“...ผู้สมัครฯ สามารถเลี้ยงข้าวผู้ช่วยหาเสียงได้ แต่ห้ามเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ช่วยหาเสียงสามารถรับเงินค่าจ้างในการเดินหาเสียงช่วยได้ เงินค่าจ้างผู้สมัครฯจะจ่ายให้ผู้ช่วยหาเสียงในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กรณีเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี คิดเป็นอัตรา 340 บาทต่อวันต่อผู้ช่วยหาเสียงหนึ่งคน...”
การปรากฏกายของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี บนเวทีปราศรัยครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่จังหวัดอุดรธานี ปลุกบรรยากาศการเมือง 20 ปีที่ผ่านมาให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี กลายเป็น ‘สนามวัดพลัง’ ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาชน
พรรคเพื่อไทย ‘แพ้ไม่ได้’ เพราะเป็น ‘เมืองหลวงคนเสื้อแดง’ การแพ้-ชนะ มีนัยยะทางการเมืองที่แสดงให้เห็นว่า ‘คนเสื้อแดง’ ยังคงรัก-ศรัทธา ‘ทักษิณและพรรคเพื่อไทย’ อยู่หรือไม่
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ ‘คนเสื้อแดง’ ส่ง ‘ทักษิณถึงฝั่ง’ และพรรคเพื่อไทยจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสมข้ามขั้ว’ ได้หักอกคนเสื้อแดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแกนนำคนเสื้อแดง ‘แพแตก-แตกคอ’ เพราะมีความคิดออกเป็นสองขั้วความคิด
ฟากฝั่ง ‘พรรคประชาชน’ ที่คาดหวังที่จะ ‘ตีฐานที่มั่น’ ของพรรคเพื่อไทยให้สั่นสะเทือนไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ หลังจาก ‘คณะก้าวหน้า’ ลงไปปูทาง-ทลายเครือข่ายบ้านใหญ่ไปก่อนหน้านี้
พรรคประชาชน ยังคงต้องพิสูจน์ความจริงใจกับ ‘คนเสื้อแดง’ อีกมาก เห็นได้จากการเลือกตั้งท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ที่ไม่ส่งคนลงชิง ‘เก้าอี้นายกอบจ.’ แม้กระทั่งเมื่อปี 63 ภายใต้การนำของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า ที่แพ้ราบคาบศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ทั้้ง 42 จังหวัด
ประกอบกับคำปราศรัยบนเวที-ลงจากเวที ทะลุจุดเดือดของ ‘ทักษิณ’ ในบทบาทเป็น ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ให้กับ ‘ศราวุธ เพชรพนมพร’ ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี เบอร์ 2 โดยกล่าวพาดพิงทุกขั้วอำนาจ ส่งผลให้อุณหภูมิการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ร้อนระอุ !
เช่นเดียวพรรคประชาชน ที่เตรียมเปิดเวทีปราศรัยใหญ่เลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่มี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่บินกลับจากสหรัฐอเมริกา มาเป็นแกนนำ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ให้กับ ‘คณิศร ขุริรัง’ ผู้สมัครนายกอบจ.อุดรธานี เบอร์ 1
@ กางระเบียบกกต.ว่าด้วย ‘ผู้ช่วยหาเสียง’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปตรวจสอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ให้เห็นว่าอะไร ‘ทำได้’ และ อะไร ‘ทำไม่ได้’
ข้อ 4 ให้ความหมายของ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ หมวด 3 ผู้ช่วยหาเสียง ข้อ 15 ผู้สมัครที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงเพื่อช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเก็บรวบรวมเอกสารที่ผู้สมัครแจ้งมานั้นไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียงตามวรรคหนึ่ง ผู้สมัครสามารถจัดหาเสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ในกรณีผู้สมัครไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียงจะดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มิได้
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งในการเลือกตั้งนั้น ให้ผู้สมัครดำเนินการแจ้งไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น
ข้อ 16 ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครแจ้งเหตุการณ์นั้นให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว
@ ค่าจ้าง 340 บาทต่อคนต่อวัน
นายรพีพัฒน์ กองแก้ว บุคลากรช่วยปฏิบัติงานตามโครงการตรวจติดตามพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงสิ่งที่ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ อะไร ‘ทำได้-ทำไม่ได้’ ว่า ผู้ช่วยหาเสียงมีหน้าที่ช่วยผู้สมัครเลือกตั้งหาเสียง ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ เช่น การแจกแผ่นพับ ใบปลิว โบรชัวร์ได้ เดินหาเสียงช่วยกันได้ เดินถือป้าย ใส่เสื้อทีมได้
“สามารถทานข้าวที่ผู้สมัครฯ นำมาจัดเลี้ยงตอนหาเสียง ผู้สมัครฯ สามารถเลี้ยงข้าวผู้ช่วยหาเสียงได้ แต่ห้ามไม่ให้เลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสามารถรับเงินค่าจ้างในการเดินหาเสียงช่วยได้ ซึ่งเงินค่าจ้างผู้สมัครฯจะจ่ายให้ผู้ช่วยหาเสียงในอัตราค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดนั้น ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 ซึ่งในกรณีเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี คิดเป็นอัตรา 340 บาทต่อวันต่อผู้ช่วยหาเสียงหนึ่งคน”นายรพีพัฒน์กล่าว
นายรพีพัฒน์กล่าวว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้สมัครฯ กับผู้ช่วยหาเสียง ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครตกลงกับผู้ช่วยหาเสียงว่า วันนี้ไปเดินครึ่งวัน ขอจ่าย 200 บาทได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามถึงแม้ผู้สมัครฯจะจ่ายค่าจ้างให้ผู้ช่วยหาเสียง 200 บาท หรือ น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ผู้สมัครก็ต้องนำมายื่นบัญชีค่าใช้จ่ายต่อกกต.ในอัตรา 340 บาทต่อวัน
“ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครฯ คนนี้ สามารถไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครฯคนอื่นได้อีก เพราะเป็นการจ้างแรงงาน ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง สมมุติว่า ผู้สมัครฯหมายเลข 1 หมายเลข 2 หมายเลข 3 อยากจะได้ ‘ผู้ช่วยหาเสียง ก.’ คนเดียวกันก็ได้ และสามารถได้รับเงินค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียงจากผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน”นายรพีพัฒน์
@ ผู้สมัครฯไม่แก้ ‘ผิดทั้งคู่’
ส่วนสิ่งที่ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ จะ ‘ทำไม่ได้’ คือ ห้ามทำผิดกฎหมายเหมือนกับผู้สมัคร ฯ ห้ามทำ เช่น ห้ามแจกเงินซื้อเสียง ห้ามหาเสียงด้วยวิธีการใส่ร้าย หาเสียงด้วยถ้อยคำสุภาพ ห้ามจัดเลี้ยง ห้ามจัดงานมหรสพและจัดงานรื่นเริง เพราะกฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใด’
“ขึ้นเวทีปราศรัยได้ ปราศรัยช่วยได้ แต่ปราศรัยแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องดูถ้อยคำนั้น ๆ ของผู้ช่วยหาเสียงแต่ละคน ถ้าผู้ช่วยหาเสียงคนนั้นเกิดปราศรัยแล้วใช้ถ้อยคำที่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้สมัครฯ ยืนอยู่ข้าง ๆ แล้วแสดงกิริยา หรือแสดงถ้อยคำปรากฎออกมาเลยว่า ไม่ยอมรับการกระทำนี้ หรือแก้ไขถ้อยคำที่ผู้ช่วยหาเสียงคนนั้นพูดทันที ผู้ช่วยหาเสียงผิดคนเดียว ผู้สมัครฯไม่ผิด แต่ถ้าผู้สมัครฯไม่แก้อะไรเลย ถือว่ายอมรับการกระทำของผู้ช่วยหาเสียง ถือว่าผู้สมัครฯยอมรับเอาประโยชน์นั้นก็จะผิดทั้งคู่”นายรพีพัฒน์
ทั้งนี้ หมวด 5 กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 22 ห้ามผู้สมัครดำเนินการ หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดดำเนินการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 23 ห้ามผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้
- แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
- แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้มีการระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจน
- ใช้พาหนะต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้แจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
- หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
- ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามปกติประเพณีต่าง ๆ
- หาเสียงเลือกตั้งโดยนำชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือภาพบุคคล โดยมิได้มีหนังสือให้ความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น
- จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนี้
@ ‘วัดเรตติ้ง’ ผู้ช่วยหาเสียง
ปี่กลองการเมือง ‘เลือกตั้งสนามเล็ก’ จึงดังกระหึ่ม หลังจาก ‘นายกอบจ.’ ประกาศชิง ‘ไขก๊อก’ ก่อนครบวาระ - ก่อนศึกเลือกตั้ง ‘นายกอบจ.’ พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
โหมโรงด้วยการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ที่มี ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ที่เคยได้รับความนิยมสูงสุดทางการเมือง ‘ต่างทศวรรษ-ต่างกาลเวลา’ คนหนึ่ง-ทักษิณ ชินวัตร เป็นอดีต ‘นายกฯสองสมัย’ อีกคน-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับ ‘คะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงที่สุด’ ทะลุ 14 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นนับจากนี้ นอกจากเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ‘ผู้สมัครรับเลือกตั้ง’ ของแต่ละพรรค-แต่ละเบอร์แล้ว ยังเป็นการ ‘วัดเรตติ้ง’ ของ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ที่มีดีกรีถึง ‘ผู้นำทางจิตวิญญาณ’ และ ‘ผู้มีอิทธิพลทางความคิด’ ชนิดที่ยอมกันไม่ได้
ทักษิณ ชินวัตร - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง (ที่มาภาพ : Facebook ศราวุธ เพชรพนมพร / พรรคประชาชน)
กลางสมรภูมิศึกชิงเก้าอี้นายกอบจ.อุดรธานี และสนามต่อไปที่จังหวัดสุรินทร์-เพชรบุรี-นครศรีธรรมราช และกำแพงเพชร ก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่นายกอบจ.ทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นเส้นบาง ๆ ที่เป็น ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่าง ‘ถูกกฎหมาย’ กับ ‘ผิดกฎหมาย’ การเลือกตั้ง
เมื่อองคาพยพของทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ยกทัพใหญ่-ระดมขุนพล ‘ผู้เล่นหลัก’ ระดับผู้มีบารมี-ผู้มีอำนาจทางการเมือง ลงไปตะลุมบอนสนามเลือกตั้งท้องถิ่นเต็มสรรพกำลัง จึงต้อง ‘วัดฝีมือ’ คณะกรรมการการ กกต.ในฐานะ ‘ผู้บังคับใช้กฎหมาย’ ที่เปรียบเสมือน ‘กรรมการผู้ตัดสิน’ ว่าจะเป็นเพียง ‘เสือกระดาษ’ หรือ ‘ยักษ์มีกระบอง’
อ่านข่าวประกอบ :