‘สภาผู้บริโภค-คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น’ แพร่ผลศึกษาฯ ชี้ดอกเบี้ย ‘บัตรเครดิต’ ไทย ไม่สะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้ หลังปล่อยให้ ‘ผู้ประกอบการ’ คิดดอกเบี้ยเต็มเพดาน 16% ทำให้ ‘ผู้บริโภค’ ไม่มีทางเลือก เสนอ ‘ธปท.’ นำระบบคิดดอกเบี้ยตาม ‘ความเสี่ยง’ ของลูกหนี้มาใช้
.........................................
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแพร่งานศึกษาวิจัย เรื่อง ‘การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ’ โดยงานศึกษาวิจัยฯดังกล่าว พบว่า แม้อัตราดอกเบี้ยและและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตในประเทศไทยจะอยู่ 16% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 5 ประเทศที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐฯ
แต่เนื่องจากรายได้เฉลี่ยของคนไทยน้อยกว่าทั้ง 5 ประเทศ ทำให้การกำหนดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเต็มเพดาน ที่ระดับ 16% ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่มีค่าครองชีพสูง อีกทั้งเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ใช้บริการบัตรเครดิตในประเทศไทยที่ไม่สูงนัก จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการชำระหนี้
ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะผู้วิจัยฯ เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจบัตรเครดิตของประเทศไทยเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐฯ โดยรวบรวมข้อมูลธุรกิจบัตรเครดิตช่วงปี พ.ศ.2561-2565 ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank)
โดยประเทศไทยมีผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหมด 23 ราย แบ่งเป็นธนาคาร 14 ราย และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร 9 ราย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย จีน เยอรมนี และสหรัฐฯ นั้น ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นธนาคาร ส่วนเกาหลีใต้ผู้ให้บริการจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารเป็นหลัก
ทั้งนี้ ในแง่การใช้งานบัตรเครดิตในประเทศไทยมีจำนวนบัญชี 25 ล้านบัญชี โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 88,000 บาท ขณะที่จีนมีจำนวนบัญชีสูงถึง 800 ล้านบัญชี ส่วนเกาหลีใต้มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัญชีสูงสุดถึง 1.54 ล้านบาท ซึ่งยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิตต่อบัญชีก็สอดคล้องกับมูลค่าการใช้จ่าย โดยเกาหลีใต้มีมูลค่ายอดคงค้างหนี้ต่อบัญชีสูงถึง 135,724 บาท ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซียที่มียอดคงค้างสูงสุดที่ 141,023 บาทต่อบัญชี ในทางกลับกัน ประเทศไทยมียอดคงค้างหนี้ต่ำที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18,768 บาทต่อบัญชี
ผศ.ดร.จักรกฤช ระบุว่า แม้ว่าประเทศไทยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 16% ต่อปี ต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ (20%) เยอรมนี (16-20%) และสหรัฐฯ (21.16-30.74%) แต่งานวิจัยพบว่า เพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตของประเทศไทยไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ใช้บริการบัตรเครดิตในไทยที่ไม่สูงนัก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการชำระหนี้
ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบระบบดอกเบี้ยระหว่างไทยและต่างประเทศ 5 ประเทศ แสดงให้เห็นข้อจำกัดสำคัญ 4 ประการ ที่ทำให้การกำหนดดอกเบี้ยในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ได้แก่ 1.ความแตกต่างด้านขนาดเศรษฐกิจ (GDP) 2.วิธีการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เช่น การกำหนดเพดานและการลอยตัวดอกเบี้ย 3.อำนาจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งวัดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและรายได้ต่อหัว และ 4.โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน
“ผู้วิจัยขอย้ำว่าการศึกษาในประเด็นดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีความจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของธุรกิจบัตรเครดิตเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” ผศ.ดร.จักรกฤช ระบุ
ผศ.ดร.จักรกฤช ระบุว่า ผู้วิจัยฯได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากฎระเบียบที่ช่วยทำให้การกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตมีความเหมาะสมมากขึ้น เช่น การใช้ระบบ Credit Scoring (คะแนนที่ชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้) เพื่อแยกผู้บริโภคที่มีเครดิตดีและเครดิตด้อย และการคิดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยง เพื่อสร้างความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในตลาดบัตรเครดิต
“แม้งานวิจัยธุรกิจบัตรเครดิตในไทยจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด แต่ยังคงต้องเพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้ประกอบการและภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ รายได้ และค่าครองชีพ” ผศ.ดร.จักรกฤช ระบุ
ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและเพิ่มความเป็นธรรมในระบบบัตรเครดิตไทย คณะผู้วิจัยฯได้เสนอแนวทางสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1.ปรับระบบการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของผู้บริโภค (Risk-based Pricing) เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำระบบการคิดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงมาใช้ โดยใช้ข้อมูลจากคะแนนเครดิตของผู้บริโภค ควบคู่กับการกำกับเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม โดยวิธีนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคที่มีประวัติการเงินดีได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมและยุติธรรมมากขึ้น
2.เพิ่มความโปร่งใสของต้นทุนผู้ประกอบการ เสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลต้นทุน เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ การเพิ่มความโปร่งใสดังกล่าวจะช่วยให้การตั้งราคามีความชัดเจนและตรวจสอบได้
3.ควบคุมวงเงินรวมของบัตรเครดิตต่อผู้ถือบัตร โดยเสนอให้ควบคุมจำนวนการถือบัตรเครดิตของผู้บริโภค เนื่องจากการมีวงเงินรวมที่เกินรายได้เฉลี่ยต่อเดือน อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินเกินตัว
4.ปรับเปลี่ยนรูปแบบหนี้จากหมุนเวียนเป็นผ่อนชำระ โดยเสนอให้ ธปท. ผลักดันการเปลี่ยนแปลงหนี้บัตรเครดิตแบบหมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระชัดเจน (Term Loan) สำหรับผู้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูง แต่ยังไม่สามารถลดเงินต้นได้
“ปัจจุบัน ธปท. กำลังพิจารณาการใช้อัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงในสินเชื่อรายย่อย รวมถึงบัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่าย การติดตามการชำระหนี้ และการโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินอื่น” ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การกำหนดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ที่ 16% ในอัตราเดียวกันทุกธนาคาร สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและการขาดการแข่งขัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคเสียเปรียบจากการแข่งขันที่จำกัดของการใช้บริการบัตรเครดิต ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงมีความพยายามจัดทำวิจัยเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
“แม้เพดานดอกเบี้ยในไทยถูกกำหนดไว้ต่ำเพียง 16% ต่อปี แต่ธุรกิจบัตรเครดิต โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร กลับสามารถทำกำไรได้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับ 5 ประเทศ โดยอัตรากำไรเฉลี่ย (Profit Margin) ในไทยอยู่ที่ 6.57% สูงกว่าเกาหลีใต้ (4.34%) และสหรัฐฯ (2.45%) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจบัตรเครดิตในไทยทำกำไรได้สูง คือ ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำและการบริหารความเสี่ยง
แม้ดูเหมือนว่าความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่องสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรายได้และต้นทุนอย่างดี อย่างไรก็ตาม และเพดานดอกเบี้ยในไทยจะต่ำกว่าหลายประเทศ แต่การที่ผู้ประกอบการสามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยสูงเต็มเพดานนี้ กลับกลายเป็นภาระหนักสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและชำระหนี้ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ในตลาด” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี ระบุด้วยว่า งานศึกษาวิจัย เรื่อง ‘การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ’ ดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้อ้างอิงถึงบทเรียนจากงานวิจัยก่อนหน้าของอาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ที่ระบุว่า กฎเกณฑ์ที่สามารถกำหนดเพดานราคา (Price Ceiling) อาจนำไปสู่การ “รวมหัว” หรือ Price Collusion ซึ่งผู้ประกอบการสามารถร่วมมือกันตั้งราคาสูงสุดตามเพดานที่กำหนดได้
“สภาผู้บริโภคจะนำข้อเสนอจากงานวิจัยฯชิ้นนี้ ไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยไม่กระทบต่อความเข้มแข็งของธนาคาร การเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภคจะส่งผลดีต่อทุนในประเทศ รวมทั้งช่วยให้ธนาคารไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้” น.ส.สารี กล่าว