"...บทบาทหน้าที่ของดิฉันเพียง แค่มอบหมายให้ดำเนินการจัดซื้อของ เนื่องจากในช่วงปี 2563 อบจ.ถูกทางจังหวัดไล่บี้มาอย่างหนัก ว่าต้องเข้ามาช่วยกันดูแลเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในพื้นที่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น งบประมาณก็ไม่มี ของต่างๆ ก็หายาก เราก็ช่วยเต็มที่ ราคาของที่ได้มาก็ไม่ได้แพงมากนัก หน้ากากอันละ 10 บาท เท่านั้น ส่วนโครงการฯ ที่จัดซื้อไป มีจำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณก็ไม่ได้สูงมากนัก ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง..."
คดีความเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดกรณีโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เมื่อปี 2563
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเดือน พ.ค.2566 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิด นายกองโท ดร.คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาสารคาม และพวก ในคดีการจัดซื้ออุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดกรณีโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เมื่อปี 2563 ในราคาสูงกว่าปกติโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
โดยคดีนี้ในชั้นไต่สวน มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากถึง 21 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการ และ 2. กลุ่มเอกชน
มติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบตามรายงานผลการไต่สวน ชี้มูลความผิดกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการ จำนวน 7 ราย กลุ่มเอกชน จำนวน 10 ราย
รวมจำนวนผู้ถูกชี้มูลความผิดอยู่ที่ 17 ราย มีเจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการบางรายถูกกันตัวไว้เป็นพยาน
- อบจ.สารคามโดนแล้ว! ป.ป.ช.ชี้มูล 'นายกฯ-ปลัด-พวก 15 ราย' ซื้อยาเวชภัณฑ์สู้โควิดแพง
- เปิดครบ 17 ชื่อ! 'นายกอบจ.สารคาม -พวก' โดนป.ป.ช.ชี้มูล คดีซื้อยาเวชภัณฑ์สู้โควิดแพง
- พบพิรุธสั่งจ่ายเช็ค! เปิดพฤติการณ์ 4ขั้นตอน 'นายกอบจ.สารคาม-พวก' ซื้อยาเวชภัณฑ์โควิดแพง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ กับพวก ในคดีนี้ เป็นทางการ
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
พฤติการณ์ เมื่อเดือน เม.ย.2563 นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการและงบประมาณ และสั่งการให้นางสาวสุกัญญา ศิริวิชัย เจ้าหน้าที่พัสดุ จัดทำเอกสารรายงานขอซื้อวัสดุอุปกรณ์ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุเสนอผ่านนางเพ็ญศรี แสงดารา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และนายแสวง สำราญดี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไปยังนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ เพื่อลงนามอนุมัติ
โดยให้ยึดถือปริมาณ จำนวน และราคากลาง ตามเอกสาร ลายมือเขียนของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ โดยมีนายคุณาวุฒิ ไชยคำภา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ คนใกล้ชิดคอยติดตามเร่งรัดงานโครงการดังกล่าว
อีกทั้งนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ ยังเป็นผู้ติดต่อตกลงราคาไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร บริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด และร้านมาร์จิ้นเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ขายมาตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาววัชราภรณ์ บุญญะภูมมะ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวด้วย
โดยนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ ได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 7,360,000 บาท ในราคาแพงกว่าปกติทั้ง 3 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 3,884,900 บาท และในการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ขาย พบว่า นางเบญจมาศ ศิริมูล หัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งเป็นผู้จัดทำเช็ค และนางสาวขวัญใจ ปรีพูล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเช็คได้จ่ายเช็คโดยมิได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คในรายงานการจัดทำเช็คและต้นขั้วเช็คด้วย
สอง.
ขณะที่ในการไต่สวนพยานเอกสารหลักฐาน ป.ป.ช.พบว่า คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของ พัสดุและราคากลาง ได้กำหนดราคากลางของราคาวัสดุ อุปกรณ์ จำนวน 8 รายการ โดยวิธีการสืบราคาจากตลาด ทั้งที่มิได้สืบราคาจากบริษัทหรือผู้ขาย ตามที่ระบุไว้แต่อย่างใด นอกจากนี้ราคากลางที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนด นั้น ยังมีราคาที่แพงหรือสูงกว่าราคาปกติ โดยน่าเชื่อว่าราคาดังกล่าว นั้น เป็นราคาที่ได้มีการติดต่อตกลงกับผู้ขายแต่ละรายไว้ตั้งแต่ต้น และจะใช้เป็นราคาจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในราคาดังกล่าว เพื่อไม่ให้สูงเกินกว่าราคากลาง ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากราคาส่วนต่างที่แพงปกติว่าปกติดังกล่าว
ป.ป.ช.ยังไต่สวน พบว่า คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง มิได้ทำการติดต่อและเจรจาต่อรองราคากับผู้ขายแต่ละราย ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 78 แต่กลับร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกต่อรองราคาเพื่อรับรองว่าได้เจรจาต่อรองกับผู้ขายทั้งที่ มิได้มีการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแต่อย่างใด
ส่วนขั้นตอนการทำสัญญาซื้อวัสดุ อุปกรณ์จำนวน 8 รายการ จำนวน 3 ฉบับ ในการจัดทำสัญญาซื้อวัสดุ อุปกรณ์ จำนวน 3 รายการ จากผู้ขายจำนวน 3 ราย นั้น จากการไต่สวนพบว่า วัสดุ อุปกรณ์ แต่ละรายการมีราคาแพงกว่าปกติที่มีการจำหน่ายในตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว
ที่สำคัญในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน พบว่า โครงการฯ นี้ อบจ.มหาสารคาม ได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ให้แก่ผู้ขายทั้ง 3 ราย โดยจ่ายเป็นเช็ค
แต่ปรากฎว่าในการจ่ายเงินให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ศรีบุรินทร์การเกษตร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้จ่ายเช็คโดยมิได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คในรายงานการจัดทำเช็ค
ส่วนการจ่ายเงินให้แก่ ร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง นั้น มิได้ให้นางบุญมนี ธนกิจชัยชนะ เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงินลงลายมือชื่อในต้นขั้วเช็ค
สำหรับการจ่ายเงิน ให้แก่บริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ได้จ่ายเช็คให้แก่นางจุฑามาศ (ไม่ปรากฎนามสกุล) แล้ว ให้ลงลายมือชื่อในรายงานการจัดทำเช็ค ทั้งที่ นางจุฑามาศ มิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์)จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือเป็นผู้มีสิทธิรับเงินและไม่ปรากฎ เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การจ่ายเช็คทั้ง 3 ฉบับ ยังมิได้ให้ผู้รับเช็คนั้น ลงลายมือชื่อในต้นขั้วเช็ค ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาตไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยน่าเชื่อว่า การไม่ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อในต้นขั้วเช็ค และรายงานการจัดทำเช็ค รวมทั้งจ่ายเช็คให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าหรือผู้มีสิทธิรับเงิน นั้น มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ดังกล่าว
สาม.
คดีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้ว มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 วรรคสาม
2. การกระทำของนายแสวง สำราญดี และนายคุณาวุฒิ ไชยคำภา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3. การกระทำของนางเพ็ญศรี แสงดารา นางสาวสุกัญญา ศิริวิชัย นางเบญจมาศ ศิริมูล และนางสาวขวัญใจ ปรีพูล มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง
4. การกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร บริษัทสยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด นางบุญมนี ธนกิจชัยชนะ เจ้าของร้านมาร์จิ้นเทรดดิ้ง นางสาววัชราภรณ์ บุญญะภูมมะ นายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
สี่.
ในส่วนการดำเนินการ นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้การดำเนินการทางอาญา ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
ส่วนทางวินัย ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98
********
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นอันสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
ขณะที่ นายกองโท ดร.คมคาย เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา "บทบาทหน้าที่ของดิฉันเพียง แค่มอบหมายให้ดำเนินการจัดซื้อของ เนื่องจากในช่วงปี 2563 อบจ.ถูกทางจังหวัดไล่บี้มาอย่างหนัก ว่าต้องเข้ามาช่วยกันดูแลเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในพื้นที่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น งบประมาณก็ไม่มี ของต่างๆ ก็หายาก เราก็ช่วยเต็มที่ ราคาของที่ได้มาก็ไม่ได้แพงมากนัก หน้ากากอันละ 10 บาท เท่านั้น ส่วนโครงการฯ ที่จัดซื้อไป มีจำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณก็ไม่ได้สูงมากนัก ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง"
บทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีนี้ในชัั้นศาล จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป