"...เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของผู้ถูกร้องที่ 1 ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 กลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาที่ไปข้อร้องเรียนกรณีนี้ และข้อเท็จจริงจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่สามารถเปิดเผยเอกสารการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำและผลการตรวจร่างกายของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (5) ส่วนโรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับนายทักษิณได้แสดงเจตนาไว้ในหนังสือ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ไม่ยินยอมให้สถานพยาบาลเปิดเผยข้อมูล/ส่งข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเอง มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- ฉบับเต็ม (1) ผลสอบ กสม.คดีเอื้อนอนชั้น 14 รพ.ตร. 'ทักษิณ' ไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลการรักษา
- ฉบับเต็ม! เปิดความเห็น 4 ผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเอื้อ 'ทักษิณ' นอนชั้น 14
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดฉบับเต็มของรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นในส่วนของความเห็นและมติของ กสม. ที่ไม่อาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ป่วยจนต้องรักษาตัวนาน 181 วัน
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำหรือละเลย การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการรักษาพยาบาลของนายทักษิณหรือไม่ โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ และมาตรา 32 บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิดังกล่าว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งมาตรา 47 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 7 กำหนดให้ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยหลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 26 ที่กำหนดให้บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งนี้ สำหรับสิทธิในด้านสุขภาพนั้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 รับรองสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางแพทย์ และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย นอกจากนี้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อ 24 กำหนดให้การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน
3. สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยนั้น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง วางหลักไว้ว่า ผู้ต้องขังย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว และหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ถูกควบคุมตัว จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำก่อน โดยให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินสามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง 1 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน ให้เรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดี ระยะเวลาเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และระยะเวลาเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้รัฐมนตรีทราบ โดยจะรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
4. กรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงบุคลากร ทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำ เมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้นและมีความมุ่งหมายที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตและสุขภาพของนายทักษิณ จึงถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร
5. กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพักชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
5.1) การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 2 ให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
5.2) กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป
5.3) ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพและให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวพักโทษและออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
6. สำหรับกรณีผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานานนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณจากผู้ถูกร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากนายทักษิณในฐานะเจ้าของข้อมูลเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม หากนายทักษิณ มีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่ได้มีความเห็นไว้แล้วในข้อ 5
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของผู้ถูกร้องที่ 1 ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 กลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 มาโดยตลอด
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงกับต้องรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 นานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่มุ่งคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล จึงถือว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
7. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีดังกล่าวต่อไป
8. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามความเห็นข้างต้นแล้ว การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ด้วย ประกอบกับระหว่างการตรวจสอบได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ จึงเห็นควรส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6
@ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 28/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติว่า
1. การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ส่งตัวนายทักษิณไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร แต่การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองให้นายทักษิณพักรักษาตัวในห้องพิเศษและรักษาตัวเป็นระยะเวลานานโดยยังไม่อาจเชื่อได้ว่าป่วยจนอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติเป็นระยะ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) และ (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) และ (3) ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 42 ดังนี้
2.1 มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
1) ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของโรงพยาบาลตำรวจตามหน้าที่และอำนาจ และกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก โดยต้องเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะและแจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย
2) ให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจที่เป็นผู้ทำการรักษาหรือมีความเห็นทางการแพทย์ในกรณีตามคำร้องนี้ แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
2.2 มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีเหตุยกเว้นตามนัยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
2.3 ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ดังนี้
1) แก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังนั้น ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”
2) แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจ ในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา มิใช่เพียงรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร
3. ให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6
*********
เหล่านี้คือรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ที่สรุปได้ว่านายทักษิณ ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันกรณีที่คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ใช้ผลรายงานของกสม.ยื่นประกอบการร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ จะมีบทสรุปเป็นเช่นไร ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยกรณีนี้หรือไม่
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป