“…ผมเคยพูดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ การถมทะเลบางขุนเทียน ปากน้ำ เพื่อให้ได้พื้นที่ ขยายความแออัดของ กทม. ส่วนหนึ่ง และทำให้เป็นเมืองสีเขียว และเป็นเมืองใหม่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น มีรถไฟเชื่อม และป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ เราต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วม กทม.ตั้งแต่วันนี้…”
‘ถมทะเล’ เป็นหนึ่งในวิธีการขยายพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งเพื่อขยายเมือง เพิ่มพื้นที่ที่อยู่อาศัย รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้โครงการดังกล่าวจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับการพัฒนาเมือง แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจมองข้ามได้
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมหรือขยายพื้นชายฝั่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยพื้นที่แผ่นดินเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยวิธีการถมทะเลกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับประเทศไทย ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวถึงโครงการ ‘ถมทะเล’ บางขุนเทียน-ปากน้ำ ในบริบทของการพัฒนาและขยายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มพื้นที่ ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง และเป็นเมืองสีเขียวและเมืองใหม่ ให้เฉพาะรถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้นและมีรถไฟเชื่อม รวมถึงมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย
“ผมเคยพูดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ การถมทะเลบางขุนเทียน ปากน้ำ เพื่อให้ได้พื้นที่ ขยายความแออัดของ กทม. ส่วนหนึ่ง และทำให้เป็นเมืองสีเขียว และเป็นเมืองใหม่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น มีรถไฟเชื่อม และป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ เราต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วม กทม.ตั้งแต่วันนี้ โดยโครงการถมทะเลจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน” นายทักษิณ ระบุ
นายทักษิณ ชินวัตร ในงาน Vision for Thailand 2024
สำหรับโครงการ ‘ถมทะเล’ บางขุนเทียน ถือเป็นโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ โดยการสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลในลักษณะของเกาะ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีเกาะจำนวน 9 เกาะ และให้แต่ละเกาะมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำ และมีประตูเปิด-ปิดได้ โดยเกาะแห่งแรกจะสร้างในพื้นที่ของชายทะเลบางขุนเทียน จากนั้นจะสร้างเกาะอื่นไปจนถึงชลบุรี รวมระยะทางตลอดอ่าวตัว ก. ประมาณ 100 - 150 กิโลเมตร
ทั้งนี้ พื้นที่เกาะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเชื่อมของเขื่อนกั้นน้ำแต่ละเกาะจะมีขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และสร้างห่างจากชายฝั่งไป 1 กิโลเมตร มีถนนเชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่งเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังพื้นที่เกาะต่างๆ ได้ โดยมีการตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า ‘สร้อยไข่มุกอ่าวไทย’ เนื่องจากเกาะแต่ละเกาะจะมีลักษณะเหมือนไข่มุกร้อยกันเป็นเส้น โดยการเชื่อมต่อระหว่างเกาะแต่ละเกาะจะก่อสร้างประตูน้ำเพื่อคอยกั้นน้ำขึ้น-ลง โดยแนวคิดนี้ในปัจจุบันถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดหลักของโครงการถมทะเล บางขุนเทียน เพื่อสร้างเมืองใหม่ และแก้ปัญหาน้ำท่วม ว่า แนวคิดดังกล่าวมีเหตุผลยืนยันถึงความจำเป็นต้องผลักดันออกมาให้เร็ว เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว
เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก เป็นเรื่องที่พูดคุยกันในองค์การสหประชาชาติ (UN) มาหลายปีแล้วเกี่ยวกับ โดยมีการประเมินถึงเรื่องที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ มีโมเดลเบื้องต้นประเมินว่า จากภาวะโลกร้อนสูงสุด จะทำให้น้ำแข็งละลายสูงสุด ส่งผลถึงน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากถึง 5 – 6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทยถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าอ่าวไทยจะอยู่ที่จังหวัดลพบุรี สระบุรีทางตอนเหนือ อุทัยธานี ส่วนกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชลบุรีบางส่วน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชบุรีบางส่วนจะหายไป
“จากปัญหานี้กลัวว่าจะรุนแรงขึ้น ตอนนี้จึงมีหน้าที่ต้องคิดว่า เอาให้แน่ว่าจะเชื่ออะไรบ้าง หรือประเทศไทยจะประกาศว่าไม่เชื่อก็เอาสิ แต่ถ้าเชื่อก็ต้องหาทางป้องกัน และการป้องกันก็มีทางเลือกหลายอย่างที่จะต้องมาคิดกัน” นายปลอดประสพ ระบุ
นายปลอดประสพ กล่าวถึงทางเลือกในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม จากน้ำทะเลขึ้นสูง 5 – 6 เมตร จนท่วมพื้นที่ลุ่มภาคกลาง 16,000 ตารางกิโลเมตร ว่า แนวทางที่ 1 การสร้างพนังกั้นน้ำ แนวทางนี้ถือเป็นการป้องกันในระยะสั้น 2 – 5 ปี คือการเสริมพนังกั้นน้ำ หรือเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ต้องเร่งทำพร้อมกัน ด้วยการไปอุดรอยรั่วให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และต้องอยู่ในระดับเดียวกัน
แนวทางที่ 2 การยกถนน เพราะพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด เช่น ถนนเพชรเกษม ถนนสุขุมวิท พร้อมทั้งทำประตูน้ำในคลองสำคัญที่มีทางออกสู่ทะเล และต้องสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่บริเวณ 4 แม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล
“มองว่า การยกถนนคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาถนนพระราม 2 สร้างมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ยังไม่เสร็จ ถ้าเราจะยกถนนสองเส้นหลัก ตั้งแต่เพชรบุรียาวไปชลบุรี เพื่อหนี้น้ำท่วมยิ่งโกลาหลมาก ๆ ไปอีก ส่วนพื้นที่ชายน้ำจากแนวถนนไปหาทะเลก็ต้องสูญเสียอยู่ดี” นายปลอดประสพ กล่าว
ส่วนแนวทางที่ 3 การทำเขื่อนในทะเล ซึ่งทางเทคนิคถือว่าทำได้ แต่คงใช้งบจำนวนมหาศาล ดังนั้นมีแนวความคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างเกาะขึ้นมาในพื้นที่ปากอ่าวในปัจจุบัน ด้วยการถมทะเล
สำหรับการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะ นายปลอดประสพ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อถมทะเลสร้างเกาะขึ้นมาได้แล้ว แต่ละเกาะนั้นจะต้องวางแผนการใช้พื้นที่ล่วงหน้าว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอะไร โดยจะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น บางเกาะอาจจะใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อแทนท่าเรือเดิมที่มีอยู่ ทั้งกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หรืออาจจะให้โรงงานอุตสาหกรรมประมงไปตั้งบริเวณเกาะ หรือพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอร์ช ก็ได้ หรืออาจจะใช้เกาะใดเกาะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับชลบุรี สร้างสนามบินแห่งใหม่ ก็ได้เช่นกัน
“ขณะนี้เทคโนโลยีการทำเกาะมีมาก และหลายประเทศก็ได้ทำแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง หลายประเทศก็มีประสบการณ์ ส่วนเกาะที่สร้างขึ้นเอกชนลงทุนก็อาจจะได้สัมปทานไป แต่ทั้งหมดเป็นแค่แนวคิดส่วนการทำจริงก็ค่อยมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งการทำโครงการนี้คิดเล่น ๆ ว่า จะเป็นโครงการลงทุนสิ่งสร้างที่สูงที่สุด ยากที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่เร่งทำเราก็ต้องจมน้ำ” นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป หากแนวคิดนี้รัฐบาลหยิบยกไปใช้ก็อาจเริ่มต้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อพิจารณาแนวคิดที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ต่างๆทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทร มาพัฒนา เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ
สำหรับแนวทางการลงทุน นายปลอดประสพ กล่าวว่า จะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้สัมปทานการใช้ที่ดินอาจจะเป็น 99 ปี ซึ่งสามารถพัฒนาเกาะนี้ใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ หรือเป็นเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ตซิตี้ใช้พลังงานสะอาด โดยจะมีการติดตั้งกังหันลมหรือโซลาร์เซลล์ก็สามารถที่จะออกแบบได้ โดยเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้วพื้นที่นี้ก็จะเป็นของภาครัฐ
โดยแนวความคิดดังกล่าว จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของภาครัฐที่ได้โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ลุ่มในภาคกลางที่จะถูกน้ำทะเลท่วมถึงได้ในอนาคต
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย
กลุ่มอนุรักษ์ชายงฝั่งกังวลถึงประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศแนวคิดโครงการ ‘ถมทะเล’ หรือ ‘สร้อยไข่มุกอ่าวไทย’ ทำให้หลายภาคส่วนด้านสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมและประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยกลุ่ม Beachlover กลุ่มภาคประชนอนุรักษ์ชายฝั่ง ได้ตั้งประเด็นและชวนคิดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผ่านมุมมองทางด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
-
ปริมาณทราย: การถมทะเลจะต้องใช้ทรายเป็นวัสดุหลัก เนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการถมเป็นทะเลโคลน ซึ่งมีความต้องการทรายประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อถมพื้นที่ประมาณ 282,000 ไร่ (50 ตารางกิโลเมตร X 9 เกาะ) ซึ่งมีขนาดรวมใกล้เคียงกับพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม
-
การเลือกแหล่งทราย: หากเป็นทรายก่อสร้างโดยทั่วไป จะใช้จากแหล่งทรายในแม่น้ำ ซึ่งหากขุดทรายมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้ตลิ่งพังเสียหายได้ หรืออาจมาจากทรายบก หรือทะเล ที่ยังมีข้อกังวลอยู่ว่าจะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาศักยภาพแหล่งทรายในประเทศไทยกันอย่างละเอียด หรือหากใช้วัสดุเหลือทิ้งหรือขยะเหมือนในต่างประเทศ เช่น สนามบินคันไซในญี่ปุ่น ก็ยังเป็นที่กังขาในเชิงปริมาณและคุณภาพ ว่าจะมีอย่างเพียงพอและเป็นวัสดุหรือขยะที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำมาถมทะเลหรือไม่
-
การออกแบบวิศวกรรม: ต้องมีการออกแบบที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักและป้องกันการทรุดตัวในอนาคต โดยจะต้องคำนึงถึงสภาพดินและการกัดเซาะชายฝั่งที่อาจเกิดขึ้น หากพิจารณาจากกายภาพของพื้นที่พบว่าบริเวณใกล้ฝั่งเป็นตะกอนโคลนเลนมีโอกาสทรุดตัวสูง ออกไปไกลหน่อยถึงจะมีส่วนประกอบของทรายปะปน
-
การใช้เทคโนโลยีการก่อสร้าง: ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย เช่น การใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงในการขนส่งและจัดการวัสดุถมอยู่แล้ว เนื่องจากมีโครงการถมทะเลในอดีตมาแล้วหลายโครงการ ทั้งเพื่อป้องกันชายฝั่งและเพื่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ แต่โครงการทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นประชิดฝั่งและดำเนินการบนหาดทรายหรือพื้นท้องทะเลที่ส่วนมากเป็นทราย แม้แต่โครงการอื่นๆในต่างประเทศที่มีการยกตัวอย่างตามข่าว ก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นบนพื้นท้องทะเลที่เป็นทรายหรือบนหาดทรายทั้งสิ้น ในขณะที่โครงการนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการถมทะเลนอกชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร บนพื้นท้องทะเลที่มีสภาพเป็นโคลน ซึ่งมีการฟุ้งกระจายระดับสูงมากเมื่อเทียบกับทราย น่าสนใจว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีใดเพื่อดำเนินโครงการลักษณะนี้
-
การไหลเวียนของกระแสน้ำ: เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ซึ่งคลื่นลมวิ่งเข้าปะทะโดยตรงจากทิศใต้ เกาะเหล่านี้จะวางตัวขวางทิศทางหลักของคลื่นโดยตรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ ทำให้การไหลเวียนของน้ำด้านหลังเกาะจนถึงริมชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเปิด-ปิด บานประตูระบายน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาที่จำเป็น จะยิ่งรบกวนต่อการหมุนเวียนของน้ำมากกว่าเดิม อาจส่งผลให้เกิดการตกตะกอนด้านหลังเกาะต่อเนื่องไปริมชายฝั่ง และส่งผลต่อเนื่องถึงระบบนิเวศน์ป่าชายเลน การประกอบอาชีพประมงที่ต้องใช้ร่องน้ำเพื่อการเข้าออกได้ รวมถึงอาจเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำเนื่องจากน้ำเสียที่ไหลลงทะเลไหลเวียนออกไปไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างเดิม
-
ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์: เนื่องจากมีการปิดปากแม่น้ำหลักถึง 2 สายคือเจ้าพระยาและบางปะกง ตามที่ปรากฎในข่าว ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์หาดโคลน ป่าชายเลน สัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของมนุษย์ รวมถึงมีฝูงโลมาบริเวณใกล้ปากน้ำบางปะกง เป็นเรื่องน่าห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าระบบนิเวศน์อันเปราะบางและห่วงโซ่อาหารที่สำคัญนี้จะมีผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง และหลังดำเนินโครงการอย่างไร
-
โครงการอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์: เนื่องจากโครงการนี้ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้หลายด้าน หลักๆในเชิงการจัดการน้ำคือ ป้องกันน้ำท่วมเมืองด้านใน ป้องกันเมืองจมน้ำจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
-
ป้องกันน้ำท่วม: โดยการบริหารบานประตูที่เชื่อมระหว่างเกาะเหมือนในหลายประเทศ พบว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศจริง แต่หากมองบริบทประเทศไทยที่แม้แต่การบริหารบานประตูในลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ เพื่อการชลประทานและจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลายข้อจำกัด ดังที่ได้พบเห็นปัญหากันตามข่าวมากมาย ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากเป็นการจัดการบานประตูระดับ Mega project ยิ่งน่ากังวลถึงประสิทธิภาพในการจัดการให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประงค์ของโครงการได้จริง
-
ป้องกันเมืองจมน้ำจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล: วัตถุประสงค์นี้จะบรรลุได้หากดำเนินการควบคู่กับโครงการอื่นๆไปด้วย เช่นการยกระดับถนนด้านใน การสร้าง Green belt ด้านในอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากบานประตูที่เชื่อมระหว่างเกาะมีการเปิด-ปิด ในยามที่บริหารจัดการน้ำท่วม ในขณะที่ Sea level rise ที่เกิดขึ้นนั้น Rise โดยไม่ Fall หรือขึ้นแล้วไม่มีลดลง เป็นไปได้ว่าโครงการนี้จะไม่สามารถป้องกันหรือปิดตายผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่จะมีต่อพื้นที่ด้านหลังโครงการได้อย่างสมบูรณ์แน่ๆ
-
ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง: หากเกาะที่ถูกสร้างขึ้นวางตัวห่างจากชายฝั่งทะเลในระยะ 1 กิโลเมตร ตามข่าว เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่า ลมที่ยังคงพัดเหนือผิวหน้าน้ำทะเลจะทำให้เกิดขึ้นคลื่นด้านหลังเกาะขึ้นอีกระลอกและยังคงวิ่งเข้ามาปะทะชายฝั่งทะเลเหมือนเดิม เนื่องจากเกาะมิได้วางห่างฝั่งในระยะทางที่ใกล้เพียงพอที่จะพอส่งผลให้ลมไม่พัฒนาคลื่นต่อเหมือนการวางตัวของโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งทั่วไป อย่างไรก็ตามคลื่นจะมีความสูงและพลังงานลดลงมากกว่าการไม่มีเกาะบัง แต่การลดลงนี้จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะน้อยลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการกัดเซาะบริเวณนี้ว่าเกิดจากคลื่นเป็นหลักหรือไม่อย่างไร
-
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด โดยยังไม่มีการลงมือศึกษากันในรายละเอียดแต่อย่างใด
เนเธอร์แลนด์ ประเทศแห่งการถม
สำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการถมทะเล จนเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยจะนำมาเป็นประยุกต์ใช้ในแนวคิดโครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย คือ เนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการถมทะเล เนื่องจากจะต้องสู้กับน้ำทะเลมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และต้องรับมือกับความท้าทายในการอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากถึง 26% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่ล้ำสมัยเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่และป้องกันภัยจากน้ำท่วมในประเทศ
โครงการถมทะเลในเนเธอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Zuiderzee Works และ Delta Works เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างพื้นที่ใหม่จากทะเลเพื่อการเกษตรและการพัฒนาเมือง โดย Zuiderzee Works เป็นโครงการยักษ์ใหญ่ที่เปลี่ยนทะเลตื้นทางใต้ที่ชื่อ Zuiderzee ให้กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืด โดยใช้การถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่เกษตรกรรมและพัฒนาเมืองใหม่ โครงการนี้ช่วยป้องกันการไหลเข้าของน้ำทะเลที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำ
สำหรับ Delta Works เป็นโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมที่ประกอบด้วยเขื่อนและโครงสร้างควบคุมกระแสน้ำ เพื่อป้องกันการท่วมจากน้ำทะเลที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โครงการนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลก และเป็นที่พึ่งสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาน้ำท่วมในเนเธอร์แลนด์
แม้ว่าเนเธอแลนด์ จะประสบความสำเร็จในการถมทะเล เพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกลับเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ระบบเขื่อนเดิมอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือในอนาคต ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง
จากกรณีศึกษาของเนเธอแลนด์ บ่งชี้ให้เห็นว่า โครงการถมทะเลยังมีความท้าทายด้านการบำรุงรักษา เนื่องจากพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเลต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมกระแสน้ำ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ที่ถูกถม
ความยั่งยืนในระยะยาวของการถมทะเลจึงยังคงเป็นข้อกังขา เนื่องจากโครงการเหล่านี้ต้องการงบประมาณในการดูแลและบำรุงรักษาอย่างมหาศาล เช่นในโครงการถมทะเลที่ดูไบที่ต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อรักษาสภาพเกาะเทียมให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ
การสร้างเมืองบนพื้นที่ถมทะเลอาจดูเป็นทางออกที่ดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและภัยจากสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดคำถามว่าการถมทะเลเป็นทางออกที่ยั่งยืนจริงหรือไม่ ในขณะที่หลายประเทศยังคงเลือกใช้วิธีการถมทะเลในการขยายพื้นที่เมืองเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสิ่งสำคัญคือการหาสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวที่การถมทะเลอาจสร้างขึ้นด้วย
Delta Works, Netherlands