"...การกระทำของจำเลยที่ 1 มุ่งหมายที่จะเร่งรีบให้การเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและเปิดอุทยานการเรียนรู้มหาสารคาม ในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 สำเร็จลุล่วงทันเวลาที่กำหนดเป็นสำคัญ และจำเลยที่ 2 ย่อมทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ให้การสนับสนุนจำเลยที่ 1 โดยการส่ง มอบวัสดุอุปกรณ์ในการเตรียมการรับเสด็จฯ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แก่งเลิงจาน ก่อนที่จะจัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง..."
ในช่วงกลางเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวสำคัญ เจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 และงานสืบสวนคดีทุจริตจังหวัดมหาสารคาม สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม เข้าทำการจับกุม นายชลทิพย์ ทันบาล ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ จ.28/2564 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุว่า นายชลทิพย์ ในฐานะเจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านธนพรรณ พานิชย์ ผู้เสนอราคาวัสดุอุปกรณ์ได้ร่วมกับนายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จัดทำเอกสารใบเสนอราคาร้านธนพรรณ พานิชย์ จำนวน 2 ฉบับ โดยเสนอราคาวัสดุ อุปกรณ์โครงการเตรียมการรับเสด็จฯ ประเภทธงต่างๆ เช่น ธงชาติ ธงตราสัญลักษณ์ และเป็นกลมอลูมิเนียม เหล็กข้ออ้อยพร้อมตัด ในราคา 277,540 บาท และราคา 146,000 บาทตามลำดับ รวม 423,540 บาท
ทั้งที่ยังมิได้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบแต่อย่างใด แต่การจัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังที่การจัดทำซุ้มเตรียมรับเสด็จฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่ามิได้มีการเสนอราคาเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ประกอบการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด โดยใบเสนอราคาของร้านธนพรรณ พาณิชย์ ซึ่งได้มีการเสนอราคาจำนวน2 รายการนั้น ได้จัดทำขึ้นภายหลังตามที่ นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แก่งเลิงจานสั่งการ โดยมีเจตนาเพื่อปกปิดการกระทำความผิดที่นายรุ่งอรุณ ได้เข้ามีส่วนได้เสียในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้ร้านอื่น เป็นคู่สัญญาแทนตน จึงมิได้มีการจัดทำเอกสารหรือดำเนินการจัดซื้อให้ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 เละที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น กรณีที่นายชลทิพย์ ทันบาล ที่ได้จัดทำเอกสารในเสนอราคาประกอบการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ร่วมกับ นายรุ่งอรุณ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น (อ่านรายละเอียดข่าวที่นี่)
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ รายละเอียดที่มาที่ไปคดี รวมไปถึงบทลงโทษ นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา อดีตนายก อบต. แก่งเลิงจาน ในฐานะผู้สั่งการ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. พบข้อมูลคดีนี้เพิ่มเติมดังนี้
หนึ่ง. ที่มาที่ไปคดี
คดีนี้เป็นกรณีกล่าวหา นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แก่งเลิงจาน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม กับพวก ทุจริตในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เตรียมการรับเสด็จ และจัดจ้างเหมาประดับซุ้มรับเสด็จในโครงการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและเปิดอุทยานการเรียนรู้มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 , 157 และมาตรา 162 (1), (4) และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบ มาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564
รายชื่อผู้ถูกกล่าวหา มี 3 ราย คือ นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา , นางสาวปรมาภรณ์ ต่อฤทธิ์ และนายเรืองฤทธิ์ แก้วผล
สอง. คำพิพากษาศาลฯ
หลังการชี้มูลความผิด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาว่า นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา จำเลยที่ 1 นางสาวปรมาภรณ์ ต่อฤทธิ์ จำเลยที่ 2 และนายเรืองฤทธิ์ แก้วผล จำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฎหมาย ลงโทษตามมาตรา 151 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1
จำคุก นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา จำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 40,000 บาท
จำคุก นางสาวปรมาภรณ์ ต่อฤทธิ์ จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 18,000 บาท
จำคุก นายเรืองฤทธิ์ แก้วผล จำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน
เบื้องต้น จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงจำคุก นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท
จำคุก นางสาวปรมาภรณ์ ต่อฤทธิ์ จำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 9,000 บาท
จำคุก นายเรืองฤทธิ์ แก้วผล จำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 มุ่งหมายที่จะเร่งรีบให้การเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและเปิดอุทยานการเรียนรู้มหาสารคาม ในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 สำเร็จลุล่วงทันเวลาที่กำหนดเป็นสำคัญ และจำเลยที่ 2 ย่อมทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ให้การสนับสนุนจำเลยที่ 1
โดยการส่ง มอบวัสดุอุปกรณ์ในการเตรียมการรับเสด็จฯ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แก่งเลิงจาน ก่อนที่จะจัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง
แม้เป็นการผิดระเบียบกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่เพียงสถานเบาพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้สำนึกในความผิดของตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไป
โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามมาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก
ส่วนจำเลยที่ 3 มีประวัติการกระทำความผิดอาญามาก่อน จึงไม่รอการลงโทษและให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 285/2564 หมายเลขแดงที่ อท 145/2565 ของศาลนี้
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ให้ลงโทษตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่ อัยการสูงสุด (อสส.) หารือไม่ฎีกา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นควรไม่ฎีกาคำพิพากษา
3. บทสรุปคดี
จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น สามารถสรุปบทลงโทษจำเลยที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
นายรุ่งอรุณ ครองกรณ์ชัยญา จำเลยที่ 1 ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท ได้รอลงอาญา 2 ปี
นางสาวปรมาภรณ์ ต่อฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท ได้รอลงอาญา 2 ปี
นายเรืองฤทธิ์ แก้วผล จำเลยที่ 3 ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
ส่วน นายชลทิพย์ ทันบาล เพิ่งถูกจับกุมตัว
บทสรุปคดีนี้ในส่วน นายชลทิพย์ ทันบาล ที่เพิ่งถูกจับกุมตัวได้ จะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป