"...การที่ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงนายกเทศมนตรีตำบลสะแก...แต่กลับมีพฤติการณ์ในลักษณะรู้เห็น และร่วมเล่นการพนันประเภทที่กฎหมายห้ามขาดที่ทำการของเทศบาลตำบลสะแก โดยไม่แยแสถึงฐานะของตน ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในท้องถิ่น ให้เป็นผู้บริหารเทศบาลที่สมควรต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี...แต่กลับเป็นผู้กระทำการอันมิชอบตามที่ถูกกล่าวหาที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน…”
.....................................
จากกรณีเมื่อปี 2557 มีผู้ร้องเรียนว่านายจตุพร จารุสิทธิกุล นายกเทศมนตรีตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ในขณะนั้น และบุคลากรใต้บังคับบัญชา ร่วมกันตั้งวงมั่วสุมเล่นพนันในอาคารอเนกประสงค์ของเทศบาลตำบลสะแก ในช่วงประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.2557 โดยปรากฏหลักฐานเป็นคลิปจำนวนหนึ่งเผยแพร่บนสื่อออนไลน์
ต่อมานายอำเภอสตึก มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการสอบสวนและมีหนังสือลงวันที่ 23 ก.ย.2557 รายงานผลการสอบสวนต่อนายอำเภอสตึกว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์มีเจตนาหวังผลทางการเมือง
พร้อมทั้งระบุว่า การเล่นการพนันดังกล่าว แม้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีและผิดกฎหมาย แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ โดยยังมีการเล่นการพนันที่ถูกกฎหมาย หากได้รับอนุญาต การเล่นพนันไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย หากไม่ได้เล่นอย่างทุ่มเทหรือเป็นอาจิณ
พฤติการณ์ของนายจตุพร ยังไม่ถือว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมหรือเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือราชการ ประกอบกับการลักลอบเล่นการพนันดังกล่าว มิได้ถูกจับกุมโดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเห็นควรรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงให้จังหวัดบุรีรัมย์ทราบและ 'ยุติเรื่อง'
อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 2429/2557 ลงวันที่ 12 พ.ย.2557 และคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 7630/2559 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 (เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวน) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวอีกครั้ง
โดยต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.2559 คณะกรรมการสอบสวน ได้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สรุปความได้ว่า นายจตุพร ได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์ อันเป็นการพนันประเภทที่กฎหมายห้ามเด็ดขาด และเล่นในห้องป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ในบริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลสะแกจริง
พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยและมีความประพฤติในทางที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือเทศบาล จึงเห็นควรเสนอความเห็นต่อ รมว.มหาดไทย เพื่อใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจตุพร พ้นจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลสะแก
ในเวลาต่อมา รมว.มหาดไทย พิจารณาแล้วและมีคำสั่งกระทรวงหมาดไทยที่ 1558/2559 ลงวันที่ 15 ธ.ค.2559 ให้นายจตุพร พ้นจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลสะแก และผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือจังหวัดบุรีรัมย์ ลับ ที่ บร 0023.4/13 ลงวันที่ 11 ม.ค.2560 แจ้งเรื่องดังกล่าวให้นายจตุพร ทราบ
อย่างไรก็ดี นายจตุพร เห็นว่า การที่ รมว.มหาดไทย มีคำสั่งให้ตนเองพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสะแก เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยหลักความสมเหตุผลสม และรุนแรงเกินขอบเขตแห่งความชอบธรรม อีกทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
นายจตุพร จึงยื่นฟ้อง รมว.หมาดไทย กับพวก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3) ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงหมาดไทยที่ 1558/2559 ลงวันที่ 15 ธ.ค.2559 ที่ให้นายจตุพร พ้นจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลสะแก และให้นายจตุพร กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไป พร้อมทั้งจ่ายค่าขาดประโยชน์และค่าตอบแทนคืนให้แก่นายจตุพรด้วย
ต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ นายจตุพร จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อร.40/2564 ดดีหมายเลขแดงที่ อร.88/2567) โดยศาลฯพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลปกครองกลาง นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ต่อสาธารณชนรับทราบ มีรายละเอียด ดังนี้
@ชี้คำสั่ง‘ผู้ว่าฯ’เปลี่ยนแปลง‘คณะกรรมการสอบสวน’ชอบด้วย กม.
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (รมว.มหาดไทย) มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1558/2559 ลงวันที่ 15 ธ.ค.2559 ให้ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) มีคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 7630/2559 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนผู้บริหาร รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น โดยให้สอบสวนเพิ่มเพื่อให้ได้ข้อยุติ นั้น เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีไม่ได้ร่วมเล่นการพนันตามที่ถูกกล่าวหาและลงโทษ
กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นในประการแรกว่า การดำเนินการสอบสวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 7630/2559 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อยุตินั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบ หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า... คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพนักงานเทศบาลสะแก เล่นการพนันในเวลาราชการและในสถานที่ราชการ นายอำเภอสตึกจึงมีคำมีคำสั่งที่ 162/2557 ลงวันที่ 30 พ.ค.2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ทำการสอบสวนและพิจารณาแล้ว มีหนังสือลงวันที่ 23 ก.ย.2557 รายงานนายอำเภอสตึก โดยมีความเห็นสรุปได้ว่า มีการเล่นการพนันจริง แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีและผิดกฎหมาย แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ โดยยังมีการเล่นการพนันที่ถูกกฎหมาย หากได้รับอนุญาต
และการเล่นพนันไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย หากไม่ได้เล่นอย่างทุ่มเทหรือเป็นอาจิณ แต่อาจจะเข้าข่ายเป็นการไม่รักษาชื่อเสียงหรือเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ ควรรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) ทราบและยุติเรื่องในชั้นการสอบสวนข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ นายอำเภอสตึกได้มีบันทึกความเห็นท้ายรายงานการสอบสวนดังกล่าว สรุปได้ว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานเทศบาล และลูกจ้างที่มั่วสุมเล่นการพนันผิดกฎหมายหลายครั้งในบริเวณที่ตั้งสำนักงาน เข้าข่ายมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจใช้อำนาจตามมาตรา 73 (พิจารณาเสนอรัฐมนตรีฯ ใช้ดุลพินิจสั่งให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี พ้นจากตำแหน่ง) และสั่งการให้ดำเนินการทางวินัยต่อพนักงานเทศบาลและลูกจ้างที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว
จากนั้น นายอำเภอสตึก ได้มีหนังสืออำเภอสตึก ลับ ที่ บร 0023.25/3819 ลงวันที่ 25 ก.ย.2557 รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงพร้อมความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ประกอบข้อ 7 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554 มีคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 24294/2557 ลงวันที่ 12 พ.ย.2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี โดยมีนายอำเภอสตึก เป็นประธานกรรมการ
ในการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนได้มีหนังสือ ที่ บร 0023.25/38 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2558 ส่งคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนดังกล่าวพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามที่ระบุในคำสั่งข้างต้นแก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน
ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานผลการสอบสวนว่า ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) มีหนังสือ ที่ บร 57801/16 ลงวันที่ 7 ม.ค.2559 ชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนแล้ว คณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น คณะกรรมการสอบสวน ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 ม.ค.2559 รายงานการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) โดยมีความเห็นในทางเดียวกันกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของอำเภอสตึกข้างต้น ซึ่งนายอำเภอสตึกได้มีหนังสืออำเภอสตึก ลับ ที่ บร 0023.25/5 ลงวันที่ 20 ม.ค.2559 ส่งเอกสารผลการสอบสวนดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย สมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และเห็นว่าระยะเวลาล่วงเลยมานาน เพื่อความรวดเร็ว
จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ประกอบข้อ 11 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554
มีคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 7630/2559 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการสอบสวนเดิม ตามคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 24294/2557 ลงวันที่ 12 พ.ย.2557 เพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติม และมีหนังสือจังหวัดบุรีรัมย์ ลับ ที่ บร 0023.4/120 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ
และข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ว่า คณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานและนัดหมายให้ผู้ฟ้องคดีเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือ ที่ บร 57801/205 ลงวันที่ 30 มี.ค.2559 ชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
จากนั้น คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวได้มีหนังสือ (บันทึกข้อความ) ลงวันที่ 7 เม.ย.2559 รายงานผลการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน จนกระทั่งได้มีการเสนอรายงานผลการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (รมว.มหาดไทย) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณาแล้ว มีคำสั่งที่พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าว เห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเทศบาลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ได้ดำเนินการสอบสวน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
รวมทั้งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับทราบการดำเนินการดังกล่าวโดยตลอด และมิได้คัดค้านในขณะนั้นประกอบกับไม่ปรากฏข้อกำหนดใด กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องผูกพันหรือยึดถือผลการสอบสวนหรือความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนชุดใดเป็นสำคัญ การดำเนินการสอบสวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ข้างต้น จึงเป็นไปตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496
ประกอบกับข้อกำหนดของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่นรองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554 ข้างต้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
@หลักฐาน‘คลิปวิดีโอ’มัดเล่นไฮโลว์-อ้างแค่สาธิตฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาให้ต้องพิจารณาในลำดับถัดไปว่า ข้อเท็จจริงตามผลการสอบสวนรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ได้ร่วมเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันในเวลาราชการและในสถานที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหาและลงโทษหรือไม่
เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารรายงานการสอบสวน ลงวันที่ 7 เม.ย.2559 ของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 7630/2559 ลงวันที่ 23 มี.ค.2559 ว่า
คณะกรรมการได้สอบสวนพยานบุคคล ซึ่งเป็นพนักงานเทศบาลราย นาย ธ. ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ ได้ให้ถ้อยคำยอมรับว่า ได้ร่วมเล่นการพนันบุคลากรสังกัดเทศบาลตำบลสะแก ตามภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่มีการร้องเรียนจริง โดยเล่นที่ห้องป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลสะแก
และมีบุคคลร่วมเล่นการพนันไฮโลว์ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย 1.ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) 2.นาย น. ตำแหน่งนักบริหารงานช่าง 3.นาย ว. ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 4.นาง ร. ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป 5. นาย น. ตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีตำบลสะแก (อดีต)
6.นาย จ. ตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลสะแก 7.นาย ศ. ตำแหน่งนักบริหารงานคลัง 8.นาย ส. ตำแหน่งพนักงานดับเพลิง 9.นาย พ. ตำแหน่งพนักงานดับเพลิง 10.นาย ส. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสะแก 11.นาย ส. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสะแก และ 12.นาย จ. เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนพนักงานเทศบาลและพนักงานจ้างเพิ่มเติม จำนวน 6 ราย...ที่ยอมรับว่า ได้ร่วมเล่นการพนันตามที่ร้องเรียน รวมทั้งให้ดูภาพถ่ายที่มีกลุ่มบุคคลลักลอบเล่นการพนันไฮโลว์ในเทศบาลตำบลสะแก ซึ่งทุกคนต่างให้ถ้อยคำสอดดคล้องตรงกันว่า เป็นภาพของผู้ฟ้องคดี
คณะกรรมการสอบสวนได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดียังคงอ้างอิงเฉพาะพยานบุคคลเช่นเดิม ที่คณะกรรมการสอบสวนชุดเดิมได้มีการสอบปากคำไว้พอสมควรและเพียงพอแล้ว และเมื่อพิจารณาภาพของบุคคลที่ปรากฏตามภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ที่ผู้ร้องเรียนได้นำมามอบให้คณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติม จำนวน 13 คลิป ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายคลึงผู้ฟ้องคดีเป็นอย่างมาก
กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากพยานวัตถุคลิปวิดีโอ พยานบุคคลที่ได้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และเอกสารภาพถ่ายดังกล่าวข้างต้นประกอบกันแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่ปรากฏตามคลิปวิดีโอที่ได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์กับพนักงานและบุคลากรในสังกัดเทศบาลตำบลสะแก คือ ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล)
ทั้งนี้ ผลการสอบสวนดังกล่าว สอดคล้องกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งอำเภอสตึก ที่ 162/2557 ลงวันที่ 30 พ.ค.2557 และผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 24294/2557 ลงวันที่ 12 พ.ย.2557 ที่มีความเห็นตรงกันว่า
ผู้ฟ้องคดีและบุคลากรในสังกัดเทศบาลตำบลสะแก ได้ลักลอบเล่นการพนันไฮโลว์ตามที่ปรากฎในภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจริง และตามภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่ผู้ร้องเรียนได้นำมามอบให้คณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติม ปรากฏวันและเวลาที่มีการเล่นการพนันซึ่งเป็นวันและเวลาราชการ
และพยานบุคคล ซึ่งเป็นพนักงานเทศบาล และพนักงานจ้างที่มีการสอบสวนเพิ่มเติม ราย นาง ช. ตำแหน่งนักวิชาการคลัง น.ส. ท. ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ และ น.ส. พ. อดีตพนักงานจ้างตามภารกิจตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และนโยบายและแผน ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องตรงกันว่า มีการเล่นการพนันไฮโลว์ในห้องป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลสะแก โดยมีการเล่นทั้งในและนอกเวลาราชการจริงตามที่มีการร้องเรียน
ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ของเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสตึก ซึ่งเป็นเอกสารประกอบคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีให้ถ้อยคำต่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยยอมรับว่าภาพในคลิปและสถานที่เป็นภาพของตนและข้าราชการในเทศบาลจริง
แต่ภาพที่เห็น ไม่ได้มีการเล่นพนันไฮโลว์พนันเอาทรัพย์สินกันแต่อย่างใด เป็นการสาธิตการเล่นการพนันโฮโลว์ให้ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ดูเท่านั้น เงินที่ทุกคนถือในมือเป็นเงินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเล่นไฮโลว์มาก่อน จึงอยากรู้กติกาว่า เล่นได้เสียกันอย่างไร
วันที่มีการถ่ายคลิป ทางเทศบาลเตรียมจะออกไปทำงานประชาคมหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ในตอนเย็น ระหว่างรอเวลา เจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์การเล่นไฮโลว์มาเขย่าทายกัน ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) นึกสนุกอยากรู้ว่า มีการได้เสียกันอย่างไร จึงเอาเงินที่เตรียมไว้ซื้อกับข้าวไปทำตอนเย็นมาให้ผู้เล่นทุกคนถือ แล้วลงเล่นเสมือนจริง พอเข้าใจ แล้วก็เลิก ไม่ได้เล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ยอมรับข้อเท็จจริงในคำอุทธรณ์ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเข้ามาถึงสำนักงานเทศบาลได้พบกับพนักงานส่วนหนึ่งกำลังเล่นพนันโฮโลว์เป็นการสันทนาการ ระหว่างรอเวลาที่จะออกหน่วยเทศบาลเคลื่อนที่ เมื่อพนักงานกลุ่มนั้นเห็นผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงเชิญให้ร่วมเล่นด้วย โดยนาย บ. ได้จัดเก้าอี้ให้นั่งฝั่งตรงข้าม ผู้ฟ้องคดีจึงร่วมเล่นด้วย เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและเรียนรู้วิธีการเล่น
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง ที่ปรากฏตามผลการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงของผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนชุดต่างๆ ในเรื่องที่มีการร้องเรียนและปรากฏทางสื่อออนไลน์
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสาธิตวิธีการเล่น ซึ่งขัดแย้งกับผลการสอบสวนที่ปรากฎภาพถ่ายและคลิปวิดีโอการเล่นพนันไฮโลว์ของผู้ฟ้องคดีกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเป็นเวลาหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระในสถานที่แห่งเดียวกัน ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของหน่วยงานที่มีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
ประกอบกับบุคคลที่ร่วมเล่นการพนันดังกล่าว ต่างก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายระดับชั้นของเทศบาลตำบลสะแก และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี การให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นผลลบแก่ทั้งตนเอง และผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้บังคับบัญชา ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังว่า เป็นจริงตามที่ยืนยัน อีกทั้งหากผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไม่ปล่อยปละละเลยหรือมีส่วนรู้เห็นเป็นใจร่วมเล่นการพนันด้วยแล้ว บุคคลเหล่านี้ย่อมไม่กล้าเหิมเกริมเล่นการพนันในสถานที่ดังกล่าว
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นการสาธิตการเล่นและเป็นการสันทนาการนั้น เห็นว่า กิจกรรมเพื่อการสันทนาการในสถานที่ราชการ โดยจัดให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และนอกเหนือความคิดของวิญญูชนคนทั่วไปและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
@คำสั่งปลดชอบแล้ว เหตุมีประพฤติเสื่อมเสียแก่‘ศักดิ์ตำแหน่ง’
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) มีพฤติการณ์ร่วมกับพนักงานเทศบาลตำบลสะแกเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันในเวลาและในสถานที่ราชการจริงตามที่ถูกกล่าวหา แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการเล่นการพนันอันผิดกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา ย่อมไม่มีผลให้รับฟังว่า ไม่มีการกระทำความผิดกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น
และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีปรากฏว่าตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 การเล่นการพนันไฮโลว์เป็นการเล่นการพนันที่ต้องห้ามมิให้มีการอนุญาต เว้นแต่รัฐบาลจะเห็นสมควรอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใดๆ โดยการออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในส่วนของข้าราชการทั่วไปหากได้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลนับแต่อดีตได้กำหนดแนวทางการลงโทษทางวินัยในสถานหนัก อันแสดงถึงการให้ความสำคัญในทางป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้
การที่ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงนายกเทศมนตรีตำบลสะแก เป็นผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลตำบลที่มาตรา 50 (1) แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 บัญญัติให้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย แต่กลับมีพฤติการณ์ในลักษณะรู้เห็น และร่วมเล่นการพนันประเภทที่กฎหมายห้ามขาดที่ทำการของเทศบาลตำบลสะแก
โดยไม่แยแสถึงฐานะของตน ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในท้องถิ่น ให้เป็นผู้บริหารเทศบาลที่สมควรต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี ให้เป็นที่เคารพและศรัทธาแก่ผู้คนในท้องถิ่นตามวิถีทางและครรลองอันชอบธรรม แต่กลับเป็นผู้กระทำการอันมิชอบตามที่ถูกกล่าวหาที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี จึงเพียงพอรับฟังให้ถือได้ว่า เป็นการกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน และถือเป็นการประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496
และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างอื่นในอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีอีก เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (รมว.มหาดไทย) อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติข้างต้น มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1558/2559 ลงวันที่ 15 ธ.ค.2559 ให้ผู้ฟ้องคดี (จตุพร จารุสิทธิกุล) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
การที่ศาลปกครองขั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นฟ้องด้วย
พิพากษายืน
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ ในคดีที่ ‘รมว.มหาดไทย’ มีคำสั่งให้ ‘นายกเทศมนตรีตำบลสะแก’ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากร่วมเล่นพนันไฮโลว์ในสำนักงานของเทศบาล และคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายคดี!