“…การควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของ อย. ไม่ครอบคลุมสถานประกอบการที่มีความจำเป็นแก่การควบคุม ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพต่อประชาชนผู้บริโภค…”
.......................................
จากกรณีที่ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับ 'นิตยสารฉลาดซื้อ' มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจ ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ จำนวน 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยทำการสุ่มตรวจ ‘สารเคมีเกษตร’ มากกว่า 400 ชนิด และพบว่ามีสารเคมีเกษตรตกค้างใน 23 ตัวอย่าง และมีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึง 95.8%
กระทั่งมีเสียงเรียกร้องจาก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ให้ผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเก็บองุ่นไชน์มัสแคท ออกจากท้องตลาด หรือสำแดงหลักฐานว่าองุ่นไชน์มัสแคทไม่มีสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
รวมถึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งบังคับใช้มากว่า 40 ปีแล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการจัดทำแผนพัฒนาความปลอดภัยการบริโภคอาหาร เป็นต้น นั้น (อ่านประกอบ :‘สภาผู้บริโภค’ จี้ อย.จัดการ บ.นำเข้า ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ หลังพบสารเคมีตกค้าง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำรายงาน ‘การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข’ มีรายละเอียด ที่น่าสนใจดังกล่าว
@‘สสจ.’ออก‘ใบอนุญาตฯ’ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
ปัจจุบันวัตถุอันตรายถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การนำไปใช้ในกระบวนการผลิตประเภทโลหะด้านอุตสาหกรรมวัตถุอันตราย การนำไปเป็นสารสำคัญผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงหรือผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชด้านการเกษตร ตลอดจนการนำไปเป็นสารสำคัญผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคด้านสาธารณสุข ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
ในทางตรงกันข้ามวัตถุอันตรายสามารถก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ และสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน หากผู้ใช้นำมาใช้งานหรือเก็บรักษาไม่ถูกวิธี หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ ดังปรากฏเป็นข่าวให้เห็นในสังคมบ่อยครั้ง เช่น การผลิตเครื่องสำอาง ธูปไล่ยุง โดยใช้สารวัตถุอันตรายต้องห้าม การนำผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชที่มีสารวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ และการรั่วไหลของสารเคมีจากการเก็บรักษาไม่ถูกวิธี เป็นต้น
ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมการใช้ประโยชน์จากวัตถุอันตรายเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่ผลิตวัตถุอันตราย ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย โดยมีกระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการภายใต้สังกัดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 2) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) ปีงบประมาณ พ.ศ.2564-2566 มีข้อตรวจพบที่สำคัญ 1 ข้อตรวจพบ สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบ การควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของ อย. ไม่ครอบคลุมสถานประกอบการที่มีความจำเป็นแก่การควบคุม
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายของส่วนกลาง อย. และส่วนภูมิภาค สสจ. จำนวน 7 แห่ง ดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้มีสถานประกอบการที่มีความจำเป็นแก่การควบคุม ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสถานที่ผลิตและด้านผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.กระบวนการควบคุมช่วงก่อนผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด (Pre-marketing Control) : การออกใบอนุญาตผลิต/นำ เข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการออกใบอนุญาตผลิต/นำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 รายใหม่ ที่ออกในช่วงปี พ.ศ.2564-2566 และได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา ซึ่งออกโดยส่วนกลาง อย. และส่วนภูมิภาค สสจ. พบว่า การดำเนินการออกใบอนุญาตผลิต/นำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยส่วนกลาง อย. สามารถออกใบอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ขณะที่ส่วนภูมิภาค สสจ. บางแห่ง ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตผลิต/นำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดได้ โดยมีใบอนุญาตที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสถานที่ผลิต/สถานที่เก็บ ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาต แต่ สสจ. ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว และมีใบอนุญาตที่ผู้ประกอบยื่นเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง แต่ผ่านการประเมินเอกสาร
@พบการควบคุม‘วัตถุอันตราย’ของ‘อย.-สสจ.’มีช่องโหว่
2.กระบวนการควบคุมช่วงหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (Post-marketing Control) : การตรวจเฝ้าระวังสถานประกอบการ/ผลิตภัณฑ์/โฆษณา และการกำกับดูแลเกี่ยวกับการแจ้งปริมาณการผลิตและนำเข้าวัตถุอันตรายประจำปีกับผู้ประกอบการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2.1 การตรวจเฝ้าระวังและติดตามสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่ อย. กำหนด
จากการตรวจสอบ การตรวจเฝ้าระวังและติดตามสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ.2564-2566 อย. มีผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของ อย. ขณะที่ สสจ. ทั้ง 7 แห่ง ไม่มีผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3
และในส่วนของผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) และชนิดที่ 2 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง จะต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) ของ อย. และ สสจ. ทั้ง 7 แห่ง พบว่า อย. มีผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ขณะที่ สสจ. ไม่มีผลตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2
ทั้งนี้ หากไม่มีการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบสถานะและความเหมาะสมของสถานประกอบการที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ประกอบกับการควบคุมสถานประกอบการที่ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ในขั้นตอนการแจ้งข้อเท็จจริง/แจ้งดำเนินการ จะไม่มีการเข้าตรวจสถานที่ผลิตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ การรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ พบว่า ขั้นตอนการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังของ อย. ได้จัดทำคู่มือและดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานการตรวจเฝ้าระวังและติดตามผล โดยเมื่อดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่แล้วเสร็จ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสรุปผลการตรวจเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นจนถึงผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายทราบ
ในส่วนของ สสจ. ดำเนินการตามคู่มือการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่แต่ละ สสจ. จัดทำเอง โดยเมื่อดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่แล้วเสร็จ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการสรุปผลการตรวจเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำ ดับขั้นจนถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทราบ
ทั้งนี้ ผลการตรวจเฝ้าระวังดังกล่าว ไม่ได้มีการรวบรวมและสรุปผลการตรวจร่วมกันระหว่าง อย. และ สสจ. ทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตในภาพรวมได้
2.2 สสจ.ไม่ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ และสสจ. บางแห่งไม่ได้ตรวจเฝ้าระวังฉลากวัตถุอันตราย
จากการตรวจสอบด้านการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในช่วงปี พ.ศ.2564-2566 ของ อย. และ สสจ. ทั้ง 7 แห่ง พบว่า อย. มีผลการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ขณะที่ สสจ. ไม่มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ในส่วนของการเฝ้าระวังฉลากวัตถุอันตราย พบว่า อย. และ สสจ. จำนวน 3 แห่ง มีการตรวจเฝ้าระวังฉลากวัตถุอันตราย โดยมีวิธีดำเนินการที่ต่างกัน ขณะที่ สสจ. จำนวน 4 แห่ง ไม่ได้ดำเนินการเฝ้าระวังฉลากวัตถุอันตราย
2.3 สสจ.บางแห่งไม่มีการตรวจเฝ้าระวังการโฆษณาวัตถุอันตราย
จากการตรวจสอบเอกสารและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านการเฝ้าระวังโฆษณาวัตถุอันตรายในช่วงปี พ.ศ.2564-2566 ของ อย. และสสจ. ทั้ง 7 แห่ง พบว่า อย. มีผลการตรวจเฝ้าระวังโฆษณาวัตถุอันตราย ขณะที่ สสจ. ไม่มีผลการตรวจเฝ้าระวังการโฆษณาวัตถุอันตราย
2.4 สสจ. บางแห่งยังไม่เริ่มกำกับดูแลในช่วงหลังครบกำหนดการแจ้งปริมาณการผลิตและนำเข้าวัตถุอันตรายประจำปีกับผู้ประกอบการ
จากการตรวจสอบผลการกำกับดูแลเกี่ยวกับการแจ้งปริมาณผลิตและนำเข้าวัตถุอันตรายประจำปีกับผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจากข้อมูลการแจ้งปริมาณการผลิตและนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่มีความจำเป็นในการควบคุมของผู้ประกอบการในพื้นที่ความรับผิดชอบของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปี พ.ศ.2563-2565
พบว่า ผู้ประกอบการยังแจ้งปริมาณการผลิตและนำเข้าไม่เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด โดยมีทั้งใบรับแจ้ง/ใบอนุญาตที่ไม่เคยแจ้งปริมาณ และใบรับแจ้ง/ใบอนุญาตที่แจ้งปริมาณไม่ครบทุกปี
และในส่วนวิธีการกำกับดูแลผู้ประกอบการที่ยังแจ้งปริมาณการผลิตและนำเข้าไม่เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด พบว่า ช่วงก่อนครบกำหนดการแจ้งปริมาณประจำปี ทั้งส่วนกลาง อย. และส่วนภูมิภาค สสจ. ดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยมีการประชาสัมพันธ์เตือนให้ผู้ประกอบการ เพื่อทราบถึงหน้าที่และโทษเกี่ยวกับการแจ้งปริมาณฯ อย่างเป็นประจำทุกปี ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ประชาสัมพันธ์หน้าเว็ปไซต์ หนังสือแจ้งผู้ประกอบการ แจ้งในกลุ่ม Line OA อีเมล และทางโทรศัพท์
แต่ช่วงหลังครบกำหนดการแจ้งปริมาณประจำปี พบว่า เมื่อปี พ.ศ.2566 ส่วนกลาง อย. ได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ยังแจ้งปริมาณฯ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด ด้วยการเชิญผู้ประกอบการมารับทราบและชี้แจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่ไม่แจ้งปริมาณฯ เพื่อดำเนินคดี และได้มีหนังสือถึง สสจ. เพื่อขอความร่วมมือให้กำกับดูแลการแจ้งปริมาณฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวของ สสจ. จำนวน 7 แห่ง พบว่า มี สสจ. เพียง 2 แห่ง ที่มีการเริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ยังแจ้งปริมาณฯ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่สสจ. อีก 5 แห่ง ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว
การควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของ อย. ไม่ครอบคลุมสถานประกอบการที่มีความจำเป็นแก่การควบคุม ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพต่อประชาชนผู้บริโภค
โดยการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายไม่ครอบคลุมสถานประกอบการที่มีความจำเป็นแก่การควบคุม มีสาเหตุจากวิธีการปฏิบัติงานควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายบางขั้นตอนยังขาดความชัดเจน และภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ส่วนภูมิภาค สสจ. ต้องรับผิดชอบ มีความหลากหลายทั้งประเภทและจำนวนผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น
ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องจัดลำดับความสำคัญในการทำงาน หรือปฏิบัติงานไม่รัดกุมในบางขั้นตอน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ รวมถึงฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายยังไม่มีความถูกต้องมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดได้
@ออกแนวปฏิบัติคุม‘ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย’หลังออกสู่ตลาด
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การควบคุมวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของ อย. เกิดความครอบคลุมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางที่กำหนด นำมาซึ่งการควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภคและพนักงานผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะผู้บังคับบัญชาหน่วยงานผู้รับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ตามบัญชี 4 แนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นกรรมการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.กำหนดรายละเอียดวิธีการปฏิบัติงานควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในกระบวนการควบคุมช่วงหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (Post-marketing Control) ที่มีความคลุมเครือต่อการปฏิบัติงาน อาทิ การจัดทำแผนตรวจเฝ้าระวังสถานที่ การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่แจ้งปริมาณการผลิต นำเข้า ส่งออก ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้เกิดความชัดเจน
และร่วมหารือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน
2.วิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับฐานข้อมูลในระบบ e-submission ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกำหนดแนวทางแก้ไข ปรับปรุงฐานข้อมูลต่อไป
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ‘ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย’ เช่น สสจ. จะมีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ‘สตง.’ อย่างไรต่อไป!
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภค’ จี้ อย.จัดการ บ.นำเข้า ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ หลังพบสารเคมีตกค้าง