก เมื่อประเทศไหนประกาศว่าจะพุ่งเป้าไป Net Zero สิ่งแรกที่จะพูด คือ จะจัดการยังไงกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะว่าเป็นตัวใหญ่ที่ปล่อยก๊าซ ถ้าจัดการภาคส่วนใหญ่นี้ได้ แปลว่าเป้าก็มีโอกาสเป็นจริงได้
ทั้งนี้ การจัดการเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ได้หมายถึงว่า จะยกเลิกทันที แต่จะมีการกำหนมดไทม์ไลน์ วางนโยบายอย่างชัดเจนเป็นกรอบการดำเนินการ เช่น จะลดภายใน 10 ปี แปลว่าในปีนี้ เราจะลดลงเท่านี้เท่านี้ ในปีเท่าไหร่ และพอครบ 10 ปี ก็จะยกเลิก
ในส่วนประเทศไทย นายกมล กล่าวว่า ยังไม่มีนโบายเกี่ยวกับการจัดการด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ประชาชนไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติไปอีกกี่ปี เรายังทะเลาะกันอยู่ในเรื่องว่าจะใช้แก๊สกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไทยหยุดอยู่ระหว่างกลางในทางนโยบาย ไม่มีการตัดสินใจในเชิงนโยบายเลย ที่จะนำไปสู่ Net Zero หรือ คาร์บอนเป็นศูนย์ ณ วันนี้
“ภาคนโยบาย ก็ยังคงยักยื้อยักยันอยู่ เนื่องนโยบายแบบวิสัยทัศน์เก่า Old paradigm เป็นกระบวนการพัฒนาประเทศแบบเดิม ซึ่งอยู่บนฐานแนวคิดที่ว่า ไทยเอาความมั่นคงด้านด้านพลังงานเป็นหลัก แล้วก็ตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลักในเรื่องการจัดการพลังงาน” นายกมล กล่าว
นายกมล สุกิน บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews
ขณะที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในตอนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Climate Finance toward SDGs ภายในงาน Sustainability Forum 2025 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ว่า ประเทศไทยยังต้องใช้เงินจำนวน 5-7 ล้านล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายในปี ค.ศ. 2030
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาของประเทศไทย เนื่องจากยังมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่
-
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมียังสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Brown) อยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูงถึงร้อยละ 60 และใช้เทคโนโลยีแบบเดิม
-
ไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับท้าย ๆ รวมทั้งประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น ฝุ่น PM2.5 และ
-
SMEs ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เริ่มเห็นแรงกดดันจากกฎเกณฑ์ในต่างประเทศและการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ SMEs ก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความจำเป็นของการปรับตัว นอกจากนี้ SMEs ขาดองค์ความรู้และเงินทุน จึงไม่สามารถปรับตัวด้วยความเร็วใกล้เคียงกับธุรกิจรายใหญ่ได้
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในบริบทของไทยจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ กับการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอย่างฉับพลันในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ การดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งจังหวะเวลาและความเร็ว
โดยอาจเริ่มจากการปรับเศรษฐกิจสีน้ำตาลเข้มให้เป็นสีน้ำตาลอ่อนก่อน (Brown เป็น Less Brown) และสำหรับ SMEs ที่มีความพร้อมน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ก็คงต้องเริ่มจากการปรับตัวก้าวเล็ก ๆ ก่อน แต่เป็นก้าวที่จับต้องได้ในทางปฏิบัติและสามารถขยายผลได้ทั้งสำหรับตนเองและในวงกว้าง
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะประกาศเป้าหมายในเวทีโลกแล้ว แต่กระบวนการหรือเส้นทางจะไปสู่เป้าที่ประกาศไว้อาจจะยังไม่ชัดเจนมากหนัก ต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย