"...การขออนุมัติดังกล่าวได้มีการประมาณการโดยระบุรายละเอียดปริมาณ/จำนวนการใช้สื่อโฆษณาแต่ละประเภทในบันทึกการขออนุมัติแล้ว และเมื่อมีการจัดทำแพคเกจการขายแล้วมีอัตราค่าโฆษณาต่ำกว่าสิทธิประโยชน์ ที่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอ จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ประกอบกับการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว บมจ. อสมท ได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนตามแพคเกจที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอ เช่นเดียวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาขน) ซึ่งสนับสนุนงานประชุมดังกล่าวเป็นเงินสด จำนวน 5,000,000 บาท บมจ. อสมท จึงไม่ได้รับความเสียหาย..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีกล่าวหา นายเขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และพวกอีก 5 ราย คือ นายธิติพร จุติมานนท์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการฝ่าย 9 MCOT HD สังกัดสำนักโทรทัศน์ สายงานการผลิตเนื้อหาและรายการ , นางสาวศิริกุล เลากัยกุล อดีตกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด, นางมัทนา วัทนฤทธิ์ กรรมการบริษัทและผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญผูกพันบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด, บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด และนายเสฏฐวุฒิ จับทร์วาววาม อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานการผลิตเนื้อหาและรายการ
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์งานประชุม SB'18 Bangkok (Sustainable Brands 2018 Bangkok) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บีอิ้งชัสเทน จำกัด ทำให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง นายเขมทัตต์ พลเดช ,นายธิติพร จุติมานนท์ และ นายเสฏฐวุฒิ จับทร์วาววาม
ส่วนนางสาวศิริกุล เลากัยกุล ไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดทางวินัย บมจ. อสมท. ตามระเบียบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2558 ขณะที่นางมัทนา วัทนฤทธิ์ และบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีมูลความผิดทางวินัย
ขณะที่ความผิดทางอาญาให้ตกไป ตามความเห็นคณะไต่สวนเบื้องต้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับรายละเอียดผลการไต่สวนคดีนี้ ของคณะอนุไต่สวน ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนเบื้องต้น มีความเห็นว่า นายเขมทัตต์ พลเดช และพวก ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัย ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ จะมีมติ 4 ต่อ 2เสียง เห็นด้วยกับคณะไต่สวนว่า นายเขมทัตต์ พลเดช และพวก ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยดังกล่าว
ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
@ ข้อเท็จจริงทางคดี
บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ลงนามโดยนางมัทนา วัทนฤทธิ์ กรรมการผู้อำนาจบริษัทฯ มีหนังสือลงวันที่ 30 ส.ค. 2561 ถึง นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท.อสมท จำกัด (มหาชน) (ตำแหน่งในขณะนั้น) ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุม SB'18 Bangkok (Sustainable Brands 2018 Bangkok) ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนต์ระดับโลกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค. 2561 โดยเสนอสิทธิประโยชน์ให้แก่ บมจ. อสมท ตามแพคเกจของงาน (Sponsor Packase) ระดับ LEAD มูลค่า 5,000,000 บาท
ขณะที่ นายเขมทัตต์ เห็นว่า บมจ.อสมท ไม่มีความสามารถในการสนับสนุนเป็นตัวเงินโดยวัตถุประสงค์ของงานเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการพระราชดำริไม่ใช่การทำในเชิงค้ากำไร ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงของแต่ละองค์กร การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าวเป็นการหาลูกค้าใหม่และสร้างความเชื่อมั่นแก่ บมจ.อสมท แต่มีระยะเวลาการจัดงานกระชั้นชิดและอาจมีมูลค่าสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่ากัน การดำเนินการแบบพันธมิตร (Media Parer) จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ บมจ.อสมท มากกว่า ดำเนินการโดยวิธีแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการ (Bate) ซึ่งต้องมีผลประโยชน์ที่เท่ากัน
จึงได้มอบหมายให้นายธิติพร จุติมานนท์ หารือกับผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าควรให้สิทธิประโยชน์ใดบ้างจึงจะมีความเหมาะสม โดยคำนวณมูลค่าสื่อตามสิทธิประโยชน์ที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอ แล้วเสนอบันทึกลงวันที่ 31 ส.ศ. 2561 ถึงนายเสฏฐวุฒิ จับทร์วาววาม เพื่อนำเสนอนายเขมทัตต์ พิจารณาอนุมัติการประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว ในรูปแบบการเป็นพันธมิตร (Medea Patner) เนื่องจากเป็นการแลกสื่อกับสื่อ และสิทธิประโยชน์บางส่วนที่ อสมท ได้รับไม่อาจเสนอเป็นมูลค่าได้ เช่น ภาพลักษณ์ ที่ดีในฐานะองค์กรเทียบเท่าองค์กรอื่น ๆ ของประเทศไทยที่เข้าร่วมสนับสนุนงานดังกล่าว และเป็นการประชาสัมพันธ์ ช่อง 9 MCOT HD ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก โดยเสนอสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ สื่อโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD สื่อวิทยุ FM 96.5 MHz และ สื่อออนไลน์
ต่อมานายเขมทัตต์ ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 นายธิติพร จึงได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติ นางสาวอนัญญาจึงได้จัดทำแพคเกจการขายเกี่ยวกันรายการ รายละเอียด และราคาของโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ แล้วบันทึกข้อมูลลงในระบบบริหารงานขายโฆษณาของ บมจ.อสมท เพื่อสั่งออกอากาศ โดยบันทึกข้อมูลในรูปแบน Standard Package / Free Promote ระบุงาน SB' 18 (บาร์เตอร์) ส่วนลด 100% เนื่องจากระบบ BMS ยังไม่รองรับการทำรายการแบบพันธมิตรและเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าโฆษณาจาก บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด โดยมีอัตราค่าโฆษณาเพื่อการแลกเปลี่ยนโฆษณาหรือบริการตามที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กำหนด (Rate card) ซึ่งรวมค่าโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุที่ บมจ.อสมท ให้การสนับสนุน บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,293,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นมูลค่าสิทธิประโยชน์ (Value) ของสื่อที่ บมจ.อสมท ใช้แจ้งกับลูกค้าและมีการแจ้งไปยัง บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ทราบนั้น สื่อโทรทัศน์มีมูลค่า 4,660,000 บาท สื่อออนไลน์มีมูลค่า 200,000 บาท และสื่อวิทยุมีมูลค่า 200,000 บาท รวมสิทธิประโยชน์ที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้รับมีมูลค่า 5,060,000 บาท ในการส่งมอบสิทธิประโยชน์ระหว่างกัน บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้จัดทำเอกสาร Event Report 2018 สรุปรายการและภาพแสดงสิทธิประโยชน์ที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้มอบให้บมจ.อสมท
โดยนางสาวอนัญญา ได้สรุปว่า บมจ. อสมท ได้รับสิทธิประโยชน์ตาม Package ของงานSB' 18 มีเพียง 2 รายการ ที่ บมจ.อสมท ไม่ใช้สิทธิ คือ สิทธิในการรับบัตรผู้จัดนิทรรศการและสิทธิของผู้บริหารในการร่วมรับประทานอาหารร่วมกับผู้บรรยาย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการจัดนิทรรศการและผู้บริหาร บมจ.อสมท ติดภารกิจ
ต่อมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท มีหนังสือลงวันที่ 7 พ.ย. 2561 ถึงคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ขอให้ตรวจสอบการให้ส่วนลด 100 % ในการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะการแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการตามระเบียบบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการ พ.ศ. 2561
การกระทำของนายธิติพร แม้เป็นการช่วยเหลือ บมจ.อสมท ในการลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตอนการแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการอย่างถูกต้องครบถ้วน จึงเห็นควรแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และเห็นควรให้มีการกำหนดคำนิยามและแนวทางปฏิบัติการดำเนินการแบบ Medie Partner ให้ชัดเจน และคณะกรรมการตราจสอบจริ พิจารณาแล้ว เห็นควรให้มีการกำหนดนิยามและแนวทางปฏิบัติการดำเนินการแบบ Medie Partner เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป
บมจ.อสมท จึงได้มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติการดำเนินการในรูปแบบพันธมิตร (Media Partner) และใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562
@ ประเด็นพิจารณา
คดีนี้ มีประเด็นต้องพิจารณา 4 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นแรก
การอนุมัติสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งาน SB'18 Bangkok (Sustainable Brands 2018 , Bangkok) เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ บมจ.อสมท หรือไม่?
การที่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด โดยนางมัทนา มีหนังสือขอความอนุเคราะห์สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว โดยเสนอสิทธิประโยชน์ให้แก่ บมจ.อสมท. ตามแพคเกจ (Package) ของงานรวมมูลค่า 5,000,000 บาท โดยไม่ได้ระบุมูลค่าสิทธิประโยชน์แต่ละรายการ และนายธิติพร มีบันทึกถึงนายเสฏฐวุฒิ เพื่อนำเสนอนายเขมทัตต์ พิจารณาอนุมัติให้การสนับสนุนโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุเพื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว แก่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด (รวมค่า โฆษณาเป็นเงิน 1,243,000 บาท) และนายเขมทัตต์ อนุมัติตามเสนอ จึงมีลักษณะเป็นการใช้สื่อของบมจ.อสมท เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งอาจมีสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ไม่เท่ากัน
แต่ขณะเกิดเหตุ บมจ.อสมท ยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติการดำเนินการแบบพันธมิตร (Media Partner) ที่ชัดเจน การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว จึงต้องดำเนินการตามระเบียบบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการ พ.ศ. 2561
เมื่อนายธิติพร ดำเนินการขอสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว แบบพันธมิตร (Media Partner) และนายเขมทัตต์ อนุมัติตามเสนอ โดยการขออนุมัติไม่ได้ระบุค่าโฆษณาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับ และดำเนินการโดยไม่ออกใบแจ้งหนี้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และไม่ทำสัญญา การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว ตาม ระเบียบฯ
ประเด็นสอง
นายเขมทัตต์ อนุมัติให้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าวเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด หรือไม่ การกระทำของนางสาวศิริกล มีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่?
การที่ บมจ.อสมท. สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว แก่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะการแลกเปลี่ยนโยนาและบริการโดยไม่ต้องให้มีการแข่งขันราคาตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง แม้การขออนุมัติไม่ได้ระบุค่าโฆษณาแต่ละรายการ แต่มีการระบุรายละเอียดปริมาณ/จำนวนการใช้สื่อแต่ละประเภท ซึ่งเมื่อมีการจัดทำแพคเกจการขายโฆษณาแล้ว มีอัตราค่าโฆษณารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,243,000 บาท และไม่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตสื่อ ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สงกว่ามูลค่าสิทธิประโยชน์ที่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอให้แก่ บมจ. อสมทตามแพคเกจของงานระดับ LEAD มูลค่า 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนงานประชุมดังกล่าวครั้งนี้ด้วย เป็นเงินสด จำนวน 5,000,0000 บาท ส่วนมูลค่าสิทธิประโยชน์ จำนวน 5,060,000 บาท เป็นมูลค่าสิทธิประโยชน์สำหรับแจ้งลูกค้าและไม่ใช่ราคาที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กำหนดสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการตามระเบียบฯ
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การอนุมัติให้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด
ส่วนกรณีนางสาวศิริกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการ บมจ.อสมท และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 79.98% ซึ่งได้เข้าทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนโฆษณาและบริการกับ บมจ.อสมท นั้น ขณะเกิดเหตุวันที่ 30 ส.ค. 2561 กฎหมายยังไม่ได้กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารในรัฐวิสาทกิจต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความนัย มาตรา 100 และอยู่ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการออกประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจกิจการตามความในมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ ปปช. พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2563 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่มีการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว
ดังนั้น การกระทำของนางสาวศิริกุล จึงไม่อยู่ในบังคับเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามพ.ร.บ ปปช. พ.ศ.2561
ประเด็นสาม
การอนุมัติสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าวทำให้ บมจ. ได้รับความเสียหาย หรือไม่?
การอนุมัติและการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว แก่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เป็นกรณีที่ บมจ.อสมท และบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการประชาสัมพันธ์โดยเป็นการสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้แก่ บมจ. อสมท. ให้เป็นที่รู้จักแก่เจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ในทางธุรกิจ และสื่อโฆษณาที่ บมจ.อสมท ให้การสนับสนุนประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว มีอัตราค่าโฆษณา รวม 1,243,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าสิทธิประโยชน์ที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอให้แก่ บมจ.อสมท ตามแพคเกจของงานดังกล่าว มูลค่า 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นอัตรามูลค่าเดียวกันกับที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ขอรับการสนับสนุนงานประชุมดังกล่าว จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเงินสดในครั้งนี้ด้วย จำนวน 5,000,000 บาท และบริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้ให้สิทธิประโยชน์ตามแพคเกจที่เสนอให้แก่ บมจ.อสมท
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการอนุมัติให้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าว ไม่ทำให้ บมจ. อสมท ได้รับความเสียหาย
ประเด็นสี่
การกระทำของ นายเขมทัตต์ และพวก มีมูลเป็นความผิดทางอาญาและ/หรือทางวินัย หรือไม่?
นายเขมทัตต์ อนุมัติให้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว โดยดำเนินการแบบพันธมิตร (Media Partner) แม้การขออนุมัติให้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว โดยไม่มีการระบุค่าโฆษณาแต่ละรายการ ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ไม่ทำสัญญาและใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี อันเป็นการไม่ปฏิบัฏิบัติให้เป็นไปตามเป็นไปตามระเบียบฯ
แต่การขออนุมัติดังกล่าวได้มีการประมาณการโดยระบุรายละเอียดปริมาณ/จำนวนการใช้สื่อโฆษณาแต่ละประเภทในบันทึกการขออนุมัติแล้ว และเมื่อมีการจัดทำแพคเกจการขายแล้วมีอัตราค่าโฆษณาต่ำกว่าสิทธิประโยชน์ ที่บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอ จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด ประกอบกับการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว บมจ. อสมท ได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนตามแพคเกจที่ บริษัท บีอิ้งซัสเทน จำกัด เสนอ เช่นเดียวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาขน) ซึ่งสนับสนุนงานประชุมดังกล่าวเป็นเงินสด จำนวน 5,000,000 บาท บมจ. อสมท จึงไม่ได้รับความเสียหาย
การกระทำของ นายเขมทัตต์ และพวก จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
เขมทัตต์ พลเดช / ภาพจาก https://mgronline.com/
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดผลการไต่สวนคดีนี้ ของคณะอนุไต่สวน ป.ป.ช. ที่พิจารณาสำนวนเบื้องต้น มีความเห็นว่า นายเขมทัตต์ พลเดช และพวก ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัย ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า มีความเห็นแตกต่างในส่วนของ ผู้อำนวยการสำนักไต่สวน ที่เห็นแย้งว่า นายเขมทัตต์ พลเดช และพวก มีมูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง
ส่วนรองเลขาธิการฯ เห็นด้วยกับความเห็นของคณะไต่สวน ก่อนที่จะมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ก่อนที่จะมีมติ 4 ต่อ 2เสียง เห็นด้วยกับคณะไต่สวนว่า นายเขมทัตต์ พลเดช และพวก ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยตามที่ปรากฏข่าวไปแล้ว
แต่ไม่ว่า ผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของ ผู้บริหาร อสมท และหัวหน้าส่วนราชการรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ในการพิจารณาดำเนินงานเรื่องต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยแบบนี้ขึ้นมาได้อีก ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป