ในเดือน เม.ย.2562 กรรมการผู้จัดการของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้ส่งข้อความหาผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทระบุเนื้อหาว่า “กรณีกรมทางหลวง (DOH) จะมีเงินลูกกวาด (candy money) ให้คุณด้วย ส่วนในสัปดาห์หน้า กรมทางหลวงชนบท (DRR) ฉันต้องพูดคุยใหม่อีกครั้ง”
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อเนื่อง!
กรณี สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) สหรัฐ ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC ว่า ละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA โดยข้อกล่าวหานั้นระบุว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับทางไทยนั้น
ในตอนที่แล้วสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอรายงานของ SEC ฉบับเต็มไปแล้วตอนหนึ่งเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่บริษัทเวิร์ทเก้น ได้มีการจ่ายสินบนให้กับบริษัทก่อสร้างรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งสินบนที่ว่านั้นมีในหลายรูปแบบทั้งการพาไปร้านนวด พาไปต่างประเทศ รวมไปถึงการจ่ายเงินสด
- เปิดผลสอบ SEC (1) : แกะรอย บ.ก่อสร้างรายใหญ่ไทย พนง.รับสินบนทำกำไรให้เวิร์ทเก้น 49 ล.
- ขอประณามอย่างรุนแรง! 'เวิร์ทเก้น'แจงผู้เกี่ยวข้องสินบนพ้น พนง.แล้ว - ยันรักษาจริยธรรม
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท.
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน
- แฉยับ! พฤติการณ์จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ จ่ายเงินสด-ร้านนวด-พาเมียดูงาน ตปท.
- ป.ป.ช.เร่งสอบ-ประสาน SEC หลังจอห์นเดียร์ถูกปรับ เหตุ บ.ลูกจ่ายสินบนให้ จนท.ไทย
- ผบ.ทอ.สั่งหาข้อเท็จจริง ข่าว บ.ลูกจอห์นเดียร์จ่ายสินบน-เชื่อไม่เกี่ยวเหตุจัดซื้อกริพเพน
คราวนี้เป็นคิวของหน่วยงานราชการในประเทศไทยกันบ้าง โดยรายงานของ SEC ได้มีการระบุถึงพฤติการณ์ของอดีตพนักงานบริษัทเวิร์ทเก้น ที่ได้จ่ายสินบนสารพัดรูปแบบกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอาทิกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ด้วยการพาไปเที่ยวต่างประเทศ การให้ของขวัญอื่นๆ
มีรายละเอียดดังนี้
@กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงผ่านทริปไปต่างประเทศโดยอ้างว่า “ไปเยี่ยมชมโรงงาน”
ในเดือน 2562 บริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่สี่คนจากกรมทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ว่านี้รวมถึงคณะกรรมการจัดซื้อและภรรยาของเจ้าหน้าที่จำนวนสองคน โดยลักษณะของสินบนนั้นเป็นการพาไปเที่ยวที่เยอรมนีภายใต้ทริปพาไปเยี่ยมชมโรงงาน และมีการอ้างถึงวัตถุประสงค์ของทริปนี้ว่าเพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์ของบริษัท
ทว่าเมื่อใบแจ้งหนี้ปรากฏออกมา ค่าใช้จ่ายสำหรับทริปนี้กลับไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการชมโรงงานอยู่เลย เพราะส่วนมากแล้วค่าใช้จ่ายจะไปเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการเดินทางไปยังเมืองอินเทอร์ลาเคิน เมืองเซอร์แมท และทะเลสาบลูเซิร์น ตลอดจนช้อปปิ้งและท่องเที่ยวในบริเวณเทือกเขาแอลป์ ซึ่งตลอดช่วงการเดินทาง คณะเดินทางได้เข้าพักในโรงแรมหรูตลอดทุกจุดแวะ
มีรายงานว่าจอห์นเดียร์จ่ายเงินประมาณ 47,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,575,622 บาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านความบันเทิงให้กับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงในระหว่างทริปเหล่านี้ โดยแลกกับการชนะการประกวดราคาที่มีมูลค่าสูง
ผลจากทริปพาข้าราชการไปต่างประเทศกินเวลา 8 วัน บริษัทเวิร์ทเก้นได้ยื่นซองประมูลการประกวดราคาให้กับกรมทางหลวงในวันที่ 16 ต.ค. 2562 หรือก็คือในช่วงหลังจากจบทริปทันทีนั่นเอง และต่อมาบริษัทเวิร์ทเก้นชนะสัญญาการประกวดราคาคิดเป็นมูลค่า 498,567 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,536,470 บาท) และหนึ่งเดือนต่อมาในวันที่ 20 พ.ย. 2562 เวิร์ทเก้นก็ชนะการประกวดราคาคิดเป็นมูลค่า 1,451,432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (48,162,868 บาท)
ทะเลสาบลูเซิร์นสวิตเซอร์แลนด์
ในช่วงเวลานี้ทางจอห์นเดียร์มีนโยบายคุมเข้มการเยี่ยมชมสถานที่บริษัทสำหรับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐอเมริกา นี่จึงเป็นเหตุทำให้ต้องมีการให้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อทำให้เกิดการอนุมัติการเยี่ยมชมสถานที่ ซึ่งนี่รวมถึงการให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การเยี่ยมชมแต่ละครั้ง วาระการประชุม ชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐต่าประเทศที่เข้าร่วม รายละเอียดค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขวัญ หรือว่าความบันเทิงใดๆ และต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดที่พักและค่าใช้จ่ายโดยรวม
ทว่าบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการให้รายละเอียดตามข้อกำหนดและไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าสำหรับทริปการเดินทางของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ดังนั้นที่มาของเงินที่ใช้ในค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางครั้งนี้จึงได้รับการอนุมัติและอ้างถึงความสมเหตุสมผลว่าเป็นไปตามเจตนาของกรรมการผู้จัดการของบริษัทเวิร์ทเก้นประจําภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากบริษัทต้องการ "รับข้อมูลและสร้างสายสัมพันธ์" กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐ
@กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทยผ่านการจ่ายเงินสดและและผ่านบุคคลที่สาม
ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2563 บริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ในหลายโอกาส ยังได้ชําระเงินสดโดยตรงและการชําระเงินผ่านตัวแทนบุคคลที่สามเพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบทและกองทัพอากาศ
ตัวอย่างเช่น ในเดือน เม.ย.2562 กรรมการผู้จัดการของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้ส่งข้อความหาผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทระบุเนื้อหาว่า “กรณีกรมทางหลวง (DOH) จะมีเงินลูกกวาด (candy money) ให้คุณด้วย ส่วนในสัปดาห์หน้า กรมทางหลวงชนบท (DRR) ฉันต้องพูดคุยใหม่อีกครั้ง”
ในส่วนของเงินสินบนดังกล่าวนี้กรรมการผู้จัดการได้สั่งให้ผู้จัดการฝ่ายการเงินดำเนินการ โดยระบุคำสั่งดังนี้ “ประสานงานกับกรมทางหลวงเตรียมซองจดหมายไว้ 5 ซอง และถอนเงินสดเตรียมพร้อมไว้ด้วย โดยคุณอาจจะรับเงินเป็นจำนวน 1 แสนบาทเพื่อใช้ในวันที่ส่งมอบ”
ผู้จัดการฝ่ายการเงินได้ถามกลับไปว่า “สำหรับซองจดหมาย 5 ซอง ให้ผมใส่เงินในแต่ละซอง ซองละ 2 หมื่นบาทเลยหรือไม่” ซึ่งกรรมการผู้จัดการกล่าวตอบกลับไปว่าไม่ เขาจะทำเรื่องนี้เอง
นอกเหนือจากการจ่ายเงินสดโดยตรงแล้ว มีรายงานว่าเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ยังได้ใช้งานที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลที่ 3 ดำเนินการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้รับสัญญาการประกวดราคาจำนวน 4 ครั้งคิดเป็นมูลค่าสัญญาประมาณ 4.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (155,072,020 บาท)
สำหรับการประกวดราคาในแต่ละครั้ง เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้มีการทำข้อตกลงคอมมิชชั่นปลอมกับที่ปรึกษาบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ได้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมายและกลายเป็นเพียงช่องทางในการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยเท่านั้น
ผลจากการทำข้อตกลงคอมมิชชั่นปลอม ทำให้มีการอนุมัติจ่ายเงินรวม 285,129 ดอลลาร์สหรัฐฯ (9,470,559 บาท) และมีผู้ลงนามอนุมัติการจ่ายเงินได้กรรมการผู้จัดการของบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย)
ผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ยังได้ลงนามภายใต้ข้อตกลงคอมมิชชั่นปลอมที่ว่านี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าประกวดราคาของกรมทางหลวงชนบท โดยก่อนหน้าการเซ็นข้อตกลงคอมมิชชั่น กรรมการผู้จัดการบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้มีการส่งคำขออนุมัติค่าคอมมิชชั่นไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทคนอื่นในประเทศไทยให้ร่วมอนุมัติด้วยเช่นกัน
พบข้อมูลว่ามีการสื่อสารกันระหว่างกรรมการผู้จัดการบริษัทเวิร์ทเกน (ประเทศไทย) และผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทที่อ้างถึงการให้เงินสินบนเป็นจำนวนหลายครั้ง ผ่านช่องทางบุคคลที่สามที่กระทำในนามบริษัทเวิร์ทเก้น ส่งถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่ได้รับเงินสินบนนั้นรวมถึงอดีตผู้บริหาร และผู้บริหารรายปัจจุบันของกรมทางหลวง มีการจัดซื้อชุดไม้กอล์ฟส่งให้กับรองผู้อำนวยการกรมทางหลวงชนบท ซึ่งการจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมทั้งหมดนี้เกี่ยวกับการประกวดราคาของกรมทางหลวงชนบทในปี 2563
ข้อตกลงค่าคอมมิชชั่นของบริษัทเวิร์ทเกน (ประเทศไทย) กับที่ปรึกษาบุคคลที่สามซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการประกวดราคาของกรมทางหลวงชนบทนั้นมีการระบุรายละเอียดข้อมูลของบัญชีธนาคารว่าจะให้จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นไปที่ใด เจ้าของบัญชีธนาคารปรากฎว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมทางหลวง ซึ่งตัวเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงคนนี้พร้อมด้วยภรรยาได้เคยไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยทริปที่จัดโดยบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เป็นเวลา 9 วัน ในช่วงเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งทริปดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นทริป “เยี่ยมชมโรงงาน” แต่แท้จริงแล้วทริปนี้กลับเป็นการไปเที่ยวที่เยอรมนี กรุงปราก และที่ออสเตรีย
รถบดถนนของบริษัทเวิร์ทเก้น
ย้อนไปในเดือน ธ.ค. 2561 บริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ยังได้เคยพาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมทางหลวงคนเดียวกันนี้ไปเที่ยวที่ร้านนวดด้วยเช่นกัน
ในปี 2561 ที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลที่ 3 รายนี้ยังได้ถูกใช้ในฐานะผู้ที่ดำเนินการให้ความสะดวกในการขายเครื่องจักร ผ่านวิธีซึ่งอยู่นอกเหนือกระบวนการประกวดราคา โดยขายเครื่องจักรให้กับหน่วยงานที่มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า SKT ซึ่งหน่วยงานนี้ทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ดําเนินการเป็นตัวแทนจําหน่ายในการขายให้กับกรมทางหลวง
(ในรายงานต้นฉบับของ SEC ไม่มีการระบุชื่อเต็มว่าหน่วยงาน SKT นั้นคือหน่วยงานอะไร เป็นหน่วยงานรัฐหรือว่าเอกชนกันแน่)
สรุปก็คือเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้จ่ายเงินให้กับบุคคลที่ 3 คิดเป็นมูลค่ารวม 46,205 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,534,375 บาท) และได้รับสัญญาการขายรถบดล้อยางจำนวน 10 คัน คิดเป็นมูลค่ารวม 924,104 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,686,721 บาท)
ผลจากการติดสินบนผ่านบุคคลที่ 3 ทำให้ในช่วงระหว่างปี 2561-2563 ที่ปรึกษาของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้รับผลกำไรที่ผิดกฎหมายประมาณ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (89,658,900 บาท) จากการขายเครื่องจักรให้กับ SKT ให้กับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
ส่วนข้อมูลสำคัญอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อๆ ไป