“...ท้ายที่สุดแล้วประชาชนก็ต้องอยู่ในฐานะที่ต้อง consume ค่าไฟอยู่ฝ่ายเดียว ไม่สามารถพึ่งพาช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะว่ารัฐไม่ได้ส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น ตัว PDP อาจมาในรูปแบบของผลประโยชน์ของกลุ่มพลังงานเป็นหลัก แท้จริงแล้วควรเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ…”
แผน PDP (Power Development Plan) เป็นแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นแผนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยปกติการจัดทำแผน PDP จะระบุว่าประเทศไทย จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ากี่มากน้อยในเวลา 20 ปี ข้างหน้า และจะมีโรงไฟฟ้าประเภทใด ใช้เชื้อเพลิงใด ตั้งอยู่ที่ไหน มาเพื่อรองรับการใช้ไฟ
เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) ตั้งแต่วันที่ 12-23 มิ.ย. 2567 โดยในวันที่ 17 และ 19 มิ.ย. 2567 เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค และเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความเห็นผ่านช่องทาง Facebook : EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิ.ย. 2567
โดยหลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแผนข้างต้นแล้ว จะเป็นการเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (คณะอนุกรรมการจัดทำแผน PDP) จากนั้นเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ภายในเดือน ก.ย. 2567
ทั้งนี้การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 โดยสนพ.นั้น ยังมีประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการรับฟังความคิดเห็นร่างแผน PDP 2024 ที่สนพ.จัดขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 อย่างทั่วถึง และมีข้อเรียกร้องให้ทบทวนร่างแผน PDP 2024 เนื่องจากมีข้อกังวลว่าแผนดังกล่าวจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ในการซื้อ-ขายไฟฟ้า รวมถึงประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และเรียกร้องให้ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนมากกว่านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลและสัมภาษณ์ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ นักวิชาการและตัวแทนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับแผน PDP 2024 เพื่อหาคำตอบในประเด็น
‘ร่างแผน PDP 2024 มีการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายหรือไม่ ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายใหญ่หรือไม่’
@ แผน PDP คือ ?
แผน PDP คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15-20 ปี ที่ใช้กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ โดยกระทรวงพลังงานสรุปสาระสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ไว้ว่า มีเป้าหมายหลัก คือ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) ภายในปี 2608
ซึ่งมีจุดเด่น 3 ประการ ได้แก่
1. ระบบไฟฟ้ามั่นคง คือ มีไฟฟ้าเพียงพอ รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ผู้ใช้ผลิตไฟเอง การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นต้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคำนวณอัตราการสำรองไฟฟ้า เป็นการใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงระบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละช่วงเวลาตลอด 1 ปี) ไม่เกิน 0.7 วัน/ปี หรือ 16 ชั่วโมง/ปี สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และภาคอุตสาหกรรมในการจ่ายไฟอย่างต่อเนื่อง
2. ราคามีความเหมาะสม คือ ค่าไฟอยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เกิน 4 บาท/หน่วย โดยคำนึงถึงการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายเพื่อสมดุลด้านราคา
3. มีความยั่งยืน มีการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็น 51% ภายในปี 2580 (เดิม 36%) และลดการปล่อย CO2 ในภาคผลิตไฟฟ้า จาก 86 ล้านตัน CO2 เป็น 61.8 ล้านตัน CO2
@ มุมมองภาครัฐ: ข้อดี-ข้อเสีย แผน PDP 2024
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ข้อดีของร่างแผน PDP 2024 ได้แก่ 1. ประเทศไทยจะมีระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคงตามมาตรฐานที่ต้องการ 2. มีพลังงานไฟฟ้าสะอาด เราจะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) ถึง 51% ลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลลงก็จะตอบรับกับข้อกำหนดต่าง ๆ ของประเทศและสากล 3. ราคามีความเหมาะสม เนื่องจากเราเน้นพลังงานสะอาดก็พยายามใช้การผลิตที่มาจากต้นทุนที่มีราคาไม่สูง แต่ก็ยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดได้ 4. การผลิตไฟฟ้าก็มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะการไฟฟ้า ผู้ผลิตเอกชน อาจจะเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เข้ามาอยู่ในระบบการผลิตไฟฟ้า มีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ จะมีการกระจายสัดส่วนการผลิตให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
“เหล่านี้ผมว่าข้อดี อีกอย่างแผนฉบับใหม่ก็จะสอดคล้องกับสภาพการผลิตไฟฟ้าหรือการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ส่วนที่เปลี่ยนจากอดีตคือเราจะเน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น จะมีพฤติกรรมการใช้เปลี่ยนแปลงไป รับรองกับที่เราจะมี Smart Grid เอาเรื่องการบริหารจัดการสมาร์ทกริด มาใช้ อันนี้จะเป็นข้อดีโดยรวม” นายสาร์รัฐ กล่าว
‘Smart Grid เป็นระบบไฟฟ้าที่มีความอัจฉริยะในการผลิต ส่งออก จ่ายพลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่กลับมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’
นายสาร์รัฐ กล่าวว่า ข้อเสีย ได้แก่ 1. การบริหารจัดการเรื่อง RE อาจะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้มีต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง จะต้องมีการบริหารจัดการเฉพาะหรือพิเศษขึ้นมา ต้องมีการใช้แบตเตอร์รี่มาใช้ควบคู่กันด้วย ต้องมีการลงทุนเรื่องของโครงสร้างต่าง ๆ หรืออุปกรณ์ที่จะต้องรองรับ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุนในระดับหนึ่ง 2. การที่คนไทยใช้แอร์จำนวนมาก อาจจะต้องมีมาตรการจูงใจหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นต้นทุนที่จะต้องเป็นค่าไฟที่เกิดขึ้น แต่สนพ.ก็พยายามควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ให้สูงเกินไป 3. รูปแบบที่จะเกิดกิจการไฟฟ้า ที่แผนในอนาคตอาจส่งเสริมเรื่องการแข่งขันในตลาดซื้อ-ขาย เช่นเอกชนเข้ามาซื้อ-ขายไฟฟ้ากันเอง ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบตัวระบบไฟฟ้าเดิมบางส่วน แต่ผลกระทบมีการปรับเปลี่ยน ก็จะมีการดูแลผลกระทบในส่วนข้างต้น
@ มุมมองนักวิชาการ : ข้อดี-ข้อเสีย แผน PDP 2024
รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อดีของร่างแผน PDP 2024 ได้แก่ 1. เป็นแผนแรกที่กำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมด เมื่อจบสิ้นแผนนี้ในปี 2580 ประเทศไทยจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสุทธิมากกว่าพลังงานฟอสซิลร้อยละ 51 ต่อร้อยละ 49 เป็นแผนที่ก้าวหน้ามากของพลังงานหมุนเวียน
2. เป็นแผนที่ดีมากสำหรับการเตรียมพร้อมของประเทศไทย ในการรองรับพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น เช่น มีการเตรียมการสร้างแบตเตอร์รี่หรือแหล่งเก็บพลังงานขนาดใหญ่ โดยการใช้พลังงานน้ำเป็นตัวสะสมพลังงาน กลางวันสูบน้ำไปเก็บเหนือเขื่อน แล้วปล่อยน้ำลงมาจากเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ทำให้เรามีพลังงานหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
3. เตรียมความพร้อมเรื่องของตัวสายส่งสมาร์ทกริด เช่น เตรียมพร้อมการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า (Demand Response) โดยช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงก็จะต้องประสานงานกับผู้ใช้ไฟฟ้าให้ใช้ลดการใช้พลังงานกับผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยให้ค่าตอบแทนกับผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่เหล่านั้น การทำ Demand Response ช่วยทำให้ลดการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อตอบสนองเฉพาะช่วง peak ไม่เช่นนั้นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อตอบสนองช่วง peak จำนวนมาก
