“...จากการไต่สวนและชี้มูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ข้างต้น ถือว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อันเป็นที่สงสัยได้ว่าผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ไม่ประพฤติตรงไปตรงมา คดโกง และประพฤติผิดกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วมีมติว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย…”
...........................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อปี 2561 นายอำพล วงศ์ศิริ (ผู้ฟ้องคดี) ในฐานะผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ‘เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง’ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2) ต่อศาลปกครอง
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี กกต. มีมติเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2560 ให้นายอำพล ‘ขาดคุณสมบัติ’ ในการเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. และให้ยกเลิกมติและประกาศ กกต. ที่คัดเลือกให้นายอำพล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.
นายอำพล (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่า การกระทำของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากปราศจากอำนาจ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนมติ กกต. ในการประชุมครั้งที่ 39/2560 เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2560 ,เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่อง ยกเลิกประกาศฯ ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กกต. ลงวันที่ 11 ม.ค.2560
คืนสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. และดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างต่อไป พร้อมทั้งเพิกถอน มติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อบ.160/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.184/2567) โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
@ย้อนคดีพิพาทตัดสิทธิ์'อำพล'นั่งเลขาธิการ กกต.
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำอุทธรณ์ และคำแก้อุทธรณ์แล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 และตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 ม.ค.2560
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2560 ได้พิจารณา เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคล ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่มเติม
กรณีปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่าผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554
และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้วินิจฉัยข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้วว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรรมอีกครั้ง
และให้ชะลอการดำเนินการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 ไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว
ต่อมาเลขาธิการ ก.พ. ได้มีหนังสือคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1010/7 ลงวันที่ 3 ก.พ.2560 ถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่า มูลกรณีเกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จากการที่ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ที่ 285/2554 ลงวันที่ 4 ก.ค.2554 แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวนวยการสำนัก (อำนวยการ ระดับต้น) จำนวน 2 ราย โดยใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนที่กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 ก.ย.2540 อันเป็นสาระสำคัญ จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ด่วนที่สุด ที่ ปช 0016/1566 ลงวันที่ 8 ส.ค.2560 ถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งความคืบหน้าและผลการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาผู้ฟ้องคดี โดยพิจารณาแล้วมีมติว่ากรณีเดียวกันนี้
การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) ในการประชุมครั้งที่ 39/2560 เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2560 จึงมีมติให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 และยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 ม.ค.2560
และประธานกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 24 ต.ค.2560 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 ม.ค.2560
และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต 0004/6307 ลงวันที่ 24 ต.ค.2560 ถึงผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) เพื่อแจ้งการยกเลิกประกาศดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองชั้นต้น… ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสูดเป็นคดีนี้
@มติชี้มูลฯ'ป.ป.ช.'ไม่มีผลต่อการพิจารณาคุณสมบัติ
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (นายอำพน) ว่า ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 24 ต.ค.2560 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งลงวันที่ 11 ม.ค.2560 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามลำดับ ดังนี้
ปัญหาประการแรก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ
อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือไม่
และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) นำผลการชี้มูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว มีมติว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติด้านความชื่อสัตย์สุจริต เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า…การพิจารณาโทษทางวินัยที่จะถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย หรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ฟ้องคดี (นายอำพน) ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง และชี้มูลความผิดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นฐานความผิดหลักเสียก่อน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงจะมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดที่เกี่ยวข้องกันได้
เมื่อกรณีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ไต่สวนและขี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
โดยมิได้ไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) จึงไม่มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาลและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) มิใช่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ที่จะต้องพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) เพียงแต่ต้องการนำผลการชี้มูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ไปใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต ในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือไม่นั้น
จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาคุณสมบัติ ในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ประการใด
@มีพฤติการณ์สงสัยได้ว่า'ไม่ตรงไปตรงมา-ทำผิดกฎหมาย'
อีกทั้งกรณีดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เคยมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และต่อมาประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้มีหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ด่วนที่สุด ที่ ปช 0016/1566 ลงวันที่ 8 ส.ค.2560 ถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อแจ้งความคืบหน้าและผลการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) นำไปใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น
เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ว่า ต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความสำเร็จด้านการบริหารตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นต้นไป นั้น มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ว่า ต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง
ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในระยะเวลาสิบปีก่อนได้รับแต่งตั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกินหกสิบปีในวันที่ได้รับแต่งตั้ง และมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด
กฎหมายทั้งสองฉบับให้ความสำคัญ และเรียกร้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติตรงกัน คือ (1) มีความเป็นกลางทางการเมือง (2) มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (3) มีสัญชาติไทย (4) มีอายุไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (5) มีคุณวุฒิ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานหรือบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยในส่วนคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริตนั้น แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2560 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จะมิได้กำหนดคำนิยามของคำว่า “ซื่อสัตย์” “สุจริต” และ “ประจักษ์” ไว้ อีกทั้งไม่ปรากฏคำนิยามในบทกฎหมายอื่นที่อาจนำมาเทียบเคียงได้ก็ตาม
แต่คำทั้งสามข้างต้นย่อมเป็นที่เข้าใจของบุคคลทั่วไปว่า
(1) “ซื่อสัตย์” หมายความว่า จริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่คดโกง และไม่หลอกลวง
(2) “สุจริต” หมายความว่า ความประพฤติดีถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดกฎหมาย
(3) “ประจักษ์” หมายความว่า ปรากฏชัด จากความหมายของคำทั้งสามตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป
จึงอาจสรุปได้ว่า การเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น ย่อมหมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่ประชาชนและข้าราชการทั่วไปทราบและยอมรับว่ามีความประพฤติตรงไปตรงมา ไม่คดโกง และไม่ประพฤติผิดกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ด่วนที่สุด ที่ ปช 0016/1566 ลงวันที่ 8 ส.ค.2560 ถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งความคืบหน้าและผลการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาผู้ฟ้องคดี
โดยพิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการมติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
ซึ่งจากการไต่สวนและชี้มูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ข้างต้น ถือว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อันเป็นที่สงสัยได้ว่าผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) ไม่ประพฤติตรงไปตรงมา คดโกง และประพฤติผิดกฎหมาย
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ ในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วมีมติว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
@ขาดคุณสมบัติด้าน‘อายุ’ในการเป็น‘เลขาธิการฯ’
ปัญหาประการที่สอง ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติด้านอายุในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการการเลือกตั้งหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะที่มีการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวว่า ต้องมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ก็ตาม
แต่เมื่อต่อมาในระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 โดยกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีในวันที่ได้รับแต่งตั้ง
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีเกิดในวันที่ 21 ก.ย.2499 จึงมีอายุเกินหกสิบปีก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติด้านอายุในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกต.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2560 ได้พิจารณาทบทวนมติที่เห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกครั้ง
และต่อมาได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 39/2560 เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2560 ให้ยกเลิกมติในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 11 .ค.2560 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 ม.ค.2560 เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 24 ต.ค.2560 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 ม.ค.2560 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (นายอำพล) อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี นั้น
เห็นว่า กรณีพิพาทในคดีนี้ มิใช่เรื่องการดำเนินการทางวินัย อันสืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด อีกทั้งมติดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองจึงยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติดังกล่าว กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ไม่อาจรับฟังได้
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วย พิพากษายืน” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ.160/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.184/2567 ลงวันที่ 20 ส.ค.2567 ระบุ
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของคดีพิพาทในการคัดเลือก ‘เลขาธิการ กกต.’ เมื่อปี 2560 แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ การวินิจฉัยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้มีวินิจฉัยเกี่ยวกับนิยามของคำว่า ‘ผู้มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ เอาไว้ด้วย!