"...ว่ากันว่า บุคคลที่อาจถูกกันไว้เป็นพยานตามเงื่อนไขของดีเอสไอ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเครือข่าย ‘ระดับจังหวัด-รอบสุดท้าย’ ส่วนพวก ‘ระดับอำเภอ’ ที่เป็นการโหวตรอบแรกนั้น อาจมิได้ถูกกันไว้เป็นพยาน แต่ต้องการถ้อยคำเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในการสาวหาตัวการเบื้องหลัง..."
ท่ามกลางสภาวะสังคมไทยกำลังเศร้าสลดจากเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่าราว 2.1 พันล้านบาท ถล่มล้มครืนลงมา ส่งผลให้แรงงานก่อสร้างนับร้อยชีวิต ติดอยู่ภายในซากปรักหักพังดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ปัจจุบันรัฐบาล และ กทม.ได้ตั้ง ‘วอร์รูม’ ทำงานประสานกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ในตอนนี้
ยังมีประเด็นข่าวร้อน ที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมาคือ กรณีการสอบ ‘ฮั้วเลือก สว.’ ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้ามาอีกขั้นหนึ่งแล้ว เรื่องนี้นับตั้งแต่ ‘กรมสอบสวนคดีพิเศษ’ (ดีเอสไอ) และ ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ (กกต.) ‘แบ่งงานกันทำ’ โดย กกต.สอบสวนปมฮั้วเลือก สว.ปี 2567 ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและประสานการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและไต่สวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือก สว. มีเจ้าหน้าที่ กกต.ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
2.แต่งตั้งเจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน จาก 3 หน่วยงาน จำนวน 10 คน ได้แก่ ข้าราชการระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดีเอสไอ และ ปปง.
3.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 คณะ เป็นคณะพิเศษที่ประกอบด้วยรองเลขาธิการ กกต. 4 คน และจาก ตร. 3 นายให้มีหน้าที่และอำนาจสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือก สว.ในทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย
โดยความคืบหน้าของ กกต.แจ้งว่า ในคำร้องเลือก สว.ปี 2567 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 577 เรื่อง กกต.พิจารณาแล้วเสร็จ 297 เรื่อง ในส่วนของประเด็น ‘ทุจริต-ฮั้ว’ มีจำนวน 220 เรื่อง โดย กกต.พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง ส่งศาลฎีกาพิจารณา 3 เรื่อง
ขณะที่ดีเอสไอ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการตรวจสอบความผิดมูลฐานฟอกเงินจากการฮั้วเลือก สว.ดังกล่าว โดยล่าสุด มีกระแสข่าวว่า ดีเอสไอเตรียมชงข้อมูลให้ กกต.เอาผิด 30 สว.ที่มีพยานหลักฐานมัดแน่นว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ‘ฮั้ว’ และขอให้ยื่นศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี ‘อิทธิพร บุญประคอง’ ประธาน กกต.ออกมาให้สัมภาษณ์ ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยอธิบายว่า คณะกรรมการฯของ กกต.เริ่มทำงานกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานของคณะกรรมการร่วม เชื่อว่าจะต้องมีความคืบหน้า เพราะว่าทางดีเอสไอ ได้มีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งก็จะนำข้อเท็จจริงเหล่านี้เข้ามาสู่กระบวนการของการสืบสวนไต่สวนก็จะไม่ได้เป็นการเริ่มต้นจากศูนย์
@ อิทธิพร บุญประคอง
ส่วนประเด็นรายชื่อ 30 สว.ที่ขอให้ยื่นศาลฎีกา สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น อิทธิพร ยืนยันว่า อันนี้เป็นเพียงข่าวเท่านั้น แต่ กกต.ไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างนั้น กระบวนการสืบสวนไต่สวนต้องทำด้วยความเรียบร้อย และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเสียก่อน ยังไม่สามารถด่วนสรุปอะไรได้ง่าย ๆ
ทว่าหลังม่านการสอบสวนคดีฮั้วเลือก สว.ครั้งนี้ นอกจากต้องเผชิญแรงกดดันทางการเมืองของ 2 ก๊กสำคัญอย่าง ‘ก๊กแดง-ก๊กน้ำเงิน’ ที่งัดสารพัดวิชา-กลยุทธ์ทางการเมืองออกมาห้ำหั่นกันทั้งบนดิน-ใต้ดินแล้ว ยังต้องเฟ้นหาพยานหลักฐานชิ้นสำคัญมายืนยันว่า ‘โพยฮั้ว’ ที่มีการกล่าวหาว่านำไปสู่การโหวตเลือก 140 สว. เป็นตัวจริง 138 คน สำรอง 2 คนนั้น มีจริงหรือไม่?
ล่าสุด มีรายข่าวแจ้งว่า ทีมสอบสวนของดีเอสไอ ได้ประสานงานทางลับกับ กกต.เพื่อขอภาพ ‘กล้องวงจรปิด’ ในวันเลือก สว.ระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาเชื่อมข้อมูลกับ ‘โพยฮั้ว’ ที่ดีเอสไอรับเรื่องร้องเรียนมา เช็คข้อมูลทาง ‘นิติวิทยาศาสตร์’ คอนเฟิร์มพฤติกรรมของ ‘ผู้สมัคร สว.’ บางคน เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ แบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในขบวนการฮั้วเลือก สว.ออกเป็น ‘สี’ ต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ถ้อยคำได้ง่ายขึ้น คาดว่าหลังมีการจัดเรียง ‘สี’ ของแต่ละกลุ่มเรียบร้อยแล้ว จะเรียกมาสอบรายกลุ่มต่อไป
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ขบวนการดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องระดับ ‘เครือข่าย’ อย่างน้อยราว 2 หมื่นคน ในจำนวนนี้ถูกเลือกเป็นตัวแทน ‘ระดับอำเภอ’ ราว 6,400 คน ‘ระดับจังหวัด’ กว่า 900 คน และได้เข้ารอบสุดท้ายกว่า 400 คน โดยสุดท้ายได้เป็น สว.ตัวจริง 148 คน และ สว.สำรอง 2 คน ซึ่งบุคคลที่เข้าข่ายนอกจากจะถูกดีเอสไอเรียกสอบปากคำแล้ว ยังจะถูกเรียกดู ‘รายรับ-รายจ่าย’ ผ่านบัญชีธนาคารทุกบัญชี ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-30 มิ.ย. 2567 ด้วย
ที่น่าสนใจ ‘ดีเอสไอ’ เปิดเงื่อนไขให้ ‘บุคคลในเครือข่าย’ ที่เข้ามาให้ถ้อยคำ และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่าย สามารถ ‘ถูกกันเป็นพยาน’ ได้ หากพบว่าให้การเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน และเปิดเผยเส้นทางการเงินว่า ได้มาจากใคร จ่ายกันที่ไหน อย่างไร รวมถึงมีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิดทั้งในกลุ่มเดียวกัน หรือ ‘บุคคลเบื้องหลัง’
อย่างไรก็ดีการ ‘กันบุคคลไว้เป็นพยาน’ ไม่ใช่เรื่องง่าย กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เข้าไป ‘สารภาพผิด’ แล้วจะได้รับการกันไว้เป็นพยาน แต่ต้องผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตามข้อบังคับ กคพ.ว่าด้วยแนวทางการสอบสวนบุคคลที่เป็นพยานสำคัญในคดีพิเศษ 2568 กำหนดหลักเกณฑ์ในการกันบุคคลไว้เป็นพยานอยู่ ซึ่งคล้ายคลึงกับการกันบุคคลไว้เป็นพยานของ ‘องค์กรอิสระ’ อื่น ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นั่นคือบุคคลที่จะเข้าข่ายถูกกันไว้เป็นพยานคือ 1.ไม่ใช่ตัวการใหญ่ อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้ 2.คำให้การต้องเป็นประโยชน์ และสามารถบ่งชี้ได้ว่า เกิดขบวนการฮั้วเลือก สว.เกิดขึ้นจริง หรือชี้ช่องค้นหาพยานหลักฐาน เส้นทางเงินได้โดยง่าย 3.คำให้การต้องมีน้ำหนัก มีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือ มิใช่แค่คำพูดลอย ๆ
ว่ากันว่า บุคคลที่อาจถูกกันไว้เป็นพยานตามเงื่อนไขของดีเอสไอ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเครือข่าย ‘ระดับจังหวัด-รอบสุดท้าย’ ส่วนพวก ‘ระดับอำเภอ’ ที่เป็นการโหวตรอบแรกนั้น อาจมิได้ถูกกันไว้เป็นพยาน แต่ต้องการถ้อยคำเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในการสาวหาตัวการเบื้องหลัง
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวการสอบสวนเครือข่าย ‘ฮั้วเลือก สว.’ ในมือของดีเอสไอ ที่มุ่งเน้นไปที่ ‘เส้นทางการเงิน’ โดยพยายามชงเรื่องให้ กกต.รับลูกดำเนินการต่อโดยเร็ว แต่สุดท้ายนอกเหนือจากปัจจัยด้านพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ 2 องค์กรตรวจสอบมาได้แล้ว
ถึงที่สุดแรงกดดันทางการเมือง การรบกันหลังฉากของ ‘ก๊กแดง-ก๊กน้ำเงิน’ จะเป็นตัวแปรสุดท้าย ตัดสินว่า เรื่องนี้จะไปมีบทสรุปตรงไหน จะเอากันถึงตาย หรือว่าสุดท้ายมี ‘ดีลลับ’ ยุติเรื่องราวฉาวโฉ่เอาไว้ก่อน
ต้องติดตามกัน!
อ่านประกอบ :