4. แผน PDP 2024 เน้นเรื่องความมั่นคงของพลังงานเป็นหลักมากกว่ามิติอื่น ๆ หมายความว่ามีการสร้างดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับแค่เพียง 0.7 วันต่อปี ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลก ดัชนีไฟฟ้าดับยิ่งต่ำยิ่งแปลว่าระบบมั่งคงมาก โอกาสไฟฟ้าดับน้อยมาก แน่นอนว่าต้องแลกกับการที่ต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองจำนวนมากในระดับหนึ่ง
รศ.ชาลี กล่าวต่อว่า มีการสะท้อนความคิดเห็นกันไปมาถึงข้อเสียของ PDP 2024 ได้แก่ 1.เรื่องพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 51 ดีที่สุดก็จริงแต่ยังดีไม่พอ ประเทศไทยมีการตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ.2050 ประเทศไทยจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ เราผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0% ภาคไฟฟ้าก็ต้องมีการผลิตคาร์บอนใกล้ 0% ด้วยเหมือนกัน
“เราต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สัดส่วนมากกว่านี้ เร็วกว่านี้ ไม่งั้นเราไม่มีทางไปสู่เป้าหมายของประเทศไทย ถ้าเราดูแผนระดับโลกที่เขาให้คำแนะนำไว้ คือ การผลิตไฟฟ้าควรเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2040 เพื่อให้ประเทศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050” รศ.ชาลี กล่าว
2. แผน PDP 2024 ยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แล้วก็ยังคงใช้ถ่านหินไปจนถึงปลายแผน และสร้างโรงไฟฟ้าถึง 3,600 เมกะวัตต์ในช่วงระหว่างแผน โดยโรงไฟฟ้าข้างต้นใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด หมายความว่า เราสร้างของที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น โรงไฟฟ้าเป็นตัวปลดปล่อยคาร์บอน ยิ่งทำให้ไกลออกไปจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 ออกไปเรื่อย ๆ
“ยิ่งควบคู่กับการใช้ถ่านหิน ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์สูง ไฟ 1 หน่วยของเรา จะมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับเดิม 400 – 500 กรัมต่อไฟ 1 หน่วย ก็จะอยู่ในสินค้าต่าง ๆ ของประเทศไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ แล้วจะโดนกีดกันในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง เก็บภาษีต่าง ๆ ลดการแข่งขันของประเทศ เราไม่ใช้ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของเราให้เต็มที่ เรากลับเลือกพึ่งพาโรงไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติแทน” รศ.ชาลี กล่าว
3. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด แผน PDP 2024 ล้วนเกิดจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งสิ้น กลุ่มทุนพลังงานหรือกิจการพลังงาน ไม่มีโควตาสำหรับประชาชน ในร่างแผน PDP 2024 ไม่มีการส่งเสริมโซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) ประชาชนถูกมองข้าม
4. แผน PDP 2024 บอกว่าประเทศไทยจะต้องมีความมั่นคงทางไฟฟ้า มีการตั้งค่าดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับต่ำ เพื่อให้มีโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ได้ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นภาระค่าไฟให้ประชาชน เห็นว่าไม่มีทางที่แผน PDP 2024 ค่าไฟฟ้าจะถูกลง
“5.แผนนี้เรายังพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยมองข้ามพลังงานในประเทศของเรา เขื่อนและการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลาวหรือประเทศอื่น ๆ สูงถึงร้อยละ 15 หมายความว่า ถ้าเรามีปัญหาหรือน้ำไม่มาหรือเขื่อนไม่พอ ก็ไม่สามารถจะมีไฟฟ้า 15% นี้ได้ เราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศสัดส่วนที่สูงขึ้นสวนทางกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลง ชีวมวลเราก็ไม่ได้ส่งเสริมแผนนี้ แผนนี้ยังสามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีก” รศ.ชาลี กล่าว
@ แผน PDP 2024 มีเพื่อกลุ่มทุนรายใหญ่
รศ.ชาลี กล่าวว่า แผน PDP ฉบับนี้ เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิตรายเล็กจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ถึง 3,600 เมกะวัตต์ ยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่อยู่ในกลุ่มของการไฟฟ้าเป็นหลัก นอกจากนี้การสร้างพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 51 ของประเทศ ล้วนเป็นลักษณะโซลาร์ฟาร์ม
“ซึ่งทั้งหมดเป็นของนายทุนที่มีทรัพยากรการเงินที่สามารถพร้อมที่จะลงทุนในส่วนเหล่านี้ได้ ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนรายเล็ก ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผน ยังคงเป็นแผน PDP เพื่อกลุ่มทุนที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้นั่นเอง” รศ.ชาลี กล่าว
@ ประชาชนได้รับผลกระทบจากแผน PDP 2024
รศ.ชาลี กล่าวว่า นอกจากค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างแน่นอน เราจะเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ เนื่องจากความก้าวหน้าในการลดโลกร้อนของประเทศไทยที่เคยพูดไว้ในเวทีโลก ถ้าประเทศไทยไม่ได้ทำตามคำพูดที่ให้ไว้ ก็จะเสียเครดิตเป็นอย่างมาก การลงทุนจากต่างประเทศก็อาจจะลดลง เพราะว่าเมื่อเห็นแผน PDP ของประเทศไทยที่ไม่ตอบสนองนโยบายลดโลกร้อนของบริษัทที่มาลงทุน เพราะบริษัทหลายแห่งมีนโยบายที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2035-2040 จะทำให้ประเทศเราสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไป นอกจากเรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องการกระจายโอกาสต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนถูกตัดออกจากสมการในการสร้างมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า
“ท้ายที่สุดแล้วประชาชนก็ต้องอยู่ในฐานะที่ต้อง consume ค่าไฟอยู่ฝ่ายเดียว ไม่สามารถพึ่งพาช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะว่ารัฐไม่ได้ส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น ตัว PDP อาจมาในรูปแบบของผลประโยชน์ของกลุ่มพลังงานเป็นหลัก แท้จริงแล้วควรเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ” รศ.ชาลี กล่าว
@ ทางออกประชาชน: ร่วมกันแสดงความเห็น-ลงชื่อ
รศ.ชาลี กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนก็ช่วยกันขับเคลื่อนตั้งแต่ร่างแผน PDP 2024 ออกมาวันแรก ก็จะเห็นหลาย ๆ เวทีของภาครัฐที่เปิดรับฟังความคิดเห็นก็มีคนแสดงความคิดเห็น แล้วก็มีเวทีภาคเอกชน ประชาชน ภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสัมมนาในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นหลายสิบเวทีในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. ที่ผ่านมา
“ผมว่าตรงนี้ก็สะท้อนไปถึงกลุ่มคนที่สร้างแผน PDP อยู่บ้าง และคิดว่าแผน PDP ฉบับใหม่ที่ถูกปรับปรุงคงจะแตกต่างจากฉบับก่อนหน้า แต่เราคงทำได้มากกว่านี้ในเรื่องของการจับตามอง ว่าความคืบหน้าของฉบับใหม่ ที่กำลังจะออกมาเป็นร่างที่สองจะแตกต่างหรือปิดจุดอ่อน ปรับปรุงอย่างไร ซึ่งถ้ายังไม่เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาอีก ซึ่งก็แปลว่าเราก็ต้องร่วมกันลงชื่อ รวมกันผลักดันให้มากกว่านี้ขึ้นไป แสดงความเห็นด้วยหรือแม้กระทั่งบอกไปทางผู้แทนในสภาที่คุณเป็นคนเลือก ให้เขาเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ เล่าให้เพื่อนหรือญาติฟัง ให้กลุ่มคนแสดงความคิดเห็น” รศ.ชาลี กล่าว
@ ภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็น ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมแล้วหรือไม่?
รศ.ชาลี กล่าวว่า คำว่ามีส่วนร่วมมีหลายมิติ เช่นการมีส่วนร่วมหลังจากแผนออกมาแล้ว แล้วให้คนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นติชม ซึ่งร่างแผน PDP 2024 เป็นการมีส่วนร่วมน้อย การมีส่วนร่วมของประชาชนถือว่าน้อยในแง่ของการเปิดรับความคิดเห็น รวมถึงระยะเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นถือว่าสั้น ผิดกับแผน PDP ฉบับก่อนหน้าที่มีเวที 5 ภูมิภาค ให้แสดงความคิดเห็น ใช้เวลาเป็นหลายเดือนกว่าจะเสร็จ
“แต่ร่างแผน PDP 2024 ใช้เวลาแค่ 10 กว่าวัน และภาคประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการทำแผน PDP เลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นก่อนที่จะร่างได้ เราไม่เคยเห็นร่างก่อนที่จะออกมาเป็นร่าง มันไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทำแผนทั้งสิ้น ยกเว้นภาควิชาการ คณะอนุกรรมการทำแผน PDP และกลุ่มที่ถูกเชิญเข้าไป เป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น” รศ.ชาลี กล่าว
@ มุมมองประชาชน : แผน PDP 2024 เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า แผน PDP 2024 เอื้อกับทุนรายใหญ่แน่นอน การที่จะวางแผน PDP ในอีก 10 กว่าปี ปัญหาคือแผน PDP จะมาสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างไร เพราะประเทศไทยผู้ที่ใช้ไฟเยอะ คือ กลุ่มทุน
“ตอนนี้ไม่ว่าจะภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจอยู่ในช่วงถอยหลัง เช่น ร้านค้า โรงงานย้ายออกนอกประเทศ แต่คุณบอกอาจจะใช้ไฟเพิ่มขึ้น ถามว่าใช้เพิ่มขึ้นสำหรับอะไร ใช้กับอะไร หรือจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเยอะขึ้น ผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้โรงไฟฟ้ายังมีเหลือเฟือ ดิฉันมองแบบนั้น ด้วยการที่โรงงานปิดตัว หรือกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ย้ายไปที่อื่น นั่นหมายความว่าการใช้ไฟลดลงใช่หรือไม่”
“ที่กฟผ.ออกมาบอกว่าขาดทุน ซึ่งดิฉันมองว่าไม่น่าจะใช่ แล้วกฟผ.ซื้อไฟมาจากที่อื่น แล้วไฟที่ประเทศไทยผลิตเองไปไหน ทำไมต้องซื้อไฟที่อื่นเข้ามา มันมีความขัดแย้งในตัวเอง คนที่ใช้ไฟเยอะ ๆ คืออุตสาหกรรมและโรงงาน แต่ตอนนี้คนงานตกงานระเนระนาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ขึ้นค่าไฟ อันนี้เป็นภาระให้ประชาชน” นางมะลิวรรณ กล่าว
นางมะลิวรรณ กล่าวว่า อีกมุมหนึ่งคิดว่าร่างแผน PDP 2024 เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนแน่นอน เพราะว่ารัฐวิสาหกิจของเราอาจจะถูกแปรรูปก็ได้ ซึ่งในอดีต กฟผ.ถูกแปรรูปไปครั้งหนึ่งแล้ว แล้วภาคประชาชนก็ไปต่อสู้กลับมาได้ เพราะตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมไปคัดค้านไม่ให้แปรรูป ตนเองมองว่าในอนาคต ประชาชนถูกบีบให้อ่อนแอ ถ้าเกิดต้องแปรรูปจริง ๆ จะมีกำลังที่ไหนไปสู้กับเขาได้ ค่าไฟก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเองก็ไม่สามารถดูแลพลังงานให้เป็นธรรมได้ ให้ชาวบ้านมาแบกค่าหนี้สินค่าไฟ
“อยากฝากไปถึงคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ท่านควรจะทำหน้าที่ของท่าน ด้วยการกํากับกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ใช้ไฟทั่วประเทศ เพราะตอนนี้ไม่มีความเป็นธรรมเลย เอาค่าไฟขึ้นมาว่าก็แล้วกัน วันนี้อยู่หน่วยที่เท่านี้ แล้วพรุ่งนี้จะอยู่หน่วยที่เท่าไร คุณจะล็อกตรงไหน โดยที่เราไม่ต้องหวั่นผวาว่าค่าไฟจะขึ้นแล้วนะ แล้วในเรื่องของศักยภาพที่ประเทศไทยเป็นเมืองแดดเมืองร้อน คุณคิดว่าจะทำเรื่องการลดต้นทุนค่าไฟที่จ่ายตามมิตเตอร์ด้วยการรณรงค์ให้มีพลังงาน มีพลังงาน มีโรงไฟฟ้าของตัวเองที่หมายถึงโซลาร์เซลล์ได้ง่ายได้เสรี อย่ามีกติกาอะไรมากกับครัวเรือน ชาวบ้านถ้าเขาเสียค่าไฟน้อยโดยที่เขามีโรงไฟฟ้าของเขาสำรองในครัวเรือน ดิฉันว่านั่นคือเป็นธรรมที่สุด จะทำให้เรามีความยั่งยืน ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ ไม่ต้องมาคิดบวกแผนพลังงาน สร้างนู่นนี่ คุณมาสร้างบนหลังคาชาวบ้านนี่ ไม่ต้องไปสร้างให้เอกชน” นางมะลิวรรณ กล่าว
@ ร่างแผน PDP 2024 ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่
นายสาร์รัฐ ยืนยันว่า แผน PDP 2024 ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง เป็นการพิจารณาภาพรวมของประเทศ ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง กรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โรงฟอสซิล โรงแก๊สต่าง ๆ จะเห็นว่าแผนฉบับใหม่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล และโรงโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สลดลง ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการสนับสนุนกลุ่มทุนรายใดรายหนึ่ง อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น สนพ.ก็มีการพิจารณาตามศักยภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรให้กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
“อีกส่วน (โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน) ก้อนใหญ่เราก็ยังไม่กำหนดว่าจะให้กับใคร เพราะเราต้องดูผลการดำเนินการของการไฟฟ้า ถ้าดำเนินการได้ดี เราก็จะเพิ่มเป้าหมายตรงนี้ให้ได้ ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่ จริง ๆ ก็ยังไม่มีการกำหนดว่าใครเป็นคนดำเนินการ แต่ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อให้กับรายใหญ่ หรือทิศทางโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สก็จะลดลง RE ก็จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าของใคร ขึ้นอยู่กับศักยภาพที่จะมีการพิจารณา แล้วก็จะมีโซลาร์ภาคประชาชนด้วย ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า” นายสาร์รัฐ กล่าว
@ ภาคประชาชนมีข้อเสนอให้แก้ไขร่างแผน PDP 2024
นายสาร์รัฐ กล่าวว่า ทุกความเห็นจากทุกคน สนพ.นำมาพิจารณาดูว่าข้อเสนอใดบ้างที่มีความเหมาะสมที่จะปรับปรุงได้ แล้วจะนำไปเสนอคณะอนุกรรมการทำแผน PDP ที่ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน ผู้แทนจากเอกชน ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาช่วยกันพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ แต่สนพ.อาจจะไม่ได้ปรับปรุงตามทุกข้อเสนอ เพราะจะต้องดูตามหลักการที่เราดำเนินการ หลักการที่สำคัญมี 3 เรื่อง 1.ด้านความมั่งคง 2. ด้านราคา 3.ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอต้องตอบทุกหลักการ แต่ทุกข้อเสนอเราก็เอามาพิจารณา แต่เราพิจารณาแล้วเอาไปปรับปรุงได้บางส่วนตามความเหมาะสม
ทั้งนี้แผน PDP 2024 สนพ.ลดพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าลงระดับหนึ่ง ตามสมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า เราก็ใช้ข้อมูลที่เป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เราต้องอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าระยะยาว ตอนนี้หน่วยงานหลักที่เราใช้อ้างอิงคือสภาพัฒน์ เพราะฉะนั้นเวลาเรามองจะมองแค่ระยะสั้น ๆ ไม่ได้ ต้องมองระยะยาว ตัวไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเทียบการพยากรณ์
“ข้อเท็จจริงว่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าการพยากรณ์ ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในปี 66 และ 67 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้จริงสูงกว่าการพยากรณ์ 0.1% peak (ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด) ปี 66 กับ 67 อย่างปี 66 ค่าจริงสูงกว่าค่าพยากรณ์ประมาณ 2.3% ปี 67 สูงกว่าเกือบ 4% ก็เป็นหลักฐานอีกอันว่าเราไม่ได้พยากรณ์สูงกว่าความเป็นจริง สาเหตุที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การพยากรณ์ของเราก็ต้องรองรับตรงนี้ด้วย” นายสาร์รัฐ กล่าว
******
เหล่านี้คือมุมมอง 3 มุม จากภาครัฐ นักวิชาการ และตัวแทนประชาชน ซึ่งจะเห็นว่านักวิชาการและตัวแทนประชาชนมีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ ร่างแผน PDP 2024 เป็นแผนที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายใหญ่ ในขณะที่ภาครัฐเห็นว่าร่าง PDP 2024 ได้เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตอยู่แล้ว และในแผนก็ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าใครจะได้สิทธิ์ในการดำเนินการเหล่านี้
อย่างไรก็ดีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจะปรับปรุงร่างแผน PDP 2024 อย่างไร แผนฉบับใหม่จะมีข้อเสนอของภาคประชาชนหรือไม่ และจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนในการผลิตไฟฟ้าแค่ไหนและอย่างไร ยังคงต้องจับตาดูต่อไป
อนึ่ง ในส่วนการประกาศใช้ร่างแผน PDP 2024 ในเดือน ก.ย. 2567 อาจจะต้องเลื่อนออกไปเนื่องด้วยการเปลี่ยนรัฐบาล
หมายเหตุ : ภาพรศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก acnews