"...พฤติการณ์ในคดีนี้ ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวกร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200Er จำนวน 6 ลำและเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 เพิ่มเติม รวม 7 เครื่อง ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)..."
คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ช่วงเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
กำลังจะเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นทางการแล้ว!
หลังปรากฏข่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ปรากฏว่า อสส.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จึงส่งสำนวนกลับ ป.ป.ช. ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีเอง และคาดว่าจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อศาลเพื่อฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 นี้
สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวในคดีนี้ ในช่วงเดือน ก.ค.2565 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และ นายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท และ มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ อาทิ นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง แต่เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนคนอื่นๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และพ้นข้อกล่าวหา
- ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา ‘ทนง-กวีพันธ์’ คดีสินบนโรลส์รอยซ์บินไทย-'กนก อภิรดี' โดนวินัยร้ายแรง
- เปิดใจ 'ทนง พิทยะ' คดีสินบนโรลส์รอยซ์ "เราไม่ได้ทำอะไรผิด ใครก็คงจะมาทำอะไรไม่ได้"
- หลังอสส.ตีกลับสำนวน! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีสินบนโรลส์รอยซ์ นัด'ทนง-พวก'รายงานตัวศาลฯ 25 ก.ย.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีนี้ พบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
@ ข้อกล่าวหา
ป.ป.ช.ระบุข้อกล่าวหา เป็นทางการ คือ กรณีกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
พฤติการณ์ในคดีนี้ ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวกร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200Er จำนวน 6 ลำและเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 เพิ่มเติม รวม 7 เครื่อง ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (ยังไม่มีรายละเอียดเป็นทางการ)
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 มีมติดังนี้
1.) การกระทำของ นายทนง พิทยะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8
2.) การกระทำของ นายกวีพันธ์ เรืองผกา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์พ.ศ. 2537 ข้อ 13.2.1 และข้อ 13.2.2
3.) การกระทำของ นายกนก อภิรดี จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 ข้อ 13.2.2
4.) การกระทำของนาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 ข้อ 5.3
5.) การกระทำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี นายสมใจนึก เองตระกูล พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายถิรชัย วุฒิธรรม นายธัชชัย สุมิตร นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล นายโอฬาร ไชยประวัติ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย นายชาติศิริ โสภณพนิช นายวิโรจน์ นวลแข นายกอบชัย ศรีวิลาส นายทัศนัย สุทัศน์ณ อยุธยา นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ เรืออากาศโทวีรชัย ศรีภา เรืออากาศโท ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์ และนางแสงเงิน พรไพบูลย์สถิตย์
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
@ การดำเนินการ
สำหรับการดำเนินการในส่วนวินัยและอาญา ป.ป.ช.ระบุว่า การดำเนินการทางวินัย ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายกวีพันธ์ เรืองผกา นายกนก อภิรดี และนาวาอากาศโทศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
ส่วนการดำเนินการทางอาญา ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายทนง พิทยะ และนายกวีพันธ์ เรืองผกา ก่อนที่ อสส.จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จึงส่งสำนวนกลับ ป.ป.ช. ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีเอง และคาดว่าจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อศาลเพื่อฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 นี้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล
บทสรุปสุดท้ายคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